จากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาเกิดอุบัติไฟไหม้ บริเวณหน้าเซียร์รังสิต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงประโยชน์ของทัศนศึกษาและเรียกร้องให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนั้น รมว.ศึกษาธิการได้ออกมาตรการเร่งด่วนระงับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ทั่วประเทศไม่มีกำหนด เห็นแบบนั้นแล้ว บทความนี้เลยอยากจะชวนมาพูดคุยถึงบทบาทของทัศนศึกษาในฐานะเครื่องมือลดด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยกันดูสักหน่อย
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้คนไทยจะรู้หนังสือและเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยและงบประมาณด้านการศึกษาที่แตกต่างกันรายจังหวัด แต่ด้านที่เป็นปัญหามากที่สุด (และดูเหมือนจะแก้ยากที่สุด)
คือความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Academic performances)
โดยวัดจากคะแนนสอบจากแบบทดสอบระดับชาติอย่าง O-NET หรือระดับนานาชาติอย่าง PISA ระหว่างนักเรียนในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ กับนักเรียนต่างจังหวัด ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ ระหว่างนักเรียนจากครอบครัวยากจนและครอบครัวฐานะดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันกลับมามองระบบการศึกษาไทย โดยผนวกเรื่องของเศรษฐกิจ-สังคมเข้ามา
ไม่เพียงเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนไทย จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 จัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าไทยมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษกว่า 1.8 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 2563 เกือบสองเท่า สะท้อนถึงผลพวงที่มาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมน้อยกว่าและเข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูมีความเสี่ยงที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้
แม้การลงทุนในทุนมนุษย์จากภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่คำถามสำคัญคือทรัพยากรเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างไร เมื่อการลงทุนอาจทำให้เด็กยากจนมีหนังสือหรืออุปกรณ์การเรียนที่ดีขึ้น มีโรงเรียนที่ทันสมัยขึ้น มีครูที่มีความถนัดกับวิชาที่สอนมากขึ้น แต่หากการเรียนรู้ยังคงจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมติดแอร์ แม้จะเย็นขึ้น แต่นักเรียนฐานะยากจนหรือนักเรียนในต่างจังหวัดอาจไม่มีทางที่จะได้รู้จักโลกภายนอกที่กว้างกว่า ซับซ้อนกว่า โลกในบทเรียน การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยได้
นอกเหนือจากการนั่งเรียนในชั้นเรียน ‘ทัศนศึกษา’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมนอกห้องเรียนที่นักเรียนต่างจังหวัดคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี หากจะกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นต้นตอของทัศนศึกษาก็คงไม่ผิดนัก เพราะองค์ความรู้ในศาสตร์และศิลป์กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ ไม่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ แม้วันนี้จะมียูทูบให้ได้ดู แต่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเห็นของจริงกับตา
ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละปี หัวหน้าสถานศึกษาและครูจึงต้องแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียนภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด เดินทางครึ่งค่อนวัน (หรืออาจค้างแรม) เพียงเพื่อที่จะมอบความรู้และประสบการณ์ที่ไม่มีในพื้นที่ตนเอง ซึ่งมุมมองของผมในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้ที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน คุณค่าที่สำคัญที่สุดของทัศนศึกษาไม่ใช่ความรู้เชิงวิชาการที่ได้รับ แต่เป็นการได้พบเจอกับโลกนอกห้องเรียน ที่มีทั้งคน สถานที่ และความคิด ที่ต่างออกไปจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ แม้สิ่งเหล่านี้จะประสบพบเจอได้เมื่อโตแล้ว แต่การเจอเร็วก็ทำให้เราเป็นเด็กที่มีประสบการณ์ ‘ใกล้เคียง’ กับเด็กคนอื่นๆ ได้มากขึ้น
ไม่แปลกใจนักที่คนที่เรียกร้องให้ยกเลิกทัศนศึกษาเป็นคนจากครอบครัวมีอันจะกินประมาณหนึ่ง ได้รับการศึกษาจากอนุบาลในกรุงเทพฯ หรือมีผู้ปกครองที่สามารถ ‘เล่า’ เรื่องราวของโลกอันซับซ้อนให้ฟังตั้งแต่ยังเด็ก คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับประโยชน์ที่จับต้องได้จากทัศนศึกษาที่โรงเรียนจัดและประสบการณ์ที่ได้รับก็อาจจะตื่นเต้นน้อยกว่าบทสนทนาบทโต๊ะกินข้าว แต่การยกเลิกทัศนศึกษาต้องให้น้ำหนักถึงประโยชน์ที่เด็กได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กต่างจังหวัดและเด็กยากจนที่มีจำนวนมากในประเทศ
ในทางวิชาการ Krepel and Duval (1981) ได้นิยาม ‘ทัศนศึกษา’ (ภาษาอังกฤษ อาจมีชื่อที่หลากหลาย เช่น Field trip, instructional trip, school excursion และ school journey) ว่าเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากในห้องเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ นอกห้องเรียน งานวิจัยจำนวนมาก เช่น Behrendt and Franklin (2014) และ Dewitt and Storksdieck (2008) ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของทัศนศึกษาต่อนักเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ความรู้ และแรงขับเคลื่อนในการเรียนและการใช้ชีวิต ทัศนศึกษามอบโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจ ค้นพบ ตั้งคำถาม และมอบประสบการณ์ตรง (First-hand experiences) ที่ห้องเรียนไม่สามารถให้ได้
สำหรับการประเมินประโยชน์ของทัศนศึกษา ขอหยิบยกงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทำโดย Heidi Erickson, Angela Watson และ Jay Greene เพิ่งเผยแพร่ใน Journal of Human Resources ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเล่าให้ฟัง ผลการศึกษาจากการศึกษาทดลองแบบสุ่ม (Randomized Control Trials: RCT) พบว่า นักเรียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมทัศนศึกษาด้านศิลปะ (Arts-based field trips) เช่น เข้าร่วมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การแสดงละครเวทีสด และการแสดง Symphony มีระดับของความอดทน (Tolerance) และความมีสติ-ความตระหนัก (Conciousness) เพิ่มขึ้นมากกว่านักเรียนในกลุ่มควบคุม
โดยความอดทนวัดจากระดับที่นักเรียนเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ฉันเชื่อว่าผู้คนสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้” ขณะที่ความมีสติ-ความตระหนักวัดจากการตอบแบบสอบถามแบบไม่ระมัดระวัง (Careless answering) นอกจากนั้น นักเรียนในกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถทำคะแนนสอบปลายภาค (End-of-grade exam) ได้ดีและได้รับเกรดที่สูงกว่านักเรียนในกลุ่มควบคุม งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่าทัศนศึกษาดังกล่าวสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสุขภาวะ (Well-being) ทางด้านอารมณ์และสังคม
จากที่กล่าวมาข้างต้น ทัศนศึกษามีประโยชน์โดยตรงต่อนักเรียน เป็นเรื่องที่ดีสังคมได้ถอดบทเรียนและถกเถียงเรื่องทัศนศึกษา แต่การด้อยค่าและการยกเลิกทัศนศึกษา นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังปิดกั้นการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในต่างจังหวัดและนักเรียนยากจน สิ่งเหล่านี้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น