#ชาวนาเจ็ดในสิบไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง
“ทุกวันนี้ชาวนามาขึ้นทะเบียนล่าสุดจำนวน 4.8 ล้านคน มีที่ดินเป็นของตนเองแค่ 29% ส่วนอีก 71% ทำนาในที่ดินติดจำนอง กับอีกส่วนหนึ่งเช่าที่ดินจากนายทุนเพื่อทำกิน
“มันคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะจากการคำนวณตัวเลขขึ้นทะเบียน ชาวนาถือครองที่ดินเฉลี่ยแล้วแค่คนละ 1 ไร่เท่านั้น ในขณะที่คนรวยถือครองที่ดินกันคนละ 325 ไร่”
คือคำพูดของประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่แม้จะพูดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 แต่ถึงวันนี้ สถานการณ์ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิมมากนัก
สำหรับคนที่ห่างไกลชีวิตของชาวนา หรือไม่เคยมีญาติพี่น้องทำนา อาจเคยสงสัยว่า เหตุใดชาวนาหลายๆ คนถึงต้องมาใช้แรงงานในเมือง ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาจำนวนมากไม่มี ‘ที่ดิน’ เป็นของตัวเอง
#รัฐมีนโยบายกระจายที่ดินแต่ยังไม่เกิดผลจริง
ในรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. ก็ยังพูดถึงการปฏิรูปที่ดินทำกิน แต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากนัก กระทั่ง ‘พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562’ ที่หวังกันว่าจะใช้กลไกทางภาษีกดดันให้กระจายที่ดินรกร้างว่างเปล่าไปให้กับผู้ต้องการใช้ที่ดินทำกิน ก็ถูกแทคติกบางอย่างเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีมากๆ จนที่สุดแล้ว ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก
อีกปัจจัยที่บีบให้ชาวนาต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น หมดหน้านาต้องมาขายแรงงานในเมือง บางคนกู้หนี้ยืมสินบินไปทำงานต่างประเทศ ก็เพราะว่า ‘ต้นทุน’ ในการทำนาที่ค่อนข้างสูง ไม่ใช่แค่ค่าเช่าที่ ยังมีค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ายาฆ่าแมลง ค่ายาปราบศัตรูพืช ฯลฯ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยประเมินเมื่อปี พ.ศ.2559 ว่าค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่ สำหรับนาปี 3,968 บาท สำหรับนาปรัง 4,891 บาท
ซึ่งตามปกติแล้ว ‘ผลผลิตข้าวต่อไร่’ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ระหว่าง 400-800 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับว่าอ้างอิงแหล่งข้อมูลใด โดยข้าวนาปรังจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวนาปี และนาในพื้นที่ชลประทานจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านานอกพื้นที่ชลประทาน) ขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว สภาพดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยอื่นๆ เรียกว่าทำนา 1 ไร่ ยังได้ข้าวไม่ถึง 1 ตันเลยด้วยซ้ำ
#ทำนาได้ผลผลิตมากก็ยังเป็นหนี้
มีงานวิจัยเรื่องภาวะหนี้สินกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร กรณีศึกษากลุ่มองค์กรเกษตรกรบ้านคลองใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท พบว่า แม้ชาวนาในบ้านคลองใหญ่ จะทำผลผลิตได้ถึง 725 กิโลกรัมต่อไร่ โดยราคาข้าวที่ขายได้ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว เฉลี่ยที่ 12,370 บาทต่อตัน ข้าวที่ขายในช่วงไม่มีโครงการรับจำนำ อยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อตัน
และแม้ชาวนาจะบ้านคลองใหญ่จะหารายได้จากแหล่งอื่นๆ มาจุนเจือครอบครัวด้วย ไม่ใช่แค่รายได้จากการทำนา จนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 210,139 บาทต่อปี แต่เมื่อนำค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 233,706 บาท ก็จะพบว่า พวกเขามีรายได้สุทธิติดลบ 23,567 บาทต่อปี
และต้นทุนรายจ่ายที่สูงสุดของชาวนาในบ้านคลองใหญ่ ก็คือ ‘ค่าเช่าที่ดิน’ ซึ่งคิดเป็น 40% ของทั้งหมด
การจะกลับบ้านไปทำงาน จึงมีหลายๆ ปัญหา หลายๆ ปัจจัย ที่ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยของผู้ที่เรายกให้เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ แต่ต้องมีความเป็นอยู่ที่ลำบากขนาดนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://tdri.or.th/2014/12/thairath-2014-12-08/
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-pr28.pdf
https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_econ_sub5/ewt_dl_link.php?nid=93&filename=index
http://www.ricethailand.go.th/rkb3/title-rice_yield_per_rai.htm
https://waymagazine.org/farmer-debt/
#Brief #TheMATTER