(ยาวหน่อย แต่ชวนอ่านนะ เพราะสำคัญจริงๆ)
“รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นกับประเทศไทย ควรจะให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน”
น่าจะเป็นวลีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งที่หลายๆ คนจำได้
แต่หลายคนอาจจำได้เพียงลางๆ ว่า ความเห็นดังกล่าวถูกพูดถึงระหว่างไต่สวนพยาน (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคมขณะนั้น) ระหว่างการพิจารณาคดีว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท’ เพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น รถไฟความเร็วสูง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อปี พ.ศ.2557
ซึ่งที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2557 (คำวินิจฉัยที่ 3-4/2557) ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว #ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนของเนื้อหา และกระบวนการตราขึ้น
เพราะมี ส.ส.กดบัตรลงคะแนนแทนกัน
ล่าสุด คำวินิจฉัยคดีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ.2557 ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง
เมื่อนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่า มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยบางคน กดบัตรลงคะแนนแทนเพื่อน ส.ส.พรรคเดียวกัน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี พ.ศ.2563 วาระสอง ตั้งแต่มาตรา 31 เป็นต้นไป และวาระสาม เห็นชอบทั้งฉบับ
และต่อมา เลขาธิการสภาฯ ก็ออกมายอมรับว่า มีการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.จริง !
#คำถาม ก็คือ พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ต้องล้มไป เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หรือไม่?
ย้อนไปดูเนื้อหาคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ‘ผิดรัฐธรรมนูญ’ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเทศวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น #ประเด็นแรก การกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.จะทำให้กระบวนการตราร่างกฎหมายนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ #ประเด็นที่สอง เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
สำหรับการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวว่า ทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท – ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ !
โดยให้ #เหตุผล ไว้ในหน้าที่ 36 ของคำวินิจฉัย ที่มีความยาว 45 หน้า ว่า
“การกระทําดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 แล้ว
“ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไดปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน
“มีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
– ดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/center3-4_57.pdf
ทั้งนี้ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึง คือมาตรา 122, 123 และ 126 วรรคสอง ถูกก็อปปี้มาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 114, 115 และ 120 วรรคสาม เหมือนกัน ‘ทุกตัวอักษร’
– ดูเปรียบเทียบเนื้อหารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ 2560 https://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons57/constitution-comp3cons.pdf
หากใช้มาตรฐานเดียวกัน ในเมื่อข้อเท็จริงและข้อกฎหมายใกล้เคียงกัน ผลการวินิจฉัยคดีก็น่าจะออกไปในทางเดียวกัน ใช่หรือไม่?
และหากร่างกฎหมายสำคัญเช่นนี้ ต้องล้มไป ตามปกติแล้วจะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาล แสดงความรับผิดชอบ – ไม่ว่าจะยุบสภาหรือลาออก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่า กรณีนี้จะกลายเป็นคดีที่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยหรือไม่?
และผลการวินิจฉัยของศาล จะออกมาในรูปแบบใด?
ความเป็นไปได้หลักจากนี้
1. ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
2. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
2.1 ศาลวินิจฉัยว่าไม่ผิด – ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ประกาศใช้
2.2 ศาลวินิจฉัยว่าผิด – ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ถูกคว่ำ – รัฐบาล/นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบ?
#Brief #TheMATTER