“I’m bi, actually. And so what?”
คือประโยคซึ่งตัวละคร ‘นิก เนลสัน’ ที่รับบทโดยคิต คอนเนอร์ (Kit Connor) ในซีรีส์ Heartstopper พยายามอธิบายทุกครั้งเมื่อใครสักคนเหมารวมไปแล้วว่าเขาเป็นเกย์
อันที่จริง ตัวนิกเองก็ไม่ถึงกับขุ่นเคืองอะไรหากคนอื่นจะเข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศของเขาไม่ถูกต้อง แต่เจ้าตัวคงคิดว่า อย่างน้อยที่สุด ถ้าได้ลองบอกออกไปสักหน่อยก็คงจะดี ส่วนอีกฝ่ายจะเชื่อหรือไม่ เข้าใจหรือเปล่า คงเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ ทว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญดังคำต่อท้ายที่ว่า “And so what? (แต่แล้วไงล่ะ)” เพราะจนแล้วจนรอด นิกก็พอใจในชีวิตของตัวเอง มีความรักที่ดีร่วมกับแฟนอย่าง ‘ชาร์ลี สปริงก์’ ที่รับบทโดยโจ ล็อค (Joe Locke) และเขาก็รู้ดีว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดที่คนบางกลุ่มมีต่อไบเซ็กซ์ชวลหรือกลุ่ม LGBTQ+ ได้
ถอยออกมามองยังโลกความจริง คงต้องบอกว่าระดับความเข้าใจที่คนทั่วไปมีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่ใช่ทุกคนที่เปิดรับ แต่การที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีคอนเทนต์ว่าด้วยความสัมพันธ์ของชาวเควียร์เป็นที่นิยมทั่วโลกถึง 2 เรื่องก็นับเป็นแนวโน้มที่สร้างรอยยิ้มได้ไม่น้อย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Heartstopper ซีซั่น 2 และภาพยนตร์ Red, White & Royal Blue*
เรื่องแรกคือซีรีส์ที่เรากล่าวไปก่อนหน้า ในซีซั่นที่ 2 นี้ สายใยระหว่างชาร์ลีและนิกกำลังพัฒนาสู่จุดที่ทั้งคู่ต้องการเปิดเผยสถานะให้คนรอบข้างรับรู้ ทว่านั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในโรงเรียนชายล้วนซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของการบูลลี่
เรื่องถัดมาคือภาพยนตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์อันว้าวุ่นระหว่างเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักรกับลูกชายของประธานาธิบดีสหรัฐในชื่อ Red, White & Royal Blue ที่หน้าหนังอาจปูมาเป็นแนวโรแมนติก-คอเมดีทั่วไป แต่เรื่องราวภายในกลับแฝงสารพัดแง่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงกดทับของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อาจมากเป็นพิเศษเมื่อคุณเป็นผู้มีชื่อเสียงเหมือนอย่าง ‘อเล็กซ์’ ลูกชายประธานาธิบดีที่รับบทโดยเทเลอร์ ซาคาร์ เปเรซ (Taylor Zakhar Perez) และ ‘เฮนรี่’ เจ้าชายผู้เป็นหน้าเป็นตาของสถาบันกษัตริย์ที่รับบทโดยนิโคลัส กาลิตซีน (Nicholas Galitzine)
จุดร่วมที่พาให้ทั้ง Heartstopper และ Red, White & Royal Blue เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชมคงหนีไม่พ้นท่าทีในการบอกเล่าความรักของกลุ่ม LGBTQ+ ที่แม้จะมีอุปสรรค แต่ก็ไม่จำเป็นต้องโศกเศร้า ฟูมฟาย หรือลงเอยด้วยความผิดหวังเสมอไป นอกจากนี้ การที่ทั้งสองเรื่องเลือกสอดส่องไปยังความกดดันในการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและมิติของตัวละครไบเซ็กซ์ชวล ก็ส่งให้เรื่องราวชวนถูกพูดถึงยิ่งขึ้นไปอีก
‘B’ ของนิกกับอเล็กซ์
“แล้วลูกเป็นเกย์ ไบ เพศลื่นไหล แพน หรือเควียร์ล่ะ” ประธานาธิบดีถาม
“เย็นไว้แม่ ผมเป็นไบ” อเล็กซ์ตอบ
“โอ้ เยี่ยมเลย ลูกรู้ใช่มั้ยว่าตัว B ใน LGBTQ+ ไม่ใช่ตัวอักษรที่ถูกมองข้ามแล้วนะ”
บทสนทนาระหว่างแม่ลูกในทำเนียบขาวจาก Red, White & Royal Blue บอกกับผู้ชมว่า สังคมเริ่มเปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ผู้เป็นแม่พอจะทราบถึงความต่างของแต่ละเพศ ที่แน่ๆ คือรู้จักคำว่า ‘ไบเซ็กซ์ชวล (Bisexual)’ อันหมายถึง บุคคลที่ดึงดูดทั้งทางเพศและเชิงโรแมนติกต่อคนในอัตลักษณ์ทางเพศเดียวกัน และอัตลักษณ์ทางเพศอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น ฉากนี้ยังอธิบายกับคนดูได้เป็นอย่างดีว่า การคุยกันเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเพียงอีกหัวข้อพูดคุยทั่วไปที่ทุกคนควรเอ่ยออกมาอย่างเปิดเผยได้ทุกครั้งที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกที่ที่เข้าใจและยอมรับซึ่งความแตกต่างหลากหลาย คนอีกมากมายก็ยังเข้าใจว่าไบไม่ต่างอะไรกับเกย์ ทั้งยังเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันหมด
“โอ๊ยแม่! มันบอกว่ามันเป็นไบ โคตรจะตอแหลทั้งเพ มันไม่กล้ายอมรับด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเกย์” พี่ชายของนิกใน Heartstopper ตะหวาดเสียงดัง สะท้อนอย่างบ้าคลั่งว่าเขาไม่มีความเข้าใจในเรื่องเพศแม้แต่น้อย และจากท่าทางที่แสดงออก เขาก็ไม่มีกระทั่งความตั้งใจในการเริ่มพูดคุยกับน้องของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
คำพูดของเนลสันคนพี่อาจพาให้ผู้ชมรู้สึกเดือดดาล แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าตัวละครนี้คือภาพแทนของคนอีกกลุ่มในสังคมที่ฉุดกระชากให้ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ปรากฏอย่างแท้จริง อีกทั้งตัวละครนี้ยังกล่าวหาชาร์ลีอีกด้วยว่า “ฉันแค่อยากจะรู้จักคนที่เปลี่ยนน้องชายฉันให้กลายเป็นเกย์” ตอกย้ำอย่างดีว่ามนุษย์คนนี้มีสภาวะเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ Homophobia
การมีอยู่ของผู้คนซึ่งไม่ยอมรับเพศสภาพที่ขัดแย้งกับค่านิยมในอดีตทำให้แรงสนับสนุนของผู้ที่เข้าใจสำคัญกว่าที่เคย เมื่อโลกใบนี้ยังมีคนที่พร้อมโจมตีเป็นจำนวนมาก การมีเพื่อนที่คอยโอบอุ้มปลอบใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งความโชคดีของนิกกับอเล็กซ์คือพวกเขามีเพื่อนและครอบครัวที่พร้อมรับฟังและนั่งกอดในวันที่โลกทั้งใบใจร้ายจนเกินไป
แต่ถ้าให้ว่าอย่างเป็นกลาง จริงๆ แล้วในสังคมก็มีคนอีกมากที่ไม่ได้เกลียดกลัว เพียงแต่ยังไม่เข้าใจในความหลากหลายของเพศวิถี ทางที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การผลักคนกลุ่มนี้ออกไป หากแต่เป็นการให้ความรู้โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเข้าใจไม่มากก็น้อย
“พ่อดีใจที่ได้เจอแฟนของลูก (Boyfriend) พ่อไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้หรอก แต่เขาดูเป็นเด็กที่นิสัยดีนะ”
หากดู Heartstopper ซีซั่น 2 จนจบ เราคงรู้ว่าผู้เป็นพ่อทำหน้าที่พ่อได้ไม่ดีนัก แต่กระนั้น คำพูดสุดท้ายของเขาก่อนออกจากบ้านก็บอกเป็นกรายๆ ว่า แม้ยังไม่เข้าใจ แต่เขาก็พร้อมจะยอมรับและเรียนรู้ต่อไป
Coming out of the Closet
เป็นวลีที่หมายถึงการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง อันเป็นสิ่งซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมากมองว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับ หลายคนวิตกกังวลกับการบอกความจริงนี้กับเพื่อนสนิท บ้างมีอาการเครียดเรื้อรังเพราะไม่รู้ว่าหากพูดออกไป คนที่บ้านจะรับได้รึเปล่า เกิดเป็นความสับสนภายในจิตใจและการสู้กันในหัวของตัวเอง เพราะใจหนึ่งก็อยากเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่อีกใจก็เกรงกลัวต่อผลลัพธ์ที่จะตามมา เป็นจุดที่ชวนให้รู้สึกราวกับว่า เพศของเราต้องได้รับการอนุญาตจากคนอื่น
“ฉันก็อยากบอกคนอื่นนะ ก็แค่หาจังหวะเหมาะยากๆ” นิก เนลสันว่า
“นายไม่จำเป็นต้องบอกทุกคน หรือจริงๆ นายไม่ต้องบอกใครเลยก็ได้ถ้าไม่อยาก” ชาร์ลีปลอบ
ทั้งคู่นิ่งไปก่อนที่ชาร์ลีจะทิ้งท้ายว่า
“คนชอบคิดว่า ถ้าเราไม่ได้เป็นสเตรต เราต้องรีบบอกครอบครัวและเพื่อนๆ ทันที เหมือนเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่มันไม่ใช่…ฉันอยากให้นายคัมเอาต์ในตอนที่นายอยากและในแบบที่นายต้องการ”
หากทุกคนบนโลกคิดได้แบบชาร์ลี ความกดดันซึ่งชาว LGBTQ+ มีก็คงน้อยลงหลายเท่าตัว เพราะจริงๆ แล้วตัวตนของเราไม่ใช่สิ่งที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากใคร และเราเลือกได้ว่าอยากบอกตอนไหนและอย่างไร
หันมามองที่ Red, White & Royal Blue แม้ในทางหนึ่ง เรื่องราวซึ่งว่าด้วยความรักระหว่างเจ้าชายและคนในแวดวงการเมืองจะโรแมนติกชวนฝัน ทว่าอีกทาง มันก็คือการเปรียบเปรยถึงแรงกดดันที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ เพราะลึกๆ แล้ว การบอกเรื่องนี้กับใครสักคนก็ลำบากไม่ต่างจากการเป็นเจ้าชายที่ต้องประกาศรสนิยมแหวกขนบให้สาธารณะชนรับรู้
หลังจากความสัมพันธ์ของเฮนรีกับอเล็กซ์ถูกเปิดเผยโดยผู้ไม่หวังดี ในฐานะลูกของประธานาธิบดีที่แม่กำลังจะลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้สมัยที่ 2 จึงต้องออกมาแถลงข่าว
“แม้เราทั้งคู่จะรู้ดีว่าการเป็นบุคคลสาธารณะนั้นมีความหมายอย่างไร เราก็ไม่เคยคาดคิดว่า ความคิด ความกลัว และความจริงที่เป็นส่วนตัวและลึกซึ้งที่สุดของเราจะกลายเป็นเป้าที่สาธารณชนตรวจสอบ”
“สิ่งที่ถูกพรากไปจากเราในสัปดาห์นี้คือสิทธิในการกำหนดว่า เราควรเปิดเผยความสัมพันธ์และตัวตนเควียร์ของเราให้โลกรู้แบบไหนและอย่างไร เพราะความเป็นจริงคือผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนมีสิทธิที่จะเปิดเผยเพศวิถีตามเงื่อนไขและเวลาของตัวเอง และอันที่จริง พวกเขามีสิทธิเลือกที่จะไม่เปิดเผยเลยก็ได้”
“การบังคับให้เราเปิดเผยเพศวิถีไม่ใช่ทางออกของขนบที่บีบให้เราปิดบังตัวเองมาตลอด มันไม่ใช่ความอับอาย แต่เป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและสิทธิขั้นพื้นฐานในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นหลักการพื้นฐานของการปลดแอกที่ชาวเควียร์ดิ้นรนต่อสู้มาตลอด…”
“ผมหวังว่าสักวัน เราจะมีโอกาสเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อหน้าสาธารณะตามเงื่อนไขของเราเอง”
โดยสรุป ทั้ง Heartstopper และ Red, White & Royal Blue กำลังบอกกับเราคนดูว่า ความเข้าใจในเรื่องเพศเป็นสิ่งสำคัญ สุดท้ายทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ที่สุขได้ เจ็บเป็น และอยากมีความรักที่สวยงามไม่ต่างกัน ดังนั้น แทนที่จะแบ่งแยกหรือผลักไส เราควรเปิดใจและทำความเข้าใจมากกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น หนังและซีรีส์ทั้งสองยังสื่อสารไปยังกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างหนักแน่นแต่อ่อนโยนอีกด้วยว่า พวกเราสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศได้ตามความสบายใจ กระทำในโอกาสที่เราเลือกเอง หรือหากเราไม่ต้องการป่าวประกาศให้ใครทราบก็ไม่ใช่เรื่องผิด
เพราะหากมองกันจริงๆ เพศอื่นๆ ก็ไม่เห็นต้องแสดงตนว่าตัวเองเป็นเพศไหนด้วยซ้ำไป
อ้างอิงข้อมูล