ยาเสพติด ความจน หรือเรือนจำ คุณว่าสิ่งไหนส่งผลให้คนกระทำผิดกฎหมายมากที่สุด.. หรือคิดว่าทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นสัมพันธ์กันทั้งหมด
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2540-2550 เราเคยมองว่ายาเสพติดคือ ศัตรูตัวร้ายของสังคม จนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรประกาศนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,400 ราย และทำให้เรือนจำไทยล้นไปด้วยนักโทษคดียาเสพติด ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 70 ของนักโทษทั้งหมดในเรือนจำ
แต่ดูเหมือนว่านโยบายยาเสพติดเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหา เพราะข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ชี้ว่าจำนวนนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ แต่ที่เลวร้ายคือ อัตราการกระทำความผิดซ้ำทั้งในรอบ 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี กลับไม่ได้ลดลงเลย และอาจพูดได้ว่าเพิ่มมากขึ้นในแง่ปริมาณด้วยซ้ำ ซึ่งคดีที่ยังนำโด่งคือ คดียาเสพติด, คดีเกี่ยวกับทรัพย์, คดีอื่นๆ, คดีความผิดเกี่ยวกับทำร้ายร่างกาย และคดีทางเพศตามมาลำดับสุดท้าย
จึงน่าสงสัยว่าปัญหาที่ตามมาอย่างซับซ้อนอาจเป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ยาเสพติด แต่มันคือปัญหาของการกลับคืนสู่สังคมของคนที่เพิ่งพ้นโทษ
“เหมือนหนังเก่ามาฉายใหม่ ตื่น-นับยอด-เข้ากอง-กินข้าว-ขึ้นห้อง ลงมาพรุ่งนี้ก็เหมือนเดิม ชีวิตมันเลยติด 8 ปีมันก็เหมือนติดวันเดียว”
The MATTER พูดคุยกับ ธาดา บุญพันธุ์ (ชื่อเดิม บุญสวน บุญพันธุ์) หรือเอส ร่มเกล้า อดีตนักโทษหลายคดีที่เคยเข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่นตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่น กว่าจะมาวันนี้ที่เขามีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง และใช้มันเพื่อเผยแพร่ความจริงที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ทั้งเมนูสุดพิเศษที่คนในเรือนจำกินกัน วิธีการทำอาวุธในเรือนจำ รวมถึงนานาประเด็นที่แทบเรียกว่าเป็นไลฟ์โค้ชนอกเรือนจำ
สำหรับเขา คนที่ออกจากเรือนจำล้วนหลงทาง ไม่มีที่ไป หรือหาตำแหน่งแห่งที่ที่ตัวเองจะกลับมายืนในสังคมไม่เจอ และในสายตาเขา นั่นคืออีกหนึ่งปัญหาหลักของผู้ต้องขังของไทยจำนวนมหาศาลต้องเผชิญ และอีกมหาศาลเช่นกันกำลังต้องออกมาเผชิญ
(1)
บุญสวน/ ธาดา บุญพันธุ์
“ผมเกิดต่างจังหวัด พ่อกับแม่เป็นคนบ้านนอก พ่อเป็นทหารพรานก็ต้องเดินทางไปทุกที่ ทีนี้เขามีที่ให้ทำมาหากิน พ่อกับแม่ก็เลยปักหลักทำมาหากิน จนผมมาคลอดในสวนนะ เลยได้ชื่อ “บุญสวน” หมอตำแยคือพี่สาวคนโต”
ธาดา หรือชื่อเดิมบุญสวนเกิดในครอบครัวยากจนที่อาศัยอยู่กัน 5 คน มีตัวเขาซึ่งเป็นน้องเล็กสุด พี่สาวอีกสองคนซึ่งอายุห่างกับเขากว่า 10 ปี และพ่อกับแม่ เมื่อเขาโตขึ้นมาหน่อย พ่อกับแม่ตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ที่การเคหะร่มเกล้าฯ หรือบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2516
ธาดาเล่าว่าการย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่เองที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เพราะมันเป็นสถานที่ที่คนยากจนในเมืองที่ถูกไล่ที่จากในสลัมย้ายมารวมกัน ไม่ว่าคนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่คลองเตย หรือดินแดงเป็นต้น ซึ่งสุดท้ายมันกลับกลายเป็นสถานที่หล่อหลอมและชักพาเข้าสู่โลกอีกใบที่มืดดำยิ่งขึ้น
“การใช้ชีวิตของคนที่อยู่ในชุมชนแบบนั้น กับคนที่อยู่ในตึกรามบ้านช่องปกติจะไม่เหมือนกัน เพราะแค่เดินออกไปหน้าบ้านก็เจอเพื่อนล่ะ ตะโกนไปสองซอยก็เจอเพื่อนล่ะ และในชุมชนมันก็มีเรื่องยาเสพติดเข้ามาด้วย ผมก็โดนปลูกฝังมาแบบนั้น และตัวเราเองก็ชอบก็กลับกลายเป็นว่าเราดื้อไปเลย”
(2)
20 ปีในสถานพินิจ-เรือนจำ
“ผมติดเกือบ 10 รอบ รวมทั้งหมดเกือบ 20 ปีเหมือนกันที่อยู่ในเรือนจำ”
ธาดาถูกไล่ออกจากโรงเรียนก่อนที่เขาจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเขาให้เหตุผลที่เขาถูกโรงเรียนเชิญออกเพราะ “เหมือนแข็งกระด้างกว่าคนรุ่นเดียวกัน” รวมถึงเรื่องยาเสพติดที่เข้ามาพัวพันในชีวิตเขาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น และนั่นเองเป็นสาเหตุให้ธาดา หรืเอส ร่มเกล้าถูกพาตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นครั้งแรก
“ตอนนั้นก็เริ่มจากขายทีละ 10-20 เม็ด ไม่เยอะหรอก เพราะเด็กๆ ขายได้ 200-300 บาทก็ถือว่าดีแล้ว แล้วตอนนั้นในชุมชนก็มีลักเล็กขโมยน้อยกัน เขาเอาพวกอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์มาตึ๊งกับของผม ทีนี้พอตำรวจมาทีแรกเขาก็จะจับยาเสพติด แต่เจอพวกอะไหล่รถแทน ตอนนั้นก็โดนคดีรับของโจรไป”
ธาดาถูกพาเข้าไปอยู่ในสถานพินิจอยู่ 1 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาเล่าว่า “ติดไปก็ไม่มีอะไรนี่หว่า” ผิดจากภาพที่เขาคิดไว้ในหัวว่าอาจรุนแรงหรือน่ากลัวกว่านั้น ซึ่งสุดท้ายการมีโอกาสเข้าสู่สถานพินิจครั้งแรก ยิ่งกลายเป็นการต่อยอดเส้นทางที่เขาเดินให้ไกลกว่าเดิม
“เราออกมาก็เป็นเหมือนเดิม หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเรารู้แล้วว่ามันเป็นยังไง ตอนออกมาเรื่องยาก็เริ่มดร็อปแล้ว หนักไปทางมีเรื่อง เรียกว่าตอนนั้นมองหน้าก็มีเรื่องได้ ปุ๊ปปั๊ป รับโชคได้ตลอด”
หลังจากออกจากสถานพินิจได้หนึ่งปี ธาดาก็ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง แต่คราวนี้ถึงแม้เขายังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่เขาต้องเข้าเรือนจำจริงๆ แล้ว ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายและพยายามฆ่า เพราะเกิดไปมีเรื่องกับอริต่างถิ่น ซึ่งมาเที่ยวในเขตของเขา
“ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จักเขา เขาก็ไม่รู้จักเรา แต่เรารู้ว่ามันอยู่ต่างถิ่น เราก็ล่อมันเลย เพราะถ้ามันเจอเราก่อนเราอาจจะโดนก่อน เราถูกปลูกฝังมาแบบนั้น ตำรวจก็จับเราเข้าไปคุกใหญ่ แล้วติดอยู่ประมาณ 3 เดือนเอง คดีทำร้ายร่างกาย”
หลังจากนั้น เอสก็เข้าออกเรือนจำอยู่หลายครั้งก่อนที่จะมาติดครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งที่ยาวที่สุดสำหรับเขา ในคดีฆ่าคนตาย อย่างไรก็ตาม เขาสามารถสู้คดีจนชนะ ทำให้ศาลลดโทษให้ตัดสินคดีเขารวมทั้งหมด 4 ปี
แต่ 4 ปีก็ถูกทำให้ยาวนานขึ้นจากความผิดพลาดเรื่องยาเสพติดในคุก จนเบ็ดเสร็จเขาถูกจำคุกรวมทั้งสิ้นเกือบ 8 ปี
(3)
ยา โทรศัพท์ รอยสัก และหน้าอ่อน
“หมึกสักกับคุกมันเป็นของคู่กัน หมึกสักเข้าไปได้ยังไง โทรศัพท์ก็เข้าไปได้แบบนั้น โทรศัพท์เข้าไปได้ยังไง ยาเสพติดก็เข้าไปได้แบบนั้น”
ธาดาปฏิเสธที่จะอธิบายวิธีการที่ผู้ต้องโทษในเรือนจำใช้นำสิ่งของต่างๆ เข้าไป
เขาเล่าว่าเตอนที่เขามีรอยสักลายแรก เขาถูกแม่ตีทันที แต่ด้วยเวลาว่างและค่านิยมที่ว่า “เกิดเป็นชายไม่มีลายก็อายเขียด ”เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในเรือนจำนิยมสักกันมาก โดยพวกเขาจะเรียกช่างสักในเรือนจำว่า “อาจารย์” ซึ่งทุกคนที่อยู่ในเรือนจำนานพอสมควรมักจะสักเป็นหมดทุกคน แต่เป็นการสักชนิดตามมีตามเกิด หรือที่ธาดาเล่าว่าไม่มีโอกาสได้เลือกลาย อาจารย์จำลายไหนได้ ก็ได้ลายนั้นไป
“ข้างในมันเหมือนเป็นนักเรียนเลย วัน จ-ศ ทำงาน และ ส-อ ก็หยุดฟรีไสตล์ หยุดก็ไปนั่งสักนั่งอะไรกัน ผู้คุมมาเราก็เก็บ เราก็จะมี “เลย์” คือคนที่จับตาดูนาย (ผู้คุม) ตั้งไว้สองจุด เจ้าหน้าที่เดินมาเราก็เก็บก่อน ทำเป็นนอนเล่น พอเจ้าหน้าที่เดินไปตรวจที่อื่นเราก็สักต่อ”
“ใครติดนานๆ ส่วนใหญ่สักเป็นหมด เพราะบางทีเรานั่งดูเพื่อนสักอยู่ เราก็ยืมเข็มที่เหลือไปนั่งสักเพื่อนอีกคนนึง หรือบางทีเราไปเจอ “ไอเป๋อ/ ไอป่อง” เราก็บอกมาๆ ลองเข็มหน่อย พี่สักให้ฟรี”
อย่างไรก็ตาม ด้วยควมยากลำบากของการนำของต่างๆ เข้าสู่เรือนจำทำให้มีการผสมหมึกสำหรับสักกับน้ำเปล่า อาทิ เมื่อในเรือนจำนำหมึกสักเข้ามาได้หนึ่งขวด ก็จะมีการผสมน้ำละลายความเข้มข้นเพื่อทำให้มีหมึกสักเพิ่มขึ้น และกิจกรรมการสักนี่เองที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเรือนจำ
“อย่างขนมข้างในร้านค้าสงเคราะห์เขาขายที่ 15 บาทใช่ไหม แต่ร้านค้ามันปิดตอนเที่ยง ทีนี้บางคนก็ซื้อมาตุนไว้ก่อน แล้วมาขายตอนบ่ายราคาถุงละ 20 บาท ก็ได้กำไรแล้ว 5 บาท หรือบางคนก็รับจ้างนวด, รับสัก, ผ่าหรือฉีดอวัยวะเพศ, ตัดผม, แคะหู, ขูดหินปูน, เข้าเวรยาม, ซักผ้า เยอะแยะมากมาย ถ้าอยู่ข้างในแล้วขยันก็หาเงินได้เยอะ”
อีกสองสิ่งที่แพร่หลายและจำเป็นอย่างมากในคุกคือ โทรศัพท์และยาเสพติด ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทั้งในเรือนจำเองและนอกเรือนจำ
“บางคนก็เป็นพ่อค้ายา ใช้โทรศัพท์สั่งให้คนข้างนอกทำธุรกิจให้ บางคนก็ค้ายาข้างในเลย อย่างยาไอซ์กรัมนึงประมาณ 30,000 บาท คือข้างในขายกันขีดนึงเป็นล้านนะ หรืออย่างโทรศัพท์ก็มีหลายราคามีไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ผมเคยเจอแพงสุดประมาณ 400,000 – 500,000 เครื่องแบบที่ข้างนอกขายหนึ่งแถมหนึ่ง 999 บาท”
อย่างไรก็ตาม ธาดาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในการนำสิ่งของเหล่านี้เข้าเรือนจำเช่นกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่ธาดารู้สึกเมื่อเขาเข้าเรือนจำนานพอสมควรคือ เขาเริ่มลื่นไหลทางเพศ หรือเขาเริ่มรู้สึกดีกับกลุ่ม ‘หน้าอ่อน’ หรือกลุ่มเด็กผู้ชายที่หน้าตาดี ผิวขาว ซึ่งบางคนอาจเป็น LGBT อยู่แล้วแต่เดิม หรือเป็นผู้ชายแท้ๆ ก็ได้ โดยกลุ่มนี้บางคนอาจอยู่ด้วยกันในสถานะคนรักและมีการร่วมเพศทางทวารหนัก
“อยู่ไปนานๆ เราเริ่มมองผู้ชายสวย ผิดกับตอนเด็กๆ ที่เราเจอแล้วไปแกล้งตบหัวหรือตีตูดเขาเล่น ตอนเด็กเราไม่ชอบเลยพวกตุ๊ดเนี่ย แต่พอไปอยู่ในเรือนจำเรากลับมองเขาสวย กลับกลายเป็นว่าหลงรักผู้ชายด้วยกันเอง ผมเชื่อว่าคนที่ติดนานๆ เป็นเหมือนผมหมด เพราะเพื่อนผมเองก็ติด ‘หน้าอ่อน’ แทบทุกคน
“เราก็เลี้ยงเขาไว้กอดเล่น แต่บางคนถ้าหนักๆ หน่อยร่วมเพศเลยก็มี แต่อย่างผมไม่ค่อยทำเพราะพออยู่กับเขา เราก็รักเขาแล้วเหมือนใครรักแฟน เห็นน้องยิ้ม เดินเล่น ใส่เสื้อผ้าสวยๆ เราก็มีความสุขแล้ว”
(4)
โจรสอนโจร ?
“อยู่ข้างในผมคิดถึงอิสรภาพและอนาคตมากที่สุด เพราะว่าเราติดตั้งแต่อายุ 16 ปี จนตอนนั้นเรา 30 กว่าแล้วอ่ะ เราก็คิดว่า “เราจะอยู่ได้อีกกี่ปีวะ?” ยังไม่มีอะไรเลย จะไปทันคนอื่นที่อยู่ข้างนอกไหม จะไปใช้ชีวิตอย่างไรสักเต็มตัวขนาดนี้ ก็เลยคิดว่าถ้าไม่เลิกตอนนี้ เราจะเป็นขี้คุกที่นอนรอวันตายเฉยๆ”
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเหมือนธาดาที่สามารถตั้งตัวได้หลังออกจากเรือนจำ ธาดาเล่าว่าเขาเริ่มจากทำร้านก๋วยเตี๋ยวกับแฟน ก่อนหันมาขายน้ำผลไม้สกัดเย็น และเริ่มไปลงทุนต่อในธุรกิจร้านนวดและร้านเหล้า ซึ่งเพิ่งปิดตัวไปในช่วงไวรัสระบาดที่ผ่านมา แต่การตัดสินใจลงทุนครั้งนั้นก็ทำให้เหลือเงินก้อนพอที่จะเริ่มทำธุรกิจไม้ประดับ และตั้งบริษัทของตัวเอง รวมถึงทำแชนแนลยูทูบในชื่อเดียวกับเขา “เอส ร่มเกล้า” ซึ่งเป็นที่รวมคอนเทนท์ How to ต่างๆ ในเรือนจำ ไม่ว่า เหล้าหมักสไตล์คนคุก, วิธีการโมอวัยวะเพศในคุก ตลอดจนวิธีการซ่อนโทรศัพท์ในเรือนจำ
เขาเล่าว่าที่เขาตัดสินใจแชนแนลยูทูบของเขาเพื่อต้องการบอกเล่ามุมมืดของสังคมที่ไม่เคยมีใครได้เห็น ซึ่งเขาจะรู้สึกยินดีมากถ้ามันช่วยให้ความรู้บางอย่าง
“บางคนเขาบอกเราว่า โห ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แล้วบอก “ผมทำออกมาให้ผมดูอีก ผมไม่อยากเข้าไป แต่ผมอยากรู้” นั่นคือสิ่งที่ดี นั่นคือกำลังใจของเรา”
อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนเช่นกันที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าคอนเทนต์ของเขาเป็นการ “ชี้โพรงให้กระรอก” หรือ “โจรสอนโจร” ทำให้คนรู้ช่องทางที่จะทำเรื่องไม่ดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเขาตอบมันด้วยอารมณ์ขัน ปนแววตาที่จริงจังว่า
“โจรสอนโจรหรอ ผมคิดว่างี้ (ขำ) อย่างคอนเทนต์ทำเหล็กในคุกเนี่ย ใครมันจะทำตาม เพราะอยู่ข้างนอกแค่ไปเดินตลาดแม่งก็มีมีดขายแล้ว หรือไปเสิร์ชเน็ตก็หาปืนได้ไม่ยากเลย มันคงไม่มีใครมานั่งลับเหล็กแล้วไปแทงกัน ถูกไหม? หรืออย่างคอนเทนต์ทำอาหารในคุกเนี่ย มันคงไม่มีใครไปทำกินหรอก อยู่ข้างนอกใครมันจะไปกินน้ำซุปใส่เครื่องปรุงมาม่าใช่ไหม ? แต่รู้ไหมว่าอาหารแบบนั้นสำหรับข้างในนะ ห้าดาวเลยนะ”
“มันเป็นความจริงไหม ? ความจริงมันมียิ่งกว่านี้อีกนะ” เขาพูดถึงชีวิตในเรือนจำไทยที่เขาเคยอยู่มาเกือบ 20 ปี
(5)
เรือนจำไทย โลกไร้กาลเวลา
อดีตนักโทษที่อยู่ในเรือนจำเกือบ 20 ปี เปรียบเทียบช่วงเวลาในเรือนจำไทยว่า “เหมือนหนังเก่ามาฉายใหม่ ตื่น-นับยอด-เข้ากอง-กินข้าว-ขึ้นห้อง ลงมาพรุ่งนี้ก็เหมือนเดิม ชีวิตมันเลยติด 8 ปีมันก็เหมือนติดวันเดียว”
ในเรือนจำไทยผู้ต้องขังจะไม่มีโอกาสได้ติดตามข่าวสารข้างนอก ภาพยนต์ที่ได้ดูก็มักจะเป็นเรื่องเดิมซ้ำๆ และนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เมื่อนักโทษออกจากเรือนจำแล้วเคว้งคว้าง หลงทาง รู้สึกตามโลกไม่ทัน จนบางคนกลับเข้าสู่วังวนเดิม
“ยิ่งอยู่นานยิ่งตามโลกตามเทคโนโลยีไม่ทัน โทรศัพท์กดเป็นแต่โทรเข้าโทรออก จะให้เล่นเฟซบุ๊ก สมัครเมล์อะไรก็ทำไม่เป็น สอนให้ตายสมองมันก็ไม่รับแล้ว มันมึนไปหมด”
ปัญหาหนึ่งที่สะท้อนผ่านเรื่องดังกล่าวในสายตาเอสคือ การฝึกอาชีพในเรือนจำ ที่เอสมองว่ามันไม่สามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพได้จริงในโลกภายนอก ไม่ว่าวิชาพับถุงกระดาษ, ตัดยาง หรือวิชาช่างไม้
“ฝึกวิชาชีพเนี่ยมีทุกเรือนจำ เอาแค่ที่เห็นนะอย่างพับถุง ผมเองพับถุงมา 4 ปี ถามหน่อยออกมามีใครให้ไปรับจ้างพับถุงบ้าง และพับมันได้ใบละกี่บาท (หัวเราะ) หรืออย่างเย็บจักรผมก็อยู่มาก่อน แต่จะให้มานั่งเย็บจักร โอ้โห ชิบหาย มันไม่ชอบอะ แต่ที่ต้องทำข้างในเพราะเขาไม่ได้ให้เราเลือกนี่ว่าอยากอยู่กองงานอะไร คือเขาเลือกให้เรา เราเลือกไม่ได้”
“ผมว่ามันไม่จริงหรอกที่ว่าฝึกกองงาน 10 ปีออกมาได้ใช้ทำกิน ผมยังไม่เคยเห็นใครออกมาแล้วไปเปิดโรงงานเย็บจักรเลย (หัวเราะ) ทุนจะซื้อจักรสักตัวยังไม่มีตังค์เลย”
สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอส ร่มเกล้าตัดสินใจปลูกบ้านหลังหนึ่งไว้สำหรับอดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งออกจากเรือนจำแล้ว “หลงทาง” เขาอยากให้มันที่เป็นพักพิงสำหรับผู้ที่เพิ่งพ้นโทษแล้วยังไม่รู้ว่าชีวิตควรจะเริ่มต้นเดินไปทางไหนดี
“บางคนที่ออกมา เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปทำอะไรกับชีวิตต่อ จะสมัครงานก็ไม่รู้ใครจะรับหรือเปล่า คือชีวิตบนโลกใบนี้มันไม่ได้สีชมพูไง มันโหดร้าย และเราเองก็เคยหนีออกจากบ้านไปแล้วไม่มีที่ไปอะ มันเหมือนหลงทางแล้วเราอยากมีสักที่หนึ่งให้เราพักก่อน เหมือนอุ่นเครื่องสตาร์ทก่อนจะเริ่มใช้ชีวิต ผมก็เริ่มมาสร้างตรงนี้ให้คนอยู่พักพิง”
“อันนี้เราสร้างไว้แบบ เอ้อ นี่เป็นของเพื่อนเลย น้องอยู่ได้เลยนะ ให้มันเป็นเหมือนบ้านเขา มันก็ทำให้เขาก็อุ่นใจขึ้นมาบ้าง แล้วพออุ่นใจเขาก็สบายใจ เขาสบายใจก็นอนหลับเต็มตากินอิ่มเต็มท้อง มีแรงออกไปสู้ต่อ”
แล้วเยอะไหม เราถามกับธาดา หรือเอส ร่มเกล้า
“โอ้โห อย่าใช้คำว่าเยอะเลย ใช้คำว่า “มหาศาล” เลยดีกว่า ใครบ้านรวยมีตังค์หน่อยก็ดีไป แต่บางคนออกมาไม่มีตังค์ด้วย แค่จะดาวน์มอเตอร์ไซค์สักคันมาขับวินยังไม่มีเงินเลย หน่วยงานรัฐที่บอกว่าช่วยๆ อะ น้อยยยมาก อย่างผมติดคุกไม่รู้กี่รอบ ตั้งแต่ออกมายังไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐมาหาผมสักคน
(6)
เราเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
มีเพียงสองเรื่องเท่านั้น ที่เอส ร่มเกล้าอยากฝากถึงเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ของไทย ประการแรกคือ ที่หลับนอน และประการที่สองคือ เรื่องการฝึกอาชีพ
เขาเล่าว่าทุกวันนี้นักโทษในเรือนจำจะมีผ้าห่ม 3 ผืนติดตัว ผืนนึงสำหรับหนุนหัว ผืนนึงสำหรับห่ม และอีกผืนสำหรับปูเป็นที่นอน ซึ่งมันเป็นคุณภาพชีวิตที่แย่มากในสายตาของเขา โดยเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำจนอายุเยอะ หรือผู้ต้องขังที่เพิ่งมาเข้ามาอยู่เมื่ออายุเยอะแล้ว
“สมัยก่อนในเรือนจำมันเป็นที่นอน แต่เพิ่งมายุครัฐบาลนี้นี่แหละ เปลี่ยนเป็นผ้าห่มสามผืนแบบบางๆ อะ แต่ประเทศไทยมีสามฤดููร้อน-ฝน-หนาวถูกไหม ? หน้าร้อนหนุนผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูนอนผืนหนึ่ง แต่พอฝนหรือหนาวมาผืนเดียวเอาไม่อยู่แล้ว เอาหมอนมาห่มมันก็ไม่มีหมอน เอาที่นอนมาห่มมันก็ไม่มีที่นอน แล้วลองนึกสภาพคนอายุ 50 ขึ้นนะ ให้เขานอนกับปูนแข็งๆ อะ นอนไปก็ปวดหลังปวดเอว กระดงกระดูกปวดหมด และบางคนติดตลอดชีวิตต้องนอนกี่ปี”
“ไปเปลี่ยนที่นอนให้เขาก่อน ไม่ต้องดีหรอกครับ แค่ให้มันเป็นเหมือนเดิมที่เขาเคยนอนมากันอะ เราเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มันลำบากจริงนะ เรื่องของกินที่ว่าลำบากแล้วยังไม่เท่าเท่าที่นอนนะ ไม่ต้องพูดเรื่องจำนวนคนที่อยู่ในห้องขังอีก บางห้องนอน 200-300 คน พับผ้าพร้อมกันเนี่ย โอ้โห ฝุ่นนี่แบบเข้าปอดเข้าไรเละเทะ”
อีกเรื่องหนึ่งที่เขาอยากเรียกร้องคือ เรื่องการฝึกวิชาชีพภายในเรือนจำ ซึ่งเขาอยากให้มันเป็นวิชาที่สามารถนำมาต่อยอดใช้จริงในชีวิต อาทิ การทำอาหารอย่างก๋วยเตี๋ยว หรือวิชาซ่อมเครื่องยนต์
“ฝึกให้คนมันออกไปเป็นคนจริงๆ พวกวิชาชีพจริงๆ อย่าง ทำก๋วยเตี๋ยว ซ่อมเครื่องยนต์ ซ่อมมอเตอร์ไซค์ หรือว่าก่อสร้างจริงๆ คือถ้าได้สอนคอมพิวเตอร์ก็จะดีนะ อาจไม่ต้องสอนใช้ถ้ากลัวนักโทษติดต่อข้างนอก ก็สอนซ่อมคอมพิวเตอร์ก็ยังดี”
“แต่ทุกวันนี้ นักโทษที่ทำงานข้างในได้เดือนหนึ่ง 29 บาท บางคนดีหน่อยได้ 100 บาท ถ้าใครได้ 200 บาทนี่กระโดดเฮสุด โห๊ยย! ประสบความสำเร็จ (หัวเราะแห้ง) แล้วลองเทียบกับงานดูนะ อย่างพับถุงเนี่ยพับกันวันละ 300-400 ใบนะ มันคือเยอะจนหยุดไม่ได้เลย แต่เงินมันไปไหนหมดล่ะ”
ก่อนจากกันเอส ร่มเกล้า ยอมรับว่าทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว หลายคนเริ่มให้การยอมรับคนที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ ยอมรับคนตัวลาย (คนที่มีรอยสักทั้งตัว) ได้มากขึ้น ซึ่งก็ยินดีที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะสำหรับเขาที่ผ่านมาร้อนหนาวมาหลายฝนหลายฤดู คนๆ หนึ่งไม่สามารถตัดสินกันที่รูปลักษณ์ภายนอกได้เลย
“ถ้าใครคิดว่าคนเล่นยาหรือพนันจะมีแต่คนเลว อย่าไปคิดอย่างงั้น ผมเจอมาหมดแล้ว ตำรวจค้ายา ตำรวจจับยามาปล่อยเอง ไปรีดไถเขาก็มี มันมีหมดอะครับ มันอยู่ที่คนทั้งนั้น”
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นอีกคำถามหนึ่งสำหรับทั้งภาครัฐและสังคมไทย เราจะทำอย่างไรให้คนที่เคยกระทำผิดคลำจนเจอแสง และกลับคืนสู่หนทางของคนปกติในสังคมได้ ซึ่งบางทีมันคงต้องเริ่มจาวางเลนส์ที่ตัวเราเองใช้มองโลกลงก่อน และหยิบแว่นของพวกเขาขึ้นมาสวม มองโลกในแบบที่พวกเขามอง เข้าใจโลกในแบบที่พวกเขาเข้าใจ เพื่อที่เราจะได้รู้สึกถึงความรู้สึก “หลงทาง” ทั้งของผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษ และผู้คนที่อยู่สุดชายขอบของความเจริญ หรือผู้คนที่เติบโตพร้อมความยากจนนั่นแหละ