“อีหญิงสองใจละโมบโลภมาก คนเยี่ยงนี้อยู่ไปก็หนักแผ่นดินกู พระยายมราชลากมันไปประหาร!”
‘หญิงสองใจ’ คำเปรียบเปรยที่ได้ยินกันมาคู่กับบทเรียนวรรณคดีไทยเรื่อง เสภา ขุนช้างขุนแผน ที่มีตัวละครหลักเป็นขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง และหลายคนก็รู้กันดีว่า ขุนช้าง ขุนแผน ต่างพยายามแย่งชิงนางวันทองมาเป็นของตัวเอง ก่อนที่ศึกชิงหญิงจะจบลงด้วยชีวิตของผู้หญิง ผู้ไม่มีสิทธิ์พูดอะไรเลย
วรรณคดีเรื่องนี้ ถูกผู้คนในยุคสมัยวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา หลายคนมองว่า วันทอง มีชีวิตที่น่าสงสาร เพราะไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดินเอง และต้องมาตายลงทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ซ้ำยังเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดอีกด้วย
แล้วถ้าคนในยุคปัจจุบันสามารถทะลุมิติไปเป็นนางวันทองได้ล่ะ เรื่องราวนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร? คำถามที่นำมาสู่ ‘วันทองไร้ใจ’ เว็บตูนฝีมือคนไทย ที่หยิบเอาบทเสภานี้มาตีความใหม่ ด้วยตัวละครที่ทะลุมิติไปเป็น นางวันทอง พร้อมกับเป้าหมายว่า จะไม่แต่งงานกับใครทั้งนั้น และจะต้องมีชีวิตรอดไปให้ได้
วันทองไร้ใจ นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ, การโทษผู้เสียหาย, beauty standard, ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึง toxic relationship นับเป็นการตีความเรื่องราวในเข้ากับยุคสมัยและเรียกความสนใจจากนักอ่านได้เป็นอย่างดี
The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ มุ ผู้แต่งเรื่องวันทองไร้ใจ เพื่อดูถึงที่มาที่ไปของไอเดีย ประเด็นที่อยากสะท้อนผ่านการ์ตูนเรื่องนี้ รวมถึง ความสำคัญของการตีความวรรณคดีใหม่ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองและแนวคิดของสังคมได้มากขึ้น
แนะนำตัวหน่อย มาทำงานสายนี้ได้อย่างไร?
ชื่อมุ เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย แต่เพราะชอบวาดรูปมากกว่า ปัจจุบันเลยเบนเข็มมาเป็นนักวาดฟรีแลนซ์
แล้วมีจุดเปลี่ยนอะไรไหม ที่ทำให้คิดว่าเปลี่ยนสายมาทำงานวาดดีกว่า
มาจากตอนทำงานแล้วพบว่ามีเวลาวาดรูปที่ชอบน้อยลง แล้วรู้ตัวว่าสำหรับเรา แค่วาดรูปเป็นงานอดิเรกไม่พอ เราอยากตื่นมาวาดรูปตั้งแต่เช้าจรดค่ำ นอนแล้วตื่นมาวาดใหม่ ก็เลยกัดฟันลาออกมาวาดรูปตั้งแต่นั้นมา
แรงบันดาลใจของเรื่องวันทองไร้ใจมาจากไหน
มาจากนิยายจีนแนวทะลุมิติที่ชอบอ่าน พวกเรื่องราวเกี่ยวกับนางเอกที่ทะลุมิติมายุคโบราณบ้าง เข้ามาในนิยายบ้าง แล้วแก้ไขชะตาชีวิตของร่างเดิม อ่านแล้วก็อยากลองเขียนเองในเซ็ตติ้งไทยบ้าง
ประเด็นที่อยากสื่อสารออกมามากที่สุด ในเรื่อง ‘วันทองไร้ใจ’ คืออะไร
จากจุดเริ่มต้น ประเด็นที่อยากสื่อก็คือ การไม่เลือก คือช้อยส์ ทำไมวันทองต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง ถ้าเป็นเราคงไม่เลือกเลยสักคน และเราก็ควรมีความกล้าที่จะไม่เลือกได้
ในฐานะผู้แต่ง ‘วันทอง’ ในเวอร์ชั่นนี้ สะท้อนให้เห็นอะไร
น่าจะเป็นแนวคิดของคนสมัยนี้ ที่เปลี่ยนไปจากยุคสมัยเดิมมาก
ทำไมต้องทะลุมิติไปเรื่องขุนช้างขุนแผน
ตอนที่คิดถึงนางเอกที่มีชะตารันทด ต้องตายอย่างไม่เป็นธรรม น่าจะให้มีคนทะลุมิติเข้าไปแก้ไข ก็นึกถึงวันทองก่อนเลย คงเพราะสำนวน ‘วันทองสองใจ’ ที่ติดหัว และเพราะเรื่องนี้ได้บรรจุลงในแบบเรียน ตอนเรียนก็อัดอั้นตันใจว่าทำไมวันทองต้องตายมาก่อน เลยนึกถึงวันทองก่อนนางในวรรณคดีคนอื่นที่อาจชะตารันทดไม่แพ้กัน
หากไม่ใช่เรื่องขุนช้างขุนแผน มีเรื่องไหนที่อยากทะลุมิติไปอีกไหม
ทะลุมิติไปเป็น ‘นางอ้าย’ ตัวร้ายในเรื่องปลาบู่ทองก็น่าสนุกดีนะ คงได้เขียนบิดเรื่องสนุกเลย ความสนุกของเรื่องแนวทะลุมิติคือการตีความเรื่องใหม่ การเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องเดิมนี่ล่ะ
ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลนานขนาดไหนกว่าออกมาเป็นวันทองไร้ใจได้
เรื่องนี้ใช้เวลาหาข้อมูลสำหรับซีซั่นหนึ่งประมาณหนึ่งปี คือเอาแค่ที่จะใช้ในซีซั่นแรกก่อน เนื้อเรื่องตอนท้ายๆ เอาไว้จบซีซั่นค่อยหาเพิ่ม สำหรับซีซั่นแรก หลักๆ ก็หาอ่านเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนใจสมัยนั้น ว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง บ้านเรือน ที่อยู่ เสื้อผ้าอาหาร เชื้อชาติต่างๆ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์ของเจ้านายกับบ่าว ต้องมีภาพชีวิตของพวกเขาในหัวก่อนถึงจะคิดเรื่อง เขียนออกมาได้
ส่วนซีซั่นถัดไปก็ยังมีเรื่องในวัง การติดต่อค้าขาย ชีวิตของพ่อค้าชาติต่างๆ ลูกครึ่ง และคนชายขอบ รอให้ไปหาเพิ่ม
ประเด็นไหนในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่มองว่า หากใช้เลนส์ของคนยุคปัจจุบันมองคงเป็นปัญหาที่สุด
คิดว่าทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นการที่ลูกเป็นสมบัติพ่อแม่ เมียเป็นสมบัติของผัว กษัตริย์คือเจ้าชีวิต เจ้านายคือเจ้าชีวิต การขายลูกเป็นทาส ฯลฯ ถ้าแค่ใช้เลนส์คนปัจจุบันมองก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ถ้าเริ่มไปตัดสินว่าอันนี้เลว อันนี้ไม่ควรมี นี่คงไม่ใช่แล้ว เพราะยุคสมัยมันต่างกัน
ค่านิยมยุคเก่าเรื่องไหนที่มองว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางบวกแล้วในปัจจุบัน
เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนไม่มีเลย
ตรงกันข้าม ค่านิยมเก่าๆ เรื่องไหนที่มองว่า ปัจจุบันยังเหมือนเดิม หรือแย่ลง
ที่ยังเหมือนเดิมก็อย่างเช่น การฉุดคร่าผู้หญิงที่ไม่น่าเชื่อว่ายังมีอยู่ กับบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่าแย่ลงได้ไหม เช่น เรื่องสิทธิในร่างกายที่กลายเป็นว่าสมัยนี้ต้องมาเรียกร้องให้โนบราได้โดยไม่ถูกมองแปลกๆ หรือผู้หญิงไม่ได้มีค่าแค่ความบริสุทธิ์ ซึ่งเรื่องพวกนี้สมัยก่อนทำได้ปกติ ก็เป็นเรื่องที่แปลกดีของการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย ที่ไม่ใช่ว่าเรื่องในอดีตจะแย่เสมอไป
ในเรื่องมีท่อนหนึ่งที่ตัวละครพูดว่า ‘เราไม่สามารถเอาเลนส์ของคนยุคนี้ไปตัดสินค่านิยมเก่าๆ บางอย่างได้’ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เพราะมันไม่ยุติธรรมกับคนสมัยนั้น เขาทำแบบนั้นเพราะสมัยนั้นมีแนวคิด ค่านิยมแบบนั้น วรรณคดีและประวัติศาสตร์มีไว้ศึกษาว่าคนสมัยก่อนเขาคิดกันยังไง ไม่ใช่ไปตราหน้าเขา
แต่แม้เราไม่ควรไปตัดสินคนสมัยนั้น เราก็ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับหลายๆ อย่างในสมัยก่อนได้นะ เราเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ไม่ไปตัดสิน ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นควรตามเขา ห้ามวิจารณ์เขา มันคนละอย่างกัน
บางคนอาจมองว่า เอาวรรณคดีดั้งเดิมมาทำให้เสียหายหรือเปล่า อยากตอบอะไรกับประเด็นนี้ไหม
เดิมทีขุนช้างขุนแผนก็ไม่มีความ ‘ดั้งเดิม’ หรอก เพราะวรรณคดีเรื่องนี้มีที่มาจากที่เสภาที่คณะนู้นคณะนี้เอาโครงเรื่องเดียวกันไปแต่งไว้ใช้ขับร้องเป็นสิบเป็นร้อยเวอร์ชั่น ที่เราเรียนอยู่นี่คือขุนช้างขุนแผนที่คัดของหลายๆ เวอร์ชั่นมารวมกัน เพราะฉะนั้น เวอร์ชั่นเว็บตูนนี้ก็แค่อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เหมือนเสภาอีกหลายเวอร์ชั่นนั่นล่ะ
ส่วนตัวคิดว่าวรรณคดีต้องมีการนำไปดัดแปลง ต่อเติมนะ เนื้อเรื่องถึงจะยังคงอยู่ในความสนใจของคน ไม่สูญหายไปไหน
มีคนอ่านหลายคนที่บอกว่าอ่านเว็บตูนแล้ว อยากกลับไปอ่านต้นฉบับเลย การคิดว่าวรรณคดีคือของสูง ไม่ควรจับต้องต่างหาก ที่เร่งให้วรรณคดีหายไปเร็วขึ้น เพราะคนจะไม่สนใจ ไม่ใส่ใจอีกเลย
วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ สำคัญอย่างไร
ส่วนตัวคิดว่า สังคมต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันคือการที่เราหมั่นตรวจสอบกันและกัน เพราะไม่อย่างนั้นค่านิยมหรือกระแสสังคมบางอย่าง ถ้ามันไหลไปโดยไม่มีการตั้งคำถามหรือวิจารณ์กัน ค่านิยมนั้นก็อาจกลับมาทำร้ายเราได้ เช่น บางลัทธิที่ผู้นำสั่งให้ทำอะไรแปลกๆ โดยไม่มีคนสงสัย หรือค่านิยมว่าลูกต้องกตัญญูพ่อแม่ พ่อแม่จะทำร้ายลูกแค่ไหนก็ได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าไม่มีคนออกมาพูดว่า มันไม่ใช่แล้วนะ คนเดือดร้อนก็คือคนในสังคมนั้นเอง
ในฐานะที่เรียนครุศาสตร์มา คิดว่าการสอนวรรณคดีในห้องเรียน ควรเป็นไปแบบไหน แล้วที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่มีปัญหาอะไรไหม
วรรณคดีต้องมีการถกเถียงมันถึงจะสนุก ตอนเรียนคือ ถ้าครูคนไหนนำวิพากษ์วิจารณ์ได้คือสนุก แต่ถ้าครูคนไหนทำไม่ได้ วรรณคดีก็น่าเบื่อไปเลย ถ้าหลักสูตรเอื้อให้มีการถกเถียงกันได้มากกว่านี้ ไม่เห็นว่าวรรณคดีคือของสูง แตะไม่ได้ ก็คงดีกว่านี้
เหมือนอย่างที่บอก มีคอมเมนต์นึงของคนอ่านบอกว่า เราตัดสินการกระทำของคนในอดีตไม่ได้ แต่เราไม่เห็นด้วยได้นะ ซึ่งเราเห็นด้วยมากๆ ถ้าการสอนช่วยให้ผู้เรียนสามารถแยกแยะประเด็นได้ก็จะดีมาก
ด้านการวาดภาพ เริ่มวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่ มีงานอดิเรกเป็นการวาดภาพอยู่แล้วไหม
เริ่มวาดมาตั้งแต่ยังเด็กเลย เป็นงานอดิเรกที่กลายมาเป็นอาชีพภายหลัง
แต่ละตัวละครมีเสียงชื่นชมเยอะมาก ใช้เวลาในการดีไซน์ตัวละครนานไหม
ตัวละครออริจินัลอย่างปรงกับเปลวดีไซน์ไม่นานมาก แค่จับเอาลักษณะที่ชอบมารวมกัน ที่ออกแบบนานหน่อยคือตัว วันทอง ขุนช้าง และขุนแผน ที่ต้องให้มีลักษณะตามที่ในเสภาบอกด้วย วาดออกมาแล้วดูดี เข้ากับลายเส้นที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันด้วย ลองผิดลองถูกอยู่นาน
แต่ละภาพมีการลงรายละเอียดมาก ใช้เวลานานขนาดไหนกว่าจะได้ 1 ตอน
หนึ่งตอนใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการแต่งเรื่องวันทองไร้ใจ
การที่ได้วาดฉากที่อยากวาดโดยที่เนื้อเรื่องไม่เสีย บางทีมีฉากตบมุกหรือฉากในชีวิตประจำวันที่อยากวาดอยากแทรกลงไปเยอะมาก แต่ใส่ลงไปไม่ได้ ที่ไม่พอ ก็จะเศร้าๆ หน่อย
คิดว่าที่ผ่านมา สถานศึกษาของไทยหรือภาครัฐให้การซัพพอร์ทการต่อยอดศิลปะมากขนาดไหน
น้อยถึงน้อยมาก คนไทยไปชนะการประกวดที่ต่างประเทศกลับมาเยอะมากเลยนะ เราได้รางวัลกันแทบจะทุกปี แต่เมื่อกลับมา กลับมีการพูดถึงหรือช่วยต่อยอดผลงานน้อยมาก หรือไม่มีเลย รู้สึกเสียดายแทนมาก
แล้วคิดว่า สถานศึกษาสามารถซัพพอร์ทการสอนหรือต่อยอดศิลปะให้ผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง
ศิลปะมีหลายแขนงมาก แต่ละแขนงก็ได้แสงต่างกัน บางสายงาน เช่น มังงะญี่ปุ่น หลายคนเคยโดนดูถูกด้วยซ้ำ ถ้าการเรียนการสอนเปิดรับศิลปะได้หลากหลาย ผู้เรียนได้รู้จักศิลปะหลายๆ แบบ ได้ค้นหาตัวเองว่าชอบแบบไหน และศิลปะไม่ว่าจะแบบไหนก็มีพื้นที่แสดงออกได้ก็คงดี
การ์ตูนเรื่องวันทองไร้ใจ ถือเป็นอีกหนึ่ง soft power ที่น่าสนใจ คิดว่าภาครัฐควรซัพพอร์ทเรื่อง soft power ยังไงอีกบ้าง
ส่วนตัวคิดว่า soft power ไม่ใช่สิ่งที่นักเขียนแค่คนเดียวจะทำให้เกิดได้นะ มันควรเกิดจากการทำซ้ำของสายผลิตหลายๆ คน เหมือนซีรีส์เกาหลีที่กี่เรื่องก็กินรามยอน ดื่มโซจู หรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่กี่เรื่องก็ใส่ชุดยูกาตะ ดูพลุ เดินงานเทศกาล
และ soft power ก็ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ที่จะเกิดจากผู้มีอำนาจสักคนกำหนดว่าเราต้องพูดถึงเรื่องนี้นะ ทุกคนจงเขียนถึงเรื่องนี้ tie-in เรื่องนี้เข้าไปนะ แต่ soft power คือสิ่งที่ประเทศนั้นเป็นอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว และถูกพูดถึงอย่างเป็นธรรมชาติ
เพราะงั้นการซัพพอร์ตที่ดีน่าจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตมีผลตอบแทนที่ดี มีแรงที่จะผลิตงานออกมา มีระบบสำนักพิมพ์ที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่ปล่อยให้นักเขียนสู้อยู่คนเดียว สนับสนุนการต่อยอดผลงานให้มีหลายรูปแบบมากขึ้น ผลักดันให้ผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถึงตอนนั้น soft power ของไทยน่าจะเป็นรูปเป็นร่างและแข็งแรงกว่านี้เอง
ถ้าคุณนักเขียนได้เข้าไปอยู่ในวรรณคดีสักเรื่องของชาติไหนก็ได้ อยากเข้าไปในเรื่องไหน แล้วเป็นใครในเรื่องนั้น
โอ้โห อันนี้ตอบยาก ถ้าเลือกได้อยากขอเข้าไปอยู่ในนิยายโลกอนาคตมากกว่าวรรณคดีที่เป็นเรื่องในอดีต
ทำไมถึงอยากไปนิยายโลกอนาคตมากกว่า แล้วมีเรื่องที่อยากไปไหม
อันที่จริงก็แค่มีความใฝ่ฝันเล็กๆ ว่าอยากอยู่ทันยุคที่ประเทศไทยสามารถนั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวได้ทุกที่เท่านั้นเอง เลยอยากทะลุไปยุคอนาคตที่เป็นแบบนั้น (หัวเราะ)
แต่ถ้าเป็นนิยาย อยากเป็นแม่มดพ่อมดในโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ อยากใช้เวทมนตร์ทำอะไรหลายๆ อย่างผสมกับวิทยาการปัจจุบัน คงสะดวกน่าดู
ตอนนี้เรื่องเดินทางมาจบซีซั่น 1 แล้ว คิดยังไงกับผลตอบรับบ้าง อยากกล่าวอะไรกับคนที่ติดตามไหม
ดีใจที่ทุกคนให้ผลตอบรับดีมาก แค่คนอ่านรู้สึกสนุกคนวาดก็ดีใจแล้ว จะพยายามเขียนให้สนุกยิ่งขึ้นไปอีกนะ แล้วพบกันซีซั่นสอง!
ใครสนใจอ่านเว็บตูนเรื่อง วันทองไร้ใจ ก็คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่นะ