พร้อมกันหรือยังสำหรับทริปในช่วงหยุดยาวปลายปีนี้ที่เราจะได้ผ่อนคลายจากภาระหน้าที่ต่างๆ และออกไปท่องโลกกว้างกันเสียที—บ้างก็ว่า ‘การเดินทางคือการเรียนรู้’ อีกคนถึงขั้นพูดเป็นภาษากวีว่า “เราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เมื่อแหงนหน้ามองพระจันทร์จากอีกมุมโลก” แต่ถ้าพูดในทางการแพทย์ที่มีผลวิจัยรับรองเสร็จสรรพเพื่อให้เข้ากับ 3 คุณหมอนักเดินทางที่ The MATTER ชวนมาพูดคุยด้วยวันนี้ การท่องเที่ยวนั้นก็ยังมีสรรพคุณเป็นยา! กล่าวคือเมื่อได้เจอกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง มันจะมีประโยชน์ทั้งเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดภาวะความเครียด เพิ่มเสถียรภาพทางอารมณ์ ไปจนถึงพัฒนาสมอง
แต่ก่อนจะออกเดินทางทุกครั้ง ก็ควรจัดสิ่งจำเป็นใส่กระเป๋าให้พร้อมสรรพเสียก่อน เพราะภาวะฉุกเฉินนั้นเกิดได้เสมอ—หรือถ้าใครกำลังแพนิกไม่รู้ว่าควรใส่อะไรลงไป เราขอแนะนำให้ลองดูของ ‘สำคัญที่ขาดไม่ได้’ ในกระเป๋าของคุณหมอนักเดินทางเหล่านี้เป็นตัวอย่าง เพราะนี่คือการเตรียมตัวก่อนออกเดินทางที่ไม่แพ้ตอนพวกเขาคร่ำเคร่งกับการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนแพทย์เลยทีเดียว
“การได้ออกเดินทาง คือการเติมพลังให้ชีวิต อาจเปรียบได้กับเด็กๆ ที่ได้ออกไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น เป็นการเรียนรู้ที่เราไม่สามารถนั่งนึกจินตนาการจากคำบอกเล่าของคนอื่นได้ นอกจากต้องออกไปสัมผัสด้วยตัวเอง”
หมออีม—ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์
หมออีมคือผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรส ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกถ้าวัดจากระดับน้ำทะเลด้วยความสูง 8,848 เมตร…
หลังจากการไต่เขาลูกแรกที่ระดับความสูง 4,096 เมตร ในประเทศมาเลเซียอย่างคินาบาลูเมื่อ 5 ปีก่อน สู่การออกเดินทางตามหาความฝันบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ตอนนี้ดูเหมือนเธอจะหลงใหลในกิจกรรมกลางแจ้งอันสมบุกสมบันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และล่าสุด เพื่อทําบุญถวายเป็นพระราชกุศลและถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เธอก็เพิ่งไปเยือนวัดพุทธเล็กแห่งๆ หนึ่งบนที่ราบสูงทิเบต ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญที่ความสูงกว่า 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลมา
“การปีนเขาเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความพร้อมทั้งกายและใจ เราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการออกเดินทาง ทางด้านร่างกายอีมออกกำลังกายด้วยการวิ่ง และ strength training เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย โดยสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การสั่งสมประสบการณ์ เพื่อให้เรารู้ว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง เป็นแนวทางในการเตรียมกายและใจให้พร้อมสำหรับการไปเผชิญความยากลำบาก”
แบบนี้ ในเดินทางอันสมบุกสมบันแต่ละครั้ง เธอต้องเตรียมอะไรไปบ้าง—มาดูกัน…
MustHave Items : 1.Samsung Gear S3 2.โทรศัพท์มือถือ 3.กล้องถ่ายรูป 4.สมุดบันทึก
The MATTER : ทำไมถึงต้องเป็นของเหล่านี้?
เนื่องจากการเดินทางของอีมส่วนใหญ่มักจะต้องพบเจอกับสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เรียกได้ว่ามีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูง เช่น อุณหภูมิติดลบ หรือความกดอากาศต่ำ เราเลยค่อนข้างให้ความสำคัญกับความทนทานของอุปกรณ์ เพราะถ้าอุปกรณ์เกิดมีปัญหาขึ้นมา เราอาจจะสูญเสียโอกาสในการบันทึกความทรงจำที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตไปเลย ซึ่งสิ่งที่พกติดตัวเสมอก็จะมีกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ สมุดบันทึก และสมาร์ตวอชอย่าง Samsung Gear S3 ที่เราพบว่า มันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โทรศัพท์มือถือของเรา เพราะปกติเราใช้ Samsung S7 อยู่แล้ว ซึ่งฟังก์ชั่นที่ใช้บ่อยจาก Samsung Gear S3 คือการดูแผนที่จาก google map และที่ใช้ทุกวัน คือฟังก์ชั่น HR Samsung Gear ที่จะเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจ แล้ววิเคราะห์ออกมาว่าสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างไร บอกได้แม้แต่ขณะนอนหลับ วิเคราะห์คุณภาพการนอน เช่น เราหลับลึกไหม นอนกระสับกระส่ายหรือเปล่า ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย และอีกสองฟังก์ชั่นที่สำคัญกับเรามากคือ Altimeter และ Barometer เพราะเราวิ่งเทรลและปีนเขาบ่อย—Altimeter จะช่วยบอกความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เรายืนอยู่ เช่น ล่าสุด เราไปทิเบต EBC (Everest Base Camp) ฝั่งเหนือ ซึ่งสูง 5150 เมตร โดยเดินทางจากเมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบต ความสูง 3650 เมตร ก็อาศัย Samsung Gear S3ในการเช็คระดับความสูงระหว่างเดินทาง ว่าเราอยู่ตรงไหนแล้ว มีประโยชน์มาก ส่วน Barometer ใช้ดูความชื้นในอากาศ และพยากรณ์ว่าฝนจะตกหรือไม่
The MATTER : ด้วยความเป็นหมอ มุมมองเวลาไปท่องเที่ยวแต่ละครั้งแตกต่างจากนักเดินทางคนอื่นไหม?
สำหรับเรา การเดินทางที่ยากลำบาก ได้เจอสิ่งใหม่ๆ เจอเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแผน อาจมีปัญหาให้ต้องแก้ นั่นคือสีสันของชีวิต และประสบการณ์ที่เราจะได้เรียนรู้ การเดินทางของเราแต่ละครั้งจึงค่อนข้างแอดเวนเจอร์ ซึ่งนอกจากความชื่นชอบส่วนตัว การเป็นหมอ และต้องเดินทางในรูปแบบนี้ ด้วยความที่เรามีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย ประกอบกับการหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายบนที่สูง จะทำให้เราประเมินสภาวะร่างกายตนเองหรือผู้อื่นได้ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีเกิดปัญหาได้ค่ะ
The MATTER : คุณหมอคิดว่า ทำไมคนเราถึงต้องออกการเดินทาง?
การได้ออกเดินทาง คือการเติมพลังให้ชีวิต อาจเปรียบได้กับเด็กๆ ที่ได้ออกไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น เป็นการเรียนรู้ที่เราไม่สามารถนั่งนึกจินตนาการจากคำบอกเล่าของคนอื่นได้ นอกจากต้องออกไปสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้โลกภายนอกที่กว้างใหญ่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือมันทำให้เรารู้จักโลกภายในของตัวเองมากขึ้น ทุกการเดินทาง เราได้อะไรกลับมาเสมอ เรียกได้ว่าการเดินทางมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมความคิด และมุมองต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตของอีมเลยค่ะ
“มันฝึกเราหลายๆ อย่างนะครับ เช่น เรื่องการแก้ปัญหา เวลาออกไป เราจะดีลกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งถ้าเราเจอแต่กิจวัตรเดิมๆ ที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราก็จะไม่ได้ฝึกเผชิญกับปัญหา ผมเห็นด้วยนะครับว่า การเดินทางทำให้เราเปลี่ยนไป ทำให้เราโตขึ้น”
หมอเก๋อ—นายแพทย์ คัมภีร์ สรวมศิริ
นายแพทย์นักเดินทางตัวยง ผู้เคยแบกเป้ออกค่ายอาสารักษาคนบนเทือกเขาหิมาลัย ร่วมกับทีม Himalayan Health Exchange (HHE) ที่สุดท้ายก็ถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางครั้งนั้นออกมาเป็นหนังสือขายดีชื่อ ‘หิมาลัยต้องใช้หูฟัง’ ก่อนตามมาติดๆ ด้วยผลงานเล่มที่ 2 ชื่อ ‘Greenland Skylight—พื้นห่มขาว ดาวห่มเขียว’ ที่ทั้งสองเล่มประกอบด้วยรูปถ่ายสวยๆ และเรื่องราวอ่านสนุกมากมาย
หมอเก๋อบอกว่า “ความกังวลในการเดินทางแต่ละครั้งมีอยู่แล้ว แต่เราก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ที่แน่ๆ ตอนจัดกระเป๋าจะคิดตลอดว่าลืมอะไรหรือเปล่า เราจะแก้ไขด้วยการค่อยๆ เก็บของ คือไม่รีบร้อนเก็บของตอนก่อนออกจากบ้านแค่แป๊บเดียว แต่จะเอากระเป๋าเดินทางมากางล่วงหน้าหลายๆ วัน”
Must-Have Items : 1.กระติกน้ำ 2.ใบขับขี่สากล 3.สมุดวัคซีน 4.เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด 5.ผงซักฟอกชนิดเม็ด 6.ไพ่เกม Monopoly และ Exploding kittens
The MATTER : ทำไมถึงต้องเป็นสิ่งของเหล่านี้?
นอกจากของปกติที่เราจะต้องเอาไปอยู่แล้ว เช่น เงิน กล้องถ่ายรูป พาสปอร์ต ที่เพิ่มเติมมาก็จะมีใบขับขี่สากล กับสมุดวัคซีน ซึ่งจะเป็นหลักฐานได้ว่าเราเคยฉีดอะไรไปแล้วบ้าง เพราะเวลาเราเจ็บป่วยต่างบ้านต่างเมือง หมอเขาจะอยากรู้ว่าเราฉีดวัคซีนตัวนี้แล้วหรือยัง เช่น ถ้าเป็นแผลต้องเย็บ หมอเขาจะอยากรู้ว่าเราฉัดวัคซีนกันบาดทะยักครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อีกอย่างที่มีอยู่ในกระเป๋าตลอดคือ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เป็นเครื่องที่เอาไว้หนีบปลายนิ้ว เพื่อวัดชีพจรและออกซิเจน อย่างรอบล่าสุดเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น ก็โดนเรียกให้ช่วยคนป่วยบนเครื่องบิน ก็ได้เครื่องนี้แหละครับช่วยไว้ เพราะ First Aid Kit บนเครื่องบินจะมีแค่หูฟัง กับเครื่องวัดความดัน ส่วนอย่างอื่นที่จะเอาไปก็จะเป็นกระติกน้ำ เพื่อเอาไปกดน้ำดื่ม อย่างโฮสเทลหลายๆ ที่เขาจะมีน้ำให้เรากด เพราะฉะนั้นมันจะช่วยประหยัดค่าน้ำได้ หรือถ้าไปเมืองหนาวๆ ถ้าเราเอาตัวที่มันเก็บกักความร้อนไป มันจะช่วยให้เรามีน้ำอุ่นๆ กินทั้งวัน นอกจากนี้ก็จะมีผงซักฟอกแบบเม็ดเพื่อความสะดวกตอนซักผ้า และอีกอย่างที่เอาไปเสมอคือไพ่ที่เป็นเกม Monopoly และ Exploding kittens เพื่อใช้เป็นเกมฆ่าเวลา และเอาไว้ผูกมิตรเวลาอยู่โฮสเทล
The MATTER : ด้วยความเป็นหมอ มุมมองเวลาไปท่องเที่ยวแต่ละครั้งแตกต่างจากนักเดินทางคนอื่นไหม?
จะว่าเหมือนก็เหมือนนะครับ ผมชอบพูดเสมอว่า หมอก็เป็นคนปกตินี่แหละ อยากจะไปเปลี่ยนบรรยากาศ อยากจะไปเห็นที่อื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล อย่างจะเห็นสิ่งที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ตด้วยตาตัวเอง สำหรับผม จะมีแค่รอบเดียวที่มีเหตุผลในการไปไม่เหมือนรอบอื่น คือตอนไปค่ายแพทย์อาสาที่หิมาลัย ตอนนั้น มันเกิดจากความจำเจในชีวิตและงาน เราเลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรเพื่อคนอื่น ก็เลยเลือกที่ไป
The MATTER: คุณหมอคิดว่า ทำไมเราถึงต้องออกการเดินทาง?
ผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ที่เดิม เราจะเห็นแต่สิ่งเดิมๆ แล้วมันจะไม่มีต้นทุนในการนำมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ชีวิต การออกเดินทางทำให้เราเห็นว่าที่อื่นไม่เหมือนเราอย่างไร และเราสามารถเอาส่วนที่ดีของเขามาใช้กับเรา หรือถ้าบางอย่างที่มันไม่ดี ก็จะได้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เราได้ และมันฝึกเราหลายๆ อย่างนะครับ เช่น เรื่องการแก้ปัญหา เวลาออกไป เราจะดีลกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งถ้าเราเจอแต่กิจวัตรเดิมๆ ที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราก็จะไม่ได้ฝึกเผชิญกับปัญหา ผมเห็นด้วยนะครับว่า การเดินทางทำให้เราเปลี่ยนไป ทำให้เราโตขึ้น
“เราอยากออกไปจากโลกปัจจุบันที่เราอยู่บ้าง ไปสู่โลกที่เราไม่ต้องเป็นหมอ เราเป็นแค่ตัวเอง เป็นแค่นักท่องเที่ยว”
หมอเสียง—นายแพทย์ วันฉัตร ชินสุวาเทย์
คุณหมอเจ้าของรางวัลดีเด่น หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น ประเภทสารคดี พ.ศ. 2557 ของ สพฐ. จากหนังสือ ‘NICE TO SEE YOU ราชาสถาน’ บันทึกการเดินทางท่องเที่ยว 8 เมืองในรัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย และเจ้าของผลงาน ‘LOST AND FOUND IN ICELAND ไอซ์แลนด์ ดินแดนแห่งแสงเหนือ’ ที่จะพาผู้อ่านผจญภัยผ่านภูเขาน้ำแข็งเพื่อพิชิตแสงเหนือในช่วงที่สวยงามที่สุดในรอบ 12 ปี กับอีกหนึ่งผลงานล่าสุด ‘THE SOUND OF NEW ZEALAND’
หมอเสียงบอกว่า ความกังวลหนึ่งเดียวของเขาเวลาออกเดินทางแต่ละครั้งนั่นคือเรื่องเอกสารต่างๆ อย่างพาสปอร์ต “เพราะพวกเอกสาร ถ้าไม่พร้อมมันจะค่อนข้างเป็นปัญหา ซึ่งเราจะเตรียมตัวด้วยการแบ่งเอกสารเป็นสองชุด และจะมีเชกลิสต์เอาไว้” แต่ก็ใช่ว่าอุปกรณ์อื่นๆ จะไม่จำเป็นในการเดินทางเสียเมื่อไหร่ โดยเฉพาะในเมื่อหมอเสียงเป็นนักบันทึกตัวยง
MustHave Items : 1.กล้องถ่ายรูป 2.สมุดสเก็ตซ์ภาพ และปากกา 3.ยารักษาโรค 4.Survival Set 5.โทรศัพท์มือถือ 6.พระเครื่อง
The MATTER : ทำไมถึงต้องเป็นสิ่งของเหล่านี้?
ที่สำคัญก็จะมีกล้องถ่ายรูป เพราะเวลาเราออกเดินทางแต่ละครั้ง เราต้องถ่ายรูปเก็บข้อมูล และก็จะมีสมุดสเก็ตช์ที่เราใช้ทั้งบันทึกเรื่องราวและวาดรูปด้วย เวลาไปเที่ยว ผมจะสเก็ตช์ภาพเกี่ยวกับสถานที่ หรือเกี่ยวกับผู้คนที่ไปพบเจอมา และด้วยความเป็นหมอ ก็จะมียารักษาโรค ที่เราอาจเตรียมไปมากกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาหน่อย เรียกว่าเตรียมไปพร้อมรับมือกับทุกโรคที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในการเดินทาง เช่น เมารถ เมาเรือ ปวดหัว ท้องเสีย เป็นหวัด ปวดกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ผ้าพันแผล ยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากเวลาเราเดินทาง หลายๆ ที่ที่เราไป มันไม่ค่อยจะใกล้เมืองสักเท่าไหร่ ยาจะหายาก หรือยาบางตัว เวลาเข้าไปตามร้านขายยา เราก็ไม่รู้จัก เราเลยเอาตัวที่เราคุ้นเคยดีกว่า อีกอย่างคือพวก Survival Set เช่น มีด กรรไกร เข็มเย็บผ้า ด้าย เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ที่เหลือจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้เล่นไลน์ติดต่อคนที่บ้าน หรือใช้ตั้งปลุก อีกอย่างที่สำคัญเหมือนกันคือ พระเครื่อง เอาไว้เป็นความปลอดภัยทางใจของเรา เวลาเดินทางไกลก็อยากอบอุ่นใจไว้ก่อนจริงไหม (หัวเราะ)
The MATTER : ด้วยความเป็นหมอ มุมมองเวลาไปท่องเที่ยวแต่ละครั้งแตกต่างจากนักเดินทางคนอื่นไหม?
จริงๆ พอผมไปเที่ยวปุ๊บผมก็เลิกเป็นหมอเลยครับ (หัวเราะ) คือเมื่อก่อนผมไปเที่ยวผมจะต้องไปเดินดูโรงพยาบาล อยากจะรู้ว่าโรงพยาบาลเขาเป็นอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้หลักๆ คือเราต้องการพักผ่อนจากการทำงาน การเป็นหมออาจจะช่วยแค่เรื่องการเตรียมตัวมากกว่า ดังนั้นเวลาเลือกไป เราจะไปเมืองเก่าๆ ที่มีประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน ที่มีความเป็นมาเป็นไป ทำให้เรารู้ถึงวิวัฒนการของเมือง ของศิลปะที่มันเปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าไปเที่ยวแนวธรรมชาติ เราก็จะได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เช่น น้ำแข็ง หิมะ ภูเขาน่าตาประหลาดๆ ซึ่งมันจะทำให้เราสนุกมากขึ้นเวลาสเก็ตช์รูป
The MATTER : ทำไมเราถึงต้องออกการเดินทาง?
เราอยากออกไปจากโลกปัจจุบันที่เราอยู่บ้าง ไปสู่โลกที่เราไม่ต้องเป็นหมอ เราเป็นแค่ตัวเอง เป็นแค่นักท่องเที่ยว มันทำให้เรามองเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้เห็นคนที่เขาแตกต่างจากเราในเรื่องวิถีชีวิต ในการดำเนินชีวิต ผมคิดว่ามันเป็นเสน่ห์ อย่างตอนผมไปเบลเยี่ยม ตอนนั้นเที่ยงคืนแล้ว เราต้องหาโรงแรมนอน แต่มันไม่มีโรงแรมให้นอน เราก็ต้องกางหนังสือพิมพ์นอนอยู่ริมถนน หรืออย่างเวลาไปเห็นสถาปัตยกรรมบางแห่งที่เราเห็นจากการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ มันก็เป็นการเติมเต็มเหมือนกัน นอกจากนั้นผมคิดว่า เวลาหลายๆ คนไปเที่ยว เขาคงอยากแชร์ความประทับใจอะไรเหล่านี้ให้แก่คนอื่นด้วย อย่างผม เมื่อก่อนอาจจะเที่ยวแบบฉาบฉวย แต่เดี๋ยวนี้จะสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น แล้วมันทำให้เรามองอะไรลึกขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วย การมองอะไรต่างๆ ก็หลากหลายมากขึ้น