เมื่อก่อนเราอาจคิดว่าหลุมดำเป็นสิ่งที่หายากและมีน้อย แต่การค้นพบในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหลุมดำอาจมีจำนวนมากกว่าที่คิด
ทีมนักดาราศาสตร์เปิดเผยผลการส่องกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) ที่อยู่ในชิลี ค้นพบหลุมดำใหม่ที่อยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 1,000 ปีแสง และในตอนกลางคืน คนที่อยู่ในซีกโลกใต้สามารถมองเห็นดวงดาวที่อยู่ในระบบของมันได้ด้วยตาเปล่า
ในตอนแรก พวกเขาพยายามศึกษาพฤติกรรมของดาว 2 ดวงที่อยู่ในระบบดาวหนึ่งชื่อว่า ‘HR 6819’ ที่งสองมีมวลและขนาดเท่ากัน แต่มีพฤติกรรมต่างกัน อาทิ ดาวดวงหนึ่งหมุนเร็วกว่าอีกดวงหนึ่ง
พวกเขาสันนิษฐานมีวัตถุบางอย่างที่มีมวลมหาศาลอยู่ตรงใจกลางของระบบ และส่งผลให้ดาวทั้ง 2 มีพฤติกรรมแบบนั้น แต่เมื่อส่องระบบด้วยกล้องโทรทัศน์กลับมองไม่เห็น
ทีมวิจัยสงสัยว่าวัตถุดังกล่าวอาจจะเป็นดาวที่มองเห็นได้ยาก หรือ หลุมดำขนาดใหญ่ แต่ท้ายที่สุดก็ได้สรุปว่าสิ่งที่มีมวลมากขนาดนั้น และสามารถอยู่ในระบบนี้ได้ น่าจะเป็นหลุมดำมากกว่าดวงดาว
หลุมดำนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 4 เท่า ซึ่งนับว่าเล็กเมื่อเทียบกับหลุ่มดำอื่นๆ ที่อยู่ในจักรวาล เช่น หลุมดำมวลมหาศาล (supermassive blackhole) ที่อยู่ในกาแล็คซี่ทางช้างเผือก มีมวลราว 4.6 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ และอยู่ห่างจากโลก 26,000 ปีแสง
การค้นพบหลุมดำที่อยู่ใกล้กับโลกแสดงให้เห็นว่า มันอาจจะมีหลุมดำเล็กๆ ที่ยังไม่ได้รับการค้นพบอยู่ทั่วจักรวาล หรือ แม้แต่ในกาแล็คซี่ของเรา โดย Thomas Rivinius นักวิทยาศาสตร์ผู้นำทีมวิจัย เผยว่า เรารู้จักหลุมดำแค่ไม่กี่สิบแห่ง แต่มันอาจจะมีอีกเป็นพันล้านแห่งในกาแล็คซี่ การที่หลุมดำอยู่ใกล้ขนาดนี้หมายความว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พบได้น้อย
อ้างอิงจาก
https://www.theverge.com/2020/5/6/21249111/black-hole-earth-light-years-hr-6819-stars-orbit-close
https://www.aanda.org/articles/aa/full_html/2020/05/aa38020-20/aa38020-20.html
#Brief #TheMATTER