ปัญหาจากขยะพลาสติกนั้น เป็นสิ่งที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี นอกจากจะย่อยสลายยากแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างทะเลได้อีกด้วย นักศึกษาคนหนึ่งเห็นถึงปัญหานี้ และได้ออกแบบวัสดุใหม่ขึ้นมาเพื่อจะช่วยลดการใช้พลาสติก
Lucy Hughes นักศึกษาวัย 23 ปี จาก University of Sussex ประเทศอังกฤษ ได้ผลิตวัสดุไบโอพลาสติกเรียกว่า ‘Marinatex’ ทำมาจากขยะอินทรีย์ (organic waste) ในอุตสาหกรรมประมง อย่างหนังปลาและสาหร่ายแดง เป็นความพยายามที่จะลดการใช้พลาสติก เพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล
ไบโอพลาสติก คือวัสดุที่มีความทนทานมากกว่าถุงพลาสติก แต่ไม่กรองสารพิษ และยังย่อยสลายได้ ดังนั้นสามารถทิ้งรวมกับขยะปกติได้เลย
วัสดุ Marinatex นี้ สามารถทดแทนการใช้แผ่นพลาสติกแบบที่ใช้ในกล่องกระดาษทิชชู่ หรือกล่องแซนด์วิช เพื่อให้เหมาะสมกับอายุการใช้งานของสินค้า และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“มันไม่มีเหตุผลสำหรับฉันเลย ที่เราใช้พลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนทาน กับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 1 วัน” Lucy กล่าว
Lucy เล่าว่าความคิดนี้แล่นเข้ามาในหัว ระหว่างที่เธอได้มีโอกาสไปดูบริษัทประมงแห่งหนึ่ง และพบกับปริมาณขยะอินทรีย์ที่อุตสาหกรรมนี้สร้างขึ้นมา เธอจึงพยายามลองผิดลองถูก ใช้หนังปลาควบคู่กับสาหร่ายแดง ในการผลิตพลาสติกแบบยั่งยืน
ในตอนนี้โปรเจกต์ของ Lucy ยังมีขนาดที่เล็กอยู่ แต่ถ้าได้รับการสนับสนุน วัสดุนี้อาจเข้าไปสู่ตลาดได้ภายในปีหน้าเลย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง มีวิจัยจาก Pensylvania State University ที่พบว่าโปรตีนจากปลาหมึก ก็สามารถนำไปสร้างเป็นวัสดุทางเลือกแทนพลาสติก ที่มีความยั่งยืนเช่นเดียวกัน สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ รัฐบาลแคนาดาก็เพิ่งจะประกาศแผนว่าจะแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือใช้แล้วทิ้ง ให้ได้ภายในปี 2021
“ฉันไม่ได้อยู่คนเดียว สังคมของผู้บุกเบิกไบโอพลาสติก ที่ช่วยกันหาทางเลือกอื่นให้กับการพึ่งพาพลาสติก กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ” Lucy กล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/1721313428084052/posts/2233326700216053?s=1146391109&sfns=mo
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48477087
#Brief #TheMATTER