คดีหยุดแล้ว แต่เรายังไม่หยุดสงสัย แฟนคลับรู้ คนอ่านรู้ The MATTER ขอเอกสารคดีนาฬิกายืมเพื่อนมาปีกว่าๆ แต่จนป่านนี้ ป.ป.ช.ก็ยังให้เรามาไม่หมดเลย (จึงต้องขอให้ศาลปกครองเข้ามาช่วย)
มีเรื่องต้องย้ำกันอีกที ก่อนจะว่ากันถึงเนื้อข่าวต่อไป 1.) เป้าหมายในการตรวจสอบของเราคือองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปราบคอร์รัปชั่น ไม่ใช่ทหารเกษียณคนนั้น และ 2.) การฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ช่วยเปิดเผยข้อมูล เป็นหนึ่งในการทำหน้าที่สื่อมวลชนว่าด้วยการตามหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ฟ้องศาลเพื่อเอาผิดใคร
เข้าใจตรงกันนะ มาว่ากันต่อไป
ต้นสัปดาห์นี้เอง ราวๆ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เราเพิ่งได้รับเอกสารคำชี้แจงต่อศาลของ ป.ป.ช.ปึกใหญ่ ในคดีที่เราขอให้ศาลปกครองช่วยวินิจฉัยสั่งให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ อีก 4 รายการ ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีคำสั่งให้เปิดเผยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่ทาง ป.ป.ช.ปฏิเสธ เราจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีนี้กับศาล ได้รับหมายเลขคดีดำที่ 2557/2562
ในเอกสารดังกล่าวของ ป.ป.ช.จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง ชวนติดตามในบรรทัดถัดๆ ไป
#ข้อมูลที่ขอไปและยังไม่ได้รับ
เอกสาร 4 รายการที่เราทำเรื่องยื่นข้อไปตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2561 (ความจริงเราขอไป 6 รายการ แต่ได้มาแล้ว 2 รายการ บางส่วนเป็นกระดาษเปล่า ดังที่เคยทำข่าวไปแล้ว) หลังจาก ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องไม่รับ ‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’ ไว้ไต่สวนต่อ แต่จนป่านนี้ยังไม่ได้รับ ประกอบด้วย
1.) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริง
2.) คำชี้แจงของทหารเกษียณคนนั้น ทั้ง 4 ครั้ง
3.) ข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาหรูทั้งหมดในคดี รวมถึงซีเรียลนัมเบอร์
4.) ชื่อเพื่อนคนอื่นๆ ที่เคยยืมนาฬิกาเหมือนทหารเกษียณคนนั้น
#คำชี้แจงไม่เปิดข้อมูลของ_ปปช
ในคำชี้แจงที่ ป.ป.ช.เขียนโต้คำฟ้องของเราต่อศาลปกครอง ให้เหตุผลการไม่เปิดเผยข้อมูลทั้ง 4 รายการ ดังนี้
รายการที่ 1.) แม้คดีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินจะตกไปแล้ว แต่ ป.ป.ช.อ้างว่า ยังต้องใช้ข้อมูลทำคดีรับทรัพย์สินเกินสามพันและคดีร่ำรวยผิดปกติต่อไป จึงยังให้ไม่ได้
รายการที่ 2.) คำชี้แจงของทหารเกษียณคนนั้น ทั้ง 4 ครั้ง เป็นเอกสารของทหารเกษียณคนนั้น เมื่อสอบถามไป ได้รับคำตอบว่าไม่ประสงค์จะให้เปิดเผยต่อสาธารณะ
รายการที่ 3.) ส่วนนี้ให้ได้ เพราะเป็นข่าวไปแล้ว ยกเว้นซีเรียลนัมเบอร์
รายการที่ 4.) ชื่อเพื่อนคนอื่นๆ ถือเป็นพยานในคดี ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามเปิดเผย
สำหรับข้อกฎหมายที่ ป.ป.ช.ใช้เพื่อโต้แย้ง The MATTER หลักๆ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 58 และมาตรา 180 นอกจากนี้ ยังมีการอ้างคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 199/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 681/2560
อย่างไรก็ตาม อยากให้จับตาเอกสารรายการที่ ‘1.) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริง’ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราอยากได้ที่สุด เพื่อนำมาตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.ว่า ที่มีมติไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน มีเหตุและผลเพียงพอหรือไม่ – ซึ่งตามกฎหมาย ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ‘คดีที่ยุติไปแล้ว’ เราสามารถขอมาดูได้ ทาง ป.ป.ช.จึงพยายามยกข้ออ้างว่า ข้อมูลในคดีนี้ยังไปใช้ในคดีอื่นๆ อีก เพื่อไม่ให้เข้าข้อกฎหมายดังกล่าว
#ปปช_แย้งกฎหมายข้อมูลข่าวสาร
ช่วงท้ายคำชี้แจงของ ป.ป.ช. มีเนื้อหาบางส่วนน่าสนใจ โดยเฉพาะการโต้แย้งอำนาจของ กวฉ. และอำนาจของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งให้สิทธิประชาชนขอตรวจดูข้อมูลที่อยู่ในครอบครองของรัฐ
#หนึ่ง ป.ป.ช.อ้างว่า เอกสารต่างๆ ที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่เป็น ‘กฎหมายเฉพาะ’ และเป็นข้อยกเว้น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่เป็น ‘กฎหมายทั่วไป’
#สอง อำนาจของ กวฉ. ที่สั่งให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลได้ ไม่สามารถใช้ได้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ
#สาม กรณีกฎหมายขัดกัน ให้ยึดตามกฎหมายที่ออกมาภายหลัง ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ออกมาปี 2540 ส่วน ป.ป.ช.ถูกจัดตั้งโดยกฎหมายที่ออกมาในปี 2542
#สี่ งานไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งโดยสภาพจะต้องรักษาความลับ แตกต่างจากการบริหารราชการแผ่นดิน ที่จัดทำและให้บริการสาธารณะ
#สาระสำคัญคำชี้แจง_ปปช
keyword สำคัญของคำชี้แจงของ ป.ป.ช.นี้อยู่ที่ว่า “..โดยหลักการและเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐ ส่วนกฎหมาย ป.ป.ช. ตั้งแต่ฉบับปี 2542-2561 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยภารกิจดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. #จะต้องมีอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับขององค์กรหรือหน่วยงานใดๆ อันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม..”
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาข้อโต้แย้งอำนาจ กวฉ. และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะใช้ได้ในกรณีที่คดียังไม่ยุติเท่านั้น กรณีที่คดียุติแล้ว กระทั่งในกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 36 วรรคสาม ได้กำหนด ‘ข้อยกเว้น’ ไว้ว่า คดีใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไปแล้ว เป็น ‘คดีที่ยุติแล้ว’ สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
ทาง ป.ป.ช.จึงพยายามอ้างเสมอว่า กรณีนาฬิกายืมเพื่อน ในส่วนของคดีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน (ซึ่งเป็นคดีที่เราขอข้อมูล) แม้จะมีมติไม่รับไว้ไต่สวนแล้ว แต่ข้อมูลบางอย่างยังเอาไปใช้ทำคดีรับทรัพย์สินเกินสามพันบาทและคดีร่ำรวยผิดปกติต่ออีกนะ เพื่อให้เป็นข้อมูลใน ‘คดีที่ยังไม่ยุติ’ นั่นเอง
ข่าวนี้เขียนยาวหน่อย ให้ยาวพอๆ กับระยะเวลาที่เรารอคอยเอกสารจาก ป.ป.ช.
– ย้อนดูการตามหาผลสอบคดีนาฬิกายืมเพื่อนของ The MATTER ได้ มีทั้งคลิปวีดิโอ บทความ ข่าวสั้น และพอดคาสต์
https://thematter.co/social/nacc-tranparency-general-rolex-case/78759
https://www.youtube.com/watch?v=uIKainFfOwY
https://thematter.co/brief/brief-1571749207/88056
https://thematter.co/brief/brief-1582956008/102304
https://podtail.com/podcast/why-it-matter/wim07/
#Brief #TheMATTER