จะเป็นอย่างไร ถ้าเราตายไปแล้วได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจริงๆ เช่นเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้และดอกไม้ เป็นจุดสุดท้ายของชีวิตที่ช่วยให้ธรรมชาติมีจุดเริ่มต้นงอกงามขึ้นมาใหม่
ตอนนี้รัฐบาลฮ่องกงกำลังผลักดันบริการ ‘Green Burial’ ที่จะช่วยให้การอัฐิของผู้เสียชีวิตได้เป็นมิตรกับธรรมชาติ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ที่ฮ่องกงกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งนั่นก็คือการเริ่มขาดแคลนพื้นที่เก็บอัฐิของผู้ที่จากไป
ปัญหการขาดแคลนพื้นที่เก็บอัฐิ หลักๆ แล้วเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของเกาะฮ่องกงเองที่มีพื้นที่ไม่เยอะมากนัก โดยฮ่องกงมีพื้นที่ราวๆ 1,100 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ประชากรมีทั้งหมดประมาณ 7.3 ล้านคน ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื่องประชากรแออัด เช่นเดียวกับ พื้นที่ฝังศพหรืออัฐิของประชากรที่เสียชีวิตไปแล้ว
“ความจริงก็คือ พวกเรากำลังไม่เหลือพื้นที่ในฮ่องกงแล้ว แม้แต่พื้นที่สำหรับคนตายก็ตาม” Kwok Hoi Pong ประธานสมาคมธุรกิจงานศพฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian
นอกจากนี้ ถ้ามองกันบนหลักพื้นฐานในมุมของเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อพื้นที่รองรับอัฐิน้อยลง แต่ความต้องการเก็บอัฐิ (โดยเฉพาะในกลุ่มคนฮ่องกงรุ่นก่อนๆ ที่ยังคงยึดในประเพณีดั้งเดิม) ยังคงมีมาก ดังนั้น ราคาสำหรับค่าพื้นที่ก็ย่อมแพงขึ้นตามไปด้วย โดยประเมินกันว่า บางพื้นที่ในตอนนี้ มีราคาสูงกว่าบ้านที่คนเป็นๆ อยู่เสียอีก
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ถ้าสถานการณ์ยังไปยังนี้ต่อไป ราคาของพื้นที่เก็บอัฐิก็น่าจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ
อันที่จริง รัฐบาลฮ่องกงก็รับรู้ปัญหานี้เป็นอย่างนี้ จึงกลายเป็นการผลักดันโปรเจ็กต์ Grenn Burial กันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับธรรมเนียมการเก็บอัฐิ ซึ่งทางเลือกใหม่ๆ ได้แก่ นำอัฐิไปโปรยลงในพื้นดินของ ‘สวนแห่งความทรงจำ’ ที่รัฐได้เลือกมาให้ รวมถึง อัฐิโปรยลงในทะเลที่จะทำให้ได้อัฐิได้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติจริงๆ
“รัฐบาลกำลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องวิธีคิด และมุมมองต่อวัฒนธรรม ในความหวังว่ามันจะทำให้การเก็บอัฐิเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้เป็นวิธีการอันยั่งยืนที่จะทำให้มันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น” Florence Wong โฆษกกรมอาหารและสุขภาพฮ่องกง อธิบาย
อีกหนึ่งหนทางที่รัฐบาลเสนอ คือการเปลี่ยนมาทำพิธีเคารพบรรพบุรุษผ่านโลกดิจิทัลแทนสถานที่ในโลกภายนอกที่เป็นกายภาพจริงๆ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีทั้งข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เก็บอัฐิซึ่งหายากมากขึ้น รวมถึงราคาที่ค่อนข้างสูง หากแต่ข้อท้าทายสำคัญ คือการชักชวนให้ชาวฮ่องกงที่นิยมธรรมเนียมเดิมให้หันปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการดูแลอัฐิของบรรพบุรุษ
สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่า มีชาวฮ่องกง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่นำอัฐิของผู้เสียชีวิต ไปโปรยลงในสวนแห่งความทรงจำ ตามที่รัฐบาลพยายามผลักดัน
อ้างอิงจาก
https://www.greenburial.gov.hk/gbcr/en/home/index.html
#Brief #TheMATTER