การบำบัดโรคย้ำคิดย้ำทำ บางครั้งผู้ป่วยต้องสัมผัสสิ่งปนเปื้อนโดยตรง เช่น ฝาชักโครก และถูกบังคับให้ห้ามล้างมือ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายคนอาจไม่กล้าเข้ารับการรักษา งานวิจัยชิ้นหนึ่งเสนอวิธีการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) แบบใหม่ เพื่อก้าวข้ามปัญหาดังกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience ซึ่งทีมวิจัยจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำจำนวน 29 คนจากสถาบันโรคย้ำคิดยำทำของโรงพยาบาล McLean ที่อยู่ในสหรัฐฯ
นักวิจัยนำแขนปลอมที่ทำจากยาง มาทดลองใช้ในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ เพื่อดูว่ามันจะช่วยให้ผู้ป่วยก้าวข้ามความกลัวได้หรือไม่ โดยวิธีการรักษาแบบนี้เรียกว่า ‘การรักษาโดยการกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึก’ (multisensory stimulation therapy)
ในการทดลอง ผู้ป่วยต้องนั่งโต๊ะที่มีแขนปลอม และมองดูแขนปลอมถูกตี จนกระทั่งพวกเขารู้สึกว่ามันเป็นแขนของพวกเขาเอง จากนั้นแขนปลอมจะถูกเคลื่อนไปสัมผัสกับอุจจาระ ส่วนแขนจริงของพวกเขาจะถูกสัมผัสด้วยทิชชู่เปียก เพื่อจำลองความรู้สึกของการสัมผัส จากนั้นผู้ป่วยจะถูกวัดระดับความขยะแขยง, ความตื่นตระหนก และความรู้สึกอยากล้างมือ
บาแลนด์ จาลา (Baland Jala) หนึ่งในทีมวิจัยการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำด้วยมือยาง จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า “OCD สามารถเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ร่างกายของใครหลายคนอ่อนแอมากได้ แต่การรักษาโรคมักมีความไม่ตรงไปตรงมา”
เขายังกล่าวอีกว่า แขนยางลวงตามักทำให้คนขำในตอนแรก แต่ก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกสบายใจ นอกจากนี้มันยังเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการรักษาด้วย VR และยังสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
อ้างอิงจาก
https://www.eurekalert.org/pub_releases/2020-01/uoc-caf010820.php.
https://www.medicinenet.com/ocd_more_common_than_you_think/views.htm
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER