ติดเชื้อน้อยเพราะตรวจน้อยหรือเปล่า? คือคำถามที่คาใจหลายๆ คน ต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเมืองไทย ที่หนาหูขึ้นทุกๆ วัน
วันนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จึงเปิดเผยจำนวนการตรวจ (test) ของห้องปฏิบัติการในไทยเป็นครั้ง โดยข้อมูลอัพเดทล่าสุดคือวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนการตรวจไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง (ตัวอย่างไม่ใช่คน เพราะคนๆ หนึ่งอาจตรวจหลายครั้ง โดยเฉพะผู้ป่วย COVID-19 ชุดแรกๆ ที่ต้องตรวจยืนยันอย่างน้อย 2 ครั้ง และปัจจุบันไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมกว่า 2 พันคน)
ข้อมูลจากศูนย์ฯ ดังกล่าวยังเทียบให้เห็นว่า ‘ต่อสัดส่วนประชากรหนึ่งล้านคน’ ไทยมีการตรวจเฉลี่ย 1,079 ตัวอย่าง แม้จะน้อยกว่าไต้หวันครึ่งเท่า แต่ก็มากกว่าญี่ปุ่น 3 เท่า ฟิลิปปินส์ 20 เท่า หากข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง ก็ถือว่าสัดส่วนการตรวจ COVID-19 ในไทยอยู่ในระดับกลางๆ ไม่มาก-ไม่น้อย
ข้อมูลที่ศูนย์ฯ นำมาเปิดเผย ตรงกับตัวเลขของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่นำมาเปิดเผยไว้บนเฟซบุ๊ก @surapongofficial
นพ.สุรพงษ์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่การตรวจ COVID-19 ในช่วงแรกๆ มีน้อย เพราะห้องปฏิบัติการช่วงแรกยังมีไม่มากแถมกระจุกตัวอยู่ใน กทม. แต่ต่อมามีการเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการ รวมถึงลดเกณฑ์ผู้ที่สามารถเข้ารับการตรวจได้ นอกจากนี้ เดิมยังไม่มีการรวมตัวเลขตรวจอย่างเป็นระบบ ทำให้ตัวเลขอาจดูน้อยกว่าความเป็นจริง กระทั่งปัจจุบัน สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมตัวเลขการตรวจทั้งหมดในประเทศไทย “ซึ่งจะทำให้เราทราบตัวเลขที่แท้จริง”
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.nrct.go.th/covid19
https://www.facebook.com/surapongofficial/posts/2473994649367344
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER