เดี๋ยวนี้เวลาเราเจ็บป่วยต้องการพบหมอ บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องฝ่ารถติดหรือเดินทางไกลๆ ไปถึงโรงพยาบาล แต่สามารถใช้บริการ app ต่างๆ เพื่อขอรับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้จากที่บ้านเลย สะดวก ง่าย และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเยอะ
และในปัจจุบัน ก็มี startup ไทยหลายบริษัทหันมาให้บริการด้าน health tech กันมากขึ้น
แต่เร็วๆ นี้ แพทยสภาได้ออกประกาศฉบับหนึ่งขึ้นมา ที่ชื่อว่า ‘แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (telemedicine) และคลินิกออนไลน์’ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการการแพทย์ทางไกล แต่มีเนื้อหาบางส่วนที่คนในแวดวง health tech ไทยแสดงความกังวลอยู่ไม่น้อย นั่นคือข้อ 8 ที่กำหนดว่า การให้บริการการแพทย์ทางไกลต้องทำผ่าน ‘สถานพยาบาล’ เท่านั้น ??? ที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนมองว่า จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ให้บริการ telemedicine ที่อิงกับเครือโรงพยาบาลบางแห่งหรือไม่ ไม่รวมไปถึงว่า จะเป็นการลดจุดเด่นของบริการแพทย์ทางไกลที่ควรจะสะดวกในการเข้าถึง (แต่ถ้าต้องไปผูกโยงกับสถานพยาบาลจะทำอย่างไรให้คล่องตัว?)
– ดูประกาศแพทยสภาเกี่ยวกับ telemedicine ได้ที่: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/166/T_0052.PDF
The MATTER สอบถามไปทาง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้รับคำอธิบายว่า ประกาศแพทยสภานี้ เป็นเพียง ‘คำแนะนำ’ ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ และเป็นการออกประกาศนำร่องเพื่อรับรอง telemedicine ให้ถูกต้องเสียด้วยซ้ำ โดยเหตุที่ต้องออกมา เพราะปัจจุบันมีผู้รับบริการการแพทย์ทางไกล ในวิกฤต COVID-19 แต่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ
เลขาธิการแพทยสภายังบอกว่า ในประกาศแพทยสภานี้ให้เวลาทุกฝ่ายได้ปรับตัว 90 วัน ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าว startup ที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลอยู่แล้ว สามารถไปจดทะเบียนเพื่อเป็นสถานพยาบาล ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้เลย โดยหลังจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จะออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามมาอีก
เหตุที่ต้องกำหนดให้ telemedicine ผ่านสถานพยาบาล เพราะสามารถทำได้ทันที และหากการทดลองทำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ในอนาคตก็จะขยายไปนอกสถานพยาบาลด้วย
“เราออกประกาศนี้มาเพื่อคุ้มครองทั้งผู้ป่วยและแพทย์ที่ทำถูกต้อง”
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุย และจะมีการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ต่อไป โดยประกาศแพทยสภานี้เป็นเพียงการนำร่องเท่านั้น เพราะต้องไม่ลืมว่าการให้บริการ telemedicine ไม่ได้มีแค่หมอ แต่ยังรวมถึงเภสัช และผู้ให้บริการทางการแพทย์อื่นๆ อีกกว่า 80 สาขา
“ในอนาคตจะต้องมีกฎหมายเฉพาะสำหรับ telemedicine เพราะเทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก และก็เป็นประโยชน์ทั้งกับคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์” เลขาธิการแพทยสภากล่าว
ชวนติดตามกันต่อไปว่า ประกาศแพทยสภานี้และที่จะออกมาอีกภายหลัง จะส่งอย่างไรต่อการให้บริการการแพทย์ทางไกล ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
#Brief #TheMATTER