1 ตุลาคมปี 2567 คือหนึ่งในวันที่สังคมไทยเผชิญกับเรื่องราวที่น่าเจ็บปวดที่สุด ข่าวเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสที่ถูกใช้สำหรับการทัศนศึกษาได้พรากเอาชีวิตและความสูญเสียของนักเรียน รวมถึงครูรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าสิบราย
ความจริงที่น่าเจ็บปวดที่สังคมไทยพบเจอร่วมกันในวันนี้ คือชีวิตของนักเรียนและครูไทยได้ถูกละเลย ทั้งที่พวกเขากำลังอยู่ในระหว่างกิจกรรมที่จะได้เสริมสร้างการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน ความสูญเสียครั้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญที่บอกพวกเราว่า ระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยต่อครูและนักเรียนไทยได้ล้มเหลวลงไปอย่างชัดเจน
การเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนคือสิ่งสำคัญ และสิ่งที่สำคัญควบคู่ไปด้วยก็คือการจัดการที่ดีและปลอดภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหาหนทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
มาตรฐานของรถที่ปลอดภัย การตรวจสอบคุณภาพและความพร้อมของผู้ขับรถ เครื่องมือที่ช่วยเหลือการเอาตัวรอดบนรถ การสื่อสารให้ความรู้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นบนรถ ขอบเขตการเดินทาง ความพร้อมของสถานศึกษา แนวทางปฏิบัติของครู กระทั่งการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยสนับสนุนความปลอดภัยของการทัศนศึกษา—ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานด้านการศึกษา และหน่วยงานด้านคมนาคม ซึ่งรวมถึงภาคเอกชนและรัฐ
สังคมไทยเคยผ่านบาดแผลจากข่าวความสูญเสียบนท้องถนนมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ละปีมีผู้สูญเสียบนท้องถนนจำนวนมาก คำถามคือเมื่อบนท้องถนนไม่ปลอดภัย แล้วจะมีผู้ปกครองคนไหนจะยังกล้าปล่อยให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่นอกสายตาได้อีก ชีวิตมีคุณค่าเกินกว่าที่ผู้ปกครองจะยอมปล่อยให้ลูกหลานของเขาออกไปสู่ความเสี่ยง
ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า ทัศนศึกษาควรมีหรือไม่มีต่อไปหรือไม่ แม้สังคมไทยในวันนี้จะยังคงมีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่ แต่จุดร่วมและเป็นข้อเรียกร้องที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกัน คือการทัศนศึกษาที่ไม่ปลอดภัย ควรจะหายไปจากระบบการศึกษาของไทย
ปัญหานี้จำเป็นต้องถูกแก้ไขอย่างจริงจัง และไม่ใช่แค่วัวหายล้อมคอกเหมือนหลายๆ กรณีที่ผ่านมา
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหาทางยุติการทัศนศึกษาที่ไม่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงเยียวยาประคับประคองจิตใจของผู้ประสบเหตุ และครอบครัวผู้สูญเสียทุกคน
การศึกษาไทยดีขึ้นกว่านี้ได้ ความปลอดภัยของนักเรียนและครูก็เช่นกัน ไม่ควรมีใครต้องเผชิญความเสี่ยงเช่นนี้