ถ้าปีก่อนคำว่า #MeToo กลายเป็นกระแสในโลกบันเทิงฮอลลีวูด ทรงศักดาขนาดสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงขาใหญ่ในฮอลลีวูดหลายๆ คนตั้งแต่ระดับโปรดิวเซอร์ตัวเอ้ (ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน) จนถึงผู้กำกับ (ไบรอัน ซิงเกอร์) นักแสดง (เควิน สเปซี่) ที่ไม่ใช่แค่หมายถึงการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง จนนำมาสู่การลุกฮือของบุคลากรสตรีในฮอลลีวูด แต่ยังรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อนักแสดงชายด้วย
ส่วนปีนี้ คำที่ส่งอิทธิพลและมีความเคลื่อนไหวรุนแรงทั้งในจอหนังและนอกจอ เห็นจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘toxic masculinity’ (พิษร้ายในค่านิยมชายชาตรี)
คำๆ นี้ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 โดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อ เชพพาร์ด บลิสส์ (Shepard Bliss) บลิสส์ศึกษาว่าในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ค่านิยมเรื่องชายชาตรีนั้นส่งผลร้ายให้กับเพศตรงข้าม (ผู้หญิงและเพศทางเลือก) กับตัวเพศชายเองอย่างไรบ้าง ในชั้นแรกเราอาจจะเข้าใจได้ทันทีว่าคำๆ นี้หมายถึงการที่ผู้ชายใช้อำนาจและสิทธิอันมิชอบในการกดขี่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ในชั้นลึกลงไป การศึกษาของบลิสส์ชี้ให้เห็นว่าแม้กระทั่งตัวผู้ชายด้วยกันเอง ก็ได้รับผลกระทบจากค่านิยมนี้เช่นกัน
จริงๆ เรื่องสังคมตั้งค่านิยมความเป็นชายให้มีมาตรฐานรับรู้ร่วมกันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในบ้านเมืองฝรั่งนะครับ ในสยามประเทศของเรานั้นก็มีมานานแล้ว เราอาจสืบถึงวรรณคดีพื้นบ้านอย่าง ขุนช้างขุนแผน ที่เล่าเป็นคำกลอนกันต่อๆ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในเว็บไซต์ของ ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ ระบุว่า ขุนแผนนั้นเป็น “เป็นผู้ชายในฝันของสาวไทย คือเป็นชายชาตรี รูปงาม วาจาอ่อนหวาน เก่งทั้งวิชาอาวุธและวิชาไสยศาสตร์ และเป็นแบบอย่างของนักรบผู้ภักดีต่อเจ้านาย”
คำว่า ‘ชายชาตรี’ นี้ผู้เขียนยังพบว่ามีหนังสือชื่อ คู่มือชายชาตรี ปรากฏอยู่ด้วย เป็นหนังสือรวมพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ เขียนโดย อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร มีพระคาถาชินบัญชร พระคาถาพระพุทธเจ้า 10 ทิศ ฯลฯ
ดังนั้นนิยามคำว่า ‘ชายชาตรี’ก็อาจนับเป็นบรรทัดฐานแรกๆ ที่ใช้ในการนิยามความเป็นชายในบ้านเรา ผู้เขียนเลือกใช้คำนี้แปลแทน Masculinity เพราะมีหลักฐานปรากฏให้เห็นในงานวรรณกรรม (นิยาย,เรื่องสั้น) ตลอดจนภาพยนตร์ในอดีตอยู่หลายเรื่อง ทั้งยังถูกแผลงไปเป็นคำใกล้ๆ กัน อาทิ ชายชาติเสือ ชายชาติสิงห์ เพื่อย้ำถึงความเป็นชายอันสูงส่งทรงอำนาจนี้
กลับมาสู่ปัจจุบัน คำๆ นี้กลายเป็นกระแสโลกของปี ค.ศ.2019 ไม่ใช่แค่เพราะเป็นผลสะท้อนจาก #MeToo แต่ยังเป็นผลจากการที่มีผู้นำชายขวาตกขอบหลงยุค ชอบกดขี่เพศหญิงและชอบอวดอ้างความเป็นชายชาตรีแบบโง่ๆ เหลือเกิน (ผมกำลังหมายถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของอเมริกาครับ)
ในปีนี้ถ้าเราดูหนังที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลหลายๆ ในรอบเดือนนี้และเดือนหน้า จะเห็นว่ามีหนังอย่าง
‘Once Upon a Time in Hollywood’
‘The Irishman’
‘Joker’
‘Ford vs Ferrari’
‘Ad Astra’
‘Marriage Story’
วนเวียนมาให้เห็นจนเบื่อกันแน่นอน น่าสนใจว่าหนังกลุ่มนี้มีจุดร่วมเดียวกันอยู่ตรง ศูนย์กลางของเรื่องคือตัวเอกผู้ชายที่ต้องเติบโต ดิ้นรน ได้รับผลกระทบจากค่านิยมเรื่องชายเป็นใหญ่
-บางคนไม่สมบูรณ์แบบ ถูกทำให้กลายเป็นอื่นเพราะมีลักษณะผิดจากมาตรฐานชายชาตรี (Joker)
-บางคนยึดติดกับค่านิยมนี้จนชีวิตครอบครัวและคนรอบข้างพังทลาย (Ad Astra, Marriage Story, The Irishman)
-บางคนยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ แล้วก้ามข้ามมันไป (Once Upon a Time in Hollywood, Ford vs Ferrari)
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในหนังกลุ่มนี้คือ การเลือกใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ยุคเก่า (Marriage Story, Ad Astra ใช้เทคนิคแบบภาพยนตร์ในทศวรรษ 70) การเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายทศวรรษก่อน (ทศวรรษ 60 ใน Once Upon a Time in Hollywood, Ford vs Ferrari ทศวรรษ 60-70 ใน The Irishman ทศวรรษ 80 ใน Joker)
ความสำคัญของทศวรรษ 50-70 ในเชิงประวัติศาสตร์ก็คือนี่เป็นยุคเบบี้ บูมเบอร์ (Baby Boommer) ยุคของคนรุ่นที่เติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อในการทำงานหนัก จงรักภักดี (ต่อนายจ้างและงาน) เคร่งครัดในกรอบระเบียบประเพณี เสียสละชีวิตส่วนตัว/ครอบครัวได้เพื่องาน
คนรุ่นนี้แหละคือคนที่สร้างบรรทัดฐานความเป็นชายชาตรีในสังคมสมัยใหม่ขึ้น เพราะความสำเร็จของพวกเขาเป็นตัวชี้วัด เป็นมาตรฐานให้คนรุ่นหลังต้องดำเนินรอยตาม ซ้ำร้ายด้วยกรอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ทำให้พวกเขายากจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป…
Once Upon a Time in Hollywood กับ Ford vs Ferrari พูดถึงภาวะที่ผู้ชายในยุคนั้น ที่รู้ตัวว่าเขาไม่สมบูรณ์แบบและจำต้องเก็บซ่อนมันไว้กับตัวให้ห่างไกลจากสังคมที่สุด ใน Once Upon a Time in Hollywood ริค ดัลตัน (ลีโอนาโด ดิคาปริโอ) นักแสดงต๊อกต๋อยที่ต้องวิ่งหางานรับบทตัวร้ายรับเชิญในละครทีวี ผ่านยุครุ่งเรืองและดูจะไม่มีโอกาสได้เป็นดาราใหญ่ดังหวัง ครั้งหนึ่งริคอยากจะร้องไห้ แต่เพื่อนคู่ใจของเขา คลิฟฟ์ บูต (แบรด พิตต์) ห้ามริคไว้ว่าอย่าร้องไห้ “ต่อหน้าพวกเม็กซิกัน” อันหมายถึงว่าต่อให้อ่อนแอได้ แต่ก็ห้ามให้ใครเห็น
ส่วนใน Ford vs Ferrari เคน ไมลส์ (คริสเตียน เบล) พยายามจะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี แต่ก็ทิ้งความฝันจะเป็นนักแข่งรถหมายเลขหนึ่งของโลกไม่ได้ เคนทำได้แค่เก็บงำความผิดหวังไว้ในใจ เงียบ และก้มหน้าทำงานไปวันๆ จนเมีย (ไคทริโอน่า เบลฟ์) ต้องเตือนสติให้เขารู้ว่า จะแบกทุกอย่างไว้กับตัวเองไม่ได้ มีอะไรก็พูดออกมา
ความเป็นชายอันไม่สมบูรณ์ ทำให้ทั้งริคและเคนรู้สึกว่าเขาเป็นคนนอกของสังคม เช่นเดียวกับ อาเธอร์ เฟล็ค (วาคีน ฟินิกซ์) ใน Joker แต่แย่กว่าตรงที่เฟล็คถูกกดโดยสังคมที่ตราหน้าว่าเขาเป็นคนไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ผิดแผกจากคนอื่น เขาตัวผอมติดกระดูก มีเสียงหัวเราะที่น่ากลัว ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ อาเธอร์ดิ้นรนใช้ชีวิตก็อธแธม โดยมีความหวังเล็กๆ อยู่ที่ ‘ชายชาตรี’ อย่าง โทมัส เวย์น จะยื่นมือช่วยเหลือเขาและแม่ในสักวัน แต่วันนั้นก็ไม่มาถึง อาเธอร์ผู้ถูกสังคมบดขยี้จนแตกสลาย กลายเกิดขึ้นใหม่เป็น โจ๊กเกอร์ มหาวายร้ายที่ไม่แคร์สังคมและค่านิยมใดๆ อีกต่อไป
แต่ผลกระทบจริงๆ ของพิษในความเป็นชายชาตรีไม่ได้จบแค่เจ้าตัว
ยังรวมถึงคนรอบข้างที่ได้รับผลอย่างร้ายกาจจนกว่าจะรู้ตัวก็สายไป
เช่นใน The Irishman พ่อผู้เชื่อมั่นในวิถีแห่งลูกผู้ชายลงทุนด้วยเลือดและชีวิตเพื่อสร้างครอบครัวให้ผาสุข กลับพบว่าลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนไม่ได้เชิดชูสิ่งที่เขาทำเลย ตรงกันข้ามเธอกลับ ‘หวาดกลัว’ ในตัวเขา ทำราวกับว่าคนๆ นี้ไม่ใช่พ่อแท้ๆ แต่เป็นตัวประหลาดในบ้าน
เหมือนครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกที่กำลังค่อยๆ แตกสลายลงใน Marriage Story เหมือนครอบครัวที่พังทลายไปแล้วใน Ad Astra เมื่อพ่อหนีไปทำภารกิจสุดขอบจักรวาล ทิ้งให้ลูกชายเติบโตพร้อมกับปมภายในใจ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่รักใครไม่เป็น (แบรด พิตต์) และมีชีวิตครอบครัวที่เกือบพังทลายไปเหมือนกัน เพราะชีวิตเขารู้จักเพียงอย่างเดียวคืองาน
มันคือผลกระทบที่คนรุ่นหนึ่งทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังแบกรับ ค่านิยมที่ไม่เคลื่อนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก คนหนุ่มรุ่นหลังถูกปรามาสสบประมาทจากผู้ใหญ่ ไม่แข็งแกร่ง ไม่ห้าวหาญ ไม่กล้าแบกรับความผิดชอบหรือภาระอันยิ่งใหญ่อย่างคนรุ่นก่อน
ไม่ใช่เพราะพวกเขาอ่อนด้อยกว่า อดทนน้อยกว่า แต่เพราะพวกเขาเห็นผลจากสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยแลกมาก่อน ทำไมเราต้องยอมเพื่อให้เกิดความผิดพลาดซ้ำเดิม ทำไมต้องทนเพื่อให้คนข้างหลังเจ็บปวดเหมือนที่เราเคยเผชิญมา ทำไมเราต้องลุกขึ้นมาท้าทายและพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และไม่มีค่านิยมกรอบประเพณีความเชื่อใดๆ ดึงรั้งมันไว้ได้อีก
บารัค โอบาม่า อดีตประธานาธิบดีคนก่อนเพิ่งออกมาพูดถึงประเด็นใกล้ๆ กันนี้ว่า ทุกวันนี้โลกกำลังชิบหายเพราะพวก “คนแก่ๆ ไม่ยอมปล่อยวาง” (“Most of the World’s Problems are Down to ‘Old Men Not Getting Out of the Way”)
สิ่งที่คนรุ่นหนึ่งเคยสร้างไว้ มันก็อาจทรุดโทรมสิ้นสลายได้ในรุ่นถัดไป ไม่มีอะไรจีรัง อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ถ้าอยากให้คนรุ่นหลังเดินตาม ก็ต้องรู้จักรับฟัง อย่ายึดถือยึดมั่น ปรับเปลี่ยนมันไปตามกาลเวลา
บทสรุปในหนังทั้งหกเรื่องจึงแตกต่างกัน มีทั้งตัวละครที่รู้ตัวเมื่อสายเกินไป ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงท้ายของชีวิต เพราะไม่เคยคิดจะฟังใครแม้กระทั่งคนใกล้ตัว ขณะที่ตัวละครซึ่งยอมรับและเข้าใจ ยอมเปลี่ยนแปลงจนได้พบชีวิตที่ดีขึ้น เข้าใจ ‘โลก’ ในมุมมองคนอื่นมากขึ้นกว่าจะเห็นแต่ตัวเอง
Toxic Masculity เป็นชื่อที่ เชพพาร์ด บลิสส์ บอกว่าเขาจงใจตั้งให้มันฟังดูเป็น ‘พิษ’ เพราะเชื่อว่าวันหนึ่ง มันจะมีหนทางรักษา เหมือน ‘พิษ’ อื่นๆ ที่จะมียาต้านล้างพิษนั้นได้
ยาต้านพิษชายชาตรีในมุมฮอลลีวูดก็คือ เรามาทำหนังที่พูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมากันเถอะ ให้คนทั้งโลกดูแล้วเห็นทั้งผลดีผลร้ายของมัน พร้อมสรุปให้เจ็บๆ สักทีว่า
“ผู้ชายก็เจ็บได้ ร้องไห้เป็น ไม่ต้องทำเก่งไปเสียทุกเรื่องหรอกพ่อคุณ”