ช่วงฮาโลวีนแบบนี้ ถ้าไม่นับเอาการตกแต่งร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว หรือการแต่งตัวแล้วล่ะก็ สิ่งหนึ่งที่ต้องพ่วงทำการตลาดไว้กับช่วงฮาโลวีนก็คือ ‘หนัง’ ที่มักจะมีเรื่องสยองขวัญเข้าฉายในเดือนตุลาคมนั่นเอง
อย่างในเดือนตุลาคมนี้ก็เห็นหนังที่อยู่ในขอบเขตของแนวสยองขวัญอยู่ 3-4 เรื่อง และในจำนวนนั้นมีบางเรื่องเป็นหนังซอมบี้ ที่น่าสนใจก็คือ แม้จะมีศพคึนชีพมาไล่งับคนเป็น แต่หนังซอมบี้ที่กำลังจะเข้าฉายเลือกที่จะย้อนเวลาไปเล่าประวัติศาสตร์สมมติที่ตีความว่ามีซอมบี้มารุกราน
ด้วยโอกาสก่อนวันปล่อยผีฝรั่งจะมาถึง The MATTER จะมาคุยถึงหนังซอมบี้ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เล่าเรื่องผีดิบคืนชีพแบบปกติ แต่เป็นซอมบี้ที่อยู่ในยุคสมัยแปลกๆ หรืออาจจะเลือกใช้ตัวละครแปลกๆ มารับบทผีดิบ จากทั้งหมด 8 เรื่อง เราจะได้เห็นซอมบี้ไม่ได้มีแบบเดียว มันอยู่ได้ทุกที่ ทุกยุคสมัย และสายพันธุ์… ระวังให้ดี เพราะซอมบี้มีความหลากหลายมากนะจ๊ะ
Rampant – ซอมบี้ยุคโชซอน
ช่วงหลังๆ เกาหลีใต้ก็ผลิตหนังสัตว์ประหลาดออกมาให้ดูกันหลายเรื่อง อย่างเช่น The Host หรือ Train to Busan ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับฮอลลีวูดยังต้องขอซื้อสิทธิ์ไปรีเมคต่อ และเหมือนกระแสนี้ยังไม่จางลงไปนัก เพราะหนังเรื่อง Rampant ที่มีกำหนดเข้าฉายในหลายประเทศในช่วงเทศกาลฮาโลวีนของปี 2018 ก็จับเอาซอมบี้มาเล่าเรื่องอีกครั้ง แต่แทนที่จะจับให้ไปอยู่บนรถไฟ คราวนี้พวกเขาผูกเรื่องราวของซอมบี้ให้อยู่ในยุคโชซอนแทน
Rampant เล่าเรื่องของ อีซอง โอรสของกษัตริย์และนักสู้ที่เก่งกาจที่สุด ซึ่งได้ถูกราชวงศ์ชิงกักตัวไว้ในฐานะตัวประกันอยู่หลายปี เขาได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ แต่จังหวะที่เขากลับมานี้ก็เป็นช่วงที่ ‘อสูรกาย’ ออกอาละวาดในพื้นที่ใกล้กับราชวังโชซอน ในขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์การเมืองภายในโชซอนที่มีคนอยากสลับเปลี่ยนขั้วอำนาจของกษัตริย์ อีชองจึงต้องต่อสู้ปกป้องชีวิตจากฝูงผีดิบที่เก่งและดุดัน และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องต่อสู้กับขุนนางภายในเพื่อรักษาเสถียรภาพของราชวงศ์เอาไว้ด้วย
เราอาจจะเห็นหนังจอมยุทธ์ปราบผีดิบ(ที่ไม่ใช่ซอมบี้)มาบ้างแล้ว แต่หนังเกาหลีเรื่องนี้พยายามไปไกลกว่านั้นอีกเล็กน้อยด้วยการผสมเรื่องราวการเมืองเข้าไปด้วย แม้ว่าจะมีคอมเมนต์ของฝั่งนักวิจารณ์ว่าเนื้อเรื่องแกนหลักอ่อนไปสักหน่อย กับตัวละครบางตัวดูบางเบาเกินไป แต่การเห็นยอดยุทธ์โดดหลบไปมาแล้วฟาดดาบใส่ซอมบี้นั้นเป็นส่วนที่หลายคนบอกว่าสะใจไม่หยอก
Pride and Prejudice and Zombies – ซอมบี้ยุควิกตอเรีย
วนเวียนอยู่กับซอมบี้ย้อนยุคอีกหนึ่งเรื่อง แต่คราวนี้เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยาย Pride and Prejudice and Zombies ซึ่งตัวนิยายก็เป็นการยำเอานิยาย Pride and Prejudice หรือ สาวทรงเสน่ห์มาผสมกับแนวคิดว่าถ้าโลกดังกล่าวมีซอมบี้จะเป็นอย่างไร ผลที่ได้ก็คือนิยายรักที่เล่าเรื่องของ อิลิซาเบท หญิงสาวที่ครอบครัวของเธอฝึกฝนศาสตร์ศิลปะการต่อสู้ตะวันตกเพื่อรับมือกับฝูงผีดิบซึ่งมีสาเหตุมาจากกาฬโรค กระนั้นชาวอังกฤษในยุควิกตอเรียตามท้องเรื่องเชื่อว่าการที่ผู้หญิงควงดาบจับปืนต่อสู้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมเป็นกุลสตรี อิลิซาเบทจึงต้องต่อสู้กับกรอบเกณฑ์ของสังคมเพื่อเอาชนะทั้งผีดิบและเรื่องความรักที่เข้ามารบกวนหัวใจ
ตัวภาพยนตร์เดิมทีจะได้ นาตาลี พอร์ตแมน มารับบทนำและควบคุมการสร้าง แต่ถูกปรับเปลี่ยนไปจนสุดท้ายหนังเปลี่ยนทิศจากเดิมไปพอสมควร ตัวเรื่องถูกถ่ายทอดแบบต่างจากนิยายไปเล็กน้อยเพราะทิศทางการนำเสนอกลายเป็นหนังแอ็กชั่นมากกว่าการผสมเรื่องของการต่อสู้กับซอมบี้ลงไปกับความจริงจังของนิยายต้นฉบับ รวมถึงฉากช่วงท้ายๆ ที่ดัดแปลงให้เหมาะกับการเป็นภาพยนตร์แต่ทำให้หนังออกมาไม่เวิร์กเท่าไหร่นัก กระนั้นฉากที่สาวๆ ใส่เดรสกรุยกรายควงอาวุธฟาดหัวซอมบี้ก็เป็นฉากที่ทำให้หลายคนจดจำหนังเรื่องนี้ได้ แม้ว่าหนังจะเจ๊งในด้านรายได้ก็ตามที
ผีห่าอโยธยา – ซอมบี้ยุคออเจ้า
ถึงหนังบ้านเราจะโดนมองว่าเน้นการทำหนังตลก หรือ ‘ผี’ อยู่บ่อยครั้ง แต่คนทำหนังหลายคนในไทยก็ตามเทรนด์หนังซอมบี้อยู่บ้าง เช่นกัน ที่คนดูชาวไทยจดจำได้เยอะๆ ก็คงจะเป็นเรื่อง ขุนกระบี่ผีระบาด กับตอน Backpacker ของภาพยนตร์เรื่อง ห้าแพร่ง แต่ถ้าหนังซอมบี้ไทยๆ ที่เดินทางไปไกลทั้งในด้านแนวเรื่องกับเอฟเฟกต์ก็ต้องขอยกให้หนังเรื่อง ผีห่าอโยธยา
ผีห่าอโยธยา เดินเรื่องตามชื่อของหนังทุกประการ หนังเล่าเรื่องหมู่บ้านแห่งหนึ่งในสมัยอโยธยากำลังต่อสู้กับทัพหงสา แต่หมู่บ้านนี้ถูกโรคห่าบุกเข้าจู่โจม ซึ่งถ้าเป็นภาวะทั่วไปแล้วหมู่บ้านเล็กๆ นี้คงไม่ได้ถูกจดจำมากนัก จนกระทั่งหลายเพลาผ่านพ้นไป ชาวบ้านจึงได้รับทราบว่าไข้ห่าครานี้มิได้เป็นไข้ห่าประหลาดที่ทำให้ศพของคนกลายเป็น ผีห่า (หรือซอมบี้นั่นละ) ที่ทรงกำลังและหมายกัดกินคนเป็น แล้วก็เหมือนกับศพคืนชีพเรื่องอื่นๆ วิธีเดียวที่จะทำให้พวกมันหยุดอาละวาดคือการฟาดฟันผีห่าให้ตายอีกครั้งหนึ่ง
หนังซอมบี้เรื่องนี้เป็นงานกำกับของ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ซึ่งเอาไอเดียมาจากประวัติศาสตร์จริงที่มีโรคห่าในกรุงอยุธยา มาตีผสมกับความเป็นหนังซอมบี้ ซึ่งการผสมผสานนั้นก็ไม่แย่เสียทีเดียว แต่ก็มีกระแสมีดราม่าเบาๆ ว่าลอกหนังนักศึกษามาหรือไม่ กับเนื้อเรื่องของหนังที่เดินทิศไม่ถูกจริตผู้ชมเท่าใดนัก ไปจนถึงในช่วงนั้นหนังที่ใช้ฉากหลังเป็นอยุธยาก็มีมากไป ตัวหนังจึงดูกร่อยๆ ไปพอสมควร ส่วนหนึ่งที่หนังได้รับความชื่นชมก็คือด้านเอฟเฟกต์ของซอมบี้ที่เหมือนฝรั่งมาทำให้
Miruthan – ซอมบี้แดนอินเดีย
เมื่อสารเคมีร้ายได้ไหลรินบนท้องถนน ก่อนจะมีสุนัขมาลองกินเข้าไปแล้วกลายเป็นซอมบี้หมาไล่กัดผู้คนจนทำให้ซอมบี้ระบาดในเขตตัวเมือง ตำรวจจราจรคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองดังกล่าวจึงต้องฝ่าดงผีดิบ และคอยปกป้องครอบครัวกับคนที่เขาหลงรักด้วยทักษะการใช้อาวุธที่มีติดตัว โดยหวังว่าเขาจะสามารถเดินทางไปพื้นที่ปลอดภัยและคาดให้หมอผลิตยารักษาได้ทันเวลา
ถึงซอมบี้นี้จะไม่แหวกแนวไปมากนัก เพราะยุคสมัยก็เป็นยุค 2010s ตัวซอมบี้ก็ไม่ได้พิสดารไปกว่าซอมบี้ทั่วไปที่ผีดิบกลายเป็นนักวิ่งที่เกรี้ยวกราดและกระหายเลือด กระนั้นด้วยฉากหลังของเรื่องที่ถูกเซ็ตให้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของอินเดียทำให้บรรยากาศของหนัง รวมไปถึงวิธีการนำเสนอดูแตกต่างจากหนังซอมบี้ชาติอื่นๆ ไม่ใช่ว่าจะมีการวิ่งข้ามเขาหนีการไล่ล่าของซอมบี้หรอกนะ ไม่ได้ขนาดนั้น แค่ยังมีสไตล์บางอย่างที่ได้กลิ่นของหนังอินเดียอย่างเต็มเปี่ยม อาทิ การให้ตัวละครหญิงเด่นๆ มาเต้นพร้อมสะบัดผ้าเล็กน้อย ในขณะที่ตัวพระเอกก็กระทำการต่อสู้กับซอมบี้แบบฝ่าทุกกฎฟิสิกส์ ขับรถชนกำแพง ฟาดหัวซอมบี้ตัวปลิว เหวี่ยงซอมบี้กระเด็นตัวลอย มีซอมบี้เกาะรถสิบล้อ ในสไตล์แบบที่ชาติอื่นน่าจะทำออกมาไม่เร้าใจเท่า
หนังถูกนักวิจารณ์ออกความเห็นว่ามันออกจะมีความเป็นเกมมากไปหน่อย แต่ก็มีคอมเมนต์จากนักแสดงและผู้สร้างหนังว่าจะมีการทำภาคต่อออกมา ก็พอบอกได้ว่าซอมบี้เรื่องนี้น่าจะโดนใจคนกลุ่มหนึ่งในอินเดียไม่น้อย
Slither – หนอนซอมบี้จากต่างดาว
ตัวหนังสมมติว่าวันหนึ่งมีปรสิตต่างดาวได้ตกลงมาบนโลกแล้วเข้าฟักตัวกับชายหนุ่มผู้โชคร้าย และกลายเป็นโฮสต์ของปรสิตต่างดาวตัวนี้ ต่อมาเขาได้แพร่พันธุ์ปรสิตผ่านหญิงสาวจนเธอสามารถคลอดปลิงปรสิตที่เข้าโจมตีผู้คน และในช่วงนี้เองที่หนังเปลี่ยนสภาพจากหนังสัตว์ประหลาดต่างดาวมาเป็นหนังซอมบี้ต่างดาว เพราะเจ้าหนอนพวกนี้สามารถชอนไชเข้าไปสิงร่างคนอื่นๆ และต่อให้คนๆ นั้นโดนยิงจนหัวระเบิด พวกเขาก็ยังคงเป็นซอมบี้ของปรสิตต่างดาวอยู่ดี เมื่อคนทั้งเมืองกลายเป็นซอมบี้ไปแล้ว ผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกปรสิตสิงร่างจึงพยายามหาทางกำจัดโฮสต์ที่อยู่ในเมืองนี้ก่อนที่เรื่องจะสายเกินแก้ไข
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับเต็มตัวเรื่องแรกของ เจมส์ กันน์ (James Gunn) ก่อนที่จะมาเป็นที่รู้จักกันในการสร้างหนัง Guardians of the Galaxy ซึ่งกันน์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อต้องการที่จะเชิดชูหนังแนวสยองขวัญในยุคที่ตัวเขาเคยดูตอนเติบโตมา หนังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการด้านรายได้ อาจจะเป็นผลพวงมาจากพล็อตที่ผสมแนวคิดหลายอย่างเข้าไปพร้อมกันซึ่งในตอนนั้นผู้กำกับยังผสมได้ไม่กลมกล่อมเท่างานเรื่องหลังๆ แต่แฟนหนังสยองขวัญและหนังซอมบี้ก็ชื่นชอบไอเดียของหนังกับฉากสัตว์ประหลาดในเรื่องที่ดูชวนขนลุกขนพองแบบจริงจัง
Dead Snow – ซอมบี้นาซีในทุ่งหิมะ
ช่วงหลังหลายคนอาจจะจดจำฟินแลนด์ได้ในฐานะประเทศที่มีระบบการศึกษาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่ถ้าย้อนไปในอดีต ก่อนที่ฟินแลนด์จะโฟกัสกับการปฏิรูประบบต่างๆ ในประเทศ ฟินแลนด์ก็ต้องรับมือกับการรุกรานจากประเทศรอบข้างหลายครั้ง และทำให้ผู้สร้างหนังในประเทศมีความบรรเจิดในการหยิบยกเอาเรื่องราวจริงปนกับข่าวลือต่างๆ มายำกันไว้เป็นหนังซอมบี้เรื่อง Dead Snow
Dead Snow เล่าเรื่องสมัยสงครามโลกว่าด้วยทหารของนาซีกองพลหนึ่งที่บังคับบัญชาโดย Standartenführer Herzog ได้ทำการโจมตีพื้นที่ใกล้ๆ เมือง Øksfjord ของฟินแลนด์ และครองอำนาจในพื้นที่แถบนั้น จนกระทั่งในช่วงที่กองทัพนาซีโดนปราบปรามอย่างหนัก Herzog ได้ตัดสินใจปล้นสะดมเอาทรัพย์สินของชาวบ้านมาเป็นของตนแต่กลับถูกชาวบ้านที่แค้นเคืองดักทำร้าย สุดท้ายมีทหารส่วนหนึ่งรอดตายไป ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่าสุดท้ายทหารเหล่านั้นก็ต้องเสียชีวิตในทุ่งหิมะกว้างใหญ่ โดยคาดไม่ถึงว่าทหารที่รอดนั้นจะถูกความเย็นเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นซอมบี้ แล้วเวลาก็เดินผ่านมาถึงช่วงปี 2009 เมื่อกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งกับนักเดินเขาได้บังเอิญมาเจอสมบัติที่กองทหารนาซีขโมยมา เหล่าผีดิบที่ซุกอยู่ใต้หิมะสีขาวโพลนจึงลุกขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อมาทวงสมบัติเหล่านั้นคืน
ถึงตัวหนังจะอธิบายไม่เคลียร์ว่าทหารนาซีแปลงร่างเป็นซอมบี้ได้อย่างไร แต่การเห็นผีดิบในชุดทหารวิ่งฝ่าหิมะเข้ามาทำร้ายผู้คนก็ดูน่าหวาดผวา เลยทำให้มีการการสร้างภาคต่อที่ขยายความขึ้นอีกนิดว่า ซอมบี้ทหารนาซีกลุ่มนี้เป็นทหารที่ต้องคำสาปเลยกลายเป็นซอมบี้ และตัวเอกในภาคแรกที่รอดตายก็ได้แขนของซอมบี้ Herzog ที่หมอฟินแลนด์ผ่าตัดต่อแขนให้ใหม่ (หมอเก่งนะ) ก่อนที่หนังจะพลิกว่า กองกำลังซอมบี้ทหารนาซีพยายามยึดครองพื้นที่ฟินแลนด์อีกครั้งตามคำสั่งที่พวกเขาได้รับมาก่อนกลายเป็นผีดิบ พระเอกที่ได้แขนซอมบี้มาแล้วจึงใช้พลังพิเศษปลุกซอมบี้ทหารรัสเซียมาสู้กับกองทัพซอมบี้ทหารนาซีอีกทีหนึ่ง
จากประวัติศาสตร์ที่เคยสู้รบกับกองทัพนาซีเยอรมันกับกองทัพโซเวียต กลายมาเป็นหนังแบบนี้ได้ ถือว่าบรรเจิดเหนือความคาดหมายของคนอื่นๆ ไปไกลจริงๆ
Black Sheep – ซอมบี้แกะ ณ นิวซีแลนด์
ประเทศเกาะขนาดเล็กที่อยู่เลยออสเตรเลียไปนิดหน่อย และมีเแกะอยู่จำนวนมากบนเกาะ เป็นภาพจำที่ผู้คนทั่วโลกจะนึกถึงเมื่อพูดถึงนิวซีแลนด์ ซึ่งนักทำหนังชาวนิวซีแลนด์เองก็น่าจะรับรู้เรื่องนี้ดี เลยเอาไฮไลต์ของประเทศมาตีความให้เป็นหนังซอมบี้เอาซะเลย
หนังเล่าเรื่องดราม่าสะเทือนใจ เมื่อตัวเอกถูกพี่ชายกลั่นแกล้งให้กลัวแกะที่เลี้ยงไว้ แล้วพ่อดันเสียชีวิตในช่วงนั้น พระเอกเราจึงกลายเป็นโรคกลัวแกะ เขาไปอาศัยในเมืองใหญ่อยู่นานนม จนกระทั่งต้องกลับมาบ้านเกิดเพื่อจัดการส่วนแบ่งในการขายฟาร์มทิ้ง แต่เขาไม่ทราบเลยว่าพี่ชายของตัวเองได้ทำการทดลองกับแกะในไร่จนพวกมันกลายเป็นแกะซอมบี้กระหายเลือด แถมยังไม่ได้เป็นแกะโหดแบบธรมดา คนที่โดนแกะซอมบี้ฝูงใหญ่นี้กัดไป ยังมีโอกาสจะติดเชื้อกลายเป็นพวกเดียวกับมันได้ด้วย แต่ไม่ใช่ว่าคนจะกลายเป็นซอมบี้เท่านั้น คนที่โดนกัดแล้วติดเชื้อมีโอกาสกลายร่างเป็น ‘มนุษย์แกะ’ ที่พร้อมจะถล่มทุกสรรพสิ่งที่ขวางหน้า แล้วใครกันที่จะหยุดภัยพิบัติในประเทศที่แกะเยอะกว่าคนได้
ถึงหนังจะเป็นหนังตลก แต่การทำเอฟเฟกต์เรื่องนี้นั้นจริงจังเพราะทีมของ Weta Workshop เจ้าเดียวกับที่ดูแลเอฟเฟกต์ให้หนังอย่าง The Lord of the Rings หรือ The Host มาดูแลให้ และไอเดียการดัดแปลงของดีในท้องถิ่นมาทำเป็นซอมบี้ก็เป็นอะไรที่ทำให้มุกของหนังเรื่องนี้ยากจะหาประเทศอื่นทำตามจริงๆ
Zombeavers – ซอมบี้บีเวอร์ ณ อเมริกา
ขอทิ้งท้ายหนังซอมบี้แปลกๆ ที่มีความผิดที่ผิดเวลาอีกหนึ่งเรื่อง แต่นัยบางอย่างในเรื่องก็ดูดีไม่น้อยกับเรื่อง Zombeavers จากฝั่งอเมริกา หนังซอมบี้ปนตลก (แต่ยังโหดอยู่) ที่จริงๆ พล็อตก็ไม่ได้วุ่นวายอะไรมาก เริ่มมาหนังก็ชงกันเลยว่า คนขับรถแบบประมาทได้ขับรถชนกวางจนสารเคมีลึกลับที่ถูกขนส่งบนรถได้ตกลงไปในทะเลสาปแล้วไปเกยตื้นอยู่ใกล้ๆ กับบ้านของบีเวอร์น้อยผู้น่ารัก ด้วยความบังเอิญสารเคมีในถังพุ่งรั่วออกมาใส่บีเวอร์จนกลายเป็น ‘ซอมบี้บีเวอร์’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ซอมบีเวอร์ หนังเดินหน้าสร้างสถานการณ์ให้กลุ่มวัยรุ่นมาพักผ่อนในบ้านพักใกล้ทะเลสาป แล้วจากนั้นไม่นานนัก บีเวอร์ตัวไม่ใหญ่ก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาทำร้ายคนทั้งบนบก หรือแม้แต่ในน้ำก็ตาม
Zombeavers อาจจะไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์มากนัก นอกจากการจับเอาสิ่งมีชีวิตที่อาจจะโดนมองข้ามว่าจะถูกทำเป็นซอมบี้ได้ให้ดูน่ากลัว และในขณะเดียวกันหนังก็แดกดันหนังแนวซอมบี้กับแนวสยองขวัญเรื่องอื่นๆ และที่สำคัญอีกอย่างที่คิดว่าแดกดันได้ดีก็คงเป็นเรื่องการใช้ชีวิตของคนที่ใส่ใจเรื่องรอบตัวอย่างเช่นเรื่องของสภาพธรรมชาติน้อยลง แถมหนังก็โชว์มุกไว้เบาๆ ว่า ถ้าขนาดบีเวอร์ยังกลายเป็นซอมบี้ได้ แล้วถ้าสัตว์ประเภทอื่นๆ เป็นซอมบี้ได้อีกล่ะ… มันจะน่ากลัวขนาดไหน
เหมือนจะเป็นการบอกคนดูกลายๆ ว่า หนังซอมบี้ในช่วงหลังจะถูกเล่าในฐานะสัตว์ประหลาดสยองขวัญชวนแหวะมากขึ้น แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ หนังซอมบี้ได้รับความนิยมขึ้นมาก็เพราะการวิพากษ์นัยของสังคม จนน่าเสียดายที่ช่วงหลังหนังซอมบี้ฟอร์มใหญ่อาจจะมองข้ามแนวคิดนี้ไปมาก ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าคนทำหนังหลายคนยังมีไอเดียดีๆ รอโอกาสได้ทำหนังต่อไปในอนาคต และในขณะเดียวกันหนังแนวนี้จะไม่ยอมหายไปง่ายๆ จากตลาด แบบเดียวกับที่ซอมบี้ยังลุกขึ้นมาอีกครั้งแม้ว่าจะเคยตายจากไปแล้วก็ตามที