จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง แล้วข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ของเรากลายเป็นความว่างเปล่า จากที่เคยมีข้อมูลสำคัญอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายสมัยเรียน ไฟล์โปรเจ็กต์มากมาย แม้จะลองใช้โปรแกรมกู้ข้อมูลต่างๆ แต่ก็ยังหาข้อมูลไม่เจอเลย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเองกับตัวผู้เขียน วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคงจะเป็นการส่งฮาร์ดดิสก์หาร้านกู้ข้อมูลและรอเวลา แต่ผู้เขียนต้องรีบใช้ข้อมูลในนั้น แล้วก็สงสัยด้วยว่าจะกู้ข้อมูลด้วยตัวเองได้หรือเปล่า? โชคดีว่าในสมัยนั้น ผู้เขียนฝึกใช้ระบบปฎิบัติการลินุกซ์ (Linux) ซึ่งทุกอย่างในลินุกซ์เป็นแบบ ‘โอเพนซอร์ส’ ที่ทำให้ผู้ใช้งานแก้ปัญหาของตัวเองได้
โอเพนซอร์ส (Open Source) คือวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ ‘เปิดเผยโค้ดเป็นสาธารณะ’ ผู้ใช้งานสามารถนำซอฟต์แวร์ไปใช้งานได้ฟรี (ในกรณีทั่วไป) และนักพัฒนาคนอื่นๆ สามารถศึกษาการทำงานของโค้ด แก้ไขให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง ร่วมกันพัฒนาให้ดีขึ้น และนำโค้ดไปต่อยอดในโปรเจ็กต์อื่นได้
เมื่อระบบปฎิบัติการเปิดกว้าง เราก็ลองทำความเข้าใจโค้ดของไดร์เวอร์ระบบไฟล์ (Filesystem Driver) จากโครงการ NTFS-3G ว่ามันทำงานยังไง จนอ่านเจอว่ามันมีโค้ดตรวจความถูกต้องที่ป้องกันไม่ให้เราเข้าถึงส่วนของความจำที่อาจเสียหายไปแล้ว แต่เมื่อเราลบโค้ดส่วนนั้นทิ้ง ไฟล์ทุกอย่างก็กลับมาและกู้คืนข้อมูลได้สำเร็จ เหตุผลน่าจะเพราะว่าฮาร์ดดิสก์มีปัญหาเยอะจนโปรแกรมกู้ไฟล์ทั่วไปไม่เชื่อว่าจะดึงข้อมูลออกมาได้
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กเนิร์ด แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เราเริ่มสนับสนุนโอเพนซอร์สมาตลอด เราเชื่อในอิสระที่ทำให้เราทำความเข้าใจระบบที่เราใช้งานอยู่ทุกวัน แก้ไขปัญหาของตัวเองได้ ลบส่วนที่เราไม่ต้องการทิ้งไปได้ และยังสนับสนุนให้เราแบ่งปันสิ่งที่เราพัฒนา ทำให้ซอฟต์แวร์ดีขึ้นสำหรับทุกคนที่เข้ามาใช้งานด้วย
ภาษีของประชาชน โค้ดก็ต้องเป็นของประชาชน: โอเพนซอร์สในรัฐบาลอังกฤษและสิงคโปร์
ในหนึ่งปี ประเทศไทยหมดเงินภาษีไปกับการพัฒนาและซื้อซอฟต์แวร์เยอะขนาดไหน แล้วทำไมเราถึงไม่เคยเห็นโค้ดหรือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่มาจากภาครัฐเลย?
ซอฟต์แวร์ที่เราใช้กันส่วนมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแอปในโทรศัพท์หรือโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ ส่วนมากจะเป็นซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ (Proprietary Software) ที่ไม่เปิดเผยโค้ดให้ผู้ใช้งานดัดแปลงและแก้ไขซอฟต์แวร์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ (Microsoft Windows) และอะโดบี โฟโตช็อป (Adobe Photoshop) ที่เราไม่สามารถศึกษาโค้ดและแก้ไขซอฟต์แวร์เหล่านั้นได้
ในปี 2017 องค์กร Free Software Foundation Europe (FSFe) เริ่มมีการรณรงค์นโยบาย ‘Public Money, Public Code’ เพื่อออกกฎหมายบังคับให้ซอฟต์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเงินภาษีประชาชนเปิดเป็นโอเพนซอร์ส เพื่อให้ประชาชนสามารถศึกษา ตรวจสอบ นำซอฟต์แวร์ไปใช้งานและต่อยอดได้ อีกทั้งการเปิดโอเพนซอร์สยังช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ร่วมกันได้
ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเปิดเผยซอร์สโค้ดมากขึ้น รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งหน่วยงาน Government Digital Services (GDS) เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ที่มีผลงานหลักคือ แพลตฟอร์ม Gov.uk ที่รวบรวมกว่า 7,689 บริการไว้ในเว็บไซต์เดียว มีผู้ใช้งานมากกว่า 13 ล้านคนต่อสัปดาห์ ซึ่ง Gov.uk เปิดซอฟต์แวร์กว่า 1,000 โครงการเป็นโอเพนซอร์ส เช่น Design System และส่วนประกอบต่างๆ อย่างการจัดการบัญชี การจ่ายเงิน การแจ้งเตือน และการสร้างฟอร์ม
รัฐบาลสิงคโปร์เองก็สร้างหน่วยงาน Government Technology Agency (GovTech) ที่พัฒนาเทคโนโลยีโอเพนซอร์สออกมาหลากหลายเช่นกัน อย่าง Singapore Design System ระบบยืนยันความถูกต้องของเอกสาร OpenAttestation ระบบตรวจสอบความสามารถในการเข้าถึงได้ของเว็บไซต์ Purple Hats และยังมีการใช้แนวคิด ‘InnerSource’ หรือการนำวิธีพัฒนาซอฟต์แวร์จากโอเพนซอร์ส ไปปรับใช้กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ในองค์กรด้วย
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีทีม Open Government Products (OGP) เป็นทีมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อประชาชนและภาครัฐ ที่เน้นการทดลองวิธีใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ทีมอื่นๆ ในรัฐบาลสิงคโปร์พัฒนาได้เร็วมากขึ้น ปัจจุบัน OGP มีการจัดโครงการ Hack for Public Good เพื่อให้ทุกคนในทีมพัฒนาโปรเจ็กต์แก้ปัญหาสังคมที่ตัวเองสนใจตลอดทั้งเดือนมกราคมในทุกๆ ปี ทำให้เกิดโปรโตไทป์กว่า 30 โครงการ
ทีม OGP เผยแพร่เครื่องมือออกมาหลากหลาย เช่น FormSG ที่ใช้เก็บข้อมูลไปแล้วกว่า 58 ล้านครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลด้านโควิด-19 ไปจนถึงการลงทะเบียนโรงเรียนประถม Postman ระบบที่ภาครัฐสิงคโปร์ใช้สื่อสารหลายช่องทางกับประชาชน ใช้งานไปแล้วกว่า 100 ล้านข้อความ และ Isomer ระบบ CMS ที่ทำให้ภาครัฐสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอเพนซอร์สในประเทศไทย
น่าเสียดายว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโอเพนซอร์สในไทยเท่าที่ควรจะเป็น และมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอเพนซอร์สอยู่บ่อยครั้ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีในปี 2549 เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า
“With open source, there is no intellectual property. Anyone can use it and all your ideas become public domain. If nobody can make money from it, there will be no development and open source software quickly becomes outdated. As a programmer, if I can write good code, why should I give it away? Thailand can do good source code without open source.”
ในอีกกรณี การจัดซื้อจัดจ้างโทรศัพท์มือถือ 111 เครื่องของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีการเขียนในข้อกําหนดการจ้าง (TOR) ว่า
“1.15 ใช้ซอฟต์แวร์ระบบปฎิบัติการที่ ‘ไม่ได้’ มีลักษณะเป็นการเปิดเผยต้นฉบับ (Open Source) เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่การใช้งานสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชั่น และ ‘ปกป้องความเป็นส่วนตัว’ ของผู้ใช้งาน (User’s Privacy) โดยจะต้องติดตั้งระบบปฎิบัติการดังกล่าวในเวอร์ชั่นล่าสุด”
ใน 2 ย่อหน้านี้ เราจะสังเกตได้ถึง 3 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับโอเพนซอร์สในประเทศไทย
- ถ้าเขียนโค้ดได้ดี ไม่มีเหตุผลที่จะแบ่งปันโค้ดให้คนอื่น ไทยสามารถพัฒนาโค้ดที่คุณภาพดีได้โดยไม่ต้องมีโอเพนซอร์ส
- ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาโอเพนซอร์สและไม่สามารถทำเงินจากโอเพนซอร์สได้ เพราะไอเดียกลายเป็นสาธารณะสมบัติไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ซอฟต์แวร์ไม่มีการพัฒนาต่อ ถูกทิ้งและล้าสมัย
- การเปิดเผยโค้ด ทำให้ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวต่ำกว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่เปิดเผยโค้ด
บริษัทและนักพัฒนาได้อะไรจากการพัฒนาโอเพนซอร์ส
หนึ่งในคำถามสำคัญคือ อะไรเป็นเหตุผลที่เราต้องแบ่งปันโค้ดให้คนอื่นด้วย บริษัทและนักพัฒนาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ในหนังสือเรื่อง The Cathedral and The Bazaar ของ อีริก เอส. เรย์มอนด์ (Eric S. Raymond) ได้เล่าถึงโมเดลการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Bazaar ที่เน้นการกระจายศูนย์ ปล่อยเวอร์ชั่นใหม่อย่างสม่ำเสมอด้วยความถี่สูง เน้นให้นักพัฒนาทำงานร่วมกันกับ Beta-Testers โดยตรง และรับฟังความคิดเห็นอยู่เสมอ ซึ่งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่างลินุกซ์ก็ใช้วิธีการนี้ เมื่อซอฟต์แวร์มีกลุ่มผู้ใช้ที่พร้อมที่จะทดสอบ แก้ปัญหา และพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดีขึ้นกระจายอยู่ทั่วโลก การแก้บั๊กและเพิ่มฟีเจอร์ก็ย่อมรวดเร็วขึ้น มากกว่าซอฟต์แวร์แบบปิดที่มีนักพัฒนาและผู้ทดสอบอยู่ไม่กี่สิบคน
ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ใช้กันแพร่หลาย ส่วนมากจะถูกพัฒนาหรือหนุนหลัง (Backed) โดยบริษัทใหญ่ เช่น กูเกิล (Google) ที่สนับสนุนโปรเจ็กต์ แอนดรอยด์ (Android) เทนเซอร์โฟล (TensorFlow) และโครเมียม (Chromium) (ที่อยู่เบื้องหลัง Google Chrome) หรือฟีดแบ็กที่สนับสนุนโปรเจ็กต์ React, GraphQL และ PyTorch
เหตุผลที่บริษัทเหล่านี้พัฒนาโครงการโอเพนซอร์ส ไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาใจบุญ แต่เพราะว่าซอฟต์แวร์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานในโปรเจ็กต์จำนวนมากจากหลายองค์กรทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และถูกนำไปแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาต่อ เกิดการเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด มีนักพัฒนาจากหลายองค์กรมาช่วยกันแก้บั๊ก พัฒนาฟีเจอร์ สร้างเครื่องมือ วิดีโอ และเอกสารให้เกิดเป็นระบบนิเวศ ซึ่งทำให้ได้ซอฟต์แวร์ที่คุณภาพดีขึ้นอย่างรวดเร็วมาใช้ในบริษัทของตัวเอง เพราะนักพัฒนาเก่งๆ กระจายตัวกันอยู่ทั่วโลก ไม่ได้อยู่แค่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
นักพัฒนาเองก็ได้ฝึกทักษะตัวเองให้เก่งขึ้น มีผู้คนทั่วโลกมาคอยให้คำแนะนำในด้านคุณภาพโค้ด ได้เก็บโปรไฟล์ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก ซึ่งบริษัทเทคโนโลยียุคใหม่จะให้ความสำคัญกับทักษะและประสบการณ์การทำโอเพนซอร์สในกิตฮับ (GitHub) มาก เพราะสามารถเข้าไปดูได้ว่านักพัฒนาคนนี้ทำโปรเจ็กต์อะไร เขียนโค้ดอะไร คุณภาพโค้ดที่เคยเขียนเป็นอย่างไร ทำให้มีโอกาสที่จะสมัครงานในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำได้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทที่สนับสนุนการพัฒนาโอเพนซอร์สจะสื่อสารให้นักพัฒนาจากนอกบริษัทเห็นถึงวัฒนธรรมของบริษัทที่เปิดกว้าง แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี และได้เห็นคุณภาพโค้ดที่สามารถคาดหวังได้เมื่อเข้าไปทำงานที่บริษัท
เริ่มต้นจากเรื่องไร้สาระ
ปัจจุบันในไทยมีการจัดแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อนำเสนอไอเดียและพัฒนา Prototype แก้ปัญหาธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งโปรแกรมเมอร์มักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ใช้ทักษะการเขียนโปรแกรมในกิจกรรมเหล่านี้นัก เนื่องจากงานแฮกกาธอนหลายงานจะให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจและความเป็นไปได้ทางธุรกิจมากกว่า บางงานอาจไม่ให้ความสำคัญกับการสร้าง Prototype ที่ใช้งานได้จริงเลย
ทีม Creatorsgarten เราเลยอยากเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนาไทยได้สร้างโปรเจ็กต์โอเพนซอร์ส และทดลองเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ต้องกังวลถึงความต้องการด้านธุรกิจได้สนุกกับการเขียนโค้ดเต็มที่ เราเลยจัดงาน The Stupid Hackathon Thailand มาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว โจทย์คือให้ทุกคนสร้างโปรเจ็กต์สนุกๆ ที่รู้สึกว่าไร้ประโยชน์มากที่สุด
ตลอดระยะเวลา 6 ปี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 800 คน และเกิดโปรเจ็กต์โอเพนซอร์สกว่า 50 โครงการ เช่น
- ‘เจิม’ โปรแกรมเจิมโค้ดด้วยการใส่ลายน้ำ และบทสวดชินบัญชรเพื่อให้โค้ดมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น
- ‘อุ๋งแลงค์’ ภาษาเขียนโปรแกรมสำหรับแมวน้ำที่ใช้แค่คำว่า อุ๋งๆ แต่สร้างโปรแกรมได้ครอบจักรวาล
- ‘หมวยลำเค็ญ’ โปรแกรมปลุกเสกเบอร์มงคล และตรวจสอบคุณลักษณะเบอร์มงคลจากตำราคุณปู่
- ‘ดั้มบ์แอสเซมบลี’ โปรแกรมซีพียูมนุษย์ที่สามารถรันโปรแกรมอะไรก็ได้ โดยใช้แรงมนุษย์ทั่วโลกช่วยกันบวกลบคูณหารเลข
- ‘เชื่อผม ผมคิดมาแล้ว’ โปรแกรมวาดภาพวงกลมจำนวนมากใส่รูปโลโก้ เพื่อให้ลูกค้าหลงเชื่อว่าโลโก้เราคิดมาแล้วเป็นอย่างดี
กิจกรรมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากงาน Stupid Shit No One Needs and Terrible Ideas Hackathon ที่จัดขึ้นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก จนภายหลังได้ถูกจัดขึ้นหลายครั้งในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ พอนำมาจัดในประเทศไทยก็ได้รับผลตอบรับที่ดีในทุกปี อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าคนไทยไม่เพียงสร้างได้แต่โปรเจ็กต์สนุกๆ เท่านั้น แต่ใช้ความสามารถตัวเองในการสร้างโปรเจ็กต์โอเพนซอร์สที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้
ชวนคนกรุงเทพฯ มาแก้ปัญหากรุงเทพฯ ด้วยโอเพนซอร์ส
ในกลางปี 2565 ทีมสมาคมสตาร์ตอัปไทย (Thai Tech Startup Association) จัดกิจกรรม ‘Hack BKK เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม’ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์มาแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ มีสตาร์ตอัป 6 บริษัท และประชาชนเข้ามาเสนอไอเดียใน 13 โจทย์ปัญหาจากกรุงเทพฯ โดยมีไอเดียออกมาเป็นจำนวนมากและมีสตาร์ตอัปที่นำไอเดียไปพัฒนาต่อ แต่ยังไม่ได้ออกมาเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานได้
ในปลายปี 2565 ทีมสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยจึงมีไอเดียที่จะชวนกลุ่มโปรแกรมเมอร์ทั่วประเทศไทยมาต่อยอดกิจกรรม Hack BKK เพื่อพัฒนาไอเดียต่างๆ ให้กลายเป็นต้นแบบที่ทดลองใช้งานได้ในเวลา 2 วัน สมาคมโปรแกรมเมอร์เลยติดต่อพวกเราจากทีม Creatorsgarten ให้มาร่วมจัดกิจกรรมด้วยกัน
ทว่าหลังจากที่ ปั๊บ—ชยภัทร อาชีวระงับโรค และผู้เขียนคิดไอเดียร่วมกัน เราเลยเห็นตรงกันว่าเวลา 2 วันไม่เพียงพอจะทำซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งานและต่อยอดได้ เพราะจุดประสงค์เวลาที่สั้นของแฮกกาธอน คือการเน้นการเรียนรู้และการคิดไอเดียอย่างรวดเร็ว และเราเชื่อว่าการพัฒนาในที่สาธารณะร่วมกันหลายองค์กร ทำให้โครงการเติบโตได้มากกว่าการพัฒนาภายในบริษัทสตาร์ตอัปบริษัทเดียว สุดท้ายเลยเกิดมาเป็น ‘Bangkok Open Source Hackathon’
พวกเราเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ทำให้โครงการสามารถดำเนินการไปต่อได้ ดึงผู้สนใจร่วมพัฒนาคนใหม่ๆ เข้ามาได้ ส่งต่อโครงการ (Transfer Ownership) หรือแตกกิ่งก้านนำไปพัฒนาต่อเอง (Fork) ได้ เพื่อไม่ให้โครงการถูกทิ้งร้าง และเราเชื่อว่าต้องมีการผลักดันและทำงานร่วมกับหลายๆ ฝ่าย เพื่อที่จะทำให้เกิดการนำไปใช้งานจริง (Adoption) ได้
จากแฮกกาธอน 2 วัน กลายเป็นโครงการพัฒนาโอเพนซอร์สกว่า 2 เดือน
หลังจากที่ได้พบ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดร. ชัชชาติแนะนำกับพวกเราว่าต้องการที่จะเห็นโครงการที่นำไปใช้จริง นำไปพัฒนาต่อได้ เชื่อว่ากลุ่มนักพัฒนาควรจะไปลงพื้นที่จริง ไปโรงพยาบาล ไปพบผู้พิการ ใช้เวลากับการทำความเข้าใจกลุ่มผู้ที่มีปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกับพวกเขา จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นกิจกรรมแฮกกาธอนระยะสั้น
พวกเราจึงเปลี่ยนจากการจัดแฮกกาธอน 2 วัน ให้กลายเป็นการสร้างโครงการพัฒนาโอเพนซอร์ส 2 เดือน มีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป 2 กิจกรรม เพื่อให้นักพัฒนาและประชาชนแต่ละกลุ่มมาทำความรู้จักกัน และทำความเข้าใจปัญหาจากแต่ละกลุ่ม กิจกรรม Open Hack Day ที่ชวนผู้สนใจภายนอกมาร่วมระดมไอเดียและพัฒนาร่วมกัน ปิดท้ายด้วยกิจกรรมแฮกกาธอน 2 วัน เป็นการปิดท้ายการพัฒนาซอฟต์แวร์ตลอด 2 เดือน และนำเสนอโครงการให้ผู้สนใจและคณะกรรมการ
ตลอดระยะเวลาโครงการนี้ มีผู้พัฒนากว่า 800 คนเข้าร่วมกลุ่มดิสคอร์ด มีประชาชนร่วมกันสนับสนุน ให้ความคิดเห็น และร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์รวมกว่า 200 คน
โอเพนซอร์สช่วยสังคมได้อย่างไร จาก 4 กลุ่มพัฒนาโอเพนซอร์สเพื่อสังคมไทย
ในเวิร์กช็อปแรก เราอยากจะให้นักพัฒนาและประชาชนจากหลายกลุ่มได้มาทำความรู้จักกัน ได้ฟังไอเดียต่างๆ จากคนที่ทำโอเพนซอร์สเพื่อสังคมในไทย พวกเราเลยชวน กุล ฮันท์ วสันต์ ลูกคิด ไท ตั้ง และปันเจ มาเล่าถึงการทำโอเพนซอร์สเพื่อสังคมในแบบของตัวเอง
กุล—กุลชาติ เค้านา เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเทคไทบ้านและมหาลัยไทบ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนที่อำเภอผูภาม่าน จังหวัดขอนแก่น กุลอยากจะกระจายอำนาจความรู้เพื่อคนพื้นที่ หรือ ‘Empower Local’ โดยกุลมาเล่าเรื่องของการสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ‘ฟาร์มคิด’ จัดแฮกกาธอนและมีตอัป (Meetup) หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Green Hackathon กิจกรรมแฮกกาธอนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาสิ่งแวดล้อม Go Local #2 มีตอัปสอนภาษา Golang, UX Meetup และกิจกรรมที่สอนผู้ทำธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน (SMEs) อย่างโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในขอนแก่น ให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการตลาดได้
ฮันท์—ศิระ สัจจินานนท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งจิตตะ (Jitta) ผู้ร่วมพัฒนาแอป ‘หมอชนะ’ และผู้ก่อตั้งกลุ่ม Muse Foundation เพื่อพัฒนาสังคมจากแบ่งปันความรู้และทรัพยากรพื้นฐาน ฮันท์เชื่อมั่นในการพัฒนาไอเดียแบบโอเพนซอร์สที่ไม่ได้มีบริษัทใดเป็นเจ้าของ แต่เกิดจากหลายๆ คนร่วมกันพัฒนา โดยโฟกัสที่ปัจจัย 4 ก่อน ฮันท์เล่าเรื่องการซื้อพื้นที่ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนำโครงการโอเพนซอร์ส WikiHouse ที่ทำให้สร้างบ้านแบบโอเพนซอร์สได้จากศูนย์โดยไม่ต้องมีความรู้ในการก่อสร้าง ใช้แค่เครื่อง CNC และใช้คนสร้างบ้านแค่ 3 คน
ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม เป็นผู้ก่อตั้งโครงการทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เล่าเรื่องสถิติปัญหาที่คนกรุงเทพฯ แจ้งบ่อยที่สุดจากชุดข้อมูลทราฟฟี่ ฟองดูว์ วิธีการทำงานและใช้งานทราฟฟี่ ฟองดูว์ของเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ปัญหาอะไรที่น่าจะแก้ไขด้วยข้อมูลได้ ภาพรวมการทำงานของกรุงเทพฯ และเรื่องราวของข้อมูล Open Data และ Open API ที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดของทราฟฟี่ ฟองดูว์ เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละเคสได้
ลูกคิด—วิถี ภูษิตาศัย นักพัฒนาจากทีม WeVis มาเล่าเรื่องเทคโนโลยีภาคประชาชน หรือ ‘Civic Tech’ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น ตรวจสอบข้อมูลได้ แสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น โดย WeVis เล่าเรื่องของการทำ Data Visualizations ในโปรเจ็กต์ They Work For Us โครงการตรวจสอบประวัติผู้แทน และการลงคะแนนเสียงของผู้แทนในสภา ไปจนถึงการทำงานแบบโอเพนซอร์สที่มีบุคคลภายนอกกลุ่ม WeVis มาช่วยกันพัฒนาเป็นจำนวนมาก และการเล่าเรื่องแบบ Data Storytelling เพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารประเด็นการเมืองในโลกออนไลน์ เช่น แต่ละพรรคสื่อสารเรื่องอะไร และมีประเด็นอะไรเป็นกระแสสังคมที่ถูกพูดถึง
ไท ปังสกุลยานนท์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ Opn และผู้พัฒนาหลักในโครงการ ELECT Live!, ตั้ง—วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผลิตภัณฑ์ (Chief Product Officer) ของ WiseSight และ ปันเจ—ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของ Cleverse มาเล่าเรื่องราวของการทำงานในโปรเจ็กต์โอเพนซอร์สต่างๆ อย่าง ELECT Live! และ Thai Web Landscape ถึงความสำคัญและเทคนิคของการทำโอเพนซอร์ส เช่น การทำ Puzzle Driven Development
มีอะไรเกิดขึ้นใน Bangkok Open Source Hackathon ตลอดเวลา 2 เดือนนี้
ในเช้าของเวิร์กช็อปที่ 2 สว่าง ป๊อป และโบนัส มาเล่าถึงปัญหากรุงเทพฯ จากแต่ละมุมมอง
- สว่าง—สว่าง ศรีสม จากภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ Transportation For All เล่าถึงปัญหาการเข้าถึงได้ของการขนส่งสาธารณะผู้พิการ และความจำเป็นของ Universal Design ในประเทศไทย
- ป๊อบ—ผศ. ดร. ณพงศ์ นพเกต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม เล่าถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการวางผังเมือง และสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ และการพัฒนาที่เป็นไปได้
- หมอโบนัส—ณัฐชลัยกร ศิริจำรูญวิทย์ จาก Fill You in the Blank เล่าถึงปัญหาความไม่ร่วมมือกัน (Silos) ขององค์กรในไทย และเสนอถึงวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิสคอร์ด
ในวันเวิร์กช็อปที่ 2 เริ่มมีหลายทีมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มราชกิจจ้า (Ratchagitja) เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาร่วมกันแปลงราชกิจจานุเบกษาเป็นตัวอักษรที่สามารถนำไปประมวลผลต่อด้วยคอมพิวเตอร์ได้ หรือกลุ่มวีสเปซ (WeSpace) ที่ต้องการจะเก็บข้อมูลต้นไม้ทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย
หลังจากจบกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ 2 แต่ละกลุ่มก็ทำงานร่วมกันในห้องดิสคอร์ด หลายๆ กลุ่มเริ่มทำงานกันตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ และมีผู้สนใจเข้ามาร่วมในกลุ่มดิสคอร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ หลายกลุ่มเริ่มประชุมกันทุกสัปดาห์ จนถึงวัน Open Hack Day และ Hackathon Days ที่ทั้ง 8 ทีมใช้เวลากับการพัฒนาซอฟต์แวร์ในโค้งสุดท้าย และเตรียมนำเสนอผลงาน ซึ่งมี ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม จากทราฟฟี่ ฟองดูว์ ตั้ง—วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ จาก WiseSight และ โท—ไพบูลย์ พนัสบดี จากสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน นอกจากนี้ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็มาให้ความคิดเห็นกับโครงการเช่นกัน
สุดท้าย มีทั้งหมด 8 ทีมที่ส่งผลงานเข้ามา
- Bank4All แอปเล่นเปียแชร์ (Peer Sharing) อย่างปลอดภัย แก้ปัญหาท้าวแชร์โกงเงิน
- PolicyTracka แอปเปรียบเทียบและหาความแตกต่างระหว่างนโยบายแต่ละพรรค หานโยบายที่สร้างสรรค์ที่สุด
- Thailand Area Ranking แอปจัดลำดับอสังหาริมทรัพย์ตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ส่วนตัว
- WeSpace แอปเก็บข้อมูลต้นไม้อัตโนมัติด้วยเอไอ เพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพฯ
- BKK Reward Hunter แอปแจ้งรายงานคนขับขี่หรือจอดรถรถจักรยานยนต์ไว้บนทางเท้า และแจ้งกรุงเทพฯ เพื่อรับเงินอัตโนมัติด้วยเอไอ
- BKK Changelog บอตทวิตเตอร์อัปเดตผลการทำงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ จากระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์แบบรายวัน
- Wiki Bangkok วิกิเพื่อคนกรุงเทพฯ ช่วยกันอัปเดตนโยบาย 216 ข้อของกรุงเทพฯ ว่าแต่ละคนทำโครงการอะไรอยู่ เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน
- Ratchagitja ราชกิจจ้า ร่วมกันแปลงข้อมูลราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อมูลไฟล์ข้อความที่คอมพิวเตอร์อ่านได้ นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ด้วย Crowdsourcing
ในกิจกรรมเราแจกรางวัลทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล Contributability Award สำหรับกลุ่มที่เด่นด้านการร่วมพัฒนาได้ง่ายที่สุด และมีการร่วมกันพัฒนาจากผู้สนใจหลากหลาย Implementation Award สำหรับกลุ่มที่พัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาได้ดี เลือกใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม และ Concept Award สำหรับกลุ่มที่มีแนวคิดน่าสนใจ ซึ่งทีมราชกิจจ้าได้รับ Concept Award และทีมวีสเปซได้รับรางวัล Implementation และ Contributability Award
จากนักพัฒนา สู่ภาคประชาชนและภาครัฐ
ถึงกิจกรรมแฮกกาธอนจะจบลงไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาต่อและนำไปใช้จริง
พวกเราเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้เทคโนโลยีภาคประชาชน (Civic Technologies) เกิดการนำไปใช้งานจริง ขั้นแรกจะต้องเกิดจากกลุ่มนักพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก เพราะนักพัฒนาจะเป็นผู้นำข้อมูลหรือ API จากภาครัฐมาสร้างเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น APIs, Libraries และ Datasets ที่ให้นักพัฒนาคนอื่นๆ นำไปใช้งานต่อได้ง่าย ไปจนถึงเครื่องมือที่ประชาชนนำไปใช้งานต่อได้ เช่น Applications, Data Storytelling และ Data Visualizations ต่างๆ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มีการเปิดข้อมูลและการเปิดโค้ด นักพัฒนาภาคประชาชนก็ไม่สามารถพัฒนาต่อได้
ขั้นที่ 2 คือการที่นักพัฒนาทำงานร่วมกับประชาชน (Active Citizens) และกลุ่มภาคประชาชน (Civic Organizations) เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น พัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับกลุ่มภาคประชาชน นำไปให้ประชาชนทั่วไปได้ทดลองใช้งาน ประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำ และปรับปรุงแก้ไขเรื่อยๆ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มากขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีภาคประชาชนที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูล ทำความเข้าใจข้อมูลได้ ซึ่งการนำข้อมูลไปทำ Data Storytelling และสร้างเครื่องมือ จะมีประโยชน์มาก
ขั้นที่ 3 คือการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐนำไปใช้จริง ประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการพัฒนา ให้แหล่งข้อมูล ฟีดแบ็กและคำแนะนำ ให้งบประมาณในการพัฒนา กำหนดนโยบาย และนำไปขยายผล ถ้าภาครัฐไม่สนับสนุนโอเพนซอร์ส ซอฟต์แวร์ก็มักจะไม่กระจายตัวไปในวงกว้าง หรืออาจไม่สามารถพัฒนาต่อได้เนื่องจากขาดเงินและทรัพยากรสนับสนุนนักพัฒนา
เราเชื่อว่าวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม การเปิดเวทีและเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์และพลังจากภาคประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าทั้งในมิติสังคม การเมือง และเทคโนโลยี
เป็นกลุ่มที่รวบรวมนักสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขา ตั้งแต่โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน และผู้ที่ต้องการผลักดันสังคมให้ขับเคลื่อนผ่านการแชร์ความรู้ ผ่านวัฒนธรรมการแฮก การจัดอีเวนต์ และการเรียนที่ก้าวข้ามความเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง (Antidisciplinary) และกระบวนการประชาธิปไตย (Democratization)