เฟซบุ๊ก ไอจี แอร์บีเอ็นบี, เหล่านี้คือผลผลิตของวัยรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ เมื่อสิบปีที่แล้ว ที่ไม่ได้มีเงินทุนหนาหนัก หรือเป็นทายาทเศรษฐีระดับโลก แต่พวกเขามองเห็นโอกาสในโลกเทคโนโลยีล่วงหน้าแบบหลายสเต็ป และเจาะทาร์เก็ตคนทั้งโลกได้สำเร็จ
ไม่ว่าในวันนี้มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก จะโดนร้อยพันข้อครหาการผูกขาด หรือความมั่นคงทางไซเบอร์มากแค่ไหน แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถจะมองข้ามความสามารถระดับหนึ่งในเจ็ดพันล้านคน ที่ปั้นเฟซบุ๊กให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แบบที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้ ณ วันนี้
เด็กหนุ่มที่ก่อตั้งเฟซบุ๊กในวัยมหาวิทยาลัย ดร็อปความฝันการเรียนจบ และวิ่งตรงบนเส้นทางการพัฒนาโซเชียลมีเดีย – แม้ว่านี่จะไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะทำได้ และเราถูกเตือนบ่อยๆ ว่าอย่าไปโรแมนติไซส์อะไรพวก ‘10 คนดังที่เรียนไม่จบ แต่ประสบความสำเร็จเพราะความชอบ’
แต่สตอรี่ความสำเร็จของคนเมื่อสิบปีที่แล้วที่เราพูดถึงข้างต้นมันก็ช่างหอมหวาน และนั่นก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าสิ่งที่เราอยากจะเล่าในวันนี้ มันถึงเป็นเทรนด์
เทรนด์ที่ว่า คือเมื่อเด็กรุ่นใหม่เจเนอเรชัน Z หันมาทำสตาร์ทอัพและพยายามปั้น VC (Venture Capital) การร่วมทุนในธุรกิจ อธิบายง่ายๆ คือบริษัทที่ระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจและมีการเติบโต และพวกเขาสนใจในการลงทุนในสตาร์ทอัพหรือธุรกิจของคนในเจเนอเรชันเดียวกัน
และพวกเขาอยากประสบความสำเร็จในระดับที่ขึ้นทำเนียบเป็น Hall of Frame ของโลก
นักลงทุนผู้บ้าบิ่น
Gen Z หากจัดกลุ่มแบบคร่าวๆ คือคนที่เกิดหลัง ค.ศ.1995 รักความอิสระ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงกว่าคนทุกรุ่น
รีเสิร์ชจาก Nielsen บอกไว้ว่า 54% ของคน Gen Z มีความฝันตั้งมั่นอยากเป็นเจ้าของกิจการ ปราศจากหนี้ และมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพฤติกรรมของพวกเขา ส่งผลอย่างมากต่อบรรดาธุรกิจที่คนวัยต่ำกว่า 25 ปีลงไปอย่างพวกเขาริเริ่มลงมือทำ
ในสหรัฐอเมริกา พวกเขาไม่สนใจจะเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น – แม้ว่าในโลกตะวันตกมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เครื่องมือประกันความสำเร็จเหมือนในโลกตะวันออก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแต้มต่ออย่างหนึ่งเช่นกัน – แต่สำหรับ Gen Z พวกเขามองว่าการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นคือหนี้สินก้อนโต ฉุดรั้งให้ไม่สามารถไล่ตามฝันได้ ดังนั้นการล้มลุกคลุกคลาน fail fast, learn fast เหมือนจะเป็นคำตอบเสียมากกว่า และถ้าประสบความสำเร็จ การไปต่อยอดในมหาวิทยาลัยต่อก็ยังไม่สาย
Gap Year คือเรื่องสำคัญของพวกเขา หลังจบไฮสกูล พวกเขาใช้เวลาปีแห่งการค้นหาตัวเองไปกับการทดลองงาน ถ้าอยากเป็นผู้ประกอบการ พวกเขาจะไปทดลองฝึกงานกับบริษัทต่างๆ ที่ช่วยฝึกสกิลและสอนประสบการณ์ให้พวกเขาได้จริง หรือใช้เวลาในการเรียนรู้สกิลใหม่ๆ ผ่านออนไลน์ ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่ทำให้เทคคอมพานีใหญ่ๆ อย่าง AT&T, Apple, Google, Adobe เริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะโรงเรียนฝึกสกิลพิเศษ และซอฟต์สกิลต่างๆ เปิดสอนคอร์สฟรี หรือคอร์สที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง พร้อมให้เกียรติบัตรติดไม้ติดมือไปด้วย
เหล่า Gen Z ผู้มีความฝันจะเป็นผู้ประกอบการ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนในยุโรป ผ่าน Discord ‘Gen Z mafia’ ในการแชร์ประสบการณ์ต่างๆ และแม้ว่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ของโลกจะมีอายุประสบความสำเร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี – แต่ Gen Z นั้นก็น่าจับตาจากพฤติกรรมโดดเด่นในการทำธุรกิจ แม้จะกล้าได้กล้าเสีย และมีความทะเยอทะยานแบบตาบอด (Blind Ambition) แต่ด้วยอายุที่ต่อให้ล้มก็ยังมีพลังจะเริ่มใหม่ และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความต้องการของคนวัยตัวเอง (ที่ใช้ TikTok, Slack, Clubhouse กันอย่างช่ำชอง) นี่คือจุดแข็งที่นักลงทุนหรือองค์กรที่อายุมากกว่า ก็แข่งด้วยไม่ไหว
ความสนใจของ Gen Z กับเหล่า Daddies ที่ไม่ได้แปลว่าพ่อ
มีข้อมูลน่าสนใจอันหนึ่ง ที่เขียนบน Medium โดย Meagan Loyst นักลงทุนจาก Lerer Hippeau ซึ่งเป็น VC ของชาว Gen Z สรุปถึงเทรนด์การลงทุนและการทำธุรกิจของคนรุ่นเธอไว้ โดยเธอเก็บข้อมูลจากนักลงทุน Gen Z จำนวน 71 คนบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์
3 เทรนด์ธุรกิจที่ได้รับความสนใจโดยคน Gen Z จากการสำรวจของเธอ คือ
- Creator Economy แพลตฟอร์มที่ให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์เข้าไปสร้างเนื้อหา และสร้างรายได้จากความชื่นชอบ และแพชชั่นของตัวเอง
- Ed Tech เทคคอมพานีเกี่ยวกับการศึกษา พวกเขาใส่ใจเรื่องของการเรียนรู้รูปแบบใหม่ หรือเครื่องมือและแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การเรียนง่ายขึ้น หรือช่วยเรื่องการเรียนออนไลน์มากขึ้น
- Social Gaming เกมออนไลน์ที่ทำให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นด้วยกันเอง
ขณะเดียวกัน แบรนด์ที่ Gen Z ให้ความนิยม มีทั้งแบรนด์ที่ก่อตั้งในยุค Next-Gen (หลัง ค.ศ.2008) และยุค Lagacy (ก่อน ค.ศ.2008)
- Apple
- TikTok
- Amazon
- Netflix
- Spotify
- Nike
- Notion
- Glossier
- Lululemon
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้บางแบรนด์จะเป็น Legacy ไปแล้ว แต่ที่ยังได้รับความสนใจจาก Gen Z ก็เพราะ เป็นแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของชาว Gen Z ได้เป็นอย่างดี
และเธอได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มด้วยว่า หลายธุรกิจและการลงทุนของคน Gen Z มีจุดประสงค์ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นอื่นอย่างชัดเจน เช่น บาง VC เกิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างในอีโคซิสเต็มของกลุ่มทุนท้องถิ่นตัวเอง หรือบาง VC ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย เช่น VC ที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงและนำไปลงทุนในธุรกิจที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง มันคือยุคการทำธุรกิจที่ตระหนักถึงสังคมอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ในโลกสตาร์ทอัพและการลงทุน ซึ่งเจเนอเรชัน Y และมิลเลนเนียลกำลังรันวงการกันอย่างหนาแน่น ก็ถือว่ามีการเปิดประตูต้อนรับชาว Gen Z เป็นอย่างดี เป้าหมายก็เพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจใหม่อย่างยั่งยืน (และแน่นอนความร่ำรวย)
มีหลายกลุ่มทุนของคนรุ่นก่อนหน้า ที่พร้อมลงเงินสนับสนุนนักลงทุนผู้อ่อนเยาว์ ที่มีชื่อเสียงก็ ‘Thiel Fellowship’ ที่มีแท็กไลน์เก๋ๆ ว่า ‘The Thiel Fellowship gives $100,000 to young people who want to build new things instead of sitting in a classroom.’ หรือ ‘ทุน 100,000 ดอลล์ ของ Thiel มีไว้เพื่อคนที่อยากจะสร้างอะไรใหม่ๆ มากกว่านั่งแกร่วในห้องเรียน’
เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา ก็ร่วมกับเอกชน ลงทุนกองทุนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อที่จะสนับสนุนเด็กมหา’ลัยที่ยังเรียนไม่จบในการเริ่มทำธุรกิจ
โดยอินไซด์หนึ่งที่เราไปเจอมาก็คือ นักธุรกิจ Gen Z เรียกนักลงทุนที่อายุมากกว่า และอยู่ในเจเนอเรชันก่อนหน้า ที่มีใจจะมองอนาคตไปในทางเดียวกันและร่วมทุนกับพวกเขาด้วยศัพท์แสลงว่า ‘daddies’ ที่ไม่ได้แปลว่าพ่อด้วย!
ท่ามกลางความเสี่ยง และความอิสระเสรี แต่การเพิ่มจำนวน และเงินทุนที่มากขึ้น ค่อยๆ สร้างความสมบูรณ์แบบให้ ecosystem ของสตาร์ทอัพและ VC – ทำให้ New Economy นี้ ใกล้ก้าวขึ้นบัลลังก์เศรษฐกิจสันหลังโลก แทนที่เหล่า Old Economy ธุรกิจดั้งเดิมแบบเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเหล่า Gen Z จะเข้ามาเป็นหนึ่งในคนสำคัญ ผู้ขับเคลื่อนทิศทางและเทรนด์ของมัน อย่างน่าจับตา
อ้างอิงข้อมูลจาก