ในภาพยนตร์ที่วนเวียนอยู่กับศาสนาพุทธ เรามักเห็นตัวละครพระทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในบริบทต่างๆ ทั้งในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างคนด้วยกันเอง เมื่อมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งของผู้คนบริเวณใกล้วัด และฐานะผู้ปัดเป่าความบาดหมางหรือความคับแค้นระหว่างคนกับผี
พระในสังคมไทยนอกจากจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อีกบทบาทหนึ่งของพระยังผูกโยงอยู่กับการเป็นผู้รักษาความปรองดองของชุมชน พระคือบุคคลที่คนในชุมชนหวังว่าจะมั่นคงในศีลธรรมและความยุติธรรมยามที่ญาติโยมขาดไร้ที่พึ่ง รวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวหากมีเหตุให้ต้องพบเจอกับเรื่องเหนือธรรมชาติขึ้นมาจริงๆ
‘เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊’ (2025) ไม่ได้พูดถึงพระที่เป็นตัวคน และพระในฐานะผู้ประสานรอยร้าวระหว่างคนกับคน คนกับผี หรืออะไรทำนองนั้น ตัวเรื่องว่าด้วย ‘เอก’ (เจ้านาย—จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) ชายหนุ่มไร้งานที่ต้องหาเงินไปรักษาพ่อซึ่งป่วยหนัก ทางเดียวที่เหลือของเขาคือค้นกล่องฝุ่นเขลอะของพ่อเพื่อเอาพระเครื่องมาขาย (หรือถ้าให้ใช้ศัพท์ในวงการก็คือเอามาประเมินราคา และปล่อยเช่าบูชา)
โดยคนแรกที่เอกไปหาคือ ‘เซ้ง พาราไดซ์’ (จ๋าย—อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) เซียนพระเบอร์หนึ่งบนโลกออนไลน์ แต่ยังไม่ทันจะตกลงราคาอะไร ‘เซียนหมวย’ (อ๊ะอาย—กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ) ก็ชิงตัดหน้าแนะนำให้เอกส่งพระเข้าประกวด ผลปรากฏว่า พระที่เขามีคือ ‘พระสมเด็จวัดระฆัง’ ในตำนานที่หายไปจากวงการกว่า 30 ปี หลายคนหมายจะครอบครองพระเครื่ององค์นี้ โดยเฉพาะ ‘พ่อสุนทร’ (ตู่—นพพล โกมารชุน) ผู้เป็นดั่งเจ้าพ่อแห่งวงการพระเครื่อง เรื่องราวหลังจากนั้นจึงคือการแย่งชิงพระสมเด็จกันแบบเอาเป็นเอาตาย
*เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง ‘เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊’*
ชัดเจนว่า เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊ กำลังฉายภาพส่วนหนึ่งของวงการพระเครื่องไทยในโลกความเป็นจริงที่กำลังเติบโตในยุคออนไลน์ เซียนพระมากหน้าหลายตาผุดขึ้นตามโซเชียลมีเดีย คลิปวิดีโอส่องพระมีให้เห็นกันทั่วไป ยิ่งคลิปไหนหรือเซียนคนไหนประเมินพระด้วยราคาหลักหมื่นหลักล้าน ก็จะตามมาด้วยยอดคนดูหนาแน่น
มันคือโลกที่ความศรัทธา พระ และเม็ดเงินอยู่ร่วมกันได้ และพระเครื่องก็เดินทางมาไกล จากแรกเริ่มที่เป็นเพียงกุศโลบายหนึ่งเพื่อชักนำคนเข้าสู่ธรรมะ เผยแพร่พระพุทธศาสนา สู่การเป็นเครื่องรางของขลังจำนวนจำกัดและหายาก จนคนต้องแสวงหาเป็นของสะสม และมีมูลค่าทั้งทางจิตใจและตัวเงินสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ความกล้าอย่างหนึ่งของทีมผู้สร้าง เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊ ซึ่งในที่นี้คือ เป้—อารักษ์ อมรศุภศิริ และ วุฒิพงษ์ สุขะนินทร์ คือการวางพระ(เครื่อง)เป็นจุดศูนย์กลางความขัดแย้งของตัวละครในเรื่อง พระสมเด็จกลายเป็นปมปัญหาที่ดึงทุกตัวละครมาพัวพันกัน เอกต้องการขายเพื่อนำเงินไปรักษาพ่อ เซ้งอยากได้พระไปขายต่อทำกำไร เซียนหมวยหวังจะโด่งดังเป็นเซียนปล่อยพระในตำนาน
หากพระเครื่องคือตัวแทนของพระ พระสมเด็จในเรื่องก็ไม่ใช่พระในฐานะผู้คอยสมานรอยร้าวระหว่างผู้คน แต่คือวัตถุที่ก่อให้ความแตกแยกเสียมากกว่า และหากมองถอยมาอีกหน่อย ตรงนี้หนังก็อาจจะสื่อว่า พระที่เป็นตัวคนในปัจจุบันก็กำลังทำให้บทบาทของพระเองเสื่อมคุณค่าลง ดังที่เรามักจะเห็นข่าวพระทำผิดวินัยสงฆ์อยู่เป็นระยะ
แม้จะปมหลักของเรื่องจะตีแสกหน้าการแสวงหาประโยชน์ในวงการพระเครื่องไทย ทว่าหนังก็ดูจะไม่ตั้งคำถามตรงไปตรงมากับพุทธพาณิชย์ในศาสนาพุทธ ทั้งยังสร้างภาวะกึ่งจริงกึ่งแต่งด้วยการนำประวัติศาสตร์ ชื่อเรียกเฉพาะกลุ่ม หรือเซียนพระตัวจริงแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในเรื่องคนดูแทบจะไม่เห็นพระตัวเป็นๆ เลย จะมีก็แค่ภาพในฝันของเอกในตอนหนึ่งเท่านั้น และไม่มีกิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ เข้าวัด แม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่เป็นตัวแทนของศาสนาพุทธมีเพียงพระเครื่อง ซึ่งตัวเรื่องไม่ให้เห็นความเชื่อมโยงใดๆ กับศาสนา พระเครื่องจึงเป็นหิน (stone) วิเศษที่คนแก่งแย่งกันเพราะเชื่อในอิทธิฤทธิ์และมูลค่า
หนังเน้นย้ำอีกว่าสิ่งที่สร้างพุทธคุณให้กับหินหนึ่งก้อนนั้น ไม่ใช่หลักธรรมคำสอนของศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์องค์ใด หากแต่เป็น ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ถึงอภินิหารที่บอกต่อๆ กันมา การตีมูลค่าพระสมเด็จวัดระฆังไว้สูงหลักร้อยล้านก็เนื่องมาจากพระองค์นี้คือหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคี 5 องค์ ที่คนมีชื่อเสียงเคยสวมไว้ก่อนถูกยิงไปหลายนัดกว่าจะตาย เมื่อไม่มีเรื่องเล่าที่แสดงถึงพลังอำนาจ และคนในวงการไม่สนใจ (ไม่เล่น) พระเครื่องไม่ว่าจะปลุกเสกมาเลิศเลอแค่ไหนก็ไร้มูลค่า
ในแง่ตัวละคร ‘วิคเตอร์’ (ฮิวโก้—จุลจักร จักรพงษ์) เป็นตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจ เขาคือคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขโมยพระสมเด็จเช่นกัน วิคเตอร์เองก็อยากจะได้มาครอบครอง แต่เหตุผลที่วิคเตอร์ต้องการพระไม่ใช่เพราะเงินหรือชื่อเสียง วิคเตอร์ต้องการพระด้วยเชื่อว่ามันคือกรรมสิทธิ์ที่เข้าควรจะได้ พระสมเด็จคือพระที่มีคนฆ่าพ่อของเขาและชิงเอาไป ในขณะที่ตัวละครอื่นสาละวนอยู่กับการแย่งชิงพระด้วยความโลภ วิคเตอร์มีความแค้นเป็นตัวผลักดันเพื่อเอาพระคืน
ในวงการพระเครื่องที่เราต่างรู้ว่าผู้ชายมีสิทธิควบคุม การส่งต่อความรู้จำกัดอยู่แค่คนเฉพาะกลุ่ม อีกตัวละครที่น่าพูดถึงคือเซียนหมวย ตัวละครที่สะท้อนการเป็นเซียนพระหญิงในแวดวงที่รายล้อมไปด้วยผู้ชาย เห็นได้ตั้งแต่การที่เธอต้องรอให้เซียนเซ้ง พาราไดซ์ ลงจากไลฟ์ก่อน เธอถึงจะขึ้นไลฟ์ได้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุแย่งยอดผู้ชมด้วยกันเอง
หรือการที่เหล่าผู้ชายในวงการต่างหยอกล้อเซียนหมวยตามประสาชายหยอกหญิง สนใจแต่ความสวยและน่ารัก โดยไม่มีท่าทีจริงจังกับความรู้เรื่องพระเครื่องของเซียนหมวยสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเทียบกับความเป็นจริง เซียนหมวยก็เรียกว่ามีภาษีดีกว่าใคร อภิสิทธิ์หนึ่งที่เธอมีคือการเป็นลูกของพ่อสุนทร คนที่ใครๆ ต่างเคารพ เธอได้ความรู้เรื่องพระจากพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ นั่นทำให้เซียนหมวยพอจะมีที่ยืนหยัดในวงการนี้ได้บ้าง ถึงอย่างนั้นในใจเธอก็เชื่อว่าพ่ออยากมีคนสืบทอดความรู้และธุรกิจเช่าพระเป็นผู้ชายเสียมากกว่า
เมื่อพระเครื่องหนึ่งองค์สร้างความบาดหมางไม่สิ้นสุด ในที่สุดหนังก็พามาถึงองก์สุดท้าย ด้วยการจับเอาทุกตัวละครมาประจันหน้ากัน พร้อมเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังและความรู้สึกฝังใจ เพื่อปูไปสู่ความรุนแรงและเหตุนองเลือด ที่หากจะว่ากันตามจริง หนังก็ดูจะยังไม่ชัดเจนในตัวเองนัก เมื่อคนที่รอดจากการยิงกันตายเกลื่อนคือคนที่โชคดีมีพระใกล้ตัวที่สุด หรืออาจจะแค่โชคดีอยู่ในจุดที่กระสุนไม่สาดใส่ และเหตุการณ์นี้ก็อาจจะกลายเป็นอีกอภินิหารหนึ่งในเรื่องเล่าของพระสมเด็จวัดระฆัง
ประเด็นเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่ภาพยนตร์ไทยมักหาทางไปแตะต้องอยู่เสมอ เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊ หนังเดบิวต์เรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ เป้—อารักษ์ อมรศุภศิริ ร่วมกับ วุฒิพงษ์ สุขะนินทร์ ก็นับว่านำเสนอแง่มุมอันซับซ้อนของพระเครื่องในการเป็นตัวแทนของวัตถุบูชาประจำศาสนาพุทธ ส่วนที่น่าชื่นชมของหนังคงต้องยกให้การเลือกใช้เพลงของ S.O.L.E. ทั้งเพลง ‘Like a Magic’ และ ‘TROUBLE’S’ ที่เสริมบรรยากาศและสารของเรื่องได้เป็นเนื้อเดียว
ส่วนพระเครื่องจะเป็นเนื้อเดียวกับศาสนาพุทธหรือไม่นั้น คงยากที่จะตอบ