ช่วงนี้หลายคนพูดถึงการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ของรัฐ ซึ้งมีการคัดเลือกคน และระบบการคัดเลือกคนที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ ทำให้คนบางกลุ่มที่พวกเขาเห็นว่าควรจะได้รับสิทธิ ตกหล่นจากสวัสดิการนี้ นักวิชาการบางคนเสนอว่าควรให้สวัสดิการกับทุกคนไปก่อน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
เมื่อวานนี้ อ.ภาคภูมิ แสงกนกกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ชื่อว่า ‘โควิด 19 กับการออกแบบระบบสวัสดิการใหม่’ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายทางสังคม (CRISP) ว่า สถานการณ์นี้พิเศษต่างจากปกติ คือ 1.ต้องทำให้สวัสดิการของทุกคนไม่แย่ลง 2.ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันโรคระบาด 3.รักษาเศรษฐกิจไม่ให้พังมาก และ 4.ต้องมีการรักษาระเบียบสังคมไปด้วย
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ บอกว่า นโยบายทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ต้องเลือกว่าจะใช้นโยบายไหน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่าง เงินก็มีข้อดี คือ สะดวกและมีความคล่องตัวสูง แต่ก็มีข้อเสีย คือ ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายการคลัง คือ การอัดฉีดเงิน ซึ่งเวลาอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบมากๆ จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา
นอกจากนี้ เงินจะใช้ได้ดีก็ต่อเมือกลไกตลาดมันทำงาน แต่ปัจจุบันกลไกตลาดบางอย่างมันไม่ทำงาน หรือทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น หน้ากากอนามัย ไข่ไก่ ที่ขาดตลาด สมมติว่าให้เงินแล้วไม่สามารถหาซื้อของพวกนี้ได้่ มันก็ต้องมาดูว่าให้เงินอย่่างเดียวมันจะตอบโจทย์ 4 จุดประสงค์หลักได้ไหม ให้แล้วเขาจะกักตัวได้ไหม เพราะพอให้เงินแล้ว เขาอาจต้องไปซื้อของนอกบ้าน
อ.ภาคภูมิ ยังระบุว่า การให้ของอาจไม่มีข้อจำกัดเหมือนเงิน แต่มีข้อเสียเรื่องความไม่ถูกใจ เพราะความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ให้ข้าวสารกับคนที่ชอบสปาเก็ตตี้ก็ไม่ตอบโจทย์ การให้สวัสดิการจึงต้องมีการผสมผสาน อาจต้องให้สองอย่างรวมกัน หรืออาจคิดวิธีอื่นเลยก็ได้ เช่น ให้แบบเป็นบริการ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าขนส่ง เป็นต้น หรือ ให้เป็นเครดิต (credit) ที่แต่ละคนใช้ซื้อของออนไลน์ได้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ
สำหรับคำถามที่ว่าควรให้สวัสดิการกับใคร อาจารย์ มองว่า ต้องดูที่นโยบาย หากให้ประชากรเฉพาะกลุ่ม มันก็มีข้อดีเรื่องการใช้งบประมาณน้อย แต่ละคนได้ส่วนแบ่งเยอะ แต่มันเหมาะกับกรณีที่มีข้อมูลพร้อมว่าคนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือจริงๆ และกรณีที่ผลกระทบในด้านลบ (negative impact) จำกัดอยู่แค่ไม่กี่คน ส่วนการให้ทุกคนจะมีข้อเสีย คือ ส่วนแบ่งจะน้อยลง เช่น แต่ก่อนให้ 5,000 บาท พอให้ทุกคนอาจเหลือ 3,000 บาท แต่มันไม่ต้องใช้ข้อมูล เพราะมันไม่มีใครหลุดรอดไป
สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันมันกระทบคนจำนวนมหาศาล ดังนั้นการให้สวัสดิการแค่กับคนบางคนจึงไม่เหมาะสม มันต้องให้ทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ในภาวะนี้อาจต้องใช้ระบบที่ทั่วถึงหมดทุกคนก่อน แต่ถ้าสถานการณ์กลับไปเป็นปกติแล้ว ยังคงแบบนี้ไว้ไหม ก็ต้องดูว่าหลัง COVID-19 แล้วเป็นอย่างไร
#Brief #TheMATTER