คุณเคยลองคุยกับคนเห็นต่างบ้างไหม?
ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ความขัดแย้งที่รุนแรงต่อเนื่องยาวนาน ทำให้การจะหันมาสบตาและคุยกับคนที่เห็นต่างกลายเป็นเรื่องยาก แม้แต่คนในครอบครัวด้วยกันเองก็ตาม ทำให้หลายครั้งเราก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการพูดคุย แสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่ลงรอยกันไปแทน เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความบาดหมาง และมีแต่จะเสียสุขภาพจิตกันไป
แต่ในอีกทางหนึ่งการที่ต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้าคุยกัน ก็ทำให้การพยายามหาจุดร่วมหรือทางออก หรืออย่างน้อยที่สุดการทำความเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมากขึ้นไปอีก จนสุดท้ายเราก็อยู่ใน echo chamber ของตัวเอง และเข้าใจว่าทุกคนน่าจะคิดเหมือนกันหมด
และการไม่คุยกันก็ยิ่งแต่จะทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่
โครงการ Thailand Talks จึงเกิดขึ้นด้วยความเชื่อว่า #เห็นต่างคุยกันได้ เพราะการพูดคุยกันจะช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นความหลกาหลายของมุมมอง ทัศนคติ และชีวิตของผู้คน และหากไปไกลกว่านั้น เราอาจได้เจอกับเป้าหมายที่อาจจะฝันร่วมกัน แต่มีวิธีการต่างกัน ซึ่งการสนทนาผ่านการสบตา พูดคุยแบบเจอหน้า จะช่วยให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น
The MATTER มีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ที่ Thailand Talks ซึ่งจัดเป็นปีแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เราจึงอยากชวนทุกคนมาสัมผัสกับความตื่นเต้นและความน่าสนใจของโครงการนี้ด้วยกัน
ก่อนจะเป็น Thailand Talks
Thailand Talks มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนั้นอยู่ในจุดที่คนเห็นต่างไม่สามารถพูดคุยกันได้เลย ยิ่งในโซเชียลมีเดียที่ต่างเป็น echo chamber ทำให้พื้นที่ของการได้มาเจอคนเห็นต่างยิ่งน้อยลง และหลายครั้งก็อาจทำให้เข้าใจว่าข้อมูลที่เราได้รับ หรือความเห็นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเป็นสิ่งที่ ‘คนส่วนใหญ่’ คิด
แต่ถ้าว่ากันตามตรง ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาหลายประเทศก็ประสบกับการที่คนเห็นต่างไม่ได้มีพื้นที่ตรงกลางมาพูกคุย สบตา สนทนากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งมีคนริเริ่มโครงการ My Country Talks ที่ประเทศเยอรมนี
โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการพยายามหาคำตอบของ สำนักข่าว Ziet Online ว่าในยุคที่เราต่างอยู่ใน echo chamber และวาทกรรมของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราจะเริ่มต้นหันกลับมามีบทสนทนาพูดคุยกับคนที่คิดต่างอย่างไรได้บ้าง
และจากการพยายามหาคำตอบนี้ จึงนำไปสู่การตั้ง Germany Talks พื้นที่จับคู่คนคิดต่างทางการเมืองให้ได้มาพบเจอและพุดคุยกัน โดยเริ่มในปี ค.ศ.2017 และมีคนเข้าร่วมกว่า 1,200 คนจากทั่วประเทศมาเจอหน้าและพูดคุยกัน
จาก Germany Talks ในวันนั้นจึงนำมาสู่ My Country Talks ที่มีโมเดลให้องค์กรข่าว รัฐบาล หรือ NGO หลายๆ ประเทศสามารถนำไปใช้เพื่อให้คนคิดต่างในประเทศของแต่ละคนเริ่มต้นหันมามีบทสนทนแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน โดยมีโปรแกรมจับคู่ที่จะทำให้ได้คู่สนทนาที่เหมาะสม
และจากคอนเซ็ปต์ของการพยายามพาคนเห็นต่างมาพบเจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งกำลังเหมาะกับสถานการณ์ในไทยตอนนี้ ทำให้ทาง มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation) เริ่มต้นโครงการ Thailand Talks โดยมี เฟรดเดอริค ชปอร์ และ พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล จากมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ รวมทั้งจับมือกับสื่อ และภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้งานเกิดขึ้นได้จริง
โดย เฟรดเดอริค พูดถึงสิ่งที่คาดหวังกับการจัด Thailand Talks ในครั้งนี้ว่าจะช่วยให้ทุกคนได้มีบทสทนาที่ดี และได้มองหา common ground ร่วมกัน แม้ว่าเราจะมีความสนใจต่างกัน มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน แท้ายที่สุดก็หวังว่าอย่างน้อยจะสามารถค้นพบทิศทางหรืออนาคตที่ดีร่วมกันได้ และที่สำคัญคืออนาคตเพื่อเด็กๆ ของพวกเราเอง แม้จะเป็นต่างวิธีการแต่อย่างน้อยก็อาจจะได้เจอเป้าหมายเดียวกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ
ในส่วนของ พิมพ์รภัช เองก็ได้เล่าว่า ตั้งแต่การทำโครงการนี้มาในระยะเดือนกว่าๆ ก็มีคนถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนี จะเกิดขึ้นที่ไทยได้ไหม ยิ่งในไทยที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่ Thailand Talks กำลังจะทำคือการสร้างสะพานเชื่อมให้คนเข้าใจกันมากขึ้น และจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงได้ในอนาคต สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือหลายๆ คนที่ลงทะเบียนก็มีการนัดเจอกันก่อนจะมาคุยในงานด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นความมหัศจรรย์ในงานครั้งนี้
หลักการคุยกับคนเห็นต่าง
เคยไหม คุยไปเท่าไหร่ก็เถียงกันไม่จบ?
แน่นอนว่าการคุยกับคนเห็นต่าง หากไม่มีหลักการที่ยึดถือกันทั้งสองฝ่าย ก็ยากที่จะเข้าใจกันได้ ทาง Thailand Talks จึงได้นำเสนอ 10 หลักการในการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์เอาไว้โดยนักวิจัยด้านความขัดแย้ง นั่นก็คือ
- ทำความเข้าใจสิ่งที่คู่ของเราต้องการจะบอก
- ไม่หลุดไปจากประเด็นที่คุยกัน
- ใช้คำถามปลายเปิดให้ได้มากที่สุด
- หาจุดที่เราและคู่สนทนาของเรายอมรับร่วมกันได้
- อย่าทำเป็นสอนคู่ของเราโดยไม่ให้เขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน
- บอกเล่าเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญกับเรา
- ทำความเข้าใจเหตุผลของคู่ของเรา
- โต้แย้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างละมุนละม่อมและลกเปลี่ยนข้อมูลที่คู่ของเราอาจจะยังมีไม่ครบถ้วน
- การคุยกันต้องทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นและลดความขัดแย้งลง
- การคุยกันทำให้เราได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคู่ของเรา
นอกจากนี้การทำความเข้าใจของคนระหว่างรุ่นก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งมีหลักการ 4E ที่จะช่วยให้คนแต่ละวัยได้ทำความเข้าใจความคิดของคนระหว่างรุ่น โดยมี Empathy (การสื่อสารอยู่บนฐานของความเข้าอกเข้าใจ), Equality (การตอบรับเรื่อราวอยู่บนฐานของความเท่าเทียม), Express (เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร) และ Eco System (เชื่อในการเปลี่ยนแปลงระบบมากกว่าตัวบุคคล)
ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากกับการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปคุยกับคนเห็นต่าง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีโอกาสได้คุยกัน
เสียงจากคู่สนทนาที่ #เห็นต่างคุยกันได้
ภายในงาน Thailand Talks มีผู้เข้าร่วมทั้งในแบบ on-site และ online ซึ่งมีจำนวนเยอะกว่าที่คาดคิด อาจจะมองได้ว่าจริงๆ แล้วเราต่างมองหาพื้นที่ตรงกลางเพื่อมาพูดคุย พื้นที่ให้เราได้สบตากับคู่สนทนา พื้นที่ให้ได้เห็นอวจนภาษาระหว่างพูกคุย สีหน้า ท่าทาง การแสดงออกที่มากกว่าตัวอักษรบนโลกออนไลน์ที่เสี่ยงให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย
“เราไม่ได้คิดว่าจะคุยกับเค้าได้ แต่พอเราตั้งหลักได้เราฟังเค้าได้มากขึ้น ได้ฟังเสียงของตัวเองมากขึ้น” หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks แลกเปลี่ยนความเห็นกันหลังจากได้พูดคุยกับคนที่เห็นต่าง รวมไปถึงหญิงสาวที่เข้าร่วมอีกคนอีกคนยังบอกว่า “การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็น key ที่ทำให้เราคุยกันได้”
นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากคู่สนทนาหนึ่งที่บอกว่า พวกเขาแทบจะเห็นต่างกันทุกประเด็น และมีความไม่โอเคเกิดขึ้นบ้างในเวลาที่ฟัง แต่ว่าพวกเขาก็รับฟังกันและกัน และมองเห็นว่าก็มีบางอย่างในการแลกเปลี่ยนที่รับได้กับคู่สนทนา นอกจากนี้การได้มาพูดคุยกันแบบทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมองจากคนที่คิดเห็นไม่ตรงกันว่าเขามีเหตุผลอะไรมารองรับในความคิดของเขา ซึ่งก็บางเรื่องก็ช่วยเปลี่ยนมุมมองเราไปบ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เข้าใจอีกฝ่ายได้
นอกจากนี้ยังได้บอกว่าการมีหลักการในการสนทนากับคนเห็นต่างนั้น แม้จะไม่ได้ช่วยมากตอนที่คุยกัน แต่อย่างน้อยก็ช่วยเตือนเป็นระยะเพื่อให้ระหว่างที่พูดคุยกันนั้นบทสนทนามันไปต่อได้
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการอีกคนเล่าประสบการณ์ในวันนี้ให้ฟังว่า เธอได้คุยกับคนที่ต่างทั้งช่วงวัย เพศ การเติบโตเลี้ยงดู ซึ่งมองว่าเป็นโครงการที่สามารถต่อยอดได้ โดยเธอเองก็ยังเล่าประสบการณ์การพูดคุยให้ฟังว่า เพิ่งเข้าใจว่ายังมีคนที่คิดว่ามีรัฐประหารที่ดี กับรัฐประหานที่ไม่ดีอยู่จริงๆ เพราะคู่สนทนาของเธอเติบโตมาในยุคที่หลังรัฐประหารหลังพฤษภาทมิฬ ประเทศนั้นเศรษฐกิจดี ชีวิตความเป็นอยู่สบาย และกลายเป็นการแลกเปลี่ยนว่าอะไรทำให้เขาคู่สนทนาของเธอเห็นว่ารัฐประหารไม่ได้แย่ไปเสียหมด ในขณะที่คนรอบตัวรุ่นราวคราวเดียวกับเธอมองว่าจริงๆ ก็น่าจะเข้าใจตรงกันว่ารัฐประหารไม่เคยเป็นเรื่องดีเลย ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นบทสนทนาที่ช่วยให้หลุดออกจาก echo chamber ของตัวเอง
โดยเธอดีใจที่อย่างน้อยในวันนี้ก็ได้มีพื้นที่ทำให้คนอยากมาทำความเข้าใจคนที่เห็นต่าง และหวังว่าจะขยายไปยังหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยเพื่อให้การพูดคุยมีความหลากหลายมากขึ้น
แม้ว่า Thailand Talks ปีนี้จะจบไป แต่โครงการนี้จะยังดำเนินต่อไปอีกอย่างแน่นอน ใครที่กำลังมองหาพื้นที่เพื่อมาคุย ทำความเข้าใจกับคนที่เห็นต่าง เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการคุยกันผ่านหลักการคุยอย่างสร้างสรรค์ และรอวันที่ Thailand Talks จะได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
เพราะการได้สบตา พูดคุยกับคนที่เห็นต่าง จะทำให้เราเข้าใจว่าโลกนี้มีความหลากหลายอีกมาก รวมไปถึงมีมุมมองอีกมากมายที่แต่ละคนซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน อาจคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาเจอคนที่เห็นต่าง บางครั้งก็ได้อาจได้บทสนทนาดีๆ อย่างคาดไม่ถึงด้วยก็ได้นะ
ติดตามโครงการได้ที่ :
https://www.mycountrytalks.org/