“For Those Who Come After”
ในโลกของเกม ‘Clair Obscur: Expedition 33 (2025)’ ดินแดนลูเมียร์ (Lumière) คือผืนแผ่นดินสุดท้ายของมนุษยชาติ ที่แห่งนี้คือเกาะที่ถูกแยกออกมาจากทวีปทั้งหมดหลังหายนะ The Fracture เลยไปทางตอนเหนือของทวีปทั้งหลายมีเสาหินสูงใหญ่เขียนตัวเลข 100 และจิตรกรหญิง (The Paintress) ปรากฏตัวขึ้น ทุกปีเธอจะวาดตัวเลขนับถอยหลัง ใครที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับตัวเลขนั้นจะต้องสลายหายไป
ชาวลูเมียร์กลุ่มหนึ่งเต็มใจเข้าพิธี ‘Gommage’ ในวันที่ตนต้องสูญสลายไป (Gommage น่าจะมาจากคำว่า gommer ซึ่งแปลว่า ลบทิ้ง) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินใจใช้ปีสุดท้ายที่เหลือก่อนตายเพื่อออกเดินทางหยุดการวาดตัวเลขของ The Paintress เพื่อให้ทุกคนได้มีชีวิตอยู่ต่อ และเราในฐานะผู้เล่นเกมคือคนกลุ่มหลัง
Clair Obscur: Expedition 33 เกม turn-based RPG กำลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเหล่าเกมเมอร์ทั่วโลก และมีการเก็งกันไว้ว่าจะเป็น Game of the Year ตั้งต้นปี 2025 ตัวเกมให้ผู้เล่นรับบทเป็นนักสำรวจกลุ่มที่ 33 เดินทางออกจากเกาะลูเมียร์ไปยังทวีปใหญ่ที่เหลือเพียงซากปรักหักพัง มอนสเตอร์สุดอันตรายอย่าง ‘Nevron’ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอัศจรรย์อื่นๆ
แต่แทนที่เกมจะเป็นแค่เรื่องราวการผจญภัยเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ในช่วงท้ายเกมกลับเผยปมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า เมื่อเบื้องหลังการเดินทางของกลุ่มนักสำรวจคือกระบวนการรับมือกับความสูญเสียของใครบางคน
ศิลปะจะเยียวยาทุกสิ่ง?
สำหรับใครที่เล่นเกมไปถึงช่วงท้ายๆ หลังพากลุ่มนักสำรวจ 33 เดินทางไปกำจัด The Paintress ลงได้สำเร็จ เราจะได้รู้ว่าแท้จริงแล้วโลกที่ตัวละครกลุ่มนักสำรวจอาศัยอยู่เป็นเพียงโลกในภาพวาด (The Canvas) และ The Paintress แท้จริงแล้วบนโลกภายนอกมีชื่อว่า ‘อาลีน เดสเซนเดร (Aline Dessendre)’
เธอสูญเสียลูกชายสุดที่รักไปในเหตุไฟไหม้ ภาพวาดของลูกชายคือเศษเสี้ยวสุดท้ายที่เหลืออยู่ อาลีนที่ไม่อาจทำใจได้จึงใช้ความเชี่ยวชาญของอาชีพ Painter ที่เธอเป็น เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในภาพวาด และวาด ‘เวอร์โซ เดสเซนเดร (Verso Dessendre)’ ลูกชายของเธอ (หนึ่งในตัวละครที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้ในปาร์ตี้กลุ่มนักสำรวจ) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ในทางหนึ่ง การทำงานหรือเสพผลงานศิลปะอาจช่วยให้ผู้สูญเสียมองเห็นความเจ็บปวดของตัวเองจากการสูญเสียคนสำคัญ และเยียวยาความเจ็บช้ำให้ค่อยๆ หายไป ทว่าใน Clair Obscur: Expedition 33 ภาพวาดกลับเป็นเหมือนกรงขังสำหรับอาลีน เธอจมอยู่กับความเสียใจและอยู่ในภาพวาดเป็นเวลานาน นานจน ‘เรอนัวร์ เดสเซนเดร (Renoir Dessendre)’ สามีต้องตามเข้าไปในภาพวาดและพยายามจะทำลายมันเพื่อดึงเธอออกมา
ส่วน ‘มาเอล (Maelle)’ เด็กสาวหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักสำรวจ 33 ก็เป็นตัวตนในภาพวาดที่ ‘อาลิเซีย เดสเซนเดร (Alicia Dessendre)’ เผลอสร้างขึ้นมา เธอลืมว่าตัวเองอยู่ในภาพวาด หลงใช้ชีวิตในฐานะมาเอล ต่อสู้และผจญภัยโดยไม่รู้เลยว่า ‘เวอร์โซ’ สมาชิกที่ร่วมเดินทาง คือพี่ชายแท้ๆ ของเธอบนโลกข้างนอก พี่ชายที่ช่วยเธอออกจากกองเพลิง พี่ชายที่เธอเองก็ไม่พร้อมจะเสียไป
เหตุการณ์ในโลกของชาวลูเมียร์จึงเป็นเหมือนสนามรบทางอารมณ์ในการรับมือความสูญเสียของตระกูลเดสเซนเดร ในภาพวาดคือการต่อสู้กันระหว่างความรู้สึกที่ต้องจมอยู่กับความเจ็บปวด (อาลีน) และความต้องการที่จะมูฟออน (เรอนัวร์)
มูฟออนเป็นวงกลม
หากเราจะนับเกมเป็นศิลปะสักชิ้น หรือวรรณกรรมสักเรื่องหนึ่ง คุณสมบัติที่ทำให้ผลงานสร้างสรรค์เช่นเกมโดดเด่นไปจากงานรูปแบบอื่นคือ การให้ผู้เล่นมีส่วนร่วมกับการดำเนินเรื่อง ผู้เล่นสามารถเลือกลำดับการทำภารกิจก่อนหลัง เลือกทำไม่ทำภารกิจใด หรือแม้กระทั่งเลือกตอนจบได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง Clair Obscur: Expedition 33 ก็ให้สิทธิผู้เล่นเลือกตอนจบที่ต้องการ
เป็นจุดสุดท้ายนี่เองที่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่หนักใจที่สุดของผู้เล่น มันคือการชั่งน้ำหนักว่าเราจะเห็นด้วยกับใครมากที่สุด ทางเลือกแรกคือมาเอล ทางเลือกที่สองคือเวอร์โซ
มาเอลยังอยากอยู่กับชาวลูเมียร์และสิ่งมีชีวิตในจินตนาการของพี่ชาย เธอยังอยากใช้ชีวิตกับเวอร์โซในโลกภาพวาด อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งของเธอเติบโตและผูกพันกับโลกใบนี้ และเธออาจต้องใช้เวลาเพื่อเยียวยาจิตใจ จดจำตัวตนของพี่ชายเพิ่มขึ้นอีกสักนิดก่อนก้าวต่อไปในโลกแห่งความเป็นจริง แต่วันที่เธอพร้อมปล่อยมือจากพี่ชายได้นั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ มาเอลอาจจะติดอยู่ในภาพวาดนานหลายสิบปีเช่นเดียวกับแม่ของเธอก็ได้
ส่วนในกรณีของเวอร์โซ ชายที่ตายไปแล้วในโลกจริงและเป็นเพียงตัวละครในภาพวาด เขาอยากตัดตอนวงจรความเศร้าของครอบครัว เลือกจบวังวน (circle) ด้วยการลบทิ้ง หยุดการวาด The Canvas ต้องถูกทำลาย ทุกคนในตระกูลเดสเซนเดรควรมูฟออนจากการตายของเขาได้เสียที ซึ่งเลือกทางนี้ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเวอร์โซดูจะคิดไปในทางเดียวกับเรอนัวร์
ถึงแม้ในตอนท้าย เรอนัวร์ที่บังคับให้คนอื่นมูฟออนมาตลอดก็ดูจะเข้าใจว่า แต่ละคนใช้เวลาและมีสภาวะในการเยียวยาต่างกัน โดยเฉพาะภรรยาของเขาที่เจ็บช้ำสาหัส การตาย/หายไปจากภาพวาดของเรอนัวร์ในฉากสุดท้าย อาจบ่งบอกถึงความเข้าใจ และปล่อยให้อาลิเซีย/มาเอลตัดสินใจมูฟออนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่หรือด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงอย่างนั้น เวอร์โซก็อยากให้มันจบ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่อยากให้น้องสาวที่เขาเสียสละชีวิตช่วยต้องเอาเวลาชีวิตมาทิ้งในภาพวาดและความทรงจำปลอม
สำหรับผู้เล่นนี่เป็นการเลือกที่ยากแสนยาก เราจะยอมให้ตัวละครที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาทั้งเกมหายไปจริงๆ หรือ?
โลกนอกภาพวาด ความเป็นจริงเหนือผืนผ้าใบ
‘คลี เดสเซนเดร (Clea Dessendre)’ เป็นตัวละครที่อยู่นอกภาพวาด เธอพี่สาวคนโตของตระกูลที่พยายามหาทางให้ทุกคนในครอบครัวได้ออกมาจากภาพวาดเสียที นอกจากเรอนัวร์พ่อของเธอแล้ว คลีเป็นตัวแทนคนของคนที่อยู่กับความเป็นจริงมากที่สุด เธอไม่เอาตัวเองไปจมอยู่กับภาพวาด ทว่าช่วยพ่อให้ได้เปรียบแม่นิดหน่อย เพื่อที่จะพาแม่กลับมาได้ไวขึ้น
คลีคือคนที่เตือนผู้เล่นว่าบนโลกข้างนอกภาพวาดมีศึกที่กำหนดความเป็นความตายของคนจำนวนมากอยู่ อาลีนมีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าสมาคม Painters ที่กำลังมีข้อพิพาทคาราคาซังกับสมาคม Writers ซึ่งหนึ่งในผลลัพธ์ของความขัดแย้งนั้นก็คือเหตุไฟไหม้ที่ทำให้เวอร์โซเสียชีวิตนั่นเอง ในเวลานี้ทุกคนต้องการแม่ของเธอที่ยังจมอยู่กับการสูญเสียลูกชาย การมูฟออนเป็นวงกลมจนกว่าจะเยียวยาอาจสายเกินไปที่จะหยุดยั้งหายนะที่เกิดขึ้นในโลกนอกผืนผ้าใบ
สุดท้าย การเลือกจบแบบไหนยังอยู่ที่ตัวผู้เล่น และผู้พัฒนาก็ให้อำนาจนั้นโดยสมบูรณ์ ผู้เล่นมีส่วนกำหนดความเป็นไปและจุดจบได้ แต่ดูแล้วไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็เจ็บ ยิ่งได้ลองทำความเข้าใจทุกตัวละครอย่างรอบด้านก็ยิ่งยาก ไม่แน่ อาจจะเป็นตัวผู้เล่นเองที่คอยต่อสู้และเล่นซ้ำจนกว่าจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่าอยากจบแบบไหน
แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร ความเศร้าจะจากไป วันพรุ่งนี้จะมาถึงในท้ายที่สุด
“Tomorrow Comes”
อ้างอิงจาก