พูดถึงหนังไทย ใครฟังคงมีโยงเข้าหาหนังผีกันบ้าง ก็บ้านเราสร้างเก่ง เรื่องผีนี่ไม่มีใครเกิน เล่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง และเห็นกันอยู่ทุกปีว่าต้องมีหนังผีฝีมือคนไทยเข้าโรงอย่างไม่ขาดสาย เรื่องเล่าผีเลยเป็นเหมือนภาพติดตาที่มักจะแพ็คคู่มากับหนังไทย แม้กระทั่งในคนไทยก็คงเอะใจอยู่เหมือนกัน
ทีนี้พอซีรีส์ ‘เคว้ง’ (The Stranded) ปล่อยตัวอย่าง พร้อมประกาศว่าจะปล่อยให้ได้ดูพร้อมกันวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ แค่เห็นทีมดารานักแสดงรุ่นใหม่อย่าง มาร์ช—จุฑาวุฒิ ภัทรกาพล หรือ แพท—ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ก็เนื้อเต้นอยากดูขึ้นมาแล้ว ยังมีนักแสดงรุ่นเก๋า เช่น นก—สินจัย เปล่งพานิช และ เมฆ—หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร มาร่วมด้วยก็คงไม่ต้องพูดถึง
ในอีกทางนึง บางคนดูตัวอย่างจบอาจเริ่มสงสัยในใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ กลิ่นอายมันคุ้นๆ ซาวน์ดนตรีดูหลอนๆ ในบางช่วง ซีรีส์นี้จะมาแนวผีอีกรึเปล่า เพราะเราคนไทยก็ดูจะชินกับเนื้อหาแนวนี้ไปแล้ว
แม้จะเคยฝากผลงานไว้มากมาย เช่น ลัดดาแลนด์ และโปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต แต่ “ซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ใช่ซีรีส์ผี” คือคำพูดที่ จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ ผู้กำกับของซีรีส์เรื่องนี้ย้ำให้ฟัง ขณะนั่งคุยด้วยกันกับ เอริกา นอร์ธ หัวหน้า international content ของ Netflix ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่ The MATTER ได้รับเชิญไปดูเนื้อหาตอนแรกของ เคว้ง ในรอบพิเศษ
แล้วถ้าไม่ใช่เรื่องผีที่คนไทยถนัด แล้วจะเล่าเรื่องอะไรล่ะ? วันนี้ The MATTER เลยจะมาแง้มให้ฟังกันคร่าวๆ ว่า เคว้ง มีเนื้อหายังไง น่าติดตามไหม และอะไรคือเสน่ห์ของบ้านเราที่จะทำให้คนต่างชาติอิน
ชวนไปติดเกาะกันอีกสักครั้ง
ใครดูละครช่องหลักมักจะเจอและคุ้นเคย กับพล็อตเรื่องสไตล์ ‘ติดเกาะ’ ดูกันมาเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เนื้อหาที่พอจะเดาได้ คือ ต้องมีฉากที่คู่พระนางถูกทะเลซัด นอนเกยอยู่ที่ชายหาด ก่อนจะพากันหาทางเอาตัวรอด แล้วมารักกันในตอนสุดท้าย
ถึงอย่างนั้นก็อยากให้ลองลบภาพที่ว่าไปก่อน เพราะสิ่งที่ซีรีส์ เคว้ง จะเล่าคือเรื่องราวของกลุ่มเด็กมัธยมปลาย ที่เพิ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังประจำเกาะพินตู เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งทางตอนใต้ของไทย แต่ชะตาของเด็กวัยย่างเข้ามหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ กลับต้องมากลายเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิครั้งใหญ่ในฝั่งทะเลอันดามัน ซีรีส์ เคว้ง จึงเล่าถึงการเอาชีวิตรอดของนักเรียนสามสิบกว่าคนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แค่นั้นยังไม่พอ พวกเขายังต้องเจอกับเหตุการณ์ประหลาดๆ อีก
มาถึงตรงนี้ ตัวซีรีส์ เคว้ง เริ่มดูคล้ายซีรีส์ต่างชาติอย่างเรื่อง Lost หรือ The I-Land มากกว่าจะเป็นแนวผีๆ แต่มีความต่างตรงที่ตัวละครส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ แต่เป็นวัยรุ่น ขวบวัยที่กำลังค้นหาตัวเองและเริ่มตามหาความหมายของชีวิตจึงเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งผู้กำกับ หรือ จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ บอกว่า
“ผมว่าในวัยรุ่น ในวัยของคนที่จบ ม.6 กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย กำลังจะโต เป็นวัยที่เขาค้นหาตัวเอง เขายังไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะไปเจออะไร เขาจะกลายเป็นคนแบบไหน บางทีอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งมันเข้ากับตัวละครในเรื่องเรามาก คือตัวละครทุกตัวบางทีไม่รู้หรอกว่ามีด้านมืดในตัวเองอยู่ ทุกคนไม่รู้ว่าตัวเองคิดยังไง จริงๆ แล้วเรารักคนที่เรารักจริงรึเปล่า เราไม่รู้ว่าเหตุผลคือะไรกันแน่ ทุกคนต่างทำตามอารมณ์วัยรุ่น
“คือพอเกิดภัยพิบัติขึ้นมา มันก็เหมือนกับบังคับโต อยู่ดีๆ เราต้องมาดูแลตัวเอง เหมือนเราเข้ามหาวิทยาลัยแล้วต้องเป็นผู้ใหญ่ มันบีบบังคับให้เราต้องเลือกทางเดินของตัวเองโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่เข้ามาตีกรอบว่า เราต้องเดินซ้ายเดินขวา ผมว่าการตัดสินใจของวัยรุ่นในเรื่องค่อนข้างจะเรียล ใครที่เคยมีเนื้อแท้ยังไง ใครเคยเก็บ เคยปิดบังไว้ยังไง จะค่อยๆ เปิดเผยออกมา
“นอกจากเราที่เป็นคนดูจะค้นหาตัวละครแล้วเนี่ย
ตัวละครยังค้นหาตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
ได้ยินแบบนี้ก็ชวนให้นึกถึง ‘Lord of the Flies’ หนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน เขียนโดย วิลเลียม โกลดิง วรรณกรรมชิ้นเอกระดับขึ้นหิ้งที่เล่าถึงการติดเกาะของเหล่าเด็กชายชาวอังกฤษในยุกสงครามโลก ในช่วงแรกเด็กๆ ต่างพึ่งพากันและกัน แต่จนแล้วจนรอด เหตุการณ์ก็พัดพาให้พวกเขาหันเข้าการแย่งชิงอำนาจ ความป่าเถื่อนครอบงำจิตใจ ด้านมืดของผู้คนถูกเปิดเผยออกมาผ่านวัยเยาว์ที่ยังไม่ประสีประสา และถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ถูกตัดขาดจากความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ‘Lord of the Flies’ ที่อ้างถึงนั้นสุดท้ายจบยังไง จะเกี่ยวข้องกับซีรีส์เรื่อง เคว้ง รึเปล่า อยากให้ไปลองดู ลอหาหนังสือมาอ่านกันเองนะ อันนี้ขอไม่แง้มบอก บอกได้แค่ว่า เคว้ง จะมีฉากหลังที่เป็นปัจจุบันมากกว่า และแม้เกาะพินตู ที่ตัวชื่อมาจาภาษามลายู แปลว่า ‘ทางออก’ (exit) จะเป็นเกาะสมมติ แต่นักเรียนกลุ่มนี้ก็อยู่ในยุดที่มีเทคโนโลยี มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก
“สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับคาแรกเตอร์เหล่านี้ คือ เหตุการณ์ที่บังคับให้พวกเขาต้องรับมือกับสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเขาเอง เรามีเด็กๆ ที่อยู่กับการเชื่อมต่อตลอดเวลา อยู่กับมือถือ อยู่กับโซเชียลมีเดีย แต่ต้องมาติดอยู่ในเกาะแห่งนี้ ทั้งหมดจึงต้องหา ให้ได้ว่าพวกเขาเองเป็นใครกันแน่ในวันที่ไม่มีโซเชียลมีเดียทั้งหลาย และพวกเขาบางคนก็เริ่มรู้ว่า การสื่อสารระหว่างคนจริงๆ มันสำคัญกว่าการสื่อสารบนโลกออนไลน์ หรือรูปภาพที่เขานำเสนอตัวเองในโซเชียลมีเดียนั้นแตกต่างจากตัวตนของเขาจริงๆ” เอริกา นอร์ธ พูดให้ฟังเมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่เนื้อเรื่องจะพาไป
เคว้ง (The Stranded) จึงใช้การเอาชีวิตรอดของเด็กๆ เป็นตัวนำเรื่อง เพื่อที่จะนำไปสู่เนื้อหาที่ถูกเก็บซ่อนไว้ เป็นความลี้ลับที่ทาง Netflix และผู้กำกับเห็นว่าจะพาให้ซีรีส์ไปไกลถึงระดับโลก
ตำนาน เรื่องเล่า และความลี้ลับ คือจุดเด่นที่จะทำให้ต่างชาติอิน
แม้จะไม่เล่าเน้นๆ ไปที่ผี แต่ เคว้ง ก็ไม่หนีไปจากเอกลักษณ์ของบ้านเราซะทีเดียว การติดเกาะของกลุ่มวัยรุ่นเป็นเพียงฉากแรกของตัวเรื่อง เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใต้ผิวน้ำมีมวลน้ำแข็งขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ เมืองไทยมีของดีของเด่นคือเรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา ความเป็นปริศนาน่าค้นหาจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ถูกใส่เข้าไปในซีรีส์
“เราพูดถึงเรื่องตำนาน เรื่องความเร้นลับพื้นบ้าน ตำนานต่าง ๆ ของไทย นำเสนอมันขึ้นมาให้กลายเป็นประเด็น เราอย่าลืมว่าตัวละครหรือเรื่องที่เราเล่าอยู่ในประเทศไทย ผมเชื่อว่าถ้าเราทำเป็นแนววิทยำศำสตร์ หลายๆ คนเขำก็ทำมาเยอะแล้ว แล้วทำได้ดีด้วย เพราะว่าบ้านเขามีวิทยาศาสตร์เยอะ คือเราลองนึกภาพว่าถ้าเราทำเรื่องเกี่ยวกับนักบินอวกาศประเทศไทย มันจะรู้สึกขัดกับความเป็นตัวตนเรา ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้อยำกจะไปเลียนแบบ ผมว่าการที่เรามีเอกลักษณ์ของเรา แล้วไม่ดูถูกตำนานหรือรากเหง้าของตัวเอง เราพยายามผลักดันสิ่งที่เราเชื่อให้คนอื่นได้เห็นมุมมองของเรา”
จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ เล่าให้ฟังหลังจากถามถึงสาเหตุที่เอาความลึกลับแบบไทยมารวมเข้ากับพล็อตเรื่องแนวเอาชีวิตรอดแบบตะวันตก ซึ่งคนดูที่เป็นคนไทยก็อาจจะชินกับความเร้นลับของตำนานไทยไปแล้ว แต่ เอริกา นอร์ธ ก็ยืนยันว่า เรื่องเล่าพื้นบ้านของไทยมีความสามารถมากพอที่จะขยายไปให้ทั่วโลกได้รับรู้ และอินไปด้วยได้
“สิ่งที่เราได้เห็นจาก Netflix คือ ยิ่งเนื้อเรื่องยึดโยงและมีพื้นเพกับความเป็นพื้นถิ่นมากแค่ไหน ตัวเรื่องก็จะยิ่งเข้าถึงได้ดีกว่า มันอาจจะฟังดูแปลก แต่เราจะได้เห็นจากซีรีส์อย่าง Money Heist จากสเปน Dark จากเยอรมนี The Rain จากสแกนดิเนเวีย เนื้อเรื่องเหล่านั้นต่างมีรากจากวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น แต่มันก็มากพอที่จะไปได้ไกลในระดับโลก” เธอบอก
ตรงนี้เองที่อาจจะเป็นจุดเด่นของซีรีส์ออริจินัลของ Netflix เป็นการเอาเนื้อหาซึ่งดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มมากๆ และถูกกำจัดแค่บางพื้นที่มาขยายให้ใหญ่ในระดับโลก นำสิ่งใหม่จากของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้มีใครเอามาพูดถึงแบบเป็นซีรีส์มาก่อน มาปรับให้คนเข้าถึงได้ง่าย จิม—โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ ยกตัวอย่างเหตุผลที่ให้โรงเรียนของเด็กๆ ในซีรีส์ เคว้ง เป็นโรงเรียนเอกชนว่า
“เราเริ่มจากสิ่งที่เขาคุ้นเคย อย่างเช่นโรงเรียนอินเตอร์ ที่ดูฝรั่งๆ หน่อย แล้วค่อยๆ จูน เหมือนเราค่อยๆ พาเขาเข้าบ้านเรา เราไม่อยากจะพยายามบอกว่า คนไทยดีนะ เราพาเขาเข้ามาดูว่า เรามีอะไรบ้าง มีอะไรน่าสนใจ และจะพยายามสอดแทรกลงไปเมื่อเขารับได้มากขึ้น”
“คนไทยอาจจะคิดว่ามันไม่ได้แปลกใหม่มากหรือเปล่า แต่ในมุมมองของต่างชาติมันน่าสนใจกว่า”
นอกจากการเป็นซีรีส์ออริจินัลของไทยเรื่องแรกใน Netflix แล้ว เคว้ง (The Stranded) ก็น่าติดตามและน่าดูตรงที่ ตัวซีรีส์ตั้งใจเอาความเป็นพื้นบ้านของไทยผสมเข้ากับการดำเนินเรื่องแบบตะวันตก เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมของบ้านเราโดยใช้ soft power ให้ต่างชาติค่อยๆ เข้าถึงเราผ่านสื่อบันเทิง