ไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์ แต่ด้วยพายุข่าวสาร และการพูดถึงในวงที่ไม่กว้างมากนัก จึงอาจทำให้หลายคนตามไม่ทัน เรื่องดังกล่าวก็คือ ดราม่าของเกมจีบหนุ่มที่เจาะตลาดผู้เล่นเพศหญิงเป็นหลัก (หรือที่เรียกว่า Otome game) เกมหนึ่ง ที่มีทีมงานพัฒนาและผู้เขียนบทเป็นคนไทย ตัวเกมเปิดตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีผู้เล่นกลุ่มหนึ่งในทวิตเตอร์พบว่า ข้อความบางส่วนในเกมพูดถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างชัดเจน ถึงตัวภาพจะสวยงามเข้ากับท้องเรื่อง และดูไม่มีแนวโน้มจะติดเรตใดๆ ก็ตามที
อีกความตกใจหนึ่งของกลุ่มทวิตชนที่เสวนากันเรื่องนี้ก็คือ การที่นักเขียนบทของเกมดังกล่าวไม่ได้ไร้ประสบการณ์ แต่เป็นนักเขียนที่มีผลงานมาแล้วระดับหนึ่ง รวมไปถึงว่าตัวเกมถูกระบุว่าเหมาะสมกับผู้ใช้งานอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งทีมผู้พัฒนาเกมก็ตอบกลับมาว่าไม่เป็นการผิดกฎข้อบังคับใดๆ ของร้านค้าแอพพลิเคชั่นออนไลน์ เนื่องจากตัวเกมมีเพียงข้อความระบุถึงเรื่องทางเพศ แต่เมื่อไม่มีภาพหมิ่นเหม่ ทางทีมพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องปรับเรตอายุแนะนำสำหรับผู้ใช้งาน
ถึงแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กที่ถูกข่าวใหญ่ผลักจนหลุดกระแสข่าวไปแล้ว แต่ก็นับว่ายังมีอะไรน่าพูดถึงอยู่ไม่น้อย
เกมเล่าเรื่องทางเพศผิดหรือไม่?
ประเด็นหลักของดราม่าที่เกิดขึ้นนี้อยู่ที่การพูดถึงเรื่องเพศแบบไม่ปิดบังเท่าไหร่นัก เช่น การที่ตัวละครชวนกันไปมีเซ็กซ์อย่างโจ่งแจ้ง, การปรับแก้คำพูดตามท้องเรื่องว่า อย่าเรียกว่าเซ็กซ์ ให้เรียก ‘กิจกรรมบันเทิง’, มีการชวนไปจัดกิจกรรมบันเทิงแบบหมู่คณะ, การพูดถึง ‘น้ำโอเอซิส’ ที่ขุ่นๆ ขาวๆ และไม่ควรให้ผู้หญิงนำไปทาใบหน้า และคำพูดอื่นๆ ที่บริบทชี้นำไปกล่าวถึงกิจกรรมบนเตียงอย่างต่อเนื่อง
หากถามว่า การเล่าเรื่องทางเพศในเกมผิดหรือไม่ เบื้องต้นแล้วก็ดูจะไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะในหลายๆ ครั้ง เกมก็หยิบยกเรื่องเพศมาเล่าเป็นปมประเด็นที่น่าติดตามและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งเกมที่ใช้เรื่องเพศเป็นฉากหลังอย่าง Silent Hill ที่หลายภาคเอาแรงขับดันทางเพศหรือแผลใจจากเรื่องเพศมาผูกเป็นเรื่องราวสยองขวัญได้อย่างดี หรือเกม The Song of Saya หรือ Saya No Uta จากญี่ปุ่น ที่มีมีพล็อตเรื่องเข้มข้นจนสื่อเกมบางเจ้าถึงกับบ่นว่า เกมนี้เป็นเกมดีโดยไม่ต้องมีฉากโป๊ก็ได้ หรือเกมอย่าง Coming Out on Top เกมแนววิชวลโนเวลที่เจาะตลาดกลุ่มเกย์ และมีฉากเซ็กซ์แบบจั๋งๆ ก็ยังถูกชื่นชมว่ามีเรื่องราวที่มีความตลกแบบหนังโรแมนติกดีๆ หลายเรื่อง
เรื่องเพศถูกนำมาพูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวได้ในเกมอย่างแน่นอน แถมยังพูดได้หลายแง่มุมอีกด้วย
แต่ประเด็นที่ทำให้เกิดดราม่าของเกมจีบหนุ่ม จนทำให้หลายต่อหลายคนมาร่วมวงสนทนาอยู่ตรงที่ เกมประกาศตัวว่าเหมาะสมกับกับผู้ใช้งานอายุ 12 ปี ขึ้นไป กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ การที่เนื้อหาเรื่องเพศหลายครั้งเป็นการกระทำที่ไม่สมยอม (consent) จนอาจจะเป็นการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการ body shaming เช่น การระบุว่าตัวผู้เล่นนมเล็ก หรือการชี้นำให้ผู้เล่นเข้าใจความเป็นทาสที่ดี
จริงอยู่ว่าเนื้อเรื่องของเกมนั้นอาจจะตีความให้อยู่ในโลกสมมติ แต่การแสดงออกในแนวคิดเชิงคุกคามทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่ต้องถูกตั้งคำถาม
ว่าด้วยการอ้างอิงการจัดเรตติ้งของเกม
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ดราม่าโดนพูดถึงมาก ก็คือ การที่ทีมพัฒนาเกมระบุหลายต่อหลายครั้งว่า ข้อความในเกมแม้จะมีคำว่า เซ็กซ์ (หรือ กิจกรรมบันเทิง) หรือมีข้อความที่แสดงการคุกคามทางเพศ แต่ทีมพัฒนาเกมเห็นว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็น mild language (การใช้คำหยาบคายแต่ไม่รุนแรงจนถึงระดับที่คุกคามผู้ฟัง) และถือว่าเป็นเพียง sexual innuendo (การใช้คำพูดสองแง่สามง่าม) ก่อนจะอ้างอิงข้อกำหนดของ International Age Rating Coalition (IARC) ว่าถ้ายังใช้ระดับภาษาอยู่ในจุดนี้ ยังถือว่าเป็นเกมที่ถูกจัดหมวดสำหรับหรับผู้ใช้งานอายุ 12 ปี ขึ้นไปได้
สำหรับท่านที่อาจจะสงสัยว่า International Age Rating Coalition คือหน่วยงานแบบไหน ขออธิบายอย่างรวดเร็วว่า ตัว IARC เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่กำหนดเรตติ้งของเกมจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น ESRB ของทางอเมริกาเหนือ, PEGI ของทางยุโรปกับประเทศสมาชิกอื่นๆ, Classlnd ของทางบราซิล, USK ของเยอรมัน, GRAC ของเกาหลีใต้ ฯลฯ
พวกเขารวมตัวขึ้นมาเพราะในปัจจุบันนี้มีเกมหลายรูปแบบมาก เรตติ้งสำหรับประเทศหนึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับอีกประเทศ (ยกตัวอย่างเช่น Clsslnd ของบราซิลมีการจัดเรตติ้งแต่ไม่มีการแบนแบบชัดเจน USK ของเยอรมันจะทำการคัดกรองเนื้อหาสุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องนาซี และบังคับให้ผู้พัฒนาเกมต้องดัดแปลงเนื้อหาหากต้องการจำหน่ายในประเทศ) กับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีการซื้อเกมผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น
IARC จึงเป็นหน่วยงานกลางระดับนานาชาติในการตรวจเรตติ้งเกมที่ขายผ่านร้านดิจิทัลอย่าง PlayStore ของทางกูเกิล โดยตัวเกมที่เป็นดราม่าในครั้งนี้ก็จัดจำหน่ายอยู่บน PlayStore และมีเรตติ้งเกมของ IARC อยู่ที่ 12+ นั่นเอง
แต่เมื่อมาดูคำนิยมว่าเกมสำหรับอายุ 12+ มีอะไรบ้างนั้น ทางกูเกิลผู้ดูแล PlayStore ระบุว่า “อนุญาตให้มีความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในจินตนาการ และ/หรือความรุนแรงที่ไม่แสดงเป็นภาพซึ่งเกิดกับตัวละครที่ดูคล้ายมนุษย์หรือสัตว์ เช่นเดียวกับการโป๊เปลือยที่ไม่ใช่ภาพ การพนันจำลอง และถ้อยคำไม่สุภาพ แต่ไม่อนุญาตให้มีการใช้คำสบถเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ”
(Violence involving fantasy characters and/or non-graphic violence involving human-looking characters or animals is permitted. Non-graphic nudity, mild language and simulated gambling are also permitted, but sexual expletives are not.)
ถึงแม้ว่าจะมีข้ออนุญาตให้ใช้ mild language กับเรตติ้ง 12+ ได้ แต่ตัวเกมที่บอกว่า ตัวเอกของเกมนมเล็ก และพูดถึงการเซ็กซ์หมู่โดยที่ตัวเอกแสดงท่าทีปฏิเสธ ก็ดูจะไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของเรตติ้งนี้เท่าไหร่นัก
ถึงระบบจัดเรตติ้งจะเป็นมาตรฐานสากล แต่การจะไปตรวจสอบว่าโปรแกรมไหนละเมิดกฎนั้น ต้องยอมรับว่า สำหรับประเทศที่ไม่มีหน่วยงานส่วนกลางคอยเช็กเรตติ้งแบบจริงจัง ประกอบร้านค้าดิจิทัลหลายร้านจะไม่ทำการตรวจสอบใดๆ หากไม่มีคนร้องเรียนไปก่อน จึงไม่แปลกที่การจัดเรตติ้งจะผิดจากที่กำหนดไว้
กระนั้นหลังจากที่เกิดดราม่าเกมจีบหนุ่มไปพักหนึ่งแล้ว ทางทีมพัฒนาก็ได้อัพเดตตัวเกม และปรับแก้เรตติ้งของเกมขึ้นมาอยู่ที่ 16+ ตามมาตรฐานของ IARC ที่มีการระบุว่าสามารถใช้ภาษารุนแรงและเล่าเรื่องเพศแบบจริงจังได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้คนที่ติดตามข่าวส่วนหนึ่งสบายใจมากขึ้น
โชคดีกับปัญหาที่ไม่ได้เกิด
อีกส่วนหนึ่งที่กลุ่มผู้เข้าร่วมวงเสวนาในประเด็นเกมจีบหนุ่มเกมนี้กังวล ก็คงเป็นท่าทีของทั้งผู้พัฒนาเกมและผู้เขียนบทของเกมที่ในช่วงไฟดราม่ากำลังคุกรุ่น โดยออกมาบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าใดนัก และแน่นอนว่าคำพูดแบบนี้ทำให้ดราม่าร้อนแรงขึ้นอีกระดับแทบจะทันที และเหตุผลที่ความร้อนแรงของดราม่าเพิ่มขึ้นนั้น อาจจะต้องมองย้อนไปยังอดีตก่อนหน้า และข้ามไปมองอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย
ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2005 รายการทีวีที่ชื่อว่า ‘หลุมดำ’ มักจะหยิบจับเอาประเด็นเรื่องราวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคมไทยและอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงมานำเสนอ มีเทปหนึ่งของรายการพูดถึงสังคมของคนชอบการ์ตูนยุคใหม่ที่มักจะเสพความรุนแรง นิยมฉากโป๊เปลือย ซึ่งเนื้อหาของรายการเทปนั้นหลายส่วนเกินจริงไปพอสมควร รวมถึงมีการแอบถ่ายหรือลอบสัมภาษณ์ โดยที่ฝ่ายถูกสัมภาษณ์ไม่รู้ว่าเนื้อหาจะถูกนำไปเทียบเคียงกับสื่อลามก และเรื่องราวก็ไปไกลจนมีการออกต่อต้านจากกลุ่มผู้เสพวัฒนธรรมย่อย ที่แม้ว่าจะพูดความจริงให้ครบด้านมากขึ้นแล้ว แต่หลังจากรายการออกอากาศ ก็ทำให้สื่อบันเทิงที่อยู่ในฝั่งการ์ตูน เกม และคอสเพลย์ ติดภาพลบไประยะหนึ่ง
ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้เสพเท่านั้น แม้แต่กลุ่มคนทำงานในวัฒนธรรมย่อยอย่างเกมไปจนถึงการ์ตูน หรือผู้จัดงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวเพื่อให้คนทั่วไปเห็นว่า ภาพด้านหนึ่งที่สื่อนำเสนอนั้นไม่ใช่ภาพทั้งหมดของอุตสาหกรรม—ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับเกม การ์ตูน และคอสเพลย์ในยุคหนึ่งต้องผลักดันการทำงานเพื่อสังคมและให้ความรู้แก่คนหมู่มาก ผลลัพธ์ที่ยังพอให้เห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ การที่หนังสือการ์ตูนหรือไลท์โนเวล จะมีการระบุตรงหน้าปกว่าเป็นผลงานที่เหมาะกับนักอ่านกลุ่มใด แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายใดบังคับก็ตาม
ส่วนกลุ่มผู้เสพวัฒนธรรมย่อย เกม การ์ตูน และคอสเพลย์ที่ผ่านยุคดังกล่าวมาก็จะมีความ ‘ไวต่อภัยอันตราย’ มากขึ้น โดยส่วนมากแล้ว กลุ่มผู้เสพสินค้าประเภทนี้จะพยายามป้องปรามคนที่กระทำการสุ่มเสี่ยงเรียกภัยครั้งใหม่กันเองก่อน และโดยส่วนมากต้องการเพียงแค่ให้กำหนดการวางตัวให้ถูกที่ถูกทาง มากกว่าจะเข้าไปบอกว่า ‘ห้ามทำ’ เพราะในอดีตกลุ่มผู้เสพวัฒนธรรมย่อยนั้นโดนห้ามแบบแรงๆ กันมาก่อนแล้ว
แม้จะเคยมีเหตุร้ายผ่านมาในอดีต แต่ด้วยตัวบทกฎหมายซึ่งคอยจัดระเบียบเรตติ้งในประเทศไทยไม่ทันยุคสมัยมากพอ (จนถึงตอนนี้มีการขายสินค้าแบบดิจิทัลอยู่จำนวนมาก แต่ภาพยนตร์หรือเกมยังต้องส่งขอใบอนุญาตฉายอยู่ เป็นต้น) แถมยังไม่แน่นอนเท่าใดนัก (เช่น กรณีของเรตติ้งหนัง ที่บางเรื่องโป๊เปลือยโจ๋งครึ่มแต่ไม่ขอตรวจบัตรประชาชน แต่บางเรื่องมีฉากเปลือยแต่ไม่มีฉากร่วมเพศกับขอตรวจบัตรประชาชนก่อนซื้อตั๋ว) จึงไม่แปลกที่ดราม่าเกมจีบหนุ่มจะไปสะกิดใจคนที่มีประสบการณ์ร้ายมาก่อน และออกมาแสดงความเห็นที่ชัดเจนว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เห็นด้วยกับคำพูดของผู้พัฒนาเกมและผู้เขียนบท
จึงถือว่าเป็นโชคดีที่่ทีมพัฒนาเกมยอมปรับแก้เรตติ้งตามความเห็นของผู้ที่ส่งเสียงคัดค้าน เรื่องราวจึงไม่บานปลายจนเกินความจำเป็น
ในยุคที่สื่อจากวัฒนธรรมย่อยอย่างเกม การ์ตูน และคอสเพลย์เริ่มเป็นของปกติธรรมดา สิ่งที่คนเสพและคนทำงานกับสื่อเหล่านี้กังวลจึงไม่ใช่การถูกต่อต้าน หรือถูกมองเป็นเรื่องต้องห้าม แต่เป็นการมองอย่างเข้าใจและนำเสนอได้อย่างเหมาะสมโดยไม่โดนเซ็นเซอร์ แต่ต้องอยู่ถูกที่ถูกทาง
และเมื่อยังคาดหวังกับการควบคุมจากรัฐไม่ได้มากนัก เราก็มีโอกาสจะได้เห็นกลุ่มคนในสังคมวัฒนธรรมย่อยออกมาเรียกร้องแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้่นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube Channel – Gaming Historian
การศึกษาปัญหาสังคมและค่านิยมของเยาวชนไทยในรายการโทรทัศน์ “หลุมดำ”