การใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้เครือญาติตัวเองขึ้นมามีตำแหน่งสำคัญถือเป็นความผิดทางอาญา – มติล่าสุดของ ป.ป.ช.บอกเอาไว้
ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเป็นนายกฯ กรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อปี พ.ศ.2554 ว่ามีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของ ป.ป.ช. ระบุว่า การย้ายเลขาฯ สมช.ดังกล่าว เป็นไปเพื่อย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร.มาเป็นเลขาฯ สมช. เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ได้เป็น ผบ.ตร.ในที่สุด
“เป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ซึ่งเป็นเครือญาติของยิ่งลักษณ์”
ป.ป.ช.พยายามไล่เรียงให้เห็นถึงพิรุธของการโอนย้ายครั้งนี้ว่า ยิ่งลักษณ์โทรศัพท์มายังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ให้ย้ายถวิลออกจากตำแหน่ง ต่อมามีการทำบันทึกข้อความเพื่อเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม. แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงมีการแก้ไขข้อความเปลี่ยนวันที่เป็นวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554 ต่อมาวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2554 ที่ประชุม ครม.ก็มีมติย้ายถวิลจากเลขาฯ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ก่อนที่วันรุ่งขึ้น ยิ่งลักษณ์จะมีคำสั่งให้ถวิลมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี – กล่าวโดยสรุปการย้ายถวิลพ้นจากเลขาฯ สมช. ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น
มติของ ป.ป.ช.ดังกล่าว ยังอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ที่ชี้ว่า คำสั่งย้ายถวิลพ้นเลขาฯ สมช.ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยมิชอบ “เพราะเป็นการลดบทบาทและหน้าที่ลง โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ถวิลปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่อง หรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล”
สำหรับโทษของการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนให้อัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป
#Brief #TheMATTER