ถือว่าเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่กับตระกูลแห่งมังกร หรือ House of the Dragon ซีซั่น 2 ซึ่งคราวนี้ซีรีส์เน้นไปยังการทำสงครามระหว่างบ้านดำกับบ้านเขียว ศึกสายเลือดที่ว่ากันว่ามีแต่มังกรเท่านั้นจะหักล้างทำลายกันเองได้
นัยสำคัญของสงครามและแกนหนึ่งของซีรีส์ คือการพูดถึงผู้หญิงที่อยู่ภายในเครือข่ายอำนาจของผู้ชาย หัวใจของสงครามคือความชอบธรรมของสตรีในการขึ้นครองบัลลังก์ และถ้าเราดูปมสำคัญของความขัดแย้ง ตัวซีรีส์ค่อนข้างเน้นย้ำไปที่เรื่องราว ภาระหน้าที่ และการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิงในโลกของผู้ชาย และบริบทที่ค่อนข้างอ้างอิงกลับไปยังบริบทสังคมยุคเก่า โดยเฉพาะบริบทยุคกลางของอังกฤษ
แน่นอนว่า จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin) ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจเขียนซีรีส์ Game of Thrones รวมถึง House of the Dragon เป็นแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ยุคกลาง แต่ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ในปี 2015 ว่าต้องการเขียนงานที่ยืนอยู่บนบริบทประวัติศาสตร์ และแสดงให้เห็นว่าสังคมในยุคกลางมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนยังเรียกงานของตัวเองว่า เป็นยุคกลางแบบดิสนีย์แลนด์ (Disneyland Middle Ages) ซึ่งเป็นความดาร์กเข้มข้นที่ล้อไปกับยุคมืดจริงจัง เช่น ความขัดแย้ง การตาย ความขมขื่น และการดิ้นรนทั้งจากคนธรรมดาและเหล่าชนชั้นปกครอง และนั่นเองที่ทำให้แฟนตาซีแบบ Game of Thrones มีมิติที่น่าสนใจ
เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมา The MATTER ขอชวนสำรวจบริบทประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของยุคกลางที่ปรากฏในเรื่อง เรื่องราวที่เราอยากเรียกว่าเป็น ‘ความยุคกลาง’ บริบททางวัฒนธรรมที่อธิบายเส้นทางและความเป็นไปของสตรี แนวคิดเรื่องบุตรคนโต การทำคลอดสุดสยองขวัญด้วยการผ่าท้อง ความยากลำบากที่เน้นย้ำว่าทำไมสายสัมพันธ์ของแม่กับลูกถึงเป็นทั้งหัวใจของแผ่นดินและเป็นต้นเพลิงของสงคราม สำรวจแนวคิดการผูกมัดกันด้วยคำปฎิญาณ คำถามเรื่องการสมรสกันในสายเลือด ไปจนถึงภาพของเมืองที่ทั้งยิ่งใหญ่แต่ฟอนเฟะอยู่ภายใน
Primogeniture การสืบทายาทด้วยบุตรคนโต
ความขัดแย้งสำคัญของ House of the Dragon คือการที่กษัตริย์ไม่มีพระโอรสเพื่อสืบต่อบัลลังก์ ในยุคของกษัตริย์ ปมเรื่องการขึ้นปกครองของสตรีมีเค้าลางมาตั้งแต่การขึ้นครองบัลลังก์เหล็กของกษัตริย์วิเซริส ทาร์แกเรียน ที่ขุนนางเลือกกษัตริย์ที่เป็นบุรุษแทนเรนิส ทาร์แกเรียน เจ้าหญิงที่โดยลำดับแล้วถือว่าชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ นั่นจึงทำให้เธอได้ฉายาว่า ราชินีผู้ไม่เคยได้เป็น (The Queen Who Never Was) ไล่มาจนถึงปมในภาคปัจจุบันเรื่องการชิงความชอบธรรมของเรนีร่า ทาร์แกเรียน เจ้าหญิงองค์แรกที่ได้รับสถาปนาเป็นรัชทายาท และเอกอน พระโอรสที่เกิดกับราชินีอลิเซนต์ ไฮทาวเวอร์
การสืบทอดอำนาจโดยนับลูกชายคนโต เรียกว่าระบบ Primogeniture คือการรับสืบทอดมรดกของครอบครัวโดยตกทอดไปยังลูกชายคนแรกเป็นสำคัญ การสืบทอดนับรวมตั้งแต่การสืบทอดตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งขุนนาง ที่ดิน และทรัพย์สิน โดยเฉพาะในระบบศักดินาสวามิภักดิ์อันเป็นระบบการปกครองหลักของยุคกลางจะต้องมีลูกชายในการรับตำแหน่งต่างๆ ต่อจากบิดา เป็นการสืบทอดยศและตำแหน่ง รวมถึงบัลลังก์ในการปกครองด้วย ซึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษก็เกิดปัญหาเรื่องไม่มีพระราชโอรส และมีการดิ้นรนปกครองของสตรีคือ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 และการขึ้นเถลิงอำนาจของราชินีมาทิลดา
Medieval Caesarean Section การผ่าคลอด
ความเป็นแม่และการดิ้นรนของผู้หญิงเป็นหัวใจหลักของเรื่อง นอกจากความแฟนตาซีและบริบทยุคกลางแล้ว ตัวเรื่องยังค่อนข้างย้อนกลับมาให้ภาพของผู้หญิง ที่แม้ในบริบทสังคมปัจจุบันเองก็อาจจะเชื่อมโยงได้ คือการกำหนดบทบาทให้เป็นแม่และเมีย รวมไปถึงเงื่อนไขสำคัญในการก่อสงครามอย่างการสังหารเลือดเนื้อเชื้อไขของกันและกัน ทั้งฝ่ายบ้านดำและบ้านเขียว
ดังนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปยังตอนแรกของ House of the Dragon ฉากที่ชวนตกตะลึงคือ ฉากการทำคลอดของราชินีเอมม่า ทาร์แกเรียน ซึ่งหมอต้องใช้วิธีการผ่าคลอด การแพทย์และการผดุงครรภ์ โดยการทำคลอดยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่ในยุคกลางเอง การผดุงครรภ์คือการที่เหล่าหมอตำแยค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในการทำคลอด ซึ่งกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่แม่เด็กเสียชีวิตหรือเสี่ยงที่จะเสียลูกไป และหมอตำแยจะมีกระบวนการสำรองที่เรียกว่า การผ่าคลอด หรือ Caesarean section
การผ่าคลอดเป็นอีกหนึ่งการทำคลอดที่เก่าและถูกพูดถึงมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน คำว่า Caesarean section มาจากความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์เองก็คลอดด้วยการผ่าท้อง ทว่านักวิชาการบางส่วนก็เห็นว่าจักรพรรดิไม่น่าจะคลอดด้วยวิธีนี้ ในช่วงต้นของสมัยกลางจะเรียกว่า sectio in mortua คือการผ่าร่าง อันหมายถึงว่าการผ่าท้องคลอด ตามกฎหมายสมัยโรมันการผ่าคลอดเรียกว่า lex caesarea คือการจะทำเมื่อแม่เด็กตายระหว่างคลอด โดยคำว่า caesarea สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า caedere แปลว่าการตัด หรืออาจมาจากตำแหน่งชื่อของซีซาร์ ทำให้ยุคหลังเชื่อว่าหมายถึงจูเลียส ซีซาร์
ทั้งนี้ในการผ่าคลอด ไม่ว่าจะตัดสินใจลงมือโดยที่แม่เด็กตายแล้วหรือไม่ ด้วยความเจ็บปวด การขาดยาชาและอุปกรณ์ด้านสุขอนามัย การผ่าคลอดจึงมักนำไปสู่ความตายของแม่เด็กเสมอ
สงครามสองสีและตราประจำตระกูล
จอร์จ มาร์ติน ระบุว่า สงครามระหว่างทาร์แกเรียนกับไฮทาวเวอร์ที่เราแบ่งแยกกันด้วยสี ได้แรงบันดาลใจมาจากสงครามดอกกุหลาบ สงครามระหว่าง 2 ตระกูลคือยอร์กและแลงคัสเตอร์ ในสงคราม ทั้ง 2 ตระกูลจะใช้ดอกกุหลาบขาวและแดงเป็นตราสัญลักษณ์ในการทำสงคราม ซึ่งสงครามสำคัญของอังกฤษนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 และจุดสิ้นสุดของสงครามก็นำไปสู่การเสกสมรส และการก่อตั้งราชวงศ์ทิวเดอว์ (Tudor Dynasty) ซึ่งการเถลิงอำนาจถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญช่วงท้ายๆ ของยุคกลาง
ทั้งนี้การใช้สี สัตว์สัญลักษณ์ และสัญลักษณ์อื่นๆ ในการแทนตระกูลหรือราชวงศ์ เรียกว่า Heraldry โดยเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 12 ของยุโรป ถือเป็นประเพณี และวิธีการระบุตัวตนและสังกัดสำคัญในสมัยกลาง แต่เดิมเริ่มต้นในกลุ่มอัศวินที่ใช้ประกอบเป็นริ้วธง ประดับโล่หรือเกราะเพื่อบ่งบอกสังกัดในการประลอง ต่อมาถูกพัฒนาเป็นเครื่องแสดงตัวตน และนอกจากตราประจำตระกูล Heraldry ยังรวมถึงการออกแบบและใช้สัญลักษณ์อื่นๆ ประกอบกับตรานั้นๆ เพื่อแสดงสถานะและเกียรติ รวมถึงการติดสัญลักษณ์ใช้ในการรบยังทำให้สามารถระบุตำแหน่ง และมองเห็นผู้นำหรือแม่ทัพของตนได้
คำปฏิญาณกับการผูกมัดด้วยเกียรติและถ้อยคำ
การให้คำสัตย์เป็นกระบวนการสำคัญในการผูกมัดระหว่างความเป็นนายเหนือหัว (lord) กับผู้ใต้ปกครอง (vassel) การปฏิญาณและให้สัตย์สาบานเป็นหัวใจของวัฒนธรรมในยุคกลางที่ได้อิทธิพลมาจากบริบทคริสตศาสนา โดยการให้สัตย์สาบานนี้ถือเป็นการยืนยันความสัตย์จริงในความสัมพันธ์นั้นๆ มีทั้งในทางโลกย์และทางธรรม คือไพร่ที่ให้สัตย์แห่งความจงรักภักดี (oath of homage) นักบวชให้สัตย์แห่งความนอบน้อมเชื่อฟังต่อเจ้าคณะหรือนักบวชที่สมณะศักดิ์สูงกว่า (oath of obedience)
การสาบานตนต่อผู้มีสถานะสูงกว่านอกจากจะแสดงความภักดีและการอุทิศตนแล้ว นัยของการกล่าวสัตย์สาบาน คือความเชื่อเรื่องสถานะตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ การให้และละเมิดคำสัตย์จึงถือเป็นการละเมิดกฎของอำนาจที่เหนือกว่า หรือเป็นการขัดขวางแข็งขืนต่อความเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการผิดคำสาบานถือเป็นเรื่องใหญ่ในบริบทสังคมยุคกลาง เป็นการสูญเสียเกียรติและความเชื่อถือต่อบุคคลนั้นๆ
ดังนั้น ใน House of the Dragon รวมถึง Game of Thrones จะเห็นการให้สัตย์สาบาน เช่น การจงรักภักดีในพิธีสำคัญต่างๆ และการเรียกร้องการทำตามคำสัตย์ที่ให้ไว้ ไปจนถึงความสำคัญในการผิดคำสาบานนั้นๆ
ความต้องห้ามของการสมรสภายในสายเลือด
ความสัมพันธ์หรือการสมรสภายในสายเลือดในยุคกลางถือเป็นเรื่องต้องห้ามแล้ว กฎหมายว่าด้วยการร่วมประเวณีในสายเลือด รวมถึงความสัมพันธ์ในนิยามของครอบครัวที่กว้างขึ้น เช่น เขย สะใภ้ รวมถึงความสัมพันธ์ระดับจิตวิญญาณ เช่น พ่อแม่อุปถัมภ์ในยุคกลาง ก็นับไม่ให้มีประเวณี โดยอิทธิพลสำคัญมาจากการพัฒนาเป็นกฎหมายจากคริสจักรโรมันแคทอลิก ซึ่งส่งอิทธิพลต่ออาณาจักรทั่วยุโรป ตัวกฎหมายเริ่มปรากฏเป็นลายลักษณ์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และเป็นหลักการสำคัญตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 สำหรับอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีกฎหมายการแต่งงานที่ต้องนับความสัมพันธ์ห่างออกไปอย่างน้อย 7 ลำดับ
จากบริบทเรื่องความต้องห้ามของการร่วมประเวณีในสายเลือด อันท่ีจริงค่อนข้างสะท้อนในเรื่องราวของตระกูลทาร์แกเรียนที่ถือว่าการสมรสในสายเลือดเป็นธรรมเนียมจากโลกอื่น การรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดวาเลเรียนและผู้ขี่มังกรเอาไว้ แต่ในการขึ้นครองอาณาจักรทั้ง 7 ของทาร์แกเรียน ประเพณีเดิมของการสมรสในพี่น้องขัดแย้งกับหลักการศาสนา Faith of the Seven ของเวสเทอรอส ซึ่งการสมรสของเอกอนผู้พิชิต คือการสมรสกับพี่และน้องสาวของตัวเอง ในยุคของการพิชิตจึงไม่มีใครกังขา แต่ในรุ่นลูกได้มีการก่อกบฏจากศาสนจักรขึ้น ดังนั้น ในภาพรวมจะเห็นว่า โดยทั่วไปนอกตระกูลทาร์แกเรียนไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานกันในสายเลือด
เมืองล้อมกำแพงและสภาพความเป็นอยู่เยี่ยงนรก
เมืองส่วนใหญ่ที่ปรากฏในเฟรนไชส์ Game of Thrones และ House of the Dragon ค่อนข้างมีลักษณะเป็นเมืองของยุคกลาง จริงอยู่ว่าคิงส์แลนดิ้ง ถ้ามองในเชิงขนาดที่มีพื้นที่และจำนวนประชากร 5 แสน และอาจมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งอาจนับเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองในยุคกลางมาก โดยผู้เขียนให้สัมภาษณ์ว่า คิงส์แลนดิ้งน่าจะมีลักษณะคล้ายกับลอนดอนหรือปารีสในยุคกลาง ซึ่งลอนดอนในยุคกลางนั้นมีจำนวนประชากรเพียงแสนคนเท่านั้น
ลักษณะโดยรวมของคิงส์แลนดิ้งค่อนข้างคล้ายกับลอนดอนในสมัยกลาง มีอ่าวหรือน้ำเป็นปราการธรรมชาติ เมืองส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเมืองล้อมกำแพง เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยในการทำศึกและการป้องกันตัว คิงส์แลนดิ้งและเมืองในยุคกลางมักจะเติบโตแบบแผ่ขยายออกจากศูนย์กลางเหมือนกับวงปีของต้นไม้ ชั้นด้านในสุดเป็นศูนย์กลางการปกครอง พื้นที่ทางศาสนา เรดคีปเป็นเขตปกครองและที่อยู่ของชนชั้นสูง ซึ่งตั้งอยู่บนเนิน 1 ใน 3 เนิน โดยในหนังสือ A Song of Ice and Fire อธิบายว่ากษัตริย์เอกอนสร้างคิงส์แลนดิ้งอย่างรีบเร่งจึงทำให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทาง
สภาพความเป็นอยู่ในคิงส์แลนดิ้ง พื้นที่ส่วนใหญ่คือนอกเขตของชนชั้นสูงมักเป็นภาพของเมืองที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม ไม่มีน้ำสะอาด ไม่มีระบบสุขาภิบาล มีสลัม และการก่ออาชญากรรม จึงไม่แปลกที่หลายครั้ง ตัวละครในเรื่องเพียงก้าวออกจากบางประตูหรือเขตกำแพง สภาพที่พบคือภัยอันตรายมากมายแม้จะเป็นในเมืองอันยิ่งใหญ่ก็ตาม
อ้างอิงจาก