แผ่นจารึกพระบัญญัติ 10 ประการจากพันธสัญญาเดิมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ถูกประมูลไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (18 ธันวาคม 2024) ด้วยราคา 5.04 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 173.98 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าราคาประเมินสูงสุดเกิน 2 เท่า
บริษัทประมูล Sotheby’s ระบุว่า แผ่นหินดังกล่าวมีอายุประมาณ 1,500 ปี ในยุคโรมัน-ไบแซนไทน์ตอนปลาย มันมีน้ำหนัก 115 ปอนด์ ยาว 2 ฟุต แกะสลักด้วยภาษาฮีบรูฉบับดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าภาษาฮีบรูโบราณ
ก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินไว้ว่า แผ่นหินดังกล่าวน่าจะขายได้ในราคา 1-2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 34-69 ล้านบาท) เท่านั้น แต่การประมูลก็ดุเดือดกว่าที่คิด และกินเวลานานถึง 10 นาที จนถูกขายไปในราคา 5.04 ล้านดอลลาร์ในท้ายที่สุดกับผู้ประมูลที่ไม่เปิดเผยชื่อ โดยเขาระบุว่า มีแผนที่จะบริจาคแผ่นหินนี้ให้กับสถาบันแห่งหนึ่งในอิสราเอล
ตามคำบอกเล่าของ จาค็อบ คาปลัน (Jacob Kaplan) ผู้ค้นพบแผ่นจารึกนี้ในปี 1943 แผ่นจารึกนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1913 ขณะที่กำลังสร้างทางรถไฟใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของอิสราเอลในปัจจุบัน แผ่นจารึกนี้ถูกใช้ปูถนนในบ้านหลังหนึ่ง และถูกฝังลงในดินโดยมีจารึกหงายขึ้น คาปลันกล่าวในขณะนั้น
ปี 1947 แผ่นจารึกนี้ถูกส่งไปยังคนขายของเก่าของอิสราเอลในปี 1995 จากนั้นจึงถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ Living Torah ในบรู๊คลิน และ มิตเชลล์ เอส. แคปเปลล์ (Mitchell S. Cappell) นักสะสม ได้ซื้อแผ่นจารึกนี้ในปี 2016 ในราคา 850,000 ดอลลาร์ จนล่าสุด เขาก็ขายให้กับ Sotheby’s New York
จากแถลงการณ์ของ Sotheby’s แผ่นหินนี้ได้จารึกบัญญัติสำคัญของชาวสะมาเรีย ประกอบด้วยหลักคำสอนของพระเจ้าที่เป็นศูนย์กลางของศรัทธาต่างๆ
ศาสนาสะมาเรีย เป็นศาสนาเทวนิยมโบราณที่ยึดตามหนังสือ 5 เล่มแรกของพันธสัญญาเดิม และแม้จะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนายิว แต่ชาวสะมาเรียก็ยึดภูเขาเกริซิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ให้เป็นที่ประทับของพระยะโฮวา แทนที่จะเป็นภูเขาไซอัน
แถลงการณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ตั้งเดิมของแผ่นจารึก น่าจะถูกทำลายจากการรุกรานของโรมันในช่วงปี ค.ศ. 400-600 หรือจากสงครามครูเสดในช่วงปลายศตวรรษที่ 11
แผ่นจารึกหินนี้ประกอบด้วยข้อความยาว 20 บรรทัด ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับพระคัมภีร์มาก แต่มีการระบุถึงบัญญัติ 9 ข้อ จากบัญญัติ 10 ข้อเท่านั้น โดยข้อที่หายไปคือ ‘อย่าออกพระนามของพระเจ้าโดยไม่สมหตุ’ และแทนที่ด้วยคำสั่งใหม่ ‘ให้บูชาบนภูเขาเกริซิม’
ก่อนการประมูล ริชาร์ด ออสติน (Richard Auston) หัวหน้าฝ่ายหนังสือและต้นฉบับระดับโลกของ Sotheby’s กล่าวในแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ว่า
“แผ่นจารึกอันน่าทึ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นสายสัมพันธ์ที่จับต้องได้กับความเชื่อที่ช่วยหล่อหลอมอารยธรรมตะวันตก การได้พบกับมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันนี้ เปรียบเสมือนการเดินทางผ่านกาลเวลานับพันปี เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่บอกเล่าผ่านจรรยาบรรณทางศีลธรรมที่เก่าแก่ที่สุ ดและคงอยู่ยาวนานที่สุดของมนุษย์”
อย่างไรก็ดี ไบรอัน ไอ. แดเนียลส์ (Brian I. Daniels) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและโครงการของ Penn Cultural Heritage Center ในฟิลาเดลเฟีย ให้ข้อคิดเห็นไว้กับสำนักข่าว The Newyork Times ไว้ว่า วัตถุต่างๆ จากภูมิภาคนี้ หลายอย่างก็เป็นของปลอม แต่แผ่นหินนี้อาจจะเป็นการค้นพบทางประวัติศาสตร์จริงๆ ก็ได้โดยนักวิชาการบางคนกล่าวว่า หินก้อนนี้อาจเพิ่งถูกแกะสลักไว้ในช่วงเวลาที่ค้นพบ ไม่ใช่ในช่วงปลายยุคโรมัน-ไบแซนไทน์ อย่างที่แถลง แต่มันก็ไม่มีทางทราบได้อย่างแน่ชัด
คริสโตเฟอร์ เอ. โรลสตัน (Christopher A. Rollston) ประธานภาควิชาภาษาและอารยธรรมคลาสสิกและตะวันออก แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่า “ปัญหาคือ เราไม่มีเอกสารใดๆ จากปี 1913 และเนื่องจากนักปล้นสะดมและนักปลอมแปลงก็มักจะแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อให้จารึกดูมีความน่าเชื่อถือ เรื่องราวนี้จึงอาจเป็นเพียงเรื่องเล่าลือที่เล่าโดยผู้ปลอมแปลงหรือพ่อค้าของเก่า”
ทางฝั่งของ Sotheby’s มี เซลบี คิฟเฟอร์ (Selby Kiffer) ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติอาวุโสด้านหนังสือและต้นฉบับ ออกมาอธิบาย ว่าการสึกหรอและการผุกร่อนของหินเป็นปัจจัยสำคัญในการระบุอายุของหินได้ และตัวอักษร Paleo-Hebrew ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบอกได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก