ทำไมเขาคิด เชื่อ และแสดงออกแบบนั้นนะ ..ไม่เข้าใจเลย
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน เคยแอบสงสัยกันไหมว่า ทำไมจึงมีคนที่เห็นไม่ตรงกับเราอยู่ในแทบๆ จะทุกประเด็น ทั้งเล็กและใหญ่ แล้วเคยมีแว่บขึ้นมาในหัวสักครั้งไหมว่า อยากลองไปนั่งแลกเปลี่ยนกับคนเหล่านั้นจัง เผื่อจะได้เข้าใจว่าพวกเขาคิดอะไร และเผื่อจะได้อธิบายในสิ่งที่เราคิด
มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ร่วมกับองค์กรภาคี ได้จัดโครงการ Thailand Talks ที่ชักชวนให้คนที่เห็นต่างมาพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว ผ่านการลงทะเบียนและตอบคำถาม 7 ข้อ (ทั้งเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม บทบาทของกองทัพ ความจำเป็นของศาสนา การสมรสเท่าเทียม ท้องถิ่นได้จัดการตัวเอง และระบบอาวุโสในสังคมไทย) โดยระบบจะประมวลผลให้คนที่อยากมีโอกาสคุยกับคนที่เห็นต่างกันได้มาพบเจอและสนทนากัน ‘ตัวต่อตัว’ ในวันที่ 20 พ.ย.2564 ในรูปแบบไฮบริด ทั้งผ่านทางออนไลน์และมาเจอกันตัวเป็นๆ
โครงการนี้จะสำเร็จไหม? ไปคุยแล้วจะได้อะไร? สารภาพตรงๆ ว่าเราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยการ ‘เปิดพื้นที่’ ให้คนที่คิดแตกต่างกันได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ก็เป็นหลักการพื้นฐานของสังคม ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งน่าจะดีต่อประชาชนทุกคนมิใช่หรือ
คู่ขนานกับที่เราเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายบางมาตรา ให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิพื้นฐานในการประกันตัว ให้รัฐบาลรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ ให้จัดทำรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ฯลฯ นี่อาจเป็นหนึ่งในความพยายามเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายการหา ‘ข้อตกลงร่วมกัน’ ในสังคม เพื่อสร้างประเทศชาติที่ดีกว่าทุกวันนี้ – ผ่านการสร้างวัฒนธรรมการ ‘แลกเปลี่ยน พูดคุย’
สำหรับโครงการ Thailand Talks ได้รับแรงบันดาลใจจากแพลตฟอร์ม My Country Talks ในยุโรป ที่นำคนกว่าหมื่นชีวิตที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างหลากหลาย ให้มาพบปะกัน หลายคู่ผูกพันธ์เป็นมิตรภาพ แม้หลังเจอกัน ต่างฝ่ายจะยังยืนยันในสิ่งที่ตนเชื่อก็ตามที
อยากลองคุยกับคนเห็นต่างจากเราดูไหม? ชวนลงทะเบียนพร้อมทำแบบสอบถามด้านล่างได้ ตั้งแต่วันนี้ – 31 ต.ค.นี้ (ขยายเป็น 8 พ.ย.แล้ว)
#Brief #thailandtalks #TheMATTER