ใครที่รู้จักกันจะพบว่าผมเป็นคนติดการดูทีวีซีรีส์ และในบรรดาซีรีส์ทั้งหลายนั้น ไม่มีอะไรที่ผมจะแนะนำมากไปกว่าซีรีส์อังกฤษเล็กๆ ที่ชื่อว่า Black Mirror
อย่าเข้าใจผิด! Game of Thrones นั้นก็เจ๋ง Sherlock นั้นก็ดี The Good Wife นั้นก็งามทุกประการ รวมถึงซีรีส์อย่าง Fringe, Lost, Person of Interest, Westworld และอื่นๆ ก็ต่างทำหน้าที่ของมันได้อย่างน่านับถือ แต่ถ้าผมจะต้องแนะนำซีรีส์ให้กับใครเพียงเรื่องเดียวละก็ Black Mirror คือสิ่งที่ผมจะแนะนำ
ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบทความเพื่อแนะนำซีซั่นหนึ่งกับสองไปแล้ว สามารถอ่านได้ตามลิงก์นี้ https://thematter.co/rave/black-mirror-series/10481
ในโอกาสที่ Black Mirror ถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้โลดแล่นบนแพลตฟอร์มอย่าง Netflix (และเป็นการชุบชีวิตที่น่าประทับใจมาก เพราะมาทีเดียวถึง 6 ตอน – ทั้งหมดมาพร้อมกันในวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา) จึงได้โอกาสที่ผมจะมารีวิว Black Mirror เพื่อ “ขาย” ซีรีส์เรื่องนี้ให้กับคุณอีกครั้ง หากคุณยังไม่เชื่อจากการขายครั้งเก่าก่อน
Black Mirror เป็นซีรีส์ที่ทำหน้าที่เหมือนกระจก มันคอย ‘ส่อง’ ให้เราเห็นด้านมืดของเทคโนโลยี มันทำหน้าที่นี้ได้ดีมาโดยตลอดผ่านทางเรื่องเล่าที่แต่ละตอนไม่เกี่ยวเนื่องกัน ดูในลำดับไหนก็ได้ แต่ทั้งหมดเล่าเรื่องเดียวกัน คือเล่าว่าหากเทคโนโลยีดำเนินไป ‘เกินการควบคุม’ ของมนุษย์แล้ว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
ในซีซั่นแรกและซีซั่นที่สองมันพูดถึงสังคมโซเชียลเนตเวิร์ก มันพูดถึงการรักษาความทรงจำให้ย้อนกลับไปดูเมื่อไรก็ได้ มันพูดถึงเรียลลิตี้โชว์และการโหวต และมันพูดถึงการพยายามเหนี่ยวรั้งใครสักคนจากความตาย – เพื่อผู้ที่ยังยืนหยัดอยู่บนโลกมนุษย์
ในซีซั่นสามนี้ ผู้สร้างคนเดิม (คือ ชาร์ลี บรูกเกอร์ Charlie Brooker – ซึ่งทำหน้าที่เขียนบททุกตอนด้วย) กลับมาพร้อมกับการวิพากษ์สถานการณ์ใหม่ๆ อีกหกตอน โดยในหกตอนนี้จะมีการโยกย้ายโลเคชั่นจากที่เคยเซ็ตอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนมาเป็นโซนอเมริกาบ้างในบางตอน (เพราะมันจะฉายลง Netflix ด้วย จึงต้องทำให้เข้าถึงได้มากขึ้น)
การอยู่ในแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้นนี้ไม่ได้เปลี่ยนเพียงโลเคชั่นของซีรีส์เท่านั้น แต่ขณะที่ชมยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าซีซั่นสามทั้งซีซั่นถูก americanize หรือ ‘ทำให้เป็นอเมริกัน’ มากขึ้น การทำให้เป็นอเมริกันมากขึ้นนี้นอกจากเรื่องของวัฒนธรรมแล้ว ยังหมายถึงว่า ซีรีส์มีการเล่าที่เป็นอเมริกันมากขึ้นด้วย จากซีรีส์ที่เคยฉาบประเด็นในแต่ละตอนอยู่บางๆ และคนดูต้อง ‘เข้าใจเอง’ หรือ ‘คิดในส่วนที่เหลือเอง’ ในซีซั่นสามในหลายตอน Black Mirror กลับเลือกที่จะขีดเส้นใต้ย้ำประเด็นเดิมให้ชัดเจนจนแทบไม่ต้องตีความอะไร
นี่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นข้อดีที่ทำให้ ‘เข้าถึงง่าย’ ขึ้นอย่างที่บอกไปแล้ว – แต่ก็อาจเป็นข้อเสียตรงที่มันจำกัดพื้นที่ในการตีความเกินไป
เมื่อคุณขีดเส้นใต้ประเด็นเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณก็จะพบว่าแทนที่การสื่อสารในประเด็นนั้นจะทรงพลังขึ้น – มันกลับอ่อนแอลง
มาดูกันดีกว่าว่า ในซีซั่นสามนี้ Black Mirror เล่าอะไรบ้าง โดยไม่สปอยล์
Episode 1 Nosedive (ความดีงาม 75%)
ตั้งคำถามต่อ ‘สังคมติดการรีวิว’ ว่าถ้าวันหนึ่งในอนาคต พวกเราแต่ละคนรีวิวกันได้ และคะแนนรีวิวส่วนตัวของพวกเรากำหนดสิทธิในการเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการทำงาน ทั้งการพักผ่อน ทั้งที่อยู่อาศัยและการเดินทาง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เราจะ ‘บ้า’ คะแนนจนไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากนั่งดูและทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ หรือไม่ และการทำเช่นนั้นจะเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของเราไปหรือเปล่า
Episode 2 Playtest (ความดีงาม 70%)
ปัจจุบันเราได้ยินคำว่า Virtual Reality หรือความจริงเสมือนบ่อยครั้ง หลายคนอาจเคยลองเล่นเกมที่ใช้ VR ผ่านทางอุปกรณ์อย่าง Oculus Rift หรือ PlayStation VR มาแล้ว คนที่ลองแล้วมักบอกกันว่า ‘แทบแยกไม่ออกว่าที่เห็นนั้นเป็นความจริงหรือเป็น CG’ ใน Black Mirror ตอนนี้ ผู้สร้างพยายามขยับ ‘การแยกไม่ออก’ นี้ไปจนสุดทาง โดยสมมติเรื่องเล่าของชายคนหนึ่ง ที่จับพลัดจับผลูได้เป็น Playtester (ผู้ทดสอบเกม) ความจริงเสมือนล้ำยุค ที่ล้ำจนแยกไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรปลอมอีกต่อไป – และขอบเขตของความเป็นจริงอยู่ตรงไหนกันแน่ ในตอนนี้เวลาดูจะให้ความรู้สึกว่าดูหนังสยองขวัญอยู่
Episode 3 Shut Up and Dance (ความดีงาม 75%)
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราก็มักจะละเลยไปเพราะคิดว่าภัยคงไม่มาถึงตัว ทว่า หากคุณได้ดู Shut Up and Dance คุณก็จะอาจจะตระหนักถึงปัญหาที่ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอดนี้อีกครั้ง ต่างจาก Episode อื่นๆ, Shut Up and Dance เล่าถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดได้ในวันนี้ ตอนนี้ และอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ – มันเล่าเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกแฮกเกอร์ล้วงเอาฟุตเทจส่วนตัวที่น่าอับอายไปผ่านทางกล้องที่ติดกับคอมพิวเตอร์ พวกมันใช้ฟุตเทจนี้เป็นเครื่องมือต่อรองให้เขาทำงานที่ซับซ้อนและเสี่ยงอันตรายขึ้นเรื่อยๆ มิฉะนั้นจะปล่อยวิดีโอไปเกลื่อนอินเทอร์เนต จนกระทั่ง…
Episode 4 San Junipero (ความดีงาม 80%)
จริงๆ ต้องไม่เล่าเรื่องย่อของ Episode นี้เลย คุณถึงจะดูได้สนุก – เอาเป็นว่าขอเล่าเฉพาะที่เรื่องย่ออย่างเป็นทางการให้มาแล้วกัน เขาบอกว่าตอนนี้เซ็ตอยู่ในแถบแคลิฟอร์เนียปี 1987 ที่เมือง ซาน จูนิเพโร่ ที่เป็นเมืองชายทะเลอบอวลไปด้วยอารมณ์รักสนุก ที่เมืองแห่งนี้ ยอร์กี้ สาวน้อยท่าทางเนิร์ดคนหน่ึงได้พบกับ เคลลี่ สาวห้าวผิวสี และได้พัฒนาความสัมพันธ์กัน – มันเป็นความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงทั้งกาลเวลา และความเป็นจริงได้เลยทีเดียว – แต่เปลี่ยนอย่างไร คุณต้องดูเอง
Episode 5 Men Against Fire (ความดีงาม 80%)
เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของการรบสมัยใหม่ ที่หน่วยรบจะถูกฝังชิปเข้าไปในก้านสมองเพื่อให้เห็นข้อมูลต่างๆ ช่วยประกอบการตัดสินใจ ที่สนามรบแห่งนี้สไตรป์ ทหารใหม่ จะต้องร่วมมือกับกองกำลัง เพื่อปกป้องชาวบ้านจากเหล่ามิวแทนท์ที่มีชื่อว่า ‘Roach’ เมื่อดูจบ คุณอาจรู้สึกว่าการต่อสู้ครั้งนี้ทำให้เราเห็นความเป็นจริงของสงครามในปัจจุบัน
Episode 6 Hated in the Nation (ความดีงาม 90%)
นี่เป็นตอนที่ยาวมาก ยาวถึง 90 นาที คือเรียกว่าเป็นหนังโรงได้เลย หาก Black Mirror คิดจะทำหนังแนวสืบสวนสักตอน นี่ก็คงเป็นคำตอบ มันเล่าถึงอนาคตอันใกล้ สองตำรวจสาวต้องหาเหตุผลและตัวการในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ผู้ตายเป็น ‘เหยื่อการล่าแม่มด’ ในโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น
หากจะมีตอนไหนของ Black Mirror ที่เหมาะกับประเทศไทยที่สุดก็คงเป็นตอนนี้เอง และแนะนำว่าต้องดูให้จบ เพราะมันสอนถึง ‘บทเรียนและผลลัพธ์’ จากการกระทำของแต่ละคนจริงๆ