“ไม่ค่อยมีใครฟังเสียงของเราเลย” ความในใจจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้คือประชากรครึ่งหนึ่งของโลก
พวกเขาคือคนรุ่นที่กำลังจะเติบโตไปเป็นแรงงานสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมและประเทศ คนที่จะเป็นคนจ่ายเงินซื้อข้าว ลงแรงทำงาน และจ่ายภาษีต่างๆ แต่จากผลการสำรวจ 55.9% ของคนรุ่นใหม่จากทั่วโลก บอกว่าพวกเขาไม่ค่อยจะได้มีปากมีเสียงอะไรในการตัดสินใจวางแผนอนาคตของสังคม รัฐ หรือประเทศเลย
World Economic Forum เลยชวนคนรุ่นใหม่กว่าสามหมื่นคน ที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปีจาก 186 ประเทศ มาช่วยกันแสดงความคิดความเห็นใน Global Shapers Annual Survey 2017 (ซึ่งน่าดีใจที่ในจำนวนนั้นก็มีเสียงจากคนไทยอยู่หลายสิบคน) และนี่คือบางส่วนของเสียงที่ส่งออกมาผ่านการเซอร์เวย์ ว่าคนรุ่นใหม่ทั่วโลกมองโลกกันยังไง
1) ‘เราก็เป็นห่วงนะที่อากาศมันจะร้อนขึ้น’ : ในบรรดาเรื่องวินาศสันตะโรมากมายบนโลก คนรุ่นใหม่เป็นห่วงเรื่องอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความบรรลัยของธรรมชาติมากที่สุด (48.8%) เพราะนี่มันก็สามปีติดกันแล้ว ที่เรื่องของสภาพอากาศได้รับตำแหน่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดในโลก ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงรองลงมาก็เป็นเรื่องของสงครามและความไม่ปลอดภัยไม่มั่นคงต่างๆ (38.9%) เรื่องของความไม่เท่าเทียมในเพื่อนมนุษย์ (30.8%) ไปจนถึงความยากจน ความขัดแย้งทางศาสนา และเรื่องของการไร้ความรับผิด (แต่รับชอบ) หรือความไม่โปร่งใสของรัฐบาล
2) ‘เราไม่เชื่อใจสื่อหรือธุรกิจใหญ่ๆ หรือแม้แต่รัฐ’ : ก็เพราะดราม่าข่าวลือข่าวลวงที่ปล่อยออกมาทุกวี่ทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่ในอีเวนท์ใหญ่ๆ อย่างการเลือกตั้งระดับประเทศ จะให้คนรุ่นใหม่เชื่ออะไรได้ง่ายๆ อีกล่ะ 46% ของคนรุ่นใหม่บอกเลยว่า พวกเขาไม่เชื่อในสื่อหรือบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ธนาคาร แม้แต่รัฐบาล 22.7% บอกเลยว่าสงสัย (ไปจนถึงมั่นใจ) นะว่ามีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ถามว่าแล้วพวกเขาเชื่อใคร? บอกเลยว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เชื่อในสถานศึกษา องค์กรข้ามชาติ และสถาบันทางกฏหมายมากกว่า
3) ‘เราไม่ได้ขี้เกียจนะ อันที่จริงเราบ้างานเลยล่ะ’ : ใครว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่เอาไหนและขี้เกียจ เงินเดือน เป้าหมายในชีวิต และความก้าวหน้าทางในอาชีพ เป็นคำตอบอันดับต้นๆ ถ้าถามถึงเรื่องการทำงาน มีคนรุ่นใหม่เพียง 16% เท่านั้นที่จะยอมสละโอกาสทางการงานหรือเงินเดือนดีๆ เพื่อไปใช้ชีวิตลั้นลา ส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่อง work-life balance และก็มองว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่จ้างเรา แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ถึง 15% ที่ยอมทุ่มเททำงานหนัก แล้วก็คิดว่าค่อยหาบาลานซ์ให้ชีวิตทีหลัง ในขณะที่ 81.1% ของยอมได้แม้กระทั่งต้องข้ามน้ำข้ามทะเล ย้ายประเทศไปทำงาน ถ้าหากว่านั่นจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น
4) ‘เราโอเคมากๆ นะกับเทคโนโลยี’ : ในขณะที่ดูเหมือนจะมีความกังวลกันมากมาย เรื่องที่เทคโนโลยีล้ำสมัยจะมาแย่งงานหรือทำร้ายมนุษย์ แต่คนรุ่นใหม่ 78.6% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะสร้างงานให้กับเราได้มากกว่า ถ้าถามเราถึงเทรนด์ที่กำลังมา ก็เชื่อว่า AI เนี่ยแหละที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกได้ และส่วนของการศึกษาเรียนรู้นี่แหละ ที่จะได้ประโยชน์จากมันไปเต็มๆ แต่ก็ยังมีเพียง 3.1% เท่านั้น ที่เชื่อว่าหุ่นยนต์จะมาคิดมาตัดสินใจอะไรแทนมนุษย์ได้ ถึงอย่างนั้น ถ้าถามว่าอยากลองฝังชิปหรือใส่เทคโนโลยีอะไรเข้าไปในตัวคน เพื่อพัฒนาศักยภาพไหม 23.6% ก็อยากจะลองดูนะ
5) ‘เราแคร์โลกและเพื่อนร่วมโลกนะ’ : 73.6% ของคนรุ่นใหม่บอกว่า ยินดีต้อนรับผู้อพยพให้เข้ามาในประเทศ แล้วถ้าถามว่ารัฐบาลจะรับมือยังไงล่ะ มากกว่าครึ่งก็มองว่าควรที่จะรับเข้ามาอยู่ในระบบแรงงานของประเทศเลย และสุดท้ายแล้ว คนรุ่นใหม่ถึง 86.5% มองว่า เราต่างก็เป็นพลเมืองของโลก ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยประเทศ ศาสนา หรือว่าลัทธิใดๆ เลย
นอกจากนี้ยังมีคำถามที่น่าสนใจ อย่างถ้าถามว่า อะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่พอจะมีปากมีเสียง มีบทบาทได้ 100% เห็นตรงกันเลยว่าเป็นสตาร์ทอัพที่เปิดโอกาสให้ไปสู่จุดนั้น ส่วน 99% มองว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก็ช่วยได้มากเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือเสียงจากคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า จริงๆ ก็ขอบคุณผู้ใหญ่ที่วางแผนอนาคตไว้ให้ แต่ก็อยากให้ได้ยินความคิดและมองเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะเราทุกคนต่างก็อยากมีอนาคตที่เรามีส่วนกำหนดเอง
อ้างอิงจาก
weforum.org
shaperssurvey2017.org