คืนนี้จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม นั่นคือ ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ ซึ่งดวงจันทร์เต็มดวงจะโคจรมาใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี
เพิ่งผ่านมาไม่นาน กับปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงสีเลือดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นพระจันทร์เต็มดวงที่เข้าใกล้โลกหรือซูปเปอร์มูนครั้งแรกของปี แต่ซูเปอร์ฟูลมูนที่เราจะได้เห็นกันในค่ำคืนนี้ จะเป็นการโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในปี โดยมีระยะห่างเพียง 356,836 กิโลเมตรจากโลก ใกล้กว่าครั้งที่เป็นสีเลือดถึง 583 กิโลเมตร มองด้วยตาจะดูมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ 7 เปอร์เซ็นต์ และสว่างกว่าปกติ 16 เปอร์เซนต์
ในปี 2019 นี้มีปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือพระจันทร์สีเลือด Super Blood Wolf Moon เมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมา ต่อมาก็คือซูเปอร์ฟูลมูนในคืนนี้ 19 กุมภาพันธ์ และ 21 มีนาคมกับ Full Worm Moon แต่ที่พิเศษก็คือคืนนี้พระจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ใหญ่ที่สุด และสว่างที่สุด จนถึงขนาดได้ชื่อตำแหน่งซูเปอร์ฟูลมูน
ในต่างประเทศ ปรากฏการณ์นี้เป็นพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของปี มีอีกชื่อเรียกว่า ‘Super Snow Moon’ ชื่อนี้ได้มาจากการที่ชาวพื้นเมืองอเมริกัน และชาวยุโรปเรียกพระจันทร์เต็มดวงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่าพระจันทร์หิมะ เพราะเป็นเดือนที่มักมีหิมะตกหนัก
สำหรับใครที่อยากเห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน สามารถเริ่มสังเกตการณ์กันได้ตั้งแต่เวลา 18:11 เป็นต้นไปทางด้านทิศตะวันออก และไปร่วมกันสังเกตได้ผ่านกิจกรรมจาก 4 จุดหลักที่เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และโรงเรียนเครือข่ายอีกกว่า 360 แห่งฟรี (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.narit.or.th/index.php/77-astronomy-network)
อ้างอิงจาก
http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/3827-super-full-moom-image-hd
https://edition-m.cnn.com/2019/02/18/world/super-snow-moon-february-trnd/index.html
#Brief #TheMATTER