ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นมาในสมัยรัฐบาล คสช. เริ่มเดินหน้าแล้ว! เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้มาตรา 256 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
คำถามสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ จะแก้ไขเนื้อหาส่วนใดบ้าง ยังรวมไปถึงว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน (และใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด)
คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แต่งตั้ง ออกมาคำนวณว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอ ด้วยการให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ และให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน 45 คน พร้อมกับจัดทำประชามติ น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 เดือนเป็นอย่างน้อย
คำนูณยังประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว น่าจะใช้งบประมาณราว 11,000 ล้านบาท หากรวมการเลือกตั้งไปด้วย จะอยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท
– ดูรายละเอียดการคำนวณของคำนูณได้ที่: https://www.facebook.com/kamnoon/posts/3219634128080519
แต่กว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ส.ส.ร. ตามแนวทางที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอ ด่านแรกที่จะต้องผ่านไปให้ได้ก่อน คือการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งจะต้องใช้เสียงของ ส.ส. และ ส.ว.เกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยจะต้องมี ส.ว. (ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.เกือบทั้งหมด) เห็นชอบด้วยมากกว่า 1/3 และมี ส.ส.ฝ่ายค้าน มากกว่า 20% เห็นชอบ เสียก่อน เพื่อ ‘ปลดล็อก’ ให้มี ส.ส.ร. – ด่านต่อไปถึงค่อยไปว่ากันว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำขึ้นในยุครัฐบาล คสช.นี้อย่างไรดี
ว่าแต่คุณละ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไหม?
ถ้าเห็นด้วย มีหนึ่งในช่องทางแสดงออก คือการไปเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) กำลังเดินหน้ารวบรวมรายชื่อให้ได้ 50,000 รายชื่ออยู่
– ดูรายละเอียดและวิธีการเข้าชื่อได้ที่: https://ilaw.or.th/50000Con%20
#Brief #TheMATTER