ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นสิ่งที่มีการผลักดัน พูดถึงมายาวนาน โดยวันนี้ ที่ประชุมกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายต่อไป
โดย ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นฉบับที่ภาคประชาชนยื่นมา และถูกปรับปรุงโดย กมธ.กฎหมายฯ ซึ่ง พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษา กมธ.กฎหมายฯ และอดีตรองประธาน กมธ.กฎหมาย มองว่าสามารถคุ้มครองประชาชน และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง
ทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมการฯ สามารถทำหน้าที่เรียกให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน และมาจากข้าราชการ 5 คน ทำให้มีเสียงของประชาชนมากกว่าข้าราชการ
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการกฎหมายฯ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การผลักดันร่างกฎหมายนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจ และความสำเร็จของกรรมาธิการทั้งคณะ ทั้งร่างที่จะส่งเข้าสู่สภาฯ มีด้วยกัน 4 ฉบับ คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของพรรคประชาชาติ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงโดยกรรมาธิการกฎหมายฯ ซึ่งเมื่อเสนอสู่สภาแล้ว ขั้นตอนที่สอง คือ การพิจารณากฎหมาย โดยทั่วไปการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาแบ่งเป็น 3 วาระด้วยกัน ได้แก่
วาระที่หนึ่ง เรียกว่า ‘ขั้นรับหลักการ’ เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย โดยผู้เสนอร่างกฎหมายจะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบ ความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมาย
วาระที่สอง เรียกว่า ‘ขั้นกรรมาธิการ’ เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตรา หรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น
วาระที่สาม เรียกว่า ‘ขั้นลงมติเห็นชอบ’ เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายใด ๆ และจะแก้ไขข้อความใด ๆ ไม่ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะนำไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบร่างนั้นก็เป็นอันตกไป
#Brief #TheMATTER