“I vowed not to cry anymore, if we survived the Great War.”
“ฉันสัญญาว่าจะไม่ร้องไห้อีก หากเรารอดจากมหาสงครามนี้ไปได้”
“EXCUSE ME HI I HAVE SOMETHING TO SAY” ประโยคเกริ่นจาก Instagram ของศิลปินชื่อก้องโลก เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่ปลุกให้เหล่าเหล่าสวิฟตี้ ในเอเชียเด้งตัวขึ้นมาตามๆ กัน เมื่อแม่เทย์ประกาศตารางทัวร์ The Eras Tour ในเอเชียเสียที .. แต่แม้เทย์จะบอกว่า “Can’t wait to see so many of you” สถานที่จัดทัวร์ในเอเชียกลับมีอยู่แค่สองประเทศนั่นคือญี่ปุ่นและสิงคโปร์เท่านั้น!
เรียกได้ว่า แผ่นดินอาเซียนคงลุกเป็นไฟ เพราะสวิฟตี้สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีกันเป็นล้าน แต่การจัดแสดงกลับมีอยู่แค่ประเทศเดียว แถมพอประกาศเพิ่มรอบการแสดง ก็ประกาศเพิ่มแค่ที่สิงคโปร์เหมือนเดิม ไม่เพิ่มเติมชาติอื่นเลยสักนิด ทำให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า นี่คงเป็นสงครามชิงบัตรคอนเสิร์ตครั้งใหญ่แน่นอน
พอศิลปินตัวแม่ไม่เหลียวแลไทยแลนด์ The MATTER เลยอยากชวนไปฟังเสียงของเหล่าแฟนคลับของสวิฟต์ และสำรวจว่า เพราะอะไร สิงคโปร์ถึงเป็นจุดมุ่งหมายในการจัดแสดงของศิลปินดังทั้งหลาย รวมถึง พูดคุยกับ อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อหาคำตอบว่า ทำยังไงประเทศไทยถึงจะเป็นที่หมายกับเขาบ้าง
เสียงจากสวิฟตี้ เมื่อศิลปินตัวแม่ไม่แลนด์ดิ้งที่ไทย
“นั่งไถ TikTok ตามคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ตั้งแต่ทัวร์วันแรก และภาวนาว่ามาไทยเถอะ ประเทศกำลังกลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้วแม่” พลอย หนึ่งในแฟนคลับตัวยงของสวิฟต์กล่าว
นับเป็นความรู้สึกร่วมของเหล่าสวิฟตี้ในไทย หลังจากศิลปินชื่อดังประกาศทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ หลังห่างจากเวทีไป 4 ปี โดยเมื่อครั้งล่าสุดที่สวิฟต์จัดเวิลด์ทัวร์คือเมื่อปี 2018 ที่เธอจัด Reputation Stadium Tour (ซึ่งในเอเชียก็มีแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น)
แต่สำหรับชาวไทยแล้ว ช่วงเวลาที่ห่างหายจากคอนเสิร์ตของสวิฟต์คือ ‘ตลอดชีวิต’ หลังจากที่สวิฟต์เคยประกาศยกเลิกคอนเสิร์ต The Red Tour Live in Bangkok ไปเพราะเหตุรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน
เมื่อฝันเคยสลายไปแล้วครั้งหนึ่ง ความคาดหวังต่อคอนเสิร์ต The Eras Tour ในประเทศไทยก็เลยพุ่งสูงปรี๊ด ไม่ว่าใครต่างก็เฝ้ารอวันประกาศทัวร์เอเชียของศิลปินชื่อดัง แต่ในวันที่ 20 มิถุนายน ที่ประกาศรายชื่อที่จัดทัวร์เอเชียนั้น … กลับไร้คำว่า ‘ไทยแลนด์’
“จริงๆ เราก็เข้าใจนะ ทัวร์รอบนี้โปรดักชั่นมันเยอะแล้วต้นทุนมันสูง แต่เรายังไม่มีพื้นที่รับรองขนาดนั้น 8-9 ปีที่ผ่านมาประเทศไม่ได้พัฒนาอะไรเลย จะเอาอะไรไปสู้เขาได้” ความเห็นจากพลอย
เช่นเดียวกับ เจน อีกหนึ่งสวิฟตี้ที่ไม่คาดคิดว่าสวิฟต์จะไม่ทัวร์คอนเสิร์ตที่ไทย เพราะหลังจากรัฐประหารในปี 2014 ที่ทำให้สวิฟต์ไม่มาไทยแล้วไปเพิ่มรอบที่สิงคโปร์แทน เธอก็หวังว่าไทยจะเป็นหมุดหมายที่นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังจะมาแก้มือใหม่เสียที
“ทำไมทัวร์เอเชียถึงมีแค่สิงคโปร์กับญี่ปุ่น คือนึกถึงคนที่นั่งไถ TikTok ดูคอนเสิร์ตสวิฟต์ต่างประเทศ นั่งดูว่าแน่นอนฉันจะเป็นหนึ่งในนั้นให้ได้เมื่อแม่มาประเทศไทย แต่ทำอะไรไม่ได้ ลุ้นต่อก็ไม่ได้ เพราะเขียนเลยว่าแค่สิงคโปร์”
ขณะที่ ขิมิ สวิฟตี้อีกคนหนึ่งกลับคาดเดาไว้แล้วว่า สวิฟต์คงจะไม่มาทัวร์ที่ไทยแน่ๆ เพราะโปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่และทีมมงานจำนวนมาก คงทำให้สวิฟต์ไม่สามารถจัดแสดงหลายๆ ที่ได้ ประกอบกับข่าวหลุดล่วงหน้าว่าจะมาแค่ 2 ประเทศในเอเชีย ทำให้เธอเตรียมใจไว้ประมาณหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี ในวันที่เปิดให้จองบัตรรอบ pre-sale ยอดคนรอคิวยาวกันไปถึงหลักล้าน และยังมีกระแสข่าวอีกว่า ยอดลงทะเบียนซื้อบัตรคอนเสิร์ต (รอบปกติ) ก็สูงถึง 22 ล้านคนเลยทีเดียว แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มีการยืนยันแน่ชัด แต่นั่นแปลว่า ความต้องการจะไปดูคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของศิลปินอเมริกันชื่อดังในสิงคโปร์นั้น มากมายมหาศาล ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่มองว่า คงต้องควักเงินจ่ายมากกว่าการไปดูคอนเสิร์ตปกติเช่นกัน
“คอนเสิร์ตมันช่วยเยียวยาจิตใจหรือสร้างความสุขให้คนได้ใช่ไหม แต่พอทำแบบนี้ มีแค่สิงคโปร์ที่จัดมันยิ่งจำกัดวงแคบลงแค่คนมีเงิน แล้วคราวนี้มีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ที่พัก เครื่องบิน รถไฟ มันเลยน่าเศร้าถ้าต่อไปคอนเสิร์ตจะไปจัดแค่สิงคโปร์” เจนกล่าว
สิงคโปร์มีอะไรดี ทำไมศิลปินไปจัดแสดงกันที่นั่น?
ประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กพอๆ กับเมืองเมืองหนึ่ง และจำนวนประชากรเพียง 6 ล้านคน แต่กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของเหล่าศิลปินชื่อดังทั่วโลก ไม่เพียงแต่สวิฟต์เท่านั้น เพราะ Coldplay วงร็อกชื่อก้องโลก และทีมฟุตบอลอย่างลิเวอร์พูลก็ปักหมุดแลนด์ดิ้งที่สิงคโปร์เป็นหลักเช่นกัน คำถามคือ ทำไมสิงคโปร์ถึงกลายเป็นที่หมายในการจัดแสดงของคนดัง?
ปัจจัยแรกก็คือ การได้รับแรงสนับสนุนและการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่ง Can Seng Ooi ศาสตราจารย์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและมรดกแห่งมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า การให้คนไปเที่ยวสิงคโปร์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้คนใช้เงินกับในการท่องเที่ยวประเทศดังกล่าวไปด้วยในตัว ยิ่งกว่านั้น คนที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อตั๋วจัดโชว์หรือคอนเสิร์ต ก็จะมีเงินมากพอที่จะท่องเที่ยวในสิงคโปร์ด้วย
“สิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทาง แต่งานอีเวนต์ก็เป็นจุดหมายปลายทางเช่นกัน”
นั่นแปลว่า รัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลก็พยายามเชิญชวนให้ศิลปินต่างชาติมาจัดแสดงที่สิงคโปร์อย่างแข็งขัน เพื่อให้ฐานแฟนคลับของเหล่าศิลปินเดินทางมายังเมืองนี้ด้วย
อย่าง The Eras Tour ของสวิฟต์เอง Edwin Tong สมาชิกรัฐสภาสิงคโปร์ ก็ยังโพสต์โปรโมตลงอินสตาแกรมของตัวเองเลยด้วยซ้ำ!
นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น Klook พาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการของ The Eras Tour ยังออกมาด้วยว่า จะจัดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตที่ไม่เพียงรวมตั๋วเข้าคอนฯ แต่ยังมาพร้อมกับแพ็คเกจโรงแรมและกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทางการสิงคโปร์คงทำข้อตกลงกับผู้จัดคอนเสิร์ตไว้แล้ว
“เราคิดว่า หลายประเทศก็ล้วนมีสเตเดียมรองรับจำนวนคนได้หลายหมื่นคน แต่กลับไม่ไปที่อื่นเลยแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่เป็นฐานแฟนที่ใหญ่อันดับต้นๆ เราคุยกับเพื่อนๆ แฟนคลับในอาเซียนว่า รอบนี้เขาคงมีการตกลงกับทางสิงคโปร์และผู้จัดไว้แล้ว เพราะสิงคโปร์ก็ชูการเป็น The only stop in Southeast Asia ด้วย” ขิมิกล่าว
ปัจจัยต่อมาคือ สิงคโปร์มี ‘ทำเล’ ที่ดี เพราะเป็นประเทศที่เดินทางจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายด้วย
Kevin Wee อาจารย์จากโรงเรียนการจัดการธุรกิจ Nanyang Polytechnic ให้สัมภาษณ์กับ Channel News Asia ว่า ความเป็นทำเลทองของสิงคโปร์นั้น ดึงดูดศิลปินต่างๆ และทำให้ผู้รักในเสียงดนตรีกลายเป็นนักท่องเที่ยวได้ด้วย เพราะพวกเขาจะได้ดื่มด่ำกับความสุขในด้านอื่นๆ ของเมือง นอกเหนือจากการมาร่วมงานคอนเสิร์ตนั่นเอง
“การเชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆ ในอาเซียนได้ง่ายนั้น หมายความว่าแฟนๆ สามารถแห่กันไปที่สิงคโปร์เพื่อชมการแสดง และบินกลับบ้านพร้อมกับความทรงจำมากกว่าคอนเสิร์ตได้ด้วย”
ปัจจัยสาม คงต้องยอมรับว่าในประเทศอาเซียนของเรานั้น มักเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงนัก ดังนั้นแล้วประเทศที่มีรัฐบาลที่มั่นคง มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้เหล่าคนดังทั้งหลายเลือกมาจัดงานกันที่นี่ เพราะมั่นใจได้กว่าประเทศอื่นๆ คงไม่ต้องยกเลิกทัวร์เพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง
อีกปัจจัยที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน aka ความเจริญที่มากกว่าชาติอื่นๆ ในประเทศข้างเคียง ซึ่ง Barkathunnisha Abu Bakar ผู้ร่วมก่อตั้ง World Women Tourism ระบุว่าสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกและสถานที่ล้ำสมัยที่เพียบพร้อมสำหรับการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่
เช่นเดียวกับพลอย ที่มองว่าสิงคโปร์เตรียมการมาอย่างดีกับการเป็นฮับการแสดงระดับโลก เพราะขนส่งสาธารณะ พื้นที่จัดงาน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถูกตระเตรียมมาเป็นอย่างดีแล้ว
“หันกลับมามองที่ไทย คนละโลกเลยแหละ สมมติมาไทย จัดคอนเสิร์ตที่ราชมังฯ การเดินทางจะวายป่วงมากนะ มันยากไปหมด ประเทศอื่นในอาเซียนก็น่าจะตื่นตัวแล้วว่าการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นที่รองรับการแสดงใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว” พลอยกล่าว
อยากให้เทย์มาไทย ต้องทำไงดี
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ จะทำอย่างไรให้ศิลปินทั้งหลาย ไม่มองข้าม (อดีต) เสือตัวที่ 5 แห่งอาเซียน แล้วมาจัดแสดงงานที่ไทยกันบ้าง?
หากเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเคสที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า สิงคโปร์มีหน่วยงานที่ชื่อ Tourism Board ที่คอยอุดหนุนช่วยเหลือทุกเรื่องไม่ว่าจะแฟชั่น ดนตรี หรืออะไรก็ตามที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ โดยการให้เงินเข้าไปสนับสนุนกิจกรรม และมองเรื่องเหล่านี้เป็นภาพใหญ่มากกว่าการแสดงคอนเสิร์ตทั่วไป
“ภาพสำคัญก็คือ ทิศทางของสิงคโปร์ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เขาพยายามดันตัวเองเป็นศูนย์กลางของงานศิลปะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะงานศิลปะ ดนตรี งานจัดแสดงอื่นๆ เช่น รถฟอร์มูล่าวัน (F1) ทำให้กลายเป็นแม่เหล็กของประเทศว่าเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในทั่วโลก”
ซึ่งผลที่ตามมา อภิสิทธิ์มองว่า นอกจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลแล้ว ภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระดับโลกก็จะเป็นที่จดจำมากขึ้นไปด้วย
“กลับมาที่ไทย เราต้องมองก่อนว่า เอนเตอร์เทนเมนท์เหล่านี้ ไม่ใช่เอนเตอร์เทนเมนท์ทั่วไป”
เพราะผลที่ตามมาจากการจัดแสดงเหล่านี้ มีมากกว่าเม็ดเงินเข้าประเทศ แต่ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย ซึ่งอภิสิทธิ์มองว่า การแสดงอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐานใหญ่ๆ จะส่งผลไปถึงภาพของดนตรีในประเทศด้วย ทำให้วงดนตรีน้อยใหญ่ตื่นตัวมากขึ้น จึงไม่ใช่คนแค่ 50,000-100,000 ที่ไปนั่งดูคอนเสิร์ต
“โดยปกติการจัดแสดงเขาจะต้องมีทีมงานเข้ามา เซ็ตติ้ง ประกอบฉาก จัดไฟ แล้วก็ต้องมาทำงานกับคนในพื้นที่ คนในพื้นที่ก็จะได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่ามันมีเทคโนโลยีบางอย่างเกิดขึ้น เพราะงั้นเราก็จะได้เรียนรู้ ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งการที่เราได้เรียนรู้ก็จะช่วยให้วงการเราเติบโตขึ้น”
อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า หากก้าวไกลเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีแนวทางที่เห็นชัดเจนมากขึ้น ไม่ปล่อยให้เอกชนเป็นคนรับงานข้างเดียว แต่จะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการแสดงในเวทีประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้การแสดงใหญ่ๆ ในไทยคงมีบริษัทขนาดใหญ่ที่จะจัดงานประเภทไม่เยอะมากนัก แต่หากมีการร่วมมือกับรัฐบาล ก็อาจทำให้เราสามารถขยายจำนวนบริษัทที่จัดงานเหล่านี้ได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐก็ต้องเป็นคนสนับสนุนในเรื่องการประสานงานในไทยด้วยเช่นกัน
“ประเด็นสำคัญของผมคือ ผมอยากเห็นว่า ถ้าเราทำไปสัก 3-4 ครั้ง ภาพของประเทศจะแสดงให้เห็นว่าเรามีวัฒนธรรมสากลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็ตาม ถ้าเรามีความหลากหลายในเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้ภาพของประเทศมีวัฒนธรรมหรือการแสดงที่เป็น contemporary art มากขึ้น”
การมีวัฒนธรรมสากลนั้นสำคัญขนาดไหน อภิสิทธิ์มองว่า ด้วยกระแสของโลก ประเทศไทยคงหนีจากการมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมโลกไม่ได้ เพราะทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน อย่างสิงคโปร์ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา เช่น สร้างหอศิลป์และ concert hall ขึ้นมาใหม่
“ถ้าเกิดเรามีวัฒนธรรมที่มันเป็นวัฒนธรรมสากลมากขึ้น ก็จะเป็นการต่อเชื่อมประเทศไทยกับโลกข้างนอก เพราะเราปิดตัวเรื่องเหล่านี้มานาน”
อภิสิทธิ์ยังเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้รัฐก็คงต้องมีเงินอุดหนุนในบางเรื่อง ไม่ใช่อุดหนุนเอกชนโดยตรง แต่คงต้องมีโปรแกรมอุดหนุนบางเรื่องที่ต่อยอดมาจากการแสดงนั้น เช่น การส่งเสริมนักดนตรีหน้าใหม่ ทำให้ผู้คนเห็นและอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐจะต้องมีโปรแกรมมาสนับสนุนในส่วนนี้
กลับมาที่เสียงจากเหล่าสวิฟตี้ เจนยืนยันว่า รัฐบาลควรมีส่วนเข้ามา ‘ทำอะไรสักอย่าง’ เพื่อให้การจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินทั้งหลาย เกิดในประเทศไทยมากขึ้น
“ถ้าประชาชนได้ดูคอนเสิร์ต ก็จะได้ความสุขกลับไปด้วย มีแรงทำงานเสียภาษี และการมีคอนเสิร์ตระดับโลกก็คงทำให้ประเทศได้ผลประโยชน์อื่นๆ อีกมาก ไม่งั้นสิงคโปร์คงไม่ทำขนาดนี้หรอก”
เช่นเดียวกับ ขิมิ ที่คาดหวังให้ทางรัฐบาลมองเห็นช่องทางตรงนี้ว่าอุตสาหกรรมบันเทิงสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มหาศาล
“หากผู้มีอำนาจช่วยส่งเสริมอย่างตรงจุด หันมาให้ความสำคัญและลงทุนกับเรื่องศิลปะ ดนตรี ความบันเทิง ช่วยให้การเดินทางเข้าถึงสเตเดี้ยมได้ง่ายกว่าตอนนี้ อาจช่วยให้ทีมงานศิลปินพิจารณาประเทศเรามากขึ้น”
“แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่สามารถทำได้ในทันทีทันใด แต่ถ้าลงมือทำอย่างจริงจังเราอาจมีโอกาสได้เป็นศูนย์กลางความบันเทิงได้เหมือนสิงคโปร์ในอนาคต”
อ้างอิงจาก