ช่วงที่เกิด COVID-19 หลายคนคงรู้สึกเหงา เพราะไม่ค่อยได้เจอหน้าใคร และการคุยกับเพื่อนผ่านแอพฯ ก็ไม่ทำให้รู้สึกฟูลฟิลเหมือนคุยต่อหน้าจริงๆ ตอนนี้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งในต่างประเทศที่กำลังทำโปรเจ็กต์ที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
Sandeep Hoonjan และ Xianzhi Zhang นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Royal College of Art (RCA) และ Imperial college London ร่วมกันทำโปรเจ็กต์ออกแบบอุปกรณ์ที่ช่วยให้การพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์มีความคล้ายคลึงกับการพูดคุยกันแบบต่อหน้ามากขึ้น
โปรเจ็กต์นี้มีชื่อว่า ‘Feel the Conversation’ เป็นการพัฒนาอุปกรณ์คล้ายโทรศัพท์คู่หนึ่งที่สามารถเปลี่ยนคำพูดของผู้ใช้งานเป็น ‘แพทเทิร์นการสัมผัส’ ที่แตกต่างกันไปตามการออกเสียงสูงต่ำ และระดับเสียงของผู้ใช้งาน กล่าวคือ แปรงซิลิโคนของอุปกรณ์นี้จะเคลื่อนไหวตามการออกเสียงสูงต่ำ และระดับเสียงความดังของเสียงพูด เช่น ถ้าพูดเสียงดังจะเคลื่อนไหวแบบกว้าง หรือ ถ้าพูดช้าๆ จะเคลื่อนไหวขึ้นลงช้า เป็นต้น
“ด้วยวิธีนี้ทำให้พวกเราสร้างความรู้สึกตอบสนองที่คล้ายคลึงกับการตอบสนองต่อคำว่า เฮลโล่ และ หนีห่าว ที่ส่งมาจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้” Hoonjan กล่าวในเว็บไซต์ของเขา
.
Hoonjan กล่าวด้วยว่า เพื่อนคนหนึ่งบอกกับเขาว่า “คนคิดถึงความรู้สึกของการสัมผัส ฉันไม่สามารถพึ่งพา Zoom หรือ โทรศัพท์ของตัวเอง เพื่อให้รู้เหมือนอยู่ใกล้กับพวกเขาได้” เขาได้คุยกับเพื่อนๆ ของเขา และพบว่า ความต้องการในการสัมผัสคนอื่น (skin hunger) มันเพิ่มขึ้น และโปรเจ็กต์นี้ก็จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับคนอื่นจริงๆ โดยใช้เสียงพูดเป็นจุดอ้างอิง แต่เพิ่มความรู้สึกของการสัมผัสเข้าไป
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์นี้ยังต้องพึ่งพาสายที่เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องหนึ่งกับอีกเครื่องหนึ่ง ผ่านพอร์ตขนาด 3.5 mm จึงยังใช้งานในระยะไกลไม่ได้ แต่ในอนาคตอาจทำได้ เพราะ ทางผู้ออกแบบอุปกรณ์ บอกว่า ตอนนี้กำลังพัฒนาอุปกรณ์ที่ทำงานผ่านระบบไวเลส ที่สามารถทำงานบนอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้คน 2 คนที่อยู่คนละประเทศ สามารถใช้งานได้
และกำลังพัฒนาวิธีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไปยังคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน เพื่อให้อุปกรณ์สามารถส่งข้อมูลกลับไปกลับมาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.dezeen.com/2020/05/27/sandeep-hoonjan-xianzhi-zhang-haptic-phones/
https://sandeephoonjan.com/feel-the-conversation
http://xz-zhang.com/project/phone
#Brief #TheMATTER