ผ่านเลือกตั้งกันมาแล้ว หลายฝ่ายก็มองว่าประเทศจะกลายเป็นประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งหรือยัง ในเวทีเสวนา ‘ELECT after Election : เลือกตั้งแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง’ ก็ได้มีการพูดถึงข้อเสนอให้ยกเลิกระบบสภาคู่ หรือ ส.ว. และเรียกร้องให้ ส.ส. เป็นฝ่ายค้านอิสระด้วย
ในงานเสวนา มีประเด็นพูดคุยกันถึงประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง ซึ่ง พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้เสนอว่า ปัจจุบันกระบวนการของประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย และตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของ ส.ว.
“ถ้าเราเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เราต้องเชื่อในหลัก 1 สิทธิ 1 เสียง ซึ่ง ส.ว. เป็นอะไรที่ขัดกับหลักการนี้ที่สุด และประเทศไทย ส.ว.มีอำนาจเยอะมาก”
พริษฐ์ยังมองว่า ในต่างประเทศมีหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว คือมีเพียง ส.ส.อย่างเดียว รวมถึงหลายประเทศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงระบบนี้แล้ว ซึ่งเขาเสนอว่าอาจจะถึงเวลาที่ประเทศไทยควรต้องเปลี่ยนแปลงไหม เพื่อให้สภาเดี่ยวมีความคล่องตัวมากขึ้น
เขาได้พูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยว่า ในวันที่ระบบประชาธิปไตยถดถอย ไม่ได้แปลว่า ประชาชนต้องหยุดเดินไปข้างหน้า “ถ้าถดถอย ไปถึงจุดที่ทำรัฐประหาร ผมไม่เชื่อว่าการทำรัฐประหารจะสำเร็จ ถ้าประชาชนยังเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย” และยังเสนอว่าอยากให้ทุกคนเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่มีความคิดเป็นทุกคนเอง และร่วมกันตรวจสอบรัฐบาล
ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เสริมในประเด็นนี้ว่า เวลาเราพูดเรื่อง ส.ว. เรามักจะคิดว่า ควรต้องมีเพื่อมาถ่วงดุล ส.ส. แต่จริงๆ มันมีอีกหลายกลไกที่ทำได้ เช่นองค์กรหน่วยงานต่างๆ ที่อาจมีข้อมูลเยอะกว่ารัฐบาลเอง
โดยในกระบวนการหากยกเลิก ส.ว. นั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ได้ระบุว่า ตามระบบแล้ว ถ้าอยากเปลี่ยนเป็นสภาเดี่ยว สามารถทำได้ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ร่างไม่ยาก แค่ยกเลิก ซึ่งต้องมี ส.ส. ครึ่งหนึ่ง และ ส.ว. 1 ใน 3 เห็นด้วย รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน 20% โดยไม่ต้องทำประชามติ ใช้การเสนอชื่อ 50,000 คนก็เสนอได้
ในขณะที่ ภาคประชาชนให้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติได้มากกว่าที่เคยเป็น ประเมิน ติดตาม ตรวจสอบการทำงานได้ ถึงแม้ว่ากลไกของสภา จะทำให้แบ่งฝ่ายเป็น 2 ฝ่าย แต่ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีแค่ 2 ฝ่าย
#Brief #TheMATTER