วงการอนิเมชั่นไทยอยู่จุดไหนในสายตาชาวโลก?
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เหล่าอนิเมเตอร์ชาวไทยต่างพากันพูดถึงอนิเมะในเน็ตฟลิกซ์เรื่องหนึ่งโดยมิได้นัดหมาย และจากทั้งสไตล์การวาดอันเด่นชัด เนื้อเรื่องที่น่าสนใจ ตลอดจนรายชื่อที่ปรากฏในช่วงท้ายของแต่ละตอน เราก็พอจะรู้ได้ไม่ยากว่า เพราะเหตุใด อนิเมะเรื่องนี้จึงถูกจับตาโดยเหล่าอนิเมเตอร์ชาวไทยมากเป็นพิเศษ
My Daemon หรือ ดีมอนของผม คืออนิเมะเรื่องที่ว่า นี่คือเนื้อหาว่าด้วยโลกที่กำลังล่มสลายเพราะระเบิดนิวเคลียร์ นำมาซึ่งการถือกำเนิดของ ‘ดีมอน’ สิ่งมีชีวิตประหลาดที่มนุษย์เกลียดชังและหวาดกลัว ยกเว้นเพียง ‘เคนโตะ’ หนุ่ม ม.ต้น ที่เก็บดีมอนมาเลี้ยง ก่อนจะพบว่ามันมีพลังพิเศษที่อาจช่วยชีวิตแม่ของเขาได้
แม้รายละเอียดทั้งหมดที่ว่ามาจะถูกบอกเล่าด้วยภาษาญี่ปุ่น แต่ลายเส้นที่คุ้นเคยและชื่อสตูดิโอผู้สร้างก็บอกให้เรารู้ว่า อนิเมะความยาว 13 ตอนเรื่องนี้ถูกเนรมิตด้วยฝีมือคนไทย และบริษัทซึ่งเน็ตฟลิกซ์เชื่อมือก็ไม่ใช่ที่ไหนไกล แต่เป็น Igloo Studio สตูดิโอผู้อยู่เบื้องหลังอนิเมชั่นคุณภาพอย่าง 9 ศาสตรา
เพื่อให้สัมผัสอนิเมะเรื่องนี้ได้ใกล้กว่าที่เคย และเพื่อเข้าใจตัวตนของคนในอุตสาหกรรมอนิเมชั่นไทยมากขึ้น เราจึงติดต่อขอสัมภาษณ์ ส้ม—ดวงกมล และ อ้อ—ณัฐพงษ์ ศรีไชยกิจ คนเบื้องหลังแห่งวงการอนิเมชั่นที่ร่วมโปรเจ็กต์ My Daemon ในตำแหน่ง Art Manager และ Episodic Director
ทั้ง 2 นักสร้างสรรค์ตบปากรับคำ ทั้งยังอนุญาตให้เราไปพูดคุยถึงบ้าน ในแหล่งพักพิงขนาดพอประมาณที่แทบทุกเฟอร์นิเจอร์ถูกตบแต่งด้วยสีเขียวและตุ๊กตาการ์ตูน หลากหลายข้อมูลที่อยู่หลังม่านของบรรดาภาพวาดกำลังจะถูกบอกเล่าจากปากของผู้ที่มีประสบการณ์จริง
และต่อจากนี้คือเรื่องราวที่อัดแน่นไปด้วยความฝัน วันที่ต้องพัฒนาตัวเอง การยึดงานศิลปะเป็นอาชีพ ตลาดอนิเมชั่นในไทย และความเป็นไปได้ที่ AI จะพลิกโฉมวงการ
My Daemon และแรงบันดาลใจก่อนตบเท้าเข้าวงการอนิเมชั่น
พอได้รู้ว่า My Daemon ได้รับกระแสตอบรับดีมาก ทั้ง 2 คนรู้สึกยังไงบ้าง
ส้ม: ดีใจมากเลยค่ะ (ยิ้ม) พอเป็นงานที่เรามีส่วนร่วมอะเนอะ เราก็แอบหวังให้ทุกคนชอบมัน แต่ตอนที่ได้ยินคนพูดจริงๆ ว่า โห สนุกนะ เขาชอบนะ เราก็ดีใจมากๆ เลย
อ้อ: สําหรับเรา แน่นอนว่าก็ประทับใจมากครับ ดีใจที่คนส่วนใหญ่ที่ได้ดูพูดกันว่า โอ๊ย! เราชอบนะ สนุก ดูแล้วติดนะ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว
อยากให้เล่าคร่าวๆ ว่าทั้ง 2 คนมีบทบาทอย่างไรในผลงานชิ้นนี้
อ้อ: ใน My Daemon เราทําหน้าที่ที่เรียกว่า Episodic Director (ผู้กำกับตอน) ครับ อาจจะเล่าในส่วนของ My Daemon ได้ไม่มาก แต่โดยปกติ ตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ควบคุมทิศทางของซีรีส์แต่ละตอนให้เป็นไปตามที่ผู้กำกับใหญ่ต้องการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอนิเมะนะ ซีรีส์คนแสดงอย่าง Game of Thrones หรือ House of the Dragon ก็มีตำแหน่งนี้ ที่ต้องมีน่าจะเป็นเพราะจํานวนตอนของซีรีส์มันค่อนข้างเยอะ ถ้าให้ผู้กำกับคนเดียวลงมาดูภาพรวมทั้งหมดอาจจะไม่ไหว เพราะงั้นเขาจะคุมแค่ภาพรวมของทั้งโชว์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ลายละเอียดในแต่ละตอนจะมี Episodic Director ช่วยคนจัดการอีกแรง
ส้ม: ส่วนของส้มทำตำแหน่งชื่อ Art Manager ค่ะ เป็นคนบริหารจัดการทีมอาร์ต ก็ต้องคอยคุมตารางงานของศิลปินทั้งหมด ดูว่างานในแต่ละตอนมีกี่ชิ้น แล้วก็มาวางแผนว่าจะให้ใครทําชิ้นไหน ชิ้นนี้ต้องทํากี่วัน ต้องส่งเมื่อไหร่ คนไหนเจอปัญหาบ้าง แล้วก็คอยช่วยแก้ปัญหากันไป
ทั้งที่เส้นทางการเป็นอนิเมเตอร์ไทยก็ดูไม่ได้สวยหรู แล้วทำไมทั้ง 2 คน ถึงใฝ่ฝันอยากทำอาชีพนี้
ส้ม: มันคงเป็นความชอบตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มจากที่บ้านเราเปิดร้านเกมกับร้านเช่าวิดีโอ เราก็เลยเป็นคนที่ติดการ์ตูนมาก ดูไปดูมาก็เริ่มฝันอยากจะทําการ์ตูน วาดการ์ตูนเป็นของตัวเอง แต่ช่วงที่เราเข้ามหา’ลัย วงการอนิเมชั่นในไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เราเลยเลือกเรียนด้านภาพยนตร์ แต่ระหว่างนั้นก็สนใจอนิเมชั่นอยู่ตลอด พอเรียนจบเราเลยไปศึกษาต่อด้านนี้เอง ซื้อแผ่น tutorial มาฝึกเองบ้าง ไปลงคอร์สบ้าง ยุคแรกๆ ยังไม่มีคลิปสอนในอินเทอร์เน็ตเลย ต้องขวนขวายเยอะอยู่ แต่รู้ตัวอีกทีก็ได้มาทำงานด้านนี้แล้ว (หัวเราะ)
งานอนิเมชั่นชิ้นหนึ่งมีหลายส่วนมาก คุณรู้ได้ยังไงว่าตัวเองเหมาะกับตำแหน่งไหน
ส้ม: ตอนแรกก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำตำแหน่งอะไร ก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เราเริ่มทําจากตําแหน่ง Compositor ก่อน ก็คือเป็นคนประกอบร่างทุกอย่างเข้าด้วยกัน เราจะได้ไฟล์ต่างๆ มาจากทางทีมอนิเมเตอร์ ถ้าเรื่องไหนเป็น 3D ก็จะได้การจัดแสงมาด้วย แล้วก็ได้เอฟเฟ็กต์ที่ทีมเอฟเฟ็กต์ผลิตมา ได้แบ็กกราวน์จากทีมแบ็กกราวน์ นั่นแหละ ก็เอาทั้งหมดมารวมกัน แล้วก็ตกแต่งบรรยากาศของภาพให้สมบูรณ์ก่อนที่จะเอาไปใส่เสียงและตัดต่อ แต่พอทํามาเรื่อยๆ ก็เริ่มชอบความสวยงามของงานอาร์ต เลยขยับมาทําพวกอาร์ตดีไซน์มากขึ้น จนวันหนึ่งบริษัทก็ให้โอกาส เฮ้ย ส้มลองมานำทีมดูไหม ทำไปสักพักก็รู้สึกว่า เออ เราน่าจะบริหารจัดการภาพรวมได้นะ ก็เลยได้ทำ Art Manager ในที่สุด
แล้วฝั่งคุณอ้อล่ะครับ มาทำงานนี้ได้ยังไง
อ้อ: เริ่มต้นคล้ายกันคือเริ่มจากความชอบ เราโตมากับวัฒนธรรมที่มีทั้งหนังสือการ์ตูนและอนิเมชั่น มีทั้งจากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น เราว่าเด็กยุคนั้นหลายคนก็คงดูแล้วชอบ พอชอบแล้วก็ลองวาดตาม ณ ตอนนั้น เราก็ไม่ได้คิดนะว่า ตัวเองจะมาทํางานเป็นผู้กำกับหรืออะไร มันแค่ว่าเราอยากทํา อยากวาดรูป แค่นั้น ส่วนสมัยมหา’ลัยก็อย่างที่ส้มบอก ตอนนั้นไม่มีหรอก เรียนอนิเมชั่น เราก็เลยเลือกอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการวาดรูป นิเทศศิลป์น่าจะใกล้เคียง ตอนเรียนก็เน้นไปทางออกแบบกราฟิก พอจบมาก็ได้เอาความรู้เรื่องการมองงานศิลปะมาใช้บ้างนะครับ แต่ทักษะอนิเมชั่นส่วนมากก็ต้องเรียนใหม่ พวกโปรแกรมต่างๆ เราเหมือนส้มคือช่วงแรกก็ทำหมดเลย ลองหมด ทำโมเดล ใส่กระดูก เอาไปทำให้ขยับ จัดแสง Composite ทำเสร็จถึงรู้ว่าเราชอบทุกอย่างเลย (ยิ้ม) เราชอบให้มันออกมาเป็นชิ้นงาน เป็นอนิเมชั่น ตอนนั้นจึงเริ่มตกตะกอนได้ว่า เฮ้ย เราอาจจะอยากสร้างอะไรของตัวเองล่ะมั้ง หรือเราอาจจะอยากเป็นผู้กํากับล่ะ จากนั้นก็ได้ลองมาจนถึงจุดนี้แหละครับ
เกมไหนหรือการ์ตูนเรื่องอะไรที่ทำให้รู้ตัวว่าชอบอนิเมชั่น
ส้ม: ถ้าบอกไปก็จะรู้อายุใช่ไหม (หัวเราะ) ก็คงดราก้อนบอลแหละ
อ้อ: จริง ยุคนั้นใครๆ ก็วาด มันเข้าถึงง่าย ก็ดูทางช่อง 9 การ์ตูน
ส้ม: เมื่อก่อนชอบวาดโงกุนมาก โดราเอมอนด้วย ส่วนเกมก็ไอเครื่องแฟมิคอมสีขาวแดง มาริโออะค่ะ ยุคนั้นเลย พวกนี้คือแรงบันดาลใจของเราในวัยนั้น จริงๆ หนังสือการ์ตูนก็เต็มบ้านเหมือนกัน คุณแม่บ่นตลอดว่าซื้ออะไรเยอะแยะเต็มไปหมด
อ้อ: การ์ตูนฝั่งอเมริกาก็ดูนะ พวก Tom and Jerry เราเสพหมดเลย ขอให้มาเถอะ เราดูหมด
ส้ม: มิกกี้เมาส์ โดนัลด์ดั๊ก หรือนินจาเต่าก็ดู แต่รู้สึกอินกับการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่า พี่อ้อก็น่าจะเหมือนกัน
อ้อ-ส้ม: (มองหน้ากันแล้วหัวเราะ)
อาชีพที่เรามั่นใจ?
จุดไหนที่ทำให้มั่นใจว่า ‘เฮ้ย! ฉันจะทำงานอนิเมชั่นเป็นอาชีพ’
อ้อ: โอ้โห! ไม่เคยมั่นใจเลย (หัวเราะ) จะพูดยังไงดี มันไม่ได้เป็นความมั่นใจแบบนั้นน่ะครับ เราแค่รู้สึกว่า โอเค เรายังทําได้นะ และเราก็ต้องพยายามเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ทํางาน แล้วก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เอาให้มันสุด ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เราพยายามแล้ว แต่ว่าถ้าวันนี้ยังได้อยู่ เราก็จะทําต่อไป แต่ถ้าถามถึงความมั่นใจ เอาตามตรงก็ไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น ประเทศเราไม่ค่อยมีตลาดซัปพอร์ตเนอะ เราก็ทำได้แค่พยายามมองในแง่ดี ต่างประเทศเขายังทําได้อยู่ แถมเดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว เราก็ทำงานกับลูกค้าต่างชาติได้ ก็รู้สึกว่า เออ ถ้ามันยังมีทางอยู่ เราก็ไป แค่นั้นเอง ของส้มล่ะ
ส้ม: ทุกวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็ทําไปเรื่อยๆ
อ้อ: เราว่ามันอาจจะไม่ใช่คําตอบแบบ 100 กับ 0 มั้ง ถ้าใช้คําว่ามั่นใจ คำตอบต้องเป็น 100 ใช่ไหม พวกเราไม่ 100 แน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ 0 แน่นอน มันคงอยู่ที่ 70-80 แบบที่ว่า เออ มันน่าจะได้นะ ซึ่งเราว่ามันเกิดขึ้นกับแทบทุกสายอาชีพนั่นแหละ ไม่มีทางมั่นใจได้หรอกว่าสิ่งที่ฉันทำจะมั่นคงไปตลอด ขนาดคุณหมอที่ดูเป็นอาชีพที่มั่นคงมากๆ หลายคนยังลาออกเลย
ถามจริงๆ ว่า ชีวิตอนิเมเตอร์ทํางานกันหนักไหม มี Work-life Balance หรือเปล่า
ส้ม: แล้วแต่องค์กร บางองค์กรก็เข้างาน 9 โมง เลิก 6 โมง บางที่ก็เข้า 10 โมง เลิกทุ่ม แต่โดยปกติก็คือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่จะมีมากกว่านั้นไหม อันนี้เราไม่มั่นใจ แต่อย่างตัวส้มเอง พอทํางานประจําเสร็จ กลับมาถึงบ้านก็จะทํางานของตัวเองต่อ ทําพอร์ตฟอลิโอเพิ่ม หลายคนคงทำเหมือนกัน หรือบางคนก็อาจจะขอพัก อันนี้ก็แล้วแต่ แต่ถามว่าหนักไหม ส้มว่าเราคงทำตัวให้สบายมากไม่ได้ เพราะวงการนี้แข่งขันสูง เด็กรุ่นใหม่เก่งๆ เยอะ ถ้าเราหยุดพัฒนาก็น่าจะลําบาก
อ้อ: งานหนักไม่หนักมีหลายปัจจัยนะ บางช่วงก็หนัก บางช่วงก็เบา สมมติมีโปรเจ็กต์เข้ามา มันก็ต้องดูว่าทีมบริหารจัดการยังไง รันงานดีไหม ก็อาจจะบางช่วงที่ต้องอยู่ดึกหน่อย บางทีเดดไลน์กระชั้นเข้ามา แล้วตรงนั้นมีเพิ่ม ตรงนี้มีแก้ มันก็จะวุ่นๆ แต่พอจบโปรเจ็กต์ ก็อาจจะมีเวลาได้พักหายใจบ้าง จริงๆ ก็ขึ้นกับว่าบริษัทหาลูกค้าเก่งแค่ไหนด้วย
แล้วหลังกลับบ้าน คุณอ้อต้องทำงานของตัวเองเหมือนคุณส้มไหม
อ้อ: ทำครับ มันหยุดไม่ได้ เพราะทุกอย่างวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าหยุดก็เหมือนถอย เพราะคนอื่นจะแซงเราไป
ฟังดูเป็นแวดวงที่การแข่งขันสูงมากพอตัวเลย
อ้อ: ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรากับส้มมีแนวความคิดแปลกๆ อย่างหนึ่ง คือเวลาเราได้รู้จักกับคนที่เเบบ โห เขาเก่งจัง ทําไมเก่งขนาดนี้ เราจะไปค้นข้อมูลต่อว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง และก็จะพบว่า แต่ละคนทำมาเยอะมากๆ ฝ่าฟันกันสุดๆ แล้วเราเพิ่งทำไปแค่นี้เอง ถ้าขี้เกียจกว่านี้ เราตายแน่
ส้ม: แต่ก็มีช่วงพักนะคะ เราก็มีจัดเวลานะว่าเราจะพักวันนี้กี่ชั่วโมง
ค่าตัวของการทำงานในวงการอนิเมชั่นคุ้มค่ากับแรงที่ลงมากน้อยแค่ไหน
ส้ม: ขึ้นอยู่กับบริษัท แต่ถ้าเป็นการรับงานเองในฐานะฟรีแลนซ์ เราก็จะเรียกเรตที่คุ้มค่ากับชั่วโมงการทํางานที่เราเสียไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย
อ้อ: ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวกับอายุงาน พอทำงานมาถึงจุดที่เขาเชื่อใจในฝีมือของเรา เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างโอเค มันอาจจะไม่ถึงขั้นถอยรถสปอร์ต แต่เราอยู่ได้
หมายความว่าค่าแรงช่วงแรกๆ ไม่ค่อยโอเค?
ส้ม: ตอนที่เป็นจูเนียร์ในวงการก็จะยากหน่อยค่ะ ตอนนั้นการเรียกงานราคาสูงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเรา เขาจะรู้สึกว่า น้องมันเพิ่งจบใหม่นี่นา เป็นเด็กอยู่ พี่ก็มีเรตให้เท่านี้ แล้วตอนนั้นเราก็อยากได้ประสบการณ์ไง ก็เลยต้องยอม แต่พอทํางานมาหลายปี เริ่มมีประสบการณ์ เราก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วนะ (หัวเราะ)
ก็เลยกล้าเรียกมากขึ้น?
ส้ม: ใช่ พอเรามีประสบการณ์ เราก็มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ลูกค้าก็กล้าให้เงินเรามากกว่าเดิม
ประเทศไทยอยู่จุดไหน?
พูดถึงลูกค้า อยากรู้ว่าลูกค้าจริงๆ ของอนิเมเตอร์คือใคร
อ้อ: มีหลากหลายมาก ทั้งคนที่ได้ร่วมงานกับสตูดิโออนิเมชั่นต่างประเทศ อย่างใน Spider-Man: Across the Spider-Verse งานของดิสนีย์ ของพิกซาร์ แล้วก็งานซีรีส์อนิเมชั่นที่ต่างชาติร่วมมือกับสตูดิโอไทยอย่าง My Daemon งานโฆษณา รวมถึงงานส่งเสริมการขาย อย่างเราเอง เมื่อก่อนเคยทำงานให้กับบริษัทเลโก้เยอะมาก คือเขาไม่ได้ให้ทำโฆษณานะ ให้ทำซีรีส์ เล่าเป็นเรื่องๆ เลย แต่เป้าหมายก็คือเพื่อส่งเสริมการขายนั่นแหละ
แล้วมีลูกค้าจากฝั่งไทยบ้างไหม
ส้ม: มีนะ แต่มีลูกค้าต่างประเทศเยอะกว่า และที่สำคัญคือฝั่งนั้นก็มีต้นทุนเยอะกว่าด้วย
อ้อ: ส่วนตัวเราคิดว่า คนทํางานสายนี้ในไทยประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์น่าจะทํางานให้ต่างชาติ ในงานต่างชาติที่เราชมกันว่าสวยจัง ดีจัง หลายชิ้นเลยที่มีคนไทยอยู่เบื้องหลัง คือไม่ได้ทำทั้งหมดนะ แต่มีส่วนร่วม
ทำไมต่างชาติถึงเลือกใช้บริการอนิเมเตอร์ไทย เป็นเพราะฝีมือหรือค่าแรงเราถูก
อ้อ: ทั้ง 2 อย่างครับ เราได้คุยกับชาวต่างชาติมาบ้าง เขามองว่าคนไทยเก่งและราคาคุ้มฝีมือมากๆ คือเราไม่ได้ถูกที่สุดนะ มีคนถูกกว่าเรา ถูกกว่าเยอะมากด้วย แต่หลายครั้ง ชาวต่างชาติก็ยังเลือกงานของคนไทย เราดีใจมากที่ได้ยินเขาบอกว่า ถ้าอยากได้งานคุณภาพ ไปไทยดีกว่า
เขาไปรู้มาจากไหนว่าคนไทยมีฝีมือ
อ้อ: เราคิดว่ามาจาก 2 อย่าง หนึ่งก็คือหน่วยใหญ่ พวกสตูดิโอ ซึ่งเราก็ต้องขอบคุณเขาที่รับงานมาจากต่างประเทศ จนต่างประเทศได้เห็นว่า โห คนไทยทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ งั้นจ้างคนไทยทําก็ได้นะ ส่วนหน่วยเล็กก็คือเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เอาตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ พอเขาไปแสดงฝีมือ มันก็เกิดกระแสปากต่อปากว่าคนไทยเก่ง ล่าสุดเมื่อต้นปี เราได้สัมภาษณ์งานกับทางออสเตรเลีย ตอนเขาอ่านเรซูเม่แล้วเห็นว่าเราเป็นคนไทย เขาก็พูดขึ้นมาเลยว่า คนไทยฝีมือดีมากเลยนะ เขาโอเคกับคนไทยมากในระดับหนึ่งเลย ภาพลักษณ์เราดีครับ ในวงการนี้นะ คุ้มเงิน คุ้มราคา ทำได้ทุกสไตล์
ผู้ชมบางส่วนมักตำหนิว่า ‘อนิเมชั่นไทยบทไม่ดี ผูกติดกับวัฒนธรรมไทยมากเกินไป’ ทั้ง 2 คนคิดเห็นอย่างไรบ้าง
อ้อ: สิ่งนี้เป็นปัญหาโลกแตก เราว่ามันแยกกันโดยสิ้นเชิงเลย ก็คือต้องแยกบทดีบทแย่ออกจากวัฒนธรรมไทยก่อน เพราะต่อให้ไม่สอดแทรกวัฒนธรรมไทย มันก็มีทั้งที่บทดีและแย่ หรือเรื่องที่มีวัฒนธรรมไทย มันก็มีทั้งที่สนุกและไม่สนุกเหมือนกัน เราอยากจะชวนมองไปที่ญี่ปุ่น ตลาดอนิเมชั่นของที่นั่นใหญ่มาก แต่ก็ยังมีทั้งเรื่องที่บทดีบทแย่ มีทั้งเรื่องที่ใส่และไม่ใส่วัฒนธรรมญี่ปุ่นลงไป แต่ประเด็นคือเขาดูจะให้ความสำคัญกับการทำบทให้ดีที่สุด มากกว่าการกังวลว่าเรื่องนี้ต้องมีวัฒนธรรมหรือเปล่า โอเค มันอาจจะมีคำศัพท์หรือชื่อตัวละครญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องมีกิโมโนหรือซามูไร เขาคิดว่าเอาให้สนุกพอ แต่ที่เขาคิดแค่นั้นได้อาจจะเป็นเพราะมันมีตลาดรองรับชัดเจน ขายลูกค้าไม่ยากเท่าของไทย อนิเมชั่นไทยไม่ได้เป็นที่นิยมขนาดนั้น การจะได้ทุนมาจึงมีข้อจำกัดหลายอย่าง บางทีที่คิดมาดีมาก สนุกมาก แต่อยู่นอกกรอบแฮะ ทำไม่ได้แน่เลย ก็ต้องพับไอเดียไปก็มี
พูดง่ายๆ คือต้องคิดพล็อตที่ขายผ่านใช่ไหม
อ้อ: ใช่ แบบนั้นเลย แต่จริงๆ ทุกที่ก็มีกรอบที่แตกต่างกันนะ คนออกทุนในไทยก็อาจจะมีความต้องการแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสตูดิโอต่างประเทศ ตอนนี้ก็อาจจะเริ่มอยากสอดแทรกความเป็น LGBTQ+ พูดเรื่องเชื้อชาติมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาบางอย่างที่ไม่เข้าข่ายนี้ก็อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติ เพียงแต่ว่ากรอบของเขาน่าจะกว้างกว่าเรา
AI มาแล้วจ้า!
การมาถึงของ AI ส่งผลกระทบต่อแวดวงอนิเมเตอร์ไหม อย่างไร
ส้ม: ส้มตอบในแง่ของการทําอาร์ตดีไซน์ก่อนละกัน คิดว่าอาจจะมีผลในอนาคตนะคะ เพราะว่า AI พัฒนาเร็วมาก จากที่เมื่อก่อนสร้างภาพออกมาไม่ค่อยสวย มีความผิดเพี้ยน แต่ปีสองปีมานี้ มันทำภาพออกมาได้ค่อนข้างดีเลย มันมาไวจนกฎหมายลิขสิทธิ์ยังตามไม่ทัน จึงเกิดเป็นกระแสต่อต้านอย่างที่เห็น เพราะไอเดียตั้งต้นของ AI ก็คือภาพในอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้มีการขออนุญาต แต่ในอนาคต บริษัทที่พัฒนา AI ก็อาจแก้ไขช่องโหว่ตรงนี้ เพราะคนสร้าง AI ก็คงไม่อยากมีปัญหากับศิลปินอยู่แล้ว
อ้อ: เราทํางานเกี่ยวกับการเล่าเรื่องหรือลําดับภาพ AI เลยยังมาไม่ถึง แต่เราเชื่อว่ามาแน่ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์จะคิดค้นอะไรที่ทําให้ตัวเองทํางานน้อยลงเสมอ ดีไม่ดีเราว่า ในอนาคตจะมีงานที่กํากับโดย AI คือทําหน้าที่แทนผู้กํากับในระดับหนึ่งเลย แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยังไงนะ มันอาจจะไม่ใช่ในยุคของเราก็ได้
หรือในอนาคตจะมีกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้AI?
อ้อ: ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ก็อย่างที่ส้มบอกคือกฎหมายตามไม่ทัน จริงๆ มันก็เป็นไปได้ทุกหน้านะ แต่ส่วนตัวเราเชื่อว่า ไม่มากก็น้อย มันจะกลายเป็นเครื่องมือให้ทุกคนได้ใช้งาน
แล้วถ้าเราใช้มันเป็นเครื่องมือ เราจะถูกมันแย่งงานรึเปล่า
อ้อ: นั่นคือสิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่ตลอด ต้องคิดว่าอะไรล่ะที่เราทําได้ เราใช้งานมันได้แค่ไหน ก็ต้องเตรียมตัวนิดนึง
ส้ม: ตอนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ทุกคนต้องวาดมือกันหมด แต่พอมีคอมพิวเตอร์แรกๆ ก็มีกระแสต่อต้าน ใช้แล้วศิลปินไม่ค่อยได้แสดงฝีมือ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปข้างหน้าเรื่อยๆ วันนี้เราก็รู้แล้วว่าคงไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้คอมได้ AI ก็เหมือนกัน คิดว่าน่าจะต้องปรับตัวไปกับเทคโนโลยีในอนาคต แต่ว่าก็ต้องใช้มันให้ถูกวิธี มองมันเป็นเครื่องมือของเรา ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่มีไว้เอาภาพของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต
เราเองในฐานะผู้ชมก็คงต้องติดตามกันต่อว่า ทิศทางตลาดอนิเมชั่นในไทยจะเป็นอย่างไร เด็กรุ่นใหม่จะอยากฝึกฝนตัวเองอย่างที่ส้มกับอ้อก็ยังทำเป็นประจำหรือไม่ และ AI จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้อย่างที่หลายคนเป็นกังวลหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือจินตนาการของผู้คนที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวแสนสนุกให้โลกได้เชยชม เป็นจินตนาการของเหล่าอนิเมเตอร์ที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจที่แสนสดใสกับคนรุ่นหลังต่อไป…
รับชมผลงานของส้ม—ดวงกมล และอ้อ—ณัฐพงษ์ได้ที่