“หากพี่น้องทั้งหลายเชื่ออย่างแท้จริงว่าคนเท่ากัน จงเชื่อว่าเสียงของผู้หญิง เพศหลากหลาย ก็มีค่าเท่ากับเสียงผู้ชายด้วย”
หนึ่งในถ้อยคำปราศรัยจากเวทีชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่สะท้อนประเด็นสำคัญให้เห็นว่าสังคมที่ประชาธิปไตยผลิดอกออกผลเท่าไหร่ ความเป็นธรรมทางเพศก็ยิ่งเกิดมากขึ้นเท่านั้น
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เราได้มาซึ่งสังคมที่จะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง The MATTER พูดคุยกับ วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ จากกลุ่มโรงน้ำชา (TEA: Togetherness for Equality and Action) เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจในประเด็นนี้กัน
เข้ามาทำงานด้านนี้ได้ยังไง?
เราไม่ได้มีรสนิยมทางเพศเป็นรักต่างเพศ เราชอบผู้หญิงได้ แล้วก็ชอบผู้ชายได้ แล้วที่ผ่านมาพอเราคบกับผู้หญิง เราก็รู้สึกว่ามันมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เราไม่สามารถเปิดเผยตัวเองเรื่องคบกับผู้หญิงได้ เราไม่สามารถที่จะดูแลคนรักในรูปแบบของคู่ชีวิต หรือการดำเนินการแบบการแต่งงานหรือรูปแบบอื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่า เราต้องลุกขึ้นมาเพราะเห็นประเด็นปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็สนใจในประเด็นของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ก็เลยเริ่มต้นในการก่อตั้งองค์กรเพื่อที่จะทำงานประเด็นนี้
กลุ่มโรงน้ำชาคืออะไร?
เราใช้ชื่อนี้เพื่อล้อกับบริบทสังคมสมัยก่อนที่โรงน้ำชาเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น ตอนนี้ กลุ่มโรงน้ำชาเข้าปีที่ 8 แล้ว เราทำงานในประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นธรรมและความหลากหลายทางเพศ จริงๆ ก็มีกิจกรรมหลายๆ กิจกรรม แต่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราโฟกัสการรณรงค์เพื่อการสมรสเท่าเทียม นอกจากนั้น ก็ยังมีกิจกรรมพวกการทำงานรายงาน shadow report ส่งให้กับ UN ว่าประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศมีประเด็นไหนบ้างที่ยังคงถูกเลือกปฏิบัติในรัฐไทย แล้วก็มีโครงการสำหรับเยาวชนที่เราทำอยู่ในโครงการ Out of the box ที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนที่เป็นเพศหลากหลายได้มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และการแสดงออกผ่านภาพวาดและการอบรม
นอกนั้นก็จะมีรูปแบบของการอบรมสัมมนา หรือว่าการสร้างฐานคิดในแบบเฟมินิสต์ผ่าน Young Feminist Network จริงๆ เราเป็นภาคประชาสังคม อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการที่จะเสริมศักยภาพนักกิจกรรม เพื่อนำเอาประเด็นในมิติความเป็นธรรมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของนโยบาย แล้วก็สร้างความเข้าใจให้กับสังคม
มองการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยว่ายังไงบ้าง?
จริงๆ ประเด็นความหลากหลายทางเพศ และประเด็นผู้หญิงของสังคมเป็นประเด็นที่ก้าวหน้าระดับหนึ่ง ถ้าเทียบในภูมิภาค เรามีตัวกฎหมายหลายๆ ตัวที่คุ้มครอง แล้วก็มีความเข้าใจของสังคมที่สังคมยึดถือกันว่า ถ้าหากว่าใช้ความรุนแรงทางเพศ สังคมเริ่มที่จะตั้งคำถามและไม่เห็นด้วย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเคลื่อนไหวในมิติอื่น รวมไปถึง การเคลื่อนไหวในมิติของประชาธิปไตย เราเห็นได้ชัดว่า ในพื้นที่ประชาธิปไตยยังไม่ได้เปิดรับพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับทุกเพศในการเคลื่อนไหว
เราจะเห็นหลายปีที่ผ่านมามีการคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มนักกิจกรรม รวมไปถึงถ้าหากว่า ใครไปชุมนุม ก็มีน้องนักเรียนผู้หญิงที่ไปชุมนุม แล้วมีคนเห็นว่าพอน้องเขาใส่ชุดนักเรียนก็ใช้โอกาสเหล่านั้นล่วงละเมิดทางเพศ
รวมไปถึง มิติ คำพูดต่างๆ การเหยียดเพศยังมีการพูดถึงบนเวที การที่นำเอาลักษณะของเพศที่เป็นกะเทยหรือ feminine มาล้อเลียน ทั้งสองฝั่ง และการคุกคามทางเพศของนักการเมืองที่เป็นผู้หญิง หรือเป็นกะเทยก็จะเห็นได้ว่าในมิติทางด้านการเมืองเนี่ย ยังคงไม่เข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ คืออยากจะก้าวหน้าพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นธรรมในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ แต่ว่า ละทิ้งประเด็นในเรื่องของความเป็นธรรมทางเพศอยู่
จริงๆ ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องแล้วก็ตั้งกลุ่มเยอะแยะมากมาย อย่างเช่น กลุ่มผู้หญิงปลดแอก เควียร์ปลดแอก กะเทยปลดแอก หรือว่าเสรีเทยพลัสที่ลุกขึ้นตั้งมาเพื่อที่จะให้เห็นว่า ในมิติของการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น จะต้องนับรวมเอาในประเด็นเพศเข้าไปเคลื่อนไหวด้วย ไม่งั้นกระบวนการเข้าสู่ประชาธิปไตย จะเป็นการเข้าสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรมที่มันล้มเหลว
การเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยในสังคมมันเปลี่ยนแปลง หรือว่าก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน
เราคิดว่าสิ่งที่ก้าวหน้ามันไม่ใช่กระบวนการหรือการจัดตั้ง แต่สิ่งที่ก้าวหน้าคือคนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประเด็นของตัวเอง ส่วนเรื่องรูปแบบการจัดตั้ง ก่อนหน้านี้ รูปแบบการจัดตั้งเป็นลักษณะที่ว่า ตั้งมวลชนแบบเสื้อเหลืองเสื้อแดง จัดตั้งมวลชนแบบประเด็นที่ดิน ประเด็นการพัฒนา ประเด็นเหมืองแร่ หรือประเด็นของพื้นที่สมัชชาคนจนต่างๆ ซึ่งบนเวทีที่ผู้ปราศรัยหรือผู้ไฮด์ปาร์กไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายเรื่องเพศเลย คุณนึกแต่ว่าใครพูดเก่งก็สามารถขึ้นไปพูดได้
จุดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนยุคนี้ ที่ผู้หญิงและกลุ่มคนเพศหลากหลายลุกขึ้นมาหาวิธีของเขาเอง จัดตั้งเวทีของเขาเอง และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ชูประเด็นของเขาเอง ผ่านแผ่นป้ายของเขาเอง
ไม่แน่ใจว่า คนที่คุมสภาพการเคลื่อนไหวทางด้านประชาธิปไตยที่เรียกว่า เป็นกลุ่มนำ หรือแกนนำมองเห็นตรงนี้ด้วยความเท่าเทียม หรือมองเห็นว่า มันยังคงเป็นประเด็นที่ปล่อยผ่านไป อันนี้จะต้องกลับไปถามคำถาม ซึ่งถ้าคุณไม่ได้มองเห็นตรงจุดนี้ แล้วก็เลี่ยงที่จะพูดถึงการที่ให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นแถวหน้าอย่างเท่าเทียม สักวันมวลชนก็จะถอดใจ เพราะเขารู้สึกว่า เขาออกมาแล้วเขาไม่ปลอดภัย เขาออกมาแล้วเขาไม่ได้รับเสียงตอบรับ
คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า “เรียกร้องประชาธิปไตยก่อน ค่อยเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ”
บางคนบอกว่า เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยก่อนถึงค่อยไปเรียกร้องในเรื่องเพศ แต่ถ้าหากว่าคุณไม่สามารถคุมสภาพเป็นมิตรกับทุกประเด็นที่ออกมาเคลื่อนไหวได้ สักพักเราก็รู้สึกว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่มีความหมาย เราก็ถอยหลังออกมา จริงๆ ไม่ใช่แค่กับเรื่องเพศ ถ้าหากว่าเรามัวแต่เรียกร้องความเป็นชาติที่เป็นความเป็นไทย แน่นอนว่า เชื้อชาติ ชนชาติอื่นๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกไป เราไม่มีทางที่จะเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้พร้อมกับทางด้านการเมืองเพราะว่าเสียงเขาไม่มีความหมาย
ถ้าเราพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นแกนนำ หรือว่าการเคลื่อนไหวในระดับโลกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม คุณจะเห็นว่าประเด็นความหลากหลายมันอยู่ในขบวนการเปลี่ยนแปลง เพราะประเด็นความหลากหลายมันสร้างจินตนาการ ความสุข และสังคมใหม่ แล้วก็ความคิดสร้างสรรค์สำหรับการนำขบวน
ในขบวนการประชาธิปไตยก็มีความหลากหลาย
การมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เหมือนกันกับรัฐไทย ถ้ารัฐไม่มองเห็นว่าความต้องการของคนมันมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ยังคงยึดติดกับอำนาจนิยมแบบเดิม จารีตแบบเดิม โครงสร้างสถาบันแบบเดิม การยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ การยึดโยงกับศาสนาพุทธ การยึดโยงกับรูปแบบทหารที่ไม่ได้ปรับตัว ไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรเหมือนเดิม ก็มีคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามมากขึ้น ถ้าปรับตัวไม่ได้ ก็หมายความว่า รูปแบบการต่อต้านก็จะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
การที่จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็ง มันต้องเข้มแข็งจากข้างใน ถ้าเราคิดว่าประชาธิปไตยคือการเคารพคนเท่ากัน ก็หมายความว่า เราต้องเคารพในมิติของความเป็นธรรมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ มิติหญิงชายแล้วก็เพศหลากหลายอย่างเท่ากัน แล้วขบวนการนี้มันจะเข้มแข็ง พอขบวนการนี้มันเข้มแข็ง เวลาไปสู้กับอำนาจใหญ่ๆ ที่มันมีอาวุธ มันมีแหล่งอำนาจสูง มันมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ มันก็สู้ได้ แต่ถ้าหากว่า ในบ้านเราเองมันไม่เข้มแข็ง มีการแย่งชิงการนำ มีการรูปแบบการนำแบบอำนาจนิยม ก็คือ มีหัวคนตัดสินใจเพียงแค่ไม่กี่คน แล้วก็ตัดสินใจโดยที่ไม่รับฟังเสียงคนอื่นๆ สุดท้ายคุณสู้ไป คุณก็แพ้
จริงๆ แล้วผู้หญิงก็อยู่ในขบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยมาตลอด แต่ทำไมที่ผ่านมาเราถึงไม่ค่อยได้รับความสำคัญ หรือไม่ค่อยมีคนมองเห็น
ชนชั้นไหนเขียนกฎหมายก็หมายความว่าชนชั้นนั้นก็เขียนผลประโยชน์ของตัวเอง เหมือนกันกับหน้าประวัติศาสตร์ ใครล่ะ เป็นคนที่ตอกหมุดหมายเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์นักประวัติศาสตร์ผู้ชายที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยเหมือนกัน แล้วก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคม หรือระบบการศึกษาเหมือนกันว่าทำไมไม่เอื้อให้กับแนวความคิดของให้ผู้หญิงสามารถไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าได้
คุณรู้ไหมว่า ในช่วง 6 ตุลาฯ มีกลุ่มผู้หญิงรวมตัวกันเป็นองค์กรภาคีผู้หญิง 10 สถาบันเกิดขึ้น ซึ่ง 10 สถาบันการศึกษาก็นำหน้าในการพูดถึงเรื่องประเด็นผู้หญิงเยอะแยะมากมาย มีผู้หญิงที่เสียชีวิตแล้วก็ถูกทำร้ายศพอย่างโหดเหี้ยมทารุณ แต่คำถามคือ ทำไมประวัติศาสตร์ในยุคนั้น มันมีจารึกเฉพาะนักประวัติศาสตร์ นักต่อสู้ แล้วก็นักเคลื่อนไหวที่เป็นผู้ชายเป็นเสียงส่วนใหญ่
แล้วหลังจาก 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา ก็มีแม่ พี่สาว น้องสาว และลูกสาวตั้งเยอะที่จะต้องโอบอุ้มครอบครัวที่มันล่มสลายจากการเสียชีวิตแล้วก็การสูญหายของคนในครอบครัว หรือความรุนแรงในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ ที่เข้าป่า ก็มีเรื่องเล่ามากมาย ซึ่งไม่เคยถูกพูดถึง เพราะฉะนั้นขบวนการผู้หญิงปลดแอกมันเลยต้องถูกยกขึ้นมาพูดถึงในสังคม และต้องมองให้เห็นว่ารูปแบบการกดขี่ของรัฐจารีตไม่ได้กดขี่เฉพาะในเรื่องของการเลือกตั้ง หรือในเรื่องของรัฐสภาเท่านั้น แต่ว่า ระบบการกดขี่มันกดขี่ไปในรูปของโครงสร้าง และยังเห็นได้อยู่ทุกวันนี้
ทำไมบางคนถึงมองว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก
คุณรู้ไหมว่าจริงๆ ปิตาธิปไตยมันใหญ่มาก สถาบันกษัตริย์เล็กกว่าโครงสร้างปิตาธิปไตย ระบบทหารเล็กกว่าโครงสร้างปิตาธิปไตย และการเมืองการปกครอง แม้กระทั่งการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยก็เล็กมาก ถ้ามองถึงรูปแบบอำนาจปิตาธิปไตย หรือโครงสร้างชายเป็นใหญ่ที่มันครอบประเทศนี้อยู่ และมันครอบโลกนี้อยู่
เรากำลังลุกขึ้นมาพูดกับโครงสร้างที่มันใหญ่กว่าที่ขบวนการประชาธิปไตยเรียกร้องอยู่เสียด้วยซ้ำ และมันท้าทายกว่ามาก มันท้าทายกว่าที่คุณจะคิดได้ว่าใช้เวลานานอีกเท่าไหร่ หลายคนบอกว่าขบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าเราจะทำให้มันมีความก้าวหน้า ใช้เวลา 10 ปี 20 ปี แต่การทำลายร้างปิตาธิปไตยหรือโครงสร้างชายเป็นใหญ่ มีหวังเป็นร้อยปี ห้าร้อยปี หรือพันปี เราจินตนาการไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ลุกขึ้นมาพูดในวันนี้ มันก็จะไม่มีหมุดหมายสำหรับการลุกขึ้นพูด
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการเป็นประชาธิปไตย หรือความเท่าเทียมมันก็คือการเปลี่ยนมือจากเพศที่มีอำนาจหนึ่ง ไปสู่กลุ่มเพศที่มีอำนาจเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
หลายคนอาจจะพูดถึงเรื่องชายเป็นใหญ่แล้วตกใจว่าเรากำลังโจมตีผู้ชายหรือเปล่า ซึ่งเข้าใจผิด ในความคิดการต่อสู้ของเฟมินิสต์ไม่เคยโจมตีตัวบุคคล เรากำลังโจมตีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนอันเนื่องจากเพศ
เราไม่ได้จะลบล้างผู้ชาย ความเป็นผู้ชาย เพศชาย แต่เรากำลังพูดถึงความเป็นธรรมทางเพศที่เท่าเทียม และเราก็มองเห็นว่าเพศชาย ผู้ชายที่โตมาด้วย toxic masculinity มันส่งผลกระทบกับเขาเหมือนกัน และเรากำลังทำให้ระบบฐานคิดชายเป็นใหญ่มันสิ้นสุดลง เพื่อทำให้ไม่ว่าเพศไหนสามารถที่จะเติบโต มีเสรีภาพ และก็สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหมุดหมายจะต้องถูกปักหมุดตอนนี้ วันนี้ ร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมร่วมกัน
ทำไมนักการเมืองหรือผู้นำหญิง ถึงมักจะโดนโจมตีในเรื่องเพศหนักกว่าชาย
เราขอยกตัวอย่างไปมากกว่านั้น อย่างการที่มีคนหยิบยกเรื่องลาบก้อยขึ้นมาพูดบนเวที ซึ่งเป็นเพราะคุณไม่สามารถพูดตรงๆ ได้ไง จริงๆ ทุกคนรู้ว่า ความเจ็บปวดในเรื่องของความไม่เป็นธรรมทางเพศในโครงสร้างของจารีตมันหนักหน่วงขนาดไหน แต่คุณลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ไม่ได้ คุณไม่กล้าพูดออกมา คุณไม่กล้านิยามออกมาว่าในสังคมมันมีปัญหาเรื่องความรุนแรงและความเป็นธรรมทางเพศจริงๆ คุณก็เลยหยิบยกเรื่องลาบก้อยให้มันเป็นเรื่องตลกโปกฮา แทนที่คุณจะบอกว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงของโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในระบบจารีต
เหมือนกับที่นักการเมืองหญิงหลายคนเจอ เมื่อพวกเขาเป็นคนเก่งสิ่งที่เดียวที่จะบั่นทอนและทำให้เสียหน้าได้ก็คือกรอบความคิดเรื่องเพศแบบเดิม ผู้หญิงแค่เดินออกไปใส่ชุดสั้นก็น่าละอายแล้วในสังคม ผู้หญิงที่เดินออกไปแล้วเขาถูกข่มขืน คนก็ชี้หน้าบอกแล้วว่าเขาเป็นคนผิด แล้วจะนับประสาอะไรกับนักการเมืองที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง แล้วจะถูกเอาเพศมาหยอกล้อ หรือการทับถมให้เจ็บปวด
ก่อนหน้านี้มีน้องจากที่ร้อยเอ็ดเขาลุกขึ้นมาแล้วก็บอกว่า เขาสนับสนุน sexwork ให้ได้รับการรับรองว่าไม่ผิดกฎหมาย ทันทีที่เขาลุกขึ้นมา รูปของเขาก็ถูกส่งต่อไปยังโซเชียลมีเดีย และกลุ่มที่ลุกขึ้นมาโจมตีต่อต้าน ไม่ได้โจมตีต่อต้านในประเด็นที่น้องเขาพูด แต่กลับชี้เป้าว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กที่ขายบริการ ซึ่งไม่จริง คนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องว่า sexwork ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องขายบริการ เพียงแค่เขาสนับสนุนว่านี่คืออาชีพนึงเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของน้องๆ ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง แล้วถูก soft abuse ก็คือจะถ่ายรูปในลักษณะของการชื่นชม แต่รูปแบบการชื่มชมของคุณ ไม่ได้ชื่นชมประเด็นของพวกเขาลุกขึ้นออกมาเรียกร้อง แต่คุณชื่นชมเพราะว่าเป็นน้องนักศึกษาที่น่ารักจังเลย เป็นสาวแว่นที่ดูดีจังเลย ก็เลยชื่นชม
นี่คือสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญ จริงๆ ก็มีผู้ชายที่ดูดีแล้วถูกลวนลามเหมือนกัน ซึ่งไม่มีใครให้สิทธิ์ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม ในทางกลับกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องยึดถือจุดนี้ร่วมกัน เพียงแต่ว่าชุดประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมันเยอะกว่าผู้ชายจริงๆ
คิดเห็นยังไงกับคำว่า ‘เฟมทวิต’
เราไม่แน่ใจว่าเราจะไปนิยามเขาได้ไหม เพราะเราเองไม่ได้เล่นทวิตเตอร์เก่ง แต่เรามองว่าปรากฏการณ์ของเฟมินิสต์มันอยู่ในทุกพื้นที่เลย ถ้าหากว่ามองในโครงสร้างแบบออฟไลน์ มันมีเฟมินิสต์ชาติพันธุ์ มันมีเควียร์เฟมินิสต์ มันมีเฟมินิสต์ที่อยู่ในปีกแรงงาน มีเฟมินิสต์ในพรรคการเมือง แล้วก็มีเฟมินิสต์อยู่ในทุกองคาพยพเลย เลยคิดว่า เฟมทวิตก็คือรูปแบบเดียวกันของการลุกขึ้นมาของเฟมินิสต์
แต่จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า เราทุกคนล้วนเป็นเฟมินิสต์ เราทุกคนสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้ เพราะว่าเราอยู่ภายใต้สังคมที่มันกดขี่ เพราะฉะนั้น ผู้ชายหรือทุกคนล้วนเกิดมาเป็นเฟมินิสต์ได้ เพราะว่าเขาเข้าใจรูปแบบการกดขี่ทางเพศเหมือนกัน
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเพศในประเทศอื่นเป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างกรณีของตูนีเซีย ตอนที่เขาสามารถล้มล้างกลุ่มอำนาจปกครองเดิมได้ แล้วก็เปลี่ยนเป็นรูปแบบการทดลองแบบประชาธิปไตยได้ เราได้คุยกับเฟมินิสต์หรือองค์กรผู้หญิงตูนีเซีย ซึ่งเขาก็เล่าให้ฟังว่า เขาก็ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะร่วมขบวนประชาธิปไตยในยุคนั้น และเขาก็ต่อรองเลยว่าถ้าเขาร่วมขบวนการประชาธิปไตย เขาจะต้องการผ่านกฎหมายความเป็นธรรมทางเพศ และทันทีที่ตูนีเซียปฏิวัติเสร็จ แล้วก็มีประชาธิปไตย กลุ่มผู้หญิงกลุ่มนั้นก็เลยมาทวงคืนว่าตอนที่ฉันลุกขึ้นออกมาต่อสู้เรียกร้อง เหมือนกับเป็นหนึ่งเดียวกับพวกคุณ เราร้องขอสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นไม่กี่ปี ตูนีเซียผ่านกฎหมายความเป็นธรรมทางเพศ ให้กับการเรียกร้องของผู้หญิง
หรือในยุโรป คุณรู้ไหมว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด คนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องก็คือแรงงานหญิง เพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างงานผู้หญิง
เพราะฉะนั้นแล้ว เรามีความหวังมากกับการที่ผู้หญิงและเพศหลากหลายลุกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองของไทย และถึงวันนั้นเราก็ยังเชื่อแล้วก็ขอ commitment จากองค์กรนำที่ยังเป็นองค์กรนำแบบภายใต้โครงสร้างผู้ชายเป็นใหญ่อยู่ว่า ถึงวันนนั้นคุณก็ต้องกลับมาที่จะโฟกัสแล้วก็พูดคุยในเรื่องของความเป็นธรรมทางเพศในทุกมิติ เพื่อที่ว่าสังคมนับจากนี้มันจะส่งต่อให้กับรุ่นต่อไป โดยที่เขาเจอความรุนแรงในสังคมน้อยที่สุด แล้วก็ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด
แต่หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังมีปัญหาในเรื่องเพศอยู่เหมือนกัน เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น
โครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมมันมีมาเป็นพันปี จะให้จัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้ศตวรรษเดียว หรือว่าทศวรรษเดียวมันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เรามองเห็นก็คือว่า เราต้องจับให้ได้ว่า ในสังคมนั้นอะไรคือความท้าทายสำคัญในวินาทีนั้น เพื่อที่จะหยิบยกเรื่องนั้นมาเรียกร้องต่อสู้ อย่างในสหรัฐฯ ความท้าทายใหญ่ คือเรื่องสีผิว ในฮ่องกงความท้าทายใหญ่ คือเรื่องของอำนาจในการปกครองตนเอง ส่วนในสังคมไทย เรามองว่า การต่อต้านกับระบบโครงสร้างจารีตเดิมคือ ความท้าทายใหญ่
เราคิดว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมเป็นธรรม มันคือสังคมที่อนุญาตให้ทุกๆ พื้นที่ลุกขึ้นมาโต้เถียงแล้วก็สร้างทางเลือกให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจถ้าหากว่าสังคมมันยังมีความขัดแย้ง แต่จงตกใจถ้าหากว่าสังคมที่มีความขัดแย้ง คนที่ใช้อำนาจรัฐ คนที่ถูกกฎหมาย ใช้ความรุนแรง แต่ถ้าหากว่าความขัดแย้งมันมาในระดับของมวลชน มันมาในระดับของผู้คน มันมาในระดับของความคิดเห็นในรูปแบบสาธารณะที่ถกเถียงกันได้ พูดคุยกันได้ ก็ไม่ต้องตกใจ ปล่อยให้พลวัตนั้นอนุญาตให้สังคมเติบโต สังคมที่มีแนวความคิดเดียวต่างหากเป็นสังคมที่น่ากลัว
สังคมที่บอกว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คือสังคมอำนาจนิยม แต่สังคมที่มันทะเลาะถกเถียงมันเท่มาก แล้วมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลง
พอพูดถึงแนวคิดที่แตกต่างในสังคม บางคนก็มองว่า งั้นก็ต้องเคารพสิทธิ์ที่จะนิยมเผด็จการของเขาด้วย จุดนี้คิดเห็นยังไง?
เผด็จการเป็นรูปแบบการใช้อำนาจ เผด็จการคือรูปแบบการใช้ power over หรืออำนาจนำของกลุ่มคน privilege หรือกลุ่มอภิสิทธิ์ชน คุณเคยเห็นคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชนสามารถใช้อำนาจได้ไหม มากสุดคนจนก็ร้องไห้ฟูมฟายหรือฆ่าตัวตาย มากสุดผู้หญิงก็รู้สึกว่าด่าทอ หรือว่าไม่พอใจ หรือร้องไห้ หรือทะเลาะตบตี แต่เขาทำได้แค่นั้น เขาไม่เคยทำได้มากกว่านั้น นี่คือความแตกต่าง
เผด็จการคือ power over หรือ privilege ที่หยิบยกมาใช้ เราต้องจับให้ได้ว่า privilege ในสังคมไทยมีใครบ้าง โครงสร้างสถาบันกษัตริย์เป็น privilege โครงสร้างของนายทุนหรือทุนนิยมเป็น privilege โครงสร้างของระบบทหาร ข้าราชการ และตุลาการเป็น privilege และเขาใช้รูปแบบไหน ถ้าหากว่าสถาบันกษัตริย์ ทหาร นายทุน ระบบราชการใช้ธรรมาภิบาล ไม่ได้ใช้ power over เขาก็เป็นแค่คนที่อำนวยกระบวนการให้รัฐไปได้ด้วยความเป็นธรรม นี่โอเค เขาไม่ได้ใช้อำนาจนิยม แต่ทันทีที่เขายึดเอาอำนาจนิยมมาใช้ เช่น อยู่ๆ ก็ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ๆ ก็ยึดอำนาจโดยรัฐประหาร อยู่ๆ ก็บังคับแล้วก็เลือกปฏิบัติข้าราชการ เลือกปฏิบัติกับคนตัวเล็กตัวน้อย นี่คืออำนาจนิยม
ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่เรียกตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย และเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมต่างๆ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
จริงๆ ซ้ายทั่วโลกถูกวิจารณ์เรื่องเพศหมดเลย ซึ่งขบวนการซ้ายไทยที่ลุกขึ้นออกต่อต้านเฟมินิสต์ หรือว่าขบวนการซ้ายทั่วโลกที่ออกมาต้านกระแสสตรีนิยมแบบรุนแรง มันแค่เป็นตัววัดว่า ในสังคมนั้นมีความท้าทายเรื่องระบบชายเป็นใหญ่ที่หนักหนาสาหัสสากันระดับไหน หมายความว่าระบบชายเป็นใหญ่มันฝังรากลึก แต่ถ้าหากว่าในขบวนการซ้ายอื่นไม่ได้มีประเด็นนี้ แสดงว่าสังคมเหล่านั้นเปิดรับเรื่องประเด็นความแตกต่างหลากหลายในมิติอื่นได้ง่าย
ต้องย้อนกลับมาถามในไทยว่า คุณพร้อมเปิดรับประเด็นอื่นได้มากน้อยขนาดไหน คุณเห็นการกดขี่ของอัตลักษณ์ทับซ้อนในพื้นที่ของประเด็นอื่นได้มากน้อยขนาดไหน เราคิดว่ามันเป็นความท้าทายที่คนที่เรียกตัวเองว่าซ้าย ต้องทบทวนแล้วก็ปรับตัว และแน่นอนว่าการที่สังคมไทยแบ่งแยกระหว่างซ้ายไทยกับเฟมินิสต์ มันเป็นเพราะว่าจริงๆ ฝ่ายซ้ายที่เป็นเฟมินิสต์ถูกกันออกไปโดยฝั่ง masculine ที่เป็นซ้าย เราคิดว่ามันเป็นขั้วที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา
แต่ในประวัติศาสตร์ทั่วโลก กระบวนการซ้ายของปิตาธิปไตยถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดและเป็นเรื่องปกติ และเราดีใจที่มันถูกตั้งคำถาม ทันทีที่เราออกมาในที่สาธารณะแล้วถูกผู้ชายตั้งคำถามในเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ในเรื่องของการทักท้วงเรื่องชายเป็นใหญ่ แสดงว่าเราทำงานสำเร็จ แสดงว่าประตูกำลังเปิดออกแล้ว
สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะชี้ให้เห็น ก็คือในการเคลื่อนไหวเรื่องการกดขี่ทั่วโลก ชนชั้นอภิสิทธิ์ในประเด็นนั้นจะลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่ แสดงว่า ในขณะนี้ ทันทีที่กลุ่มเฟมินิสต์ลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรมทางเพศ มันไปกระทบใจกับคนที่ได้ประโยชน์จากอภิสิทธิ์ชายเป็นใหญ่นั่นเอง
ช่วยเล่าเพิ่มเติม ถึงคำพูดที่บอกว่า “ต้องทำลายโครงสร้างชายเป็นใหญ่ภายใต้สถาบันกษัตริย์ด้วย” จากการชุมนุม ‘19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร’ ให้ฟังหน่อย
เราจะขอพูดออกเป็นทั้งสามประเด็น ประเด็นแรกก็คือ ต้องกลับไปทบทวนจารีตประเพณีเดิมทั้งระบบ โดยที่กลับมายึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน กับหลักการความเป็นธรรมทางเพศในระดับสากล พวกจารีตนิยมรู้ดีว่าอะไรบ้างที่ยังไม่เท่ากัน กลับไปทบทวน และปฏิรูปจารีตประเพณีดั้งเดิม
จารีตประเพณีดั้งเดิมมันเป็นการเขียนของมนุษย์เมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ต้องหยุดปลูกฝังว่า จารีตประเพณีดั้งเดิมเหล่านั้น มาจากการเสกสรรปั้นแต่งของพระเจ้าองค์ใด หรือเทพองค์ใด เพราะเราทุกคนล้วนเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าหากว่าต้องการให้สถาบันกษัตริย์เป็นประมุขที่มีความมั่นคง ถาวร ก็ต้องไปรื้อโครงสร้างจารีตนิยมที่ไม่เป็นธรรมกับเพศทุกเพศ และเปลี่ยนแปลงมัน
ประเด็นที่สอง กฎหมายที่อุ้มชูโครงสร้างสถาบันกษัตริย์ที่มันไม่เป็นธรรมแล้วก็ยังมีมิติความรุนแรงทางเพศอยู่ต้องเปลี่ยนแปลง การอนุญาตให้ใครคนใดคนหนึ่งในภายใต้โครงสร้างสถาบันกษัตริย์สั่งจำคุกหรือตัดสินโดยที่ไม่ผ่านกระบวนตุลาการ หรือกระบวนยุติธรรมของไทยเป็นเรื่องผิด การที่สถานที่รั้ววังเป็นที่ตั้งของเรือนจำ คุก หรือสถานกักกันเป็นเรื่องผิด เราคิดว่าคนที่มีอำนาจการปกครองรู้ดีอยู่ว่าพูดถึงอะไร ก็การปฏิรูปนั้นต้องเกิดขึ้น
การกีดกันพื้นที่ของผู้หญิงและเพศหลากหลายในวัฒนธรรม ประเพณีภายใต้โครงสร้างสถาบันกษัตริย์ต้องเปลี่ยน เปิดพื้นที่ให้ทุกเพศได้มีพื้นที่ภายใต้โครงสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีการสถาปนาความเป็นเมียผ่านภายใต้การเป็นบุคลากรข้าราชการของรัฐ เมียก็เมีย ทหารก็ทหาร ข้าราชการที่ดูแลก็คือข้าราชการที่ดูแล เพราะเราไม่สามารถหยิบยกได้เลยว่า อันไหนคือการดูแลในรูปแบบพันธะสัญญาที่เป็น commitment ระหว่างความสัมพันธ์ หรืออันไหนคือการใช้อำนาจจากระบบชายเป็นใหญ่ภายใต้โครงสร้างสถาบันที่ล้นเกิน หรืออันไหนคือความไม่เป็นธรรม ถ้าหากว่ามันไม่ถูกยึดโยงภายใต้ระบอบสถาบันที่ยึดโยงไปกับหลักการสิทธิมนุษยชน
เรื่องที่เราพูด เป็นความหวังดีอย่างถึงที่สุด เพราะว่ายังไงประเทศเราก็ต้องได้รับการพูดถึงในนานาอารยประเทศ ถึงโครงสร้างสถาบันกษัตริย์ ถึงโครงสร้างของประมุขที่ดูแล ประมุขที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ประมุขที่เป็นเสมือนจุดศูนย์รวมที่จะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้มองเห็นและยึดเหนี่ยวว่านี่คือประมุขหรือตัวแทนของประเทศ อันนี้ก็เลยเป็นความเจตนาดี ปรารถนาดีอย่างถึงที่สุด
ส่วนประเด็นที่สาม เราคิดว่า ต้องพูดถึงเรื่องการปฏิบัติในระดับการปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร หหารราชองครักษ์ หรือมิติไหนชนชั้นไหน ใครก็ตามที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสถาบันในระดับการปฏิบัติการก็ต้องทำ เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าอันไหนที่มันยังเป็นรูปแบบการปกครองแบบชายเป็นใหญ่อยู่ ก็ต้องปฏิรูป เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องถูกพูดถึง เพื่อที่จะให้การผลักดันการปฏิรูปในทุกโครงสร้างมันเป็นไปตามรูปแบบที่สังคมควรจะเป็น แล้วก็เป็นสังคมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง
เราจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจในความเท่าเทียมทางเพศนี้
สำหรับคนที่เห็นด้วยและสนับสนุนเรื่องของการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศ คุณสนับสนุนได้ทุกช่องทางเลย คุณเป็นเสียงหนึ่งในการที่จะส่งเสียงเรียกร้อง คุณสามารถบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยเจอความรุนแรง เพื่อเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญว่า ไม่ใช่เพียงแค่นักเคลื่อนไหวที่เผชิญความรุนแรง คนอื่นๆ ก็เจอความรุนแรงทางเพศเหมือนกัน
สำหรับคนที่ยังตั้งคำถามหรืออยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น ก็เปิดใจฟัง เปิดใจซักถามเพิ่มมากขึ้น เราเชื่อว่าคนที่ลุกขึ้นออกมาตอนนี้ เขาพร้อมที่จะเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาต้องเรียกร้อง เราลองมาสร้างพื้นที่ของการรับฟังให้เข้มแข็ง จากนั้น เราจะมีพลังในการที่จะสร้างการรับฟังจากกลุ่มของ conservative ต่างๆ แล้ววันนึงที่เขามา บอกว่าแบบ ไม่เอาพวกปลดแอก เราก็แค่ชวนเขามานั่งโต๊ะเจรจากัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า คุณเองก็ต้องนั่งตั้งโต๊ะเจรจาเหมือนกัน
สำหรับคนที่เห็นต่างอยู่ ขอร้องเหมือนกันว่าก็แค่รับฟัง และคุณสามารถที่จะส่งเสียงเห็นต่างได้ อย่างเป็นมิตร อย่างมีความเห็นอกเห็นใจกันในความเป็นมนุษย์ สร้าง empathy ระหว่างกัน แต่ต้องปฏิเสธรูปแบบอำนาจการใช้อาวุธ และอำนาจความรุนแรงระหว่างกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า พวกเขาเองก็ต้องปฏิเสธ การลุกขึ้นมาปฏิวัติใช้อาวุธ รัฐประหาร หรือใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ
และสำหรับคนที่เป็นผู้หญิง หรือคนที่เป็นเพศหลากหลาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ที่ยังไม่มีแรงและถูกกดทับ กดขี่ เสียงของเรา เสียงของการลุกขึ้นมาปลดแอกตอนนี้ เราจะส่งเสียงเรื่อยๆ เพื่อเป็นพลัง เพราะว่าการส่งเสียงของเรามีความหวังว่าวันนึง คุณก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาร่วมขบวนกับเรา
และอย่าเชื่อว่าพวกคุณไม่มีคุณค่า แต่ขอให้เชื่อว่าเนื้อตัวร่างกายของเราทุกคนมีคุณค่าเสมอกัน