พูดถึงบริษัทเทคโนโลยีที่มีอิทธิพล ยังไงก็หนีไม่พ้นพวกกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Amazon หรือ Apple ซึ่งล่าสุดถือเป็นข่าวใหญ่ เมื่อซีอีโอของ 4 บริษัทนี้ ได้เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ที่เจ้าของบริษัทเหล่านี้ปรากฎตัวในสภาพร้อมกัน แม้ว่าจะผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ซีอีโอทั้ง 4 ได้แก่ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ของ Facebook, ซันดาร์ พิชัยของ Google, เจฟ เบซอสของ Amazon และทิม คุก ของ Apple ซึ่งได้เข้ายืนยันว่า บริษัทของพวกเขาไม่ได้ผูกขาดทางการค้า อย่างที่ถูกกล่าวหา และไม่ได้มีอำนาจครอบงำทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นข่าวทางการเมือง หรือแพร่ข่าวปลอม ขณะที่คณะอนุกรรมการที่ตรวจสอบอิทธิพลของบริษัทในโลกออนไลน์ ได้ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการรวบรวมเอกสาร 1.3 ล้านฉบับ และตั้งคำถามกับซีอีโอเหล่านี้ ซึ่งแต่ละคนตอบคำถามอย่างไรบ้าง เราสรุปมาให้แล้ว
ในบรรดาซีอีโอทั้ง 4 คน คำให้การของเบซอสถือเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย เนื่องจากเขาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และไม่เคยปรากฏตัวต่อหน้าสภามาก่อน โดยเบซอสได้ยอมรับว่ามีนโยบายที่ห้ามใช้ข้อมูลจากบุคคลที่ 3 ในการทำธุรกิจ แต่เขาก็ตอบว่า ไม่สามารถรับประกันได้ว่านโยบายจะไม่ถูกละเมิด ทั้งยังมีคำถามว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับสินค้าของตนเอง และจัดลำดับของพวกมันไว้ต้นๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือไม่ ซึ่งเขาก็ได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถาม และให้การถึงความสำคัญของการจ้างงานของบริษัท ที่สร้างงานให้แรงงานหลายแสนตำแหน่ง และลงทุนมหาศาลในประเทศด้วย
ด้านซักเกอร์เบิร์กเอง ก็ถูกถามคำถามเดิมเกี่ยวกับการเข้าซื้ออินสตาแกรม เมื่อปี 2012 ซึ่ง Facebook เองก็ยืนยันว่าการเข้าซื้อธุรกิจนี้เพื่อสร้างโครงสร้าง และความปลอดภัยที่ดีให้แพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และทาง Facebook และ Google เองก็ถูกพรรครีพับลิกันโจมตีว่า บริษัทมีอคติต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งซักเกอร์เบิร์กถูกถามว่า ทำไม Facebook ถึงได้เซ็นเซอร์วิดีโอที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์แชร์ โดยเขาได้ตอบว่า ทวิตเตอร์เองได้จำกัดการเข้าถึงบัญชีของทรัมป์ จูเนียร์ ในการโพสต์วิดีโอ ทั้ง Facebook เองยังยืนยันว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจนับล้านติดต่อกับลูกค้า รวมทั้งช่วยเหลือลูกค้าในการติดต่อกันและกัน
ขณะที่ด้าน Apple เอง ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องกระบวนการตรวจสอบแอปลิเคชั่นในระบบ App Store ที่ไม่มีพื้นที่ให้นักพัฒนาแอปฯ ซึ่งคุกก็แย้งว่า App Store นั้นไม่ได้ผูกขาด และ 84% ของแอปฯ ใน App Store นั้นไม่ได้ถูกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งยังไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2008 และนโยบายของ App Store ยังมีความยุติธรรม เท่าเทียมกับนักพัฒนาทุกคน รวมถึงทำให้มีแอปฯ ต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ในส่วนของ Google เอง พิชัยถูกตั้งคำถามถึงกรณีที่ Google ขโมยเนื้อหามาจาก Yelp (บริษัทรีวิว และแนะนำบริการต่างๆ) และนำมาใช้บนหน้าเว็บของตัวเอง ซึ่งเมื่อ Yelp ขอให้หยุด ทาง Google ก็ขู่ว่าจะลบ Yelp ออกจากการค้าหาทั้งหมด ซึ่งซีอีโอของ Google ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และชี้ว่า Google เองต้องเผชิญการแข่งขันที่มากขึ้นทั้งกับเทคโนโลยีของจีน และอัลกอริทึ่มการค้นหาของ Google เองก็ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย
นอกจากนี้ ทั้ง 4 บริษัทเอง ยังยืนยันจุดยืนเรื่องความรักชาติ และอเมริกัน โดยเบซอสเองก็ยืนยันว่าในความเชื่อของชาวอเมริกันที่มีต่อ Amazon และเราต้องการแรงงานอเมริกันเพื่อทำผลิตภัณฑ์ให้แก่ชาวอเมริกัน ขณะที่คุกเอง ก็บอกว่า Apple ไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ในอเมริกา และยังมีส่วนช่วยในการสร้างงานในอเมริกาด้วย โดยหลังจากการนี้ สภาคองเกรสมีพิจารณาที่จะเขียนกฎหมายป้องกันการผูกขาดขึ้นใหม่ แต่ก็มีการคาดว่ากฎหมายใหม่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
https://www.washingtonpost.com/technology/2020/07/29/apple-google-facebook-amazon-congress-hearing/
#Brief #TheMATTER