แม้ว่ายุคไดโนเสาร์จะผ่านมาหลายล้านปี แต่ทุกวันนี้ก็มีความพยายามค้นคว้าเรื่องราวในยุคนั้นอยู่ โดยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้นำจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และฟื้นฟูให้มันฟื้นขึ้นมาจากที่มันหลับใหลนิ่งๆ มานานกว่า 100 ล้านปี
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยนั้น เป็นกลุ่มชาวญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ซึ่งพวกเขาได้ฟื้นฟูจุลินทรีย์ที่อยู่ในสภาพอยู่เฉยๆ มานานกว่า 100 ล้านปี ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ โดยสิ่งมีชีวิตนี้ รอดชีวิตจากก้นทะเลแปซิฟิกได้ ในตะกอนที่ไม่ค่อยมีสารอาหาร แต่มีออกซิเจนเพียงพอให้มันมีชีวิตอยู่ได้
งานวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นถึงพลังการเอาชีวิตรอดที่น่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์บางชนิดของโลก ซึ่งสามารถดำรงอยู่ได้นานนับหลายล้านปี โดยแทบไม่มีออกซิเจนหรืออาหารใดๆ ก่อนที่จะกลับมามีชีวิตในห้องแล็บ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ฟื้นมัน โดยทีมได้บ่มตัวอย่างเพื่อปลุกจุลินทรีย์ที่จำศีลมายาวนานด้วย ซึ่งพวกเขาสามารถฟื้นชีวิตของจุลินทรีย์ได้เกือบทั้งหมด
ยูกิ โมโรโนะ ผู้นำในการวิจัยนี้ กล่าวว่า เมื่อเขาพบจุลินทรีย์ครั้งแรก เขาสงสัยว่าสิ่งที่ค้นพบอาจจะมีจากความผิดพลาดในการทดสอบ “ตอนนี้ เรารู้แล้วว่าไม่มีสิ่งที่จำกัดอายุสำหรับสิ่งมีชีวิตในชีวภาคใต้ทะเล” พร้อมอธิบายว่า ร่องรอยออกซิเจนในตะกอน ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้หลายล้านปี ขณะที่ไม่มีพลังงาน และระดับพลังงานของจุลินทรีย์ในทะเล ก็ต่ำกว่าจุลินทรีย์บนพื้นผิว
โมโรโนะ ยังสรุปในงานวิจัยนี้ว่า จุลินทรีย์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังที่โดดเด่นของโครงสร้างสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดในโลก และถือเป็นความลึกลับของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่จัดการกับความอยู่รอด
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/science-environment-53575103
#Brief #TheMATTER