“นักเรียนไทยต้องทนอยู่กับความไม่ชัดเจนของกฎหมาย จนกลายเป็นช่องโหว่ที่ถูกตีความเข้าข้างอำนาจนิยม เพื่อละเมิดสิทธินักเรียน ถ้านี่คือสิ่งที่อนาคตของชาติพึงได้รับ ดิฉันจะไม่ขอเป็นอนาคตให้อีกต่อไป ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า”
นี่คือหนึ่งในคำพูดอภิปรายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาคนหนึ่งในเพจเฟซบุ๊ก ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ซึ่งอภิปรายเรื่องระเบียบกระทรวง ว่าด้วยทรงผมของนักเรียนฉบับใหม่ ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน และกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ที่เห็นการพยายามเปลี่ยนแปลงของกระทรวง แต่หลายฝ่ายก็มองว่าระเบียบนี้ก็ยังคงไม่ให้อิสระกับทรงผมของเด็กนักเรียนอยู่ดี อีกทั้งบางคนมองว่าอำนาจจริงๆ ยังคงอยู่ที่โรงเรียน ซึ่ง The MATTER ได้ไปคุยกับกระทรวงศึกษาธิการถึงประเด็นดังกล่าวเอาไว้
หลังจากมีการเผยแพร่โควตคำพูดข้างต้นผ่านเพจกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลายเป็นว่ามีคนแชร์ออกไปเพื่อต่อว่านักเรียนคนดังกล่าวจนกระทั่งเกิดแฮชแท็ก #saveพลอย เพื่อเรียกร้องให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของเด็กเพียงคนเดียวที่ต้องการออกมาพูดเพื่อสิทธิเสรีภาพ กลับถูกผู้ใหญ่บางคนต่อว่า คุกคามทางเพศ ใช้คำพูดเหยียดหยามมากมาย
“ไม่ได้โกรธอะไรที่เขามาว่าเรา แต่ที่โกรธมากกว่าคือการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ออกมาคุกคามทางเพศเรา เรารู้สึกว่าทำไมสังคมถึงได้เป็นแบบนี้ การที่แค่เราออกมาเปลี่ยนแปลง แสดงความคิดเห็น ทำไมถึงต้องโดนแบบนี้ คือไม่ใช่แค่เรา แต่คนอื่นๆ ที่ออกมาแสดงความเห็น เขาก็โดนแบบนี้กันทุกคน ตอนแรกก็ตกใจ ไม่คิดว่าจะมีคนแชร์ไปมากขนาดนี้” เมื่อได้คุยกับ ‘พลอย’ ผู้เป็นเจ้าของคำพูดที่เกิดกระแสขึ้นมา เธอก็บอกกับเราถึงความรู้สึกเมื่อเห็นหลายคนใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเธอ
ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะได้เห็นว่าทุกครั้งที่นักเรียนนักศึกษาออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือแสดงความเห็นด้วยเหตุผล แต่มักถูกผู้ใหญ่ใช้คำพูดกล่าวหาว่าร้ายอย่างรุนแรงจนกลายเป็นการโต้เถียงที่ไม่ขับเคลื่อนประเด็นใดๆ เลย
ประเด็นทรงผม กฎระเบียบที่ไม่เมกเซนส์ และเสียงความต้องการจากนักเรียน
“เคยโดนหักคะแนนพฤติกรรมเพราะไว้ผมยาวเกินไป ตอนนั้นอธิบายอะไรไม่ได้เลย ก็โดนหักคะแนนไป” พลอยเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งนี่คือปัญหาที่เริ่มมีการเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ทรงผมเท่านั้น แต่กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกิดจากดุลยพินิจของโรงเรียนซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบว่ามีไปเพื่ออะไรนอกจากฝึกระเบียบวินัย ก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มไม่พอใจ และพยายามออกมาผลักดันกันมากขึ้น
แต่ในวินาทีนี้เรื่องทรงผมได้รับการพูดถึงกันมากในหมู่นักเรียนเนื่องจากมองว่าระเบียบที่ออกมาใหม่นั้นก็ยังคงสร้างกรอบจำกัดและลิดรอนเสรีภาพในร่างกายอยู่ดี โดยจากที่ The MATTER ไปสัมภาษณ์กับทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับคำตอบถึงการตั้งระเบียบนี้ขึ้นมาว่า
“เราก็ให้โอกาสแต่ละที่ไปกำหนดเอง แต่ก็มีเกณฑ์กำหนดพื้นฐานเอาไว้ เหมือนอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในตอนนี้ ที่ให้เปิดร้านอาหาร ร้านตัดผมได้เหมือนกันทั้งประเทศ แต่จังหวัดไหนจะเคร่งกว่านั้น ก็ออกระเบียบได้ โดยมีระเบียบเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำเอาไว้ เรื่องทรงผมนักเรียนก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า ห้ามยาวเลยตีนผม อันนี้คือขั้นต่ำ แต่สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน หรือนักเรียน จะประชุมกันแล้วกำหนดเพิ่มกันเองว่าให้ยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตรก็ได้ ไม่ติดใจ หรือให้สั้นเลย เหมือนตำรวจ เขาก็ออกเองได้เช่นกัน”
ดังนั้นอาจจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีระเบียบของกระทรวง แต่สถานศึกษาแต่ละแห่งก็ยังมีอำนาจที่จะเพิ่มเติมข้อบังคับต่างๆ ซึ่ง พลอย ก็ได้ให้ความเห็นกับเราไว้ว่า
“กฎมันก็ไม่ต่างกันเลย ที่ว่าผู้หญิงไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย หรือผู้ชายไว้ผมยาวไม่เกินตีนผม สุดท้ายกฎใหม่ที่ออกมา ก็อยู่ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ดีว่าจะจัดการยังไง จริงๆ แล้วกฎทรงผมมันไม่ควรจะมีอะไรมาบังคับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะผมเรามันก็เป็นร่างกายของเรา”
จึงเป็นเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่อยากชวนเราตั้งคำถามกันว่าจริงๆ แล้วกฎเหล่านี้ไม่ควรมีแต่แรกหรือไม่ เพราะทรงผมและเครื่องแต่งกายนั้นคือสิทธิในร่างกายของตัวเองที่เราควรมี ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่กลายเป็นว่าระเบียบที่ออกมาก็ยังคงมีการสร้างกรอบจำกัด ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากเท่าที่ควร
“การที่เราได้ออกแบบทรงผมตัว ได้มีเครื่องแต่งกายของตัวเอง มันทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้น มันทำให้เราคิดเองเป็นว่าควรแต่งแบบไหน ตัวตนเราเป็นแบบไหน แต่พอมาบังคับมันเหมือนเป้นการปิดกั้นไม่ให้เราแสดงความเป็นตัวเองออกมา” พลอยบอกกับเราถึงเหตุผลที่ทำไมเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกายจึงไม่ควรมีระเบียบมาบังคับ
และเมื่อเด็กๆ เห็นว่าพวกเขายังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบจำกัดบางอย่าง และสิทธิเสรีภาพของพวกเขายังคงถูกลิดรอน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาพยายามรวมตัวเรียกร้องกันมากขึ้น เมื่อโลกภายนอกสอนให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิและเสรีภาพบนร่างกายตัวเองได้ นั่นจึงกลายเป็นแรงผลักดันของพวกเขาต่อระเบียบและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในรั้วโรงเรียน
“เรารู้สึกว่าทั้งเราแล้วก็เพื่อนที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยกำลังตกอยู่ในระบอบอำนาจนิยม กำลังถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่เด็กอย่างพวกเราสมควรได้รับ เราอยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง อยากจะให้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น อยากให้ทุกคนมีความสุขกับการเลือกทรงผมของตัวเองมากกว่านี้” พลอยบอกเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองและเพื่อนในวัยเดียวกัน
ในวันที่โลกกำลังหมุนไป และความรู้นั้นไม่ได้มีแค่ในตำราเรียนที่ถูกจำกัดกรอบ การเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มมาเยือน ซึ่งการต้านทานจะไม่ช่วยอะไรนอกจากทำให้กระแสความกดดันนั้นเพิ่มมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ทำให้เด็กๆ ได้เห็นความหวัง การลุกขึ้นมาต่อสู้เปลี่ยนแปลงเพื่อโลกของพวกเขาจึงกลายเป็นความหวังเดียวที่พวกเขาสร้างให้ตัวเองได้
ผู้ใหญ่ควรทำอะไร และทำไมเราต้องฟังเสียงเด็กๆ บ้าง
มีบทความที่พูดถึงการที่ผู้ใหญ่บางคนที่มักจะไม่ให้คุณค่ากับเสียงของเด็กๆ ซ้ำร้ายอาจโจมตีด้วยคำพูดรุนแรง แทนที่จะประนีประนอมและพูดคุยกันผ่านเหตุผล ซึ่งในบทความนั้นพูดถึง ‘ความกลัว’
ความกลัวที่ว่านี้เป็นความกลัวต่อการศูนย์เสียอำนาจ ความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ความกลัวต่อการถูกโค่นล้ม และกลายเป็นคนที่แพ้เด็กซึ่งมาจากภาวะเชื่อมั่นในตัวเองสูง ความกลัวนี้จึงกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาเลือกจะรักษาอำนาจของตัวเองผ่านการดูถูกเหยียดหยาม หรือทำร้ายคนอายุน้อยกว่าผ่านคำพูด ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เด็กๆ เรียกร้องนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรนอกจากการที่ผู้ใหญ่บางคนอาจสูญเสียอำนาจในการควบคุมเด็กๆ เป็นการควบคุมที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองผ่านการกดทับคนอื่น
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อยากให้เด็กๆ ในสังคมต้องเจอกันจริงๆ หรือ?
“อาจารย์ตอนแรกทักมาในกลุ่มห้องว่าให้หนูทักไลน์ส่วนตัวไป ตอนนั้นก็ตกใจว่าจะโดนว่าอะไรรึเปล่า แต่ว่าสุดท้ายเขาก็ทักมาให้กำลังใจเรา ส่วนพ่อแม่สนับสนุนแต่แรกอยู่แล้ว แต่บางทีเขายังไม่เข้าใจว่าการที่เราแสดงออกมาแบบนี้มันอาจจะดูรุนแรงเกินไปจนทำให้เกิดดราม่า กลัวเราโดนว่า”
พลอยเล่าให้ฟังหลังจากเหตุการณ์ดราม่าซึ่งตอนแรกก็กังวลว่าจะมีผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนที่ดี เธอก็มีพลังที่จะเดินต่อในโลกที่ผู้ใหญ่บางคนกลับรุมทึ้งเธอด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือการคุกคามทางเพศ เพราะจริงๆ แล้วนอกจากระเบียบที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เด็กๆ ต้องการอาจเป็นแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่จะช่วยให้โลกของพวกเขาเดินต่อไปได้
แม้เด็กๆ จะพยายามส่งเสียงเรียกร้องจากตัวเอง แต่กำลังใจจากผู้ใหญ่ก็สำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วการได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่และความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่เจเนอเรชั่นที่โดดเดี่ยวก็จะทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะยังคงสู้ต่อไปได้
ทำไมเราต้องฟังเสียงเด็ก หรือฟังสิ่งที่เด็กๆ พูดบ้าง? มีบทความที่พูดถึงเหตุผลที่เราควรลองเปิดใจฟังเสียงเด็กวัยรุ่นเพราะพวกเขามีคอนเซปต์หรือความคิดบางอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เป็นความคิดใหม่ที่อยู่เหนือกรอบความรู้ที่เรามี ซึ่งอาจช่วยให้เห็นวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาต่างๆ หากความคิดเหล่านี้ได้รับการพูดคุย ถกประเด็นด้วยเหตุผลกันมากพอ
จะดีกว่ามั้ยหากเราจะได้สังคมที่ดีขึ้นผ่านการพูดคุยที่ไม่ทำร้ายกัน และเข้าใจกันและกัน เพราะอนาคตเป็นของเด็กๆ และพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ไปอีกนาน