‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….’
ชื่อร่างกฎหมายนี้ฟังดูดีใช่ไหม? คนที่คัดค้านจะต้องเป็นเพราะอยากละเมิดจริยธรรม หรือเป็นพวกไม่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแน่ๆ เลย ..ต้องใช่แน่ๆ ก็ร่างกฎหมายที่ ‘ชื่อ’ ฟังดูดีขนาดนี้ ‘เนื้อหา’ ก็ต้องดีไปด้วยสิ คนที่ค้านต้องคิดไม่ดีแน่ๆ – จริงเหรอ?
เคยได้ยินคำว่า ‘ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียดไหม’ กันบ้างไหม? และแม้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อนี้จะมีเนื้อหาที่ดีขึ้นกว่าสมัยที่รัฐบาล คสช.พยายามผลักดัน ที่ไปกำหนดเรื่องของใบอนุญาตการเป็นสื่อ ใครไม่มีจะต้องถูกจำคุกหลายปี หรือส่งคนของภาครัฐเข้ามานั่งเป็นกรรมการคุมสื่ออย่างโต้งๆ ตรงไปตรงมา
แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็ยังมองว่า ร่างกฎหมาย (ที่ขอเรียกสั้นๆ ไม่ให้สับสนว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.สื่อ’) ก็ยังมีเนื้อหาหลายจุดที่เป็นปัญหา อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการสื่อสารของทั้งสื่อมวลชนและประชาชน
นำไปสู่การเปิดแคมเปญรวบรวมรายชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สื่อ ทั้งผ่าน google forms (ปิดไปแล้ว) และผ่านเว็บไซต์ change.org/nomediabill (ยังร่วมลงชื่อได้อยู่) และมีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านกว่า 2,000 รายชื่อ ที่มีทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการสื่อ นักเรียนสื่อ ไปจนถึงประชาชน
โดยในวันนี้ (24 มกราคม 2566) ผู้ริเริ่มแคมเปญดังกล่าวได้นำรายชื่อดังกล่าวไปยื่นต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ กมธ.สื่อ ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สื่อ ก่อนที่จะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ร่าง พ.ร.บ.สื่อ มีปัญหาอะไรบ้าง? ในเอกสารที่ยื่นต่อ กมธ.สื่อ ได้สรุปปัญหาเบื้องต้นไว้ 5 ข้อ ดังนี้
- นิยาม ‘สื่อมวลชน’ ที่จะถูกควบคุมดูแลภายใต้ร่าง พ.ร.บ.สื่อถูกเขียนไว้อย่างกว้างขวาง จนเหมารวม “ใครๆ ก็(อาจ)เป็นสื่อได้” โดยยึดเพียงเกณฑ์การหารายได้จากการสื่อสารนั้นๆ หรือไม่เท่านั้น นอกจากนี้ ยังกินความไปถึงการควบคุมแพล็ตฟอร์มที่ใช้ในการสื่อสารด้วย [มาตรา 3]
- หลังจากกำหนดให้ “ใครๆ ก็(อาจ)เป็นสื่อได้” แล้ว ร่าง พ.ร.บ.สื่อยังกำหนดอีกว่า เสรีภาพในการสื่อสารต้องไม่ขัดต่อ ‘หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี’ ที่นิยามไม่ชัดเจน เปิดช่องให้ภาครัฐใช้ตีความในเชิงกำกับควบคุม และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย [มาตรา 5]
- ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ องค์กรที่จะถูกตั้งขึ้นมากำกับดูแลสื่อมวลชน (ซึ่งรวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่สามารถหารายได้จากการสื่อสาร) ตามร่างกฎหมายนี้ มาจากการสรรหาของกลุ่มคนในวงแคบ ที่กระทั่งคนในแวดวงสื่อมวลชนทั่วไปเองไม่มีสิทธิเลือก แต่กลับมีวาระดำรงตำแหน่งยาวถึง 4 ปี และเป็นติดต่อกันได้ถึง 2 สมัย รวมทั้งสื้น 8 ปี [หมวด 3]
- การกำหนดให้ ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. ไปจนถึงเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล อาจเป็นช่องทางให้ภาครัฐ (ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่สื่อมวลชนถูกคาดหวังจากประชาชนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่) เข้ามาแทรกแซงได้ [มาตรา 8-9]
- แม้ผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สื่อจะอ้างว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญา มีเพียงบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน 3 อย่าง คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ หรือประจานเท่านั้น [มาตรา 31] แต่ถ้าอ่านดูดีๆ จะพบว่า มีการเปิดช่องให้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานอื่นๆ พิจารณาลงโทษทางอาญาได้ [มาตรา 44]
หากอ่านจนถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเพิ่งรู้ตัวว่า ตัวเองก็(อาจจะ)ถูกนับเป็นสื่อมวลชนที่จะถูกกำกับภายใต้ร่าง พ.ร.บ.สื่อด้วย! โดยจะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่สรรหาโดยคนในวงแคบเข้ามากำกับดูแลการสื่อสารของทุกๆ คน ที่หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี ก็อาจจะถูกส่งเรื่องไปให้พิจารณาบทลงโทษทางอาญาได้!!
ข้อเสนอของผู้ริเริ่มแคมเปญคัดค้านร่างกฎหมายนี้ก็คือ “ขอให้ถอนร่างกฎหมายนี้กลับมาพิจารณากันอย่างรอบคอบ โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ ไม่เขียนเนื้อหากินความกว้างขวางเหมารวมไปถึงประชาชนทั่วๆ ไป ด้วยถ้อยคำที่เปิดช่องให้ภาครัฐตีความในเชิงจำกัดสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารและการแสดงออก”
ทั้งนี้ กมธ.สื่อของสภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องไว้ และว่าจะเร่งพิจารณาก่อนหมดวาระของ ส.ส.ชุดปัจจุบัน เพื่อที่ต่อให้มี ส.ส.ชุดใหม่เข้ามาทำงาน จะได้มีการศึกษาไว้เบื้องต้นว่า ร่าง พ.ร.บ.สื่อมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร มีใครที่เกี่ยวข้องกับการผลักดัน และมีข้อน่ากังวลอะไร ‘ซ่อนอยู่’ บ้าง
- ดูเอกสารที่ผู้ริเริ่มแคมเปญคัดค่านร่าง พ.ร.บ.สื่อยื่น ต่อ กมธ.สื่อของสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ได้ที่: https://docs.google.com/document/d/14REeP2KQFnmLdsY_mTSl7WUiUJSXpQK5/edit
#Brief #พรบสื่อ #คุมสื่อ #เสรีภาพใต้ศีลธรรมอันดี #TheMATTER