นอกจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ประจำปีแล้ว สิ่งที่คนทำงานประจำน่าจะชอบคงเป็นโควต้าวันลาพักร้อนประจำปี แต่ผลสำรวจกลับแสดงให้เห็นว่า คนไทยเราลาพักร้อนกันน้อยมากเลยนะ
ผลสำรวจประจำปีของ Expedia เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ถูกลิดรอนวันหยุด และสาเหตุที่ไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงระหว่างการเดินทาง พบว่าใน 19 ประเทศทั่วโลกที่สำรวจ คนไทยติดอันดับ 7 ลาหยุดพักร้อนน้อยที่สุดในปี 2018
ข้อมูลนี้มาจากการสำรวจพนักงานประจำ 300 คนในประเทศไทย โดย 3 เหตุผลต้นๆ ที่คนไทยไม่ลาพักร้อนคือ ไม่รู้จะไปไหนดี (27%) เก็บไว้ลาช่วงหยุดยาว (25%) และหาเวลาหยุดงานไม่ได้ (24%)
สายงานที่ลาพักร้อนน้อยที่สุด คือ ด้านการเกษตร (71%) การตลาดและสื่อ (67%) และอาหารและเครื่องดื่ม (64%)
คนไทย 24 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขาทำงานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนต่อปีโดยไม่ลาเลย และ 42 เปอร์เซ็นต์บอกว่าทำงานต่อเนื่อง 3 ถึง 6 เดือนต่อปีโดยไม่ลา
จะไปโทษปัจจัยอื่นๆ คงไม่ได้เสียทีเดียว เพราะเหตุผลหลักๆ มัก มาจากตัวเอง มีคนจำนวนน้อยมากที่พูดถึงปัจจัยอื่น อย่างเช่น ผู้จัดการ (17%) พนักงานรุ่นน้อง (10%) และลูกค้า (12%) ที่อยากให้เข้ามาทำงานในช่วงที่ลา
คนทำงานในไทย 35 เปอร์เซ็นต์ยังบอกด้วยว่า โดยปกติการลาพักร้อนมีเป้าหมายหลักคือเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของตัวเอง และมองว่าเป็นโอกาสในการรีเซ็ตตนเองจากความเครียด มีรายงานว่าคนไทยลาเพราะเรื่องสุขภาพจิตเฉลี่ย 2 วันต่อปี และ 82 เปอร์เซ็นต์มองว่าควรเป็นวันลาพักร้อน ส่วนอีก 18 เปอร์เซ็นต์มองว่าควรเป็นวันลาป่วย
คนไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าพวกเขาควรได้รับวันลามากกว่านี้ ติดอันดับ 4 ในเอเชียที่มีความรู้สึกแบบนี้ และถึงลาก็ไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เลย เพราะคนไทย 85 เปอร์เซ็นต์บอกว่าใช้วันลาไปกับการทำนัดหมาย และจัดการภารกิจ
นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยพักผ่อนหย่อนใจได้ดี ระหว่างลาพักร้อน แต่ 74 เปอร์เซ็นต์ก็พร้อมจะยกเลิกการลาพักร้อนของตัวเองเพื่องาน และที่น่าสนใจก็คือ 24 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าเช็คอีเมลเรื่องงานอย่างน้อยวันละครั้งในช่วงลาพักร้อนด้วย
ความขยันดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีนะ แต่การพักตัวเองบ้างในบางทีก็มีประโยชน์เหมือนกัน พบว่าคนทำงานหลังจากที่ลาทั้งระยะยาวและสั้น รู้สึกชอบตัวเองมากขึ้น มั่นใจว่าตัวเองจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า และมีความหวังมากขึ้น คนไทย 42 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีไปเที่ยวใกล้ๆ ระยะสั้น เพื่อทดแทนกับที่ไม่ลาหยุดยาว แต่ถึงอย่างนั้น การลาระยะยาวก็เหมือนจะมีผลดีกว่าอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี
“การไปเที่ยวทริปใหญ่ๆ มันเป็นอะไรที่ดี แต่การไปเที่ยวในระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างมากเลย” Lavinia Rajaram หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Expedia เอเชียแปซิฟิคกล่าว
คำพูดของ Rajaram เรื่องการไปเที่ยวระยะสั้น สอดคล้องกับผลวิจัยจากปี 2017 ของ Cassie Mogilner Holmes รองศาสตราจารย์จาก UCLA’s Anderson School of Management ที่พบว่าการทำวันหยุดเสาร์อาทิตย์ธรรมดาๆ ให้เป็นเหมือนลาหยุดพักร้อนเพื่อไปเที่ยว สามารถช่วยให้การทำงานในอาทิตย์ต่อไป มีความสุขมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงความรู้สึกท้อแท้ก่อนกลับมาทำงานในวันจันทร์ได้ดีทีเดียว
การทำงานหนักเกินไปมันก็ไม่ดีเท่าไหร่หรอกนะ ควรหาเวลาพักผ่อน รีเซ็ตตัวเองบ้าง มันไม่ได้แปลว่าเราขี้เกียจเสมอไป แต่คือการใช้ชีวิตให้มีความสุข เป็นผลดีต่อตัวเอง และการทำงานในระยะยาวต่างหาก
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokpost.com/business/news/1679932/poll-finds-most-thais-starving-for-holidays
#Brief #TheMATTER