จากมือสั่นระริกพร้อมหัวใจระทึก เต้นไม่เป็นจังหวะ กลายเป็นมืออ่อนแรงและหัวใจเหี่ยวเฉา
เมื่อกว่าครึ่งปีที่เรารอคอย ‘ผลสอบ’ คดีนาฬิกายืมเพื่อนจาก ป.ป.ช. ผลลัพธ์ที่ได้คือเอกสารสำคัญกว่าครึ่ง เป็นเพียง ‘กระดาษเปล่า’
1.
หลังจาก The MATTER ทราบมติ 5 ต่อ 3 ของ ป.ป.ช. ไม่รับไต่สวนคดีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมของปี 2561 เราก็เร่งร่างเอกสารขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมติดังกล่าวเสร็จภายในคืนนั้น และส่งไปรษณีย์ไปขอข้อมูลจาก ป.ป.ช.ในอีกไม่กี่วันถัดมา
เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยออกระเบียบว่า คดีใดที่ตีตกไปแล้วหรือไม่ไต่สวนต่อ ประชาชนทั่วไปสามารถขอดูเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ นัยว่าเพื่อสร้างความโปร่งใส ให้สาธารณชนไว้วางใจการทำงานขององค์กรอิสระนี้
แต่ตลอดครึ่งปีแรกของปี 2562 กลับมีแต่ความเงียบ ป.ป.ช.ไม่เคยติดต่อกลับมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว เราจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ให้ช่วยติดตามการขอข้อมูลดังกล่าวถึง 2 ครั้ง เขียนข่าวทวงถามและโทรศัพท์ไปสอบถามจากผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง
ที่สุด ซองไปรษณีย์ที่บรรจุเอกสารสำคัญตีตรา ‘ลับ’ เกี่ยวกับคดีนาฬิกายืมเพื่อนที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ก็ส่งมาถึงสำนักงานของ The MATTER ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2562
เอกสารลับดังกล่าวมีทั้งสิ้น 29 หน้า แต่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่าด้วยข้อเท็จจริงและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีนาฬิกายืมเพื่อน กลับมีอยู่เพียง 14 หน้า และในนั้นกว่าครึ่งเป็น ‘กระดาษเปล่า’ ส่วนที่มีตัวหนังสือก็เป็นข้อมูลที่เคยเปิดเผยกับสาธารณชนไปแล้ว!
2.
เมื่อเจอกระดาษเปล่า หลายคนอาจรู้สึกผิดหวัง ไปต่อไม่ได้ ไม่รู้จะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อดี
แต่ The MATTER กลับเห็นประเด็นที่น่าสนใจจากกระดาษเปล่าเหล่านั้น
เพราะตั้งแต่เริ่มทำข่าวเกี่ยวกับคดีนาฬิกายืมเพื่อน ตลอด 1 ปีครึ่ง สิ่งที่เราสนใจไม่ได้มีแค่ พล.อ.ประวิตรจะมีความผิดหรือไม่ แต่ยังรวมถึงว่า ป.ป.ช.จะทำคดีนี้ด้วยความตรงไปตรงมาและโปร่งใสเพียงใดต่างหาก
และถ้าว่ากันตามจริง – กรณีหลังอาจเป็นสิ่งที่เราจับตามากกว่า เสียด้วยซ้ำ
ข้อมูลที่ The MATTER ยื่นขอเกี่ยวกับคดีนาฬิกายืมเพื่อนไป มีทั้งสิ้น 6 รายการ ได้แก่
- เหตุผลที่ยกคำร้องคดีนี้โดยละเอียด ไม่ใช่แค่ที่ปรากฏในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์
- คำวินิจฉัยส่วนตนของกรรมการ ป.ป.ช.ที่ให้ยกคำร้อง ไม่ไต่สวนต่อ
- รายงานสรุปการแสวงหาข้อเท็จจริง และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- คำชี้แจงทั้งหมดของ พล.อ.ประวิตร
- ยี่ห้อ รุ่น และมูลค่ารวมของนาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตรยืมมา
- รายชื่อเพื่อนคนอื่นที่เคยได้ยืมนาฬิกาจากปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ยอมส่งเอกสารให้เพียงรายการที่ 1. และ 2. เท่านั้น ส่วนรายการอื่นๆ ปฏิเสธจะเปิดเผย
ขณะที่ข้อมูลสำคัญๆ ในเอกสารรายการที่ 1. ก็อย่างที่เห็นว่า เอกสารสำคัญหลายหน้าถูกทำให้เป็นกระดาษเปล่า โดย ป.ป.ช.อ้างว่าจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลของบุคคลตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 36
ทั้งที่หากไปดูเนื้อหาในมาตราดังกล่าว จะห้ามเปิดเผย ‘ข้อมูลเฉพาะของบุคคล’ ทั้งผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงพยาน ที่น่าจะหมายถึง ชื่อ-นามสกุล รูปถ่าย ทะเบียนบ้าน เลขบัตรประชาชน ฯลฯ หรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้รู้ถึงตัวตนของบุคคลนั้นๆ เสียมากกว่าคำให้การหรือข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากบุคคลเหล่านั้น
3.
เราเกือบจะไม่ได้รู้จักคดีนาฬิกายืมเพื่อนแล้ว, หาก พล.อ.ประวิตรยกมือบังแดด จนทำให้เห็นนาฬิกาหรูในข้อมือขวา ช้าลงกว่าเดิม 1 ปี
เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?
นั่นเพราะกลางปี 2561 มีการออกกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่ตามมาด้วยระเบียบที่ว่าด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะทำให้บัญชีทรัพย์สินฯ ของรัฐมนตรีที่เคยแสดงไว้บนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ ถูกถอดลงทั้งหมด
เช่นเดียวกับบัญชีทรัพย์สินฯ ของผู้ที่จะยื่นหลังจากนี้ไป ที่จะแสดงอยู่บนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. เพียง 180 วันเท่านั้น ก่อนจะถูกเอาลง
หากใครอยากตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ถูกนำลงจากเว็บไซต์ ต้องไปที่สำนักงานของ ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ไม่มีวิธีอื่นอีก (และตามปกติเอกสารที่ถูกเก็บไว้เกินสิบปีก็จะถูกนำไปทำลาย)
ในความเป็นจริง – พล.อ.ประวิตรโชว์นาฬิกาหรูปลายปี 2560, ถูกชาวเน็ตจับผิดว่าเคยใส่นาฬิกาหรูถึง 25 เรือนที่ไม่ได้ยื่นไว้ในบัญชีทรัพย์สิน ตอนเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2557, เกิดกระแสกดดันจากสังคมจน ป.ป.ช.เข้ามาทำคดีว่าเจ้าตัว ‘ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ’ หรือไม่ (และคดี ‘รับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท’ ในเวลาต่อมา ซึ่งคดีนี้ยังไม่มีข้อยุติ)
ในสถานการณ์สมมุติ – หาก พล.อ.ประวิตรโชว์นาฬิกาหรูปลายปี 2561 ก็อาจจะไม่มีใครเห็นถึงความผิดปกติ เพราะบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าตัวยื่นไว้ตอนปี 2557 จะไม่ถูกแสดงไว้บนเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ผลสุดท้าย เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้จักกับ ‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’
วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เคยชี้แจงว่า เหตุที่ต้องนำข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ลง เพราะเคยมีมิจฉาชีพนำข้อมูลดังกล่าวไปหาประโยชน์ และคิดว่าเวลา 180 วันที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ก็เหมาะสมกับความสนใจของผู้คน รวมถึงตามปกติสื่อมวลชนก็มักจะรายงานข่าวเพียงไม่กี่วัน หลังมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ต่างๆ อยู่แล้ว
“แต่หากพบว่า การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้เกิดปัญหา เราก็ยินดีจะทบทวนในอนาคต” เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าว
4.
เรา – The MATTER ได้ยื่นอุทธรณ์การไม่เปิดเผยข้อมูล (หรือเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วน) ของ ป.ป.ช. ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ (กวฉ.) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการวินิจฉัย
คดีนาฬิกายืมเพื่อน ของ พล.อ.ประวิตร กรณีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อให้ผิดจริง ก็มีโทษจำคุกแค่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นความผิดครั้งแรก ที่ผ่านมาศาลก็มักจะตัดสินให้รอลงอาญาไว้แทน
พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่คดีใหญ่อะไรนัก
และอีกไม่กี่ปี พล.อ.ประวิตรก็จะพ้นจากตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอยู่แล้ว ทั้งจากความผันผวนทางการเมือง และจากปัจจัยเรื่องอายุกับสุขภาพของเจ้าตัว
หากเทียบกับความโปร่งใสและความตรงไปตรงมาในการทำงานของ ป.ป.ช. องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งจะต้องอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกยาวนาน
ยิ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจมาก ยิ่งต้องถูกตรวจสอบ และยิ่งต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อใจและไว้ใจจากสังคม เพราะตัว ป.ป.ช.เองนั่นแหละที่รู้ดีว่า หลายๆ คดีต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการชี้เบาะแสหรือให้ข้อมูล จะไปทำเองด้วยกำลังทั้งสำนักงานเพียงไม่กี่พันคนก็คงจะไม่ไหว-ไม่ได้แน่ๆ
คดีนาฬิกายืมเพื่อนเป็น ‘บททดสอบ’ ครั้งสำคัญของ ป.ป.ช. แต่ปฏิกิริยาต่อข่าวนี้จากสาธารณชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าองค์กรอิสระนี้จะยังสอบตก
ใช้การเปิดเผยข้อมูลตามที่เราร้องขอไป ช่วยเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยน เรียกคืนความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช.กลับมา
ยิ่ง ‘กระดาษเปล่า’ มีจำนวนหน้ามากเท่าไร ความไว้วางใจจากสาธารณชน ยิ่งมีลดน้อยลงเท่านั้น