หลังจากมีการเคลื่อนไหว ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. แล้ว
โดยสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีทั้งหมด 9 ข้อได้แก่
1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”
3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
ขณะที่ในโลกโซเชียลอย่างทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ขึ้นมาติดเทรนด์ โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสแทน โดยมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น ยังไม่เข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์คู่ชีวิต และคู่สมรส รวมถึงยังมีช่องโหว่อื่นๆ ด้วย แต่การแก้กฎหมายแพ่งนั้น เล็งไปที่การเปลี่ยนจากคำว่า “ชาย และหญิง” เป็น “บุคคล” และ “คู่สามีภรรยา” เป็น “คู่สมรส” ซึ่งขยายสิทธิ และความเท่าเทียมมากว่า
โดยขั้นตอนต่อไปของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น คือการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ส่วนร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ถูกผลักดันโดยพรรคก้าวไกลนั้น กำลังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
เข้าไปศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ :
https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?&id=94&error_protect&fbclid=IwAR2NLavEW6jaWf9zlrt4FCnD-Nqrl3UHYGj-H1aXcaNG2rgLNm4i6VXftdU
#Brief #TheMATTER