กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง .. ให้ใครอยู่?
ทางเท้าที่คับแคบ มีพื้นกระเบื้องให้ประชาชนสุ่มเหยียบเหมือนในเกม Minesweeper ชนะก็เดินผ่านได้ปกติ แพ้เกมก็มีน้ำขังพุ่งออกมา เผลอๆ มีวินมอเตอร์ไซด์วิ่งบนทางเท้าปาดข้างไปอีก หรือถ้าจะเดินทางไปไหนมาไหน ก็อาจจะต้องเผื่อเวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะเอาแน่เอานอนกับการจราจรในเมืองนี้ไม่ได้
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ใครหลายคนพากันตั้งคำถามว่าสภาพของ กทม. ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเมืองเทพสร้างจริงหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาเต็มนี้ ยังทำผู้คนกลุ่มหนึ่งหล่นหายไป เพราะออกแบบเมืองมาโดยไม่ได้คำนึงถึงคนทุกกลุ่มจริงๆ ยังทำให้ปัญหาต่างๆ ในเมืองยิ่งฝังรากลึกซ้ำลงไปอีก – กลุ่มคนที่หายไปนี้ คือ ‘ผู้หญิง’ นั่นเอง
หากนับตามผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กทม.มีผู้หญิงอาศัยอยู่ 2.9 ล้านคน ขณะผู้ชายที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ 2.5 ล้านคน นั่นแปลว่า จำนวนประชากรหญิงใน กทม. มีมากกว่าผู้ชาย แต่ทำไมผู้หญิงถึงกลายเป็นประชากรที่หล่นหายไปจากการออกแบบเมือง ยิ่งกว่านั้น เมืองนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงจริงหรือ?
ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กำลังใกล้เข้ามานี้ The MATTER ขอชวนไปพูดคุยกับ บุญวรา สุมะโน นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถึงเรื่องของการออกแบบเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงคนทุกเพศอย่างแท้จริง เพื่อทำความเข้าใจว่า เมืองนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วต้องแก้ไขอย่างไร ให้ กทม.กลายเป็นเมืองเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง
กทม. เป็นเมืองที่มีปัญหาต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิงยังไง
คือนโยบายที่เกี่ยวกับเมือง และนโยบายสาธารณะหลายๆ อย่าง ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของแต่ละคนที่มีความหลากหลาย ซึ่งผู้กำหนดนโยบายมักจะบอกว่า มันเป็นนโยบายเพื่อส่วนรวม แต่ไม่ได้คำนึงว่าแต่ละคนเขามีบทบาท หน้าที่ โอกาส รวมไปถึงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยค่านิยมในเชิงเพศสภาพว่าผู้หญิง ผู้ชาย ควรจะต้องทำอะไร บทบาทของผู้หญิงต้องเป็นยังไง
ในสังคมไทย เราจะรู้กันดีว่าบทบาทของผู้หญิงที่ผ่านมา ถูกกำหนดให้อยู่ในบ้าน ดูแลคนในบ้าน เรื่องการใช้ชีวิตในเมืองซึ่งเดิมทีถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเรื่องของการทำงาน เศรษฐกิจ การเมือง เป็นกิจกรรมที่จะอยู่ในเมือง เพราะฉะนั้น มันจึงถูกออกแบบมาโดยนึกถึงคนซึ่ง by default เป็นผู้ชาย ไม่ได้คิดว่าผู้หญิงจะมีความต้องการ ต้องอาศัยพื้นที่ หรือโอกาส และบทบาทอะไรที่ต่างไป ถ้าเกิดผู้หญิงจะต้องมาใช้ชีวิตในเมืองเพื่อทำกิจกรรมอย่างเช่น ทำงาน หรือทำกิจกรรมทางการเมือง
พอเมืองที่ถูกพัฒนามาในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้นึกถึงความหลากหลายของความต้องการ และความแตกต่างระหว่างบทบาทของผู้คน เลยเกิดช่องว่างของคนที่ตกหล่นจากการเข้าไม่ถึงกิจกรรมพวกนี้เยอะ เช่น เรื่องขนส่งภายในเมือง เราจะเห็นว่าระบบขนส่งภายในเมืองเน้นไปที่รถยนต์และเครื่องยนต์เป็นหลัก ทั้งจากการตัดถนน โดยที่ทางเท้าหรือขนส่งสาธารณะไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควรจะเป็น
เรื่องนี้มีประเด็นในเชิงเพศสภาพ เพราะว่าผู้หญิงส่วนมากจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ แล้วก็การเดินเท้ามากกว่า เพราะที่ผ่านมาค่านิยมทางสังคมที่มีการกำหนดบทบาทของหญิงชาย เช่น ผู้หญิงจะไม่ขับรถ ลองไปดูในนิทานเด็กได้เลย แม่จะไม่ขับรถ พ่อต้องขับตลอด เหมือนแม่ขับรถไม่เป็น เพราะฉะนั้น ถนนมันถูกออกแบบมาเพื่อให้คนใช้รถซึ่ง by default เป็นผู้ชาย จนเกิดเป็นพวกอคติต่างๆ อย่างเช่น ถ้าผู้หญิงขับรถจะขับแย่ ขับไม่ดี ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วโอกาสของผู้หญิงที่ขับรถมันอาจจะน้อยกว่าก็ได้
เราอาจจะไม่มีโรงเรียนสอนขับรถสำหรับผู้หญิง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยากไปอยู่ในรถสองต่อสองกับครูคนขับรถผู้ชาย หรือว่ารถที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะว่าตอนที่ดีไซน์รถออกมา มันดีไซน์โดยรถผู้ชาย อย่างอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ ก็ไม่ตอบรับสรีระของผู้หญิงซึ่งมีส่วนเว้าส่วนโค้งทำให้ไม่ถนัดเวลาใช้เข็มขัดนิรภัย หรือเรื่องของระดับของพวงมาลัย ผู้หญิงโดยทั่วไปก็อาจจะตัวไม่ได้สูงเท่า ขาไม่ได้ยาวเท่า โอเคมันเลื่อนปรับได้ แต่ก็อาจจะไม่พอดีอยู่ดี ฉะนั้น ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเดิน แล้วก็ใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่า
แต่ทีนี้พอเมืองมันถูกพัฒนาเพื่อการใช้รถ การใช้ motomobil ทางเดินกับขนส่งสาธารณะมันอยู่ในสภาพที่ไม่มีใครอยากใช้ แล้วที่สำคัญเลยก็คือมันไม่ค่อยปลอดภัย ถ้าเราดูสถิติพวกความรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสำรวจของสำนักงานสถิติก็ดี หรือว่าของ Gallup World Poll ก็ดี ทำสำรวจออกมา ผู้หญิงจะรู้สึกปลอดภัยในเมืองเวลาเดินคนเดียวหรือเวลากลางคืนน้อยกว่าผู้ชายเป็นหลายจุด แล้วเราก็จะเห็นข่าวเรื่องของความรุนแรง การคุกคามทางเพศอยู่บ่อยๆ คือที่ผ่านมามันดีขึ้น คนเริ่มรับรู้มากขึ้น แต่มันยากที่ผู้หญิงเดินคนเดียวผ่านกลุ่มผู้ชายแล้วจะไม่ถูกแซว ไม่ถูกมอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัย
แล้วผู้หญิงในฐานะคนที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ก็จะต้องพาลูก พาพ่อแม่ที่อาจจะเคลื่อนไหวไม่สะดวกเพราะอายุเยอะแล้ว ต้องพาออกมาเดินด้วย แล้วดูทางเท้าดิ มันจะมีกระถางต้นไม้บ้าง เสาบ้าง ตอนนี้มีป้ายหาเสียง หนักเข้าไปอีก เดินคนเดียวยังยากเลย แล้วถ้าต้องจูงเด็กหรือพาพ่อแม่ที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกเดินทางด้วย ก็อาจจะต้องพานั่งรถเข็นอีก
แต่พอคุณออกมาไม่ได้ทำยังไง ก็อยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน หรือถ้าโชคดี ป้ายรถเมล์อยู่หน้าบ้าน เข็นออกมาเลย แล้วขึ้นรถเมล์ แต่จะขึ้นยังไง รถเมล์แบบที่สามารถปรับเลื่อนลงมาเพื่อเข็นขึ้นไปได้ มันก็มี แต่น้อยมาก รถเมล์ไทยอายุกี่สิบปีแล้ว สภาพไม่ได้รับการปรับปรุง ไม่ได้รับความเอาใจใส่มากเท่าถนนเลย
นอกจากการเดินทางบนถนนแล้ว การเดินทางแบบอื่นๆ มีผลกับการใช้ชีวิตของผู้หญิงด้วยไหม
อย่างรถไฟฟ้าที่คนมองว่านี่คือการขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผู้หญิงซึ่งมีโอกาสทางเศรษฐกิจและการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย ค่าจ้างก็น้อยกว่า โอกาสที่เขาจะเข้าถึงค่าโดยสารแพงๆ ก็น้อยตามไปด้วย เพราะราคาของรถไฟฟ้ามันแพงสำหรับผู้หญิงที่โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ต่ำกว่า และมีความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ชาย
เพราะด้วยบทบาทการเป็นผู้ดูแลทำให้เขาต้องเลือกงานที่มีความยืดหยุ่นของชั่วโมงการทำงานสูง รวมไปถึงข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งเมืองมันถูกออกแบบมาอย่างรวมศูนย์เศรษฐกิจให้กระจุกตัวอยู่ที่สีลม-สาทร แต่ที่อยู่อาศัยที่ผู้คนมีกำลังซื้อจริงๆ กลับอยู่ที่ จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ กระจายไปอยู่ข้างนอก ซึ่งถ้าไม่มีรถก็ใช้เวลานานมากในการเดินทาง โอเค รถไฟฟ้าเริ่มขยายแล้ว แต่มันคิดค่าบริการแบบเป็นเที่ยว คือเหมาะสำหรับคนที่ตื่นเช้ามาไปทำงานกลับบ้านจบ มีจ่ายแค่สองเที่ยวจบแล้ว
การคิดค่าบริการแบบเที่ยวเดียว มีปัญหากับการใช้ชีวิตของผู้หญิงอย่างไร
ด้วยความที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ถ้าสมมติมีลูกหรือมีพ่อแม่ที่ไม่สามารถทิ้งไว้ที่บ้านได้ ตื่นเช้ามาต้องพาไปดรอปที่เนอสเซอรี่ หรือสถานรับเลี้ยงผู้สูงอายุ แล้วก็เดินทางจากเนอสเซอรี่ โรงเรียน หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อไปทำงาน พอขากลับ ก็กลับมาแวะรับลูก แวะไปตลาดซื้อของเข้าบ้าน หรือรับเสื้อที่ไปส่งซักรีด แล้วค่อยเข้าบ้าน มันเป็นการเดินทางหลายต่อกว่าจะจบภารกิจหนึ่งของผู้หญิง
แต่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าปัจจุบันก็คือคิดต่อเที่ยว เท่ากับว่าจากบ้านไปเนอสเซอรี่หนึ่งต่อ แล้วจากเนอสเซอรี่ไปที่ทำงานก็คิดอีกหนึ่งต่อ ก็คือแพงกว่า ทั้งๆ ที่รายได้ของผู้หญิงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย เลยทำให้ผู้หญิงไม่ได้อยากจะนั่งรถไฟฟ้าโดยสารสาธารณะทั้งๆ ที่สภาพรถดีกว่า สะอาดกว่า และปลอดภัยกว่ารถเมล์ และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจตราด้วย แต่ว่าพวกเขาเข้าไม่ถึง
การพัฒนาเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงว่า ผู้หญิงผู้ชาย มีบทบาท มีหน้าที่ หรือว่าโอกาสแตกต่างกัน แล้วพอมันพัฒนาโดยบอกว่าเพื่อส่วนรวม โดยที่ by default ของส่วนรวมมันดันเป็นผู้ชาย เลยกลายเป็นช่องว่างต่อความต้องการของผู้หญิงเต็มไปหมด แล้วมันยิ่งแย่กว่าเดิมตรงที่ว่าผู้หญิง คือครึ่งหนึ่งของคนในเมือง แล้วมันจะยิ่งมากกว่าครึ่งเข้าไปอีก เพราะเรารู้กันดีว่าประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว
ซึ่งโดยสถิติผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้ว คนแก่ ผู้สูงวัย ผู้หญิงจะยิ่งเยอะจนเป็นประชากรมากกว่าครึ่งของเมือง แต่ว่าเมืองมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน นั่นเท่ากับว่าเมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อผู้หญิงมันเฟลคนมากกว่าครึ่ง อันนี้น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากผู้หญิงจะเป็นประชากรที่มากกว่าครึ่งของคนในเมือง ยังเป็นคนที่ต้องดูแลคนอื่นๆ ด้วย คือไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชาย หรือผู้สูงวัยผู้ชาย คนดูแลก็คือผู้หญิง แล้วถ้าคนดูแลขาดโอกาส มีอุปสรรคมากมายในการทำหน้าที่ หรือใช้ชีวิตประจำวันของเขา เขาจะไปดูแลคนอื่นได้ยังไง
แต่ผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทในเมืองมานานแล้ว ทำไมปัญหานี้ถึงยังคงอยู่
ปัญหานี้เป็นมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มชัดขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมาเรามีนโยบายที่พยายามสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยความที่กำลังแรงงานเราลดลง แล้วก็ต้องการที่จะเติมเต็มตลาดแรงงาน ก็ส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงาน ทั้งโดยสมัครใจ และโดยบังคับโดยปริยาย เนื่องจากค่าครองชีพเริ่มแพงขึ้น ทำให้ผู้หญิงต้องมาหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวมากขึ้น
ทีนี้ ครอบครัวแบบอุดมคติประเภทที่ว่าพ่อทำงานคนเดียว แล้วจะสามารถหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัวได้ โดยอาศัยอยู่ในเมืองแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว นอกจากตัวเองจะมี social capital ที่ดีมาก พ่อแม่อีกเจเนเรชั่นหนึ่งมีกำลังสนับสนุนได้ มีมรดก มีที่ดินให้เรียบร้อย
ซึ่งพอสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการทำงานปุ๊บ ผู้หญิงต้องมาทำบทบาทเดียวกับผู้ชาย ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าเซ็ตติ้งของการทำงานต่างๆ มันไม่เหมาะ มันไม่ถูกพัฒนามาให้ลงตัวกับความต้องการของผู้หญิง อย่างที่ทำงานเองก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้หญิงเข้าไปใช้กิจกรรมได้ เช่น ห้องให้นมเด็ก ซึ่งก็มีความย้อนแย้งอยู่นะ ตอนนี้ เราลาคลอดได้ 98 วัน ฟังดูดี แต่ว่าอีกขาหนึ่งคือกระทรวงสาธารณสุขก็รณรงค์ให้นมลูกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แล้วยังไง ลาคลอดได้แค่ 3 เดือนนิดๆ แต่ว่าต้องให้นมลูกไปถึง 6 เดือน แล้วอีก 3 เดือนที่เหลือทำยังไง ก็ต้องพาลูกมาที่ทำงาน หรือไม่งั้นก็ต้องมีห้องที่ปั๊มนมเพื่อเก็บไว้ แล้วเอากลับบ้านให้ลูกกิน ที่ทำงานหลายๆ ที่มันไม่ได้มีสถานที่ ห้องให้นมหรือห้องปั๊มนม ก็บอกแล้วล่ะ ว่ามันไม่ได้ถูกพัฒนาโดยคิดว่าผู้หญิงจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ตรงนี้
เรื่องค่าโดยสารเป็นเที่ยวๆ นี้ต้องแก้ไขยังไง
จริงๆ บางเมืองอย่างลอนดอน ค่าโดยสารเขามีการเริ่มทำแบบเป็นโซน ลอนดอนจะเป็นกลมๆ แล้วก็กระจายออกไป ถ้าอยู่ในโซนหนึ่ง เดินทางภายในโซนหนึ่ง ค่าโดยสารจะน้อยกว่าเดินทางข้ามโซน แล้วถ้าเป็นรถบัส ถ้าขึ้นลงใช้เวลาไม่นาน กลับมาขึ้นอีกรอบจะไม่คิดราคา มันต้องเป็นแบบนี้อะไรที่มันคิดถึงว่า ถ้าคุณไม่เดินทางข้ามโซนหรือว่าคุณแค่ไปดรอปลูกแล้วกลับขึ้นมา คุณไม่จำเป็นต้องเสียใหม่
มันจะดีขึ้นสำหรับผู้หญิงที่จะต้องแวะหลายต่อ แวะไปเอาผ้าซักรีดของสามีแล้วกระโดดกลับขึ้นรถกลับมาได้
แล้วจริงๆ การทำให้ขนส่งสาธารณะมันดีขึ้น ไม่ใช่ว่าทำเพื่อผู้หญิง แต่คือการทำเพื่อทุกคนจริงๆ เพราะว่าเราคงไม่ได้อยากได้เมืองที่ทุกคนมีรถขับ เราน่าจะอยากได้เมืองที่ขนส่งสาธารณะมีไว้สำหรับทุกคน
ซึ่งถ้าเรามองความต้องการของผู้หญิงที่เป็นคนที่ต้องดูแลคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่เดินทางไม่สะดวกหรืออาจจะต้องใช้รถเข็น หรือเด็กที่อาจจะต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษเพราะไม่รู้จะวิ่งไปที่ถนนเมื่อไหร่
ถ้าคุณมองถึงความต้องการของผู้หญิง คือคุณมองเห็นความต้องการของทุกคนไปด้วยแล้ว เพราะผู้หญิงคือต้องดูแลคนอื่น ก็เท่ากับว่าคุณมองเห็น universal design แล้วว่าผู้หญิงต้องมาเข็นรถเข็น ต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะจูงลูกมือนึง ขนกับข้าวอีกมือนึง ถนนต้องกว้างพอ นั่นคือการออกแบบสำหรับทุกคน การพัฒนาเมืองที่ผ่านมาไม่ได้มองตรงนี้ เพราะว่า by default คุณมองคนเป็นผู้ชาย ไม่ได้มองว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุกคนเหมือนกันหมด จริงๆ แล้วไม่ใช่
นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว มีจุดไหนอีกไหมที่สะท้อนว่า กทม. เป็นเมืองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้หญิง
อย่างการออกแบบพื้นที่ทำกิจกรรมพวกกีฬาสันทนาการ ถ้ามาดูในเมือง ไปเล่นที่ไหนได้บ้าง ไม่มี มันเป็นสนามบาส สนามบอลที่เด็กผู้ชายรวมตัวกัน คือต่อให้ผู้หญิงเล่นบาส เล่นบอลเป็น ก็ไม่ได้รู้สึกจะอยากเข้าไปในพื้นที่ที่มีแต่ผู้ชายจับกลุ่มกันถอดเสื้อ เล่นบาส เล่นบอล พวกสนามกีฬาลานนันทนาการ ไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้หญิงอยากเข้าไปทำกิจกรรมด้วย แต่ว่าดันส่งเสริมให้ผู้หญิงออกกำลัง โอเค ผู้หญิงบางกลุ่มก็จะจัดลานเต้นแอโรบิกในหมู่บ้านหรือในสวน แต่คือจะไปใช้ลานกีฬา ลานนันทนาการมันก็ยากมากเลยที่จะเข้าไปแทรกกลุ่มผู้ชายได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่สาธารณะมันออกแบบมาเหมือนกับให้ผู้หญิงอยู่บ้าน
ห้องน้ำเป็นประเด็นหลักเลย ผู้หญิงไทยหลายคนเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะว่าต้องอั้นปัสสาวะ เนื่องจากหาห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดและดูปลอดภัยไม่ได้ ต่างกับผู้ชายที่สามารถจอดรถหันหน้าเข้ากำแพงแล้วจบ เขาสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ถ้ามันไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป แต่ผู้หญิงทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องมีห้องน้ำเพียงพอที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าได้และรู้สึกปลอดภัยพอ ไม่งั้นก็ต้องกลับบ้านเลย ทำให้หลายคนเป็นนิ่วบ้าง กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ้าง ต้องทนเพื่อที่จะมีที่ปลอดภัยที่จะทำธุระส่วนตัวได้
อันนี้เลยสะท้อนว่าเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยคิดถึงความแตกต่างของบทบาทหน้าที่ตรงนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สังคมเองสร้างขึ้นมาทั้งนั้นเลย ผู้หญิงไม่ได้ขอร้องที่จะอยากอยู่บ้าน แต่สังคมตั้งความหวัง มอบบทบาทของการเป็นผู้ดูแลอยู่บ้านให้ผู้หญิงไปแล้ว ในขณะเดียวกัน พอต้องการแรงงาน ก็เรียกร้องให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ได้ละทิ้งค่านิยมที่ว่าผู้หญิงต้องรับผิดชอบบ้านไปด้วย
กลายเป็นว่าผู้หญิงหลายคนต้องแบกทั้งภาระในบ้านและภาระที่ทำงาน จนทำให้บางคนต้องเลือกออกจากงาน หรือไม่ก็เลือกปล่อยลูก ปล่อยพ่อแม่ไว้ที่บ้านที่ไม่มีคนดูแล แบบนี้ไม่ใช่ทางเลือก เหมือนคุณเลือกที่จะไปทำงานหรือเลือกที่จะปล่อยลูก ละทิ้งพ่อแม่แก่เฒ่า ซึ่งมีโทษทางกฎหมายนะ มีความผิดฐานเลี้ยงดูไม่เหมาะสมหรือละเลย กลับกันไม่ค่อยมีใครคาดหวังให้ผู้ชายเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ดูแลลูกหรือพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ทุกคนจะคาดหวังว่าต้องเป็นลูกสาวที่ดูแลพ่อแม่ หรือแม่ที่ต้องดูแลลูก
ในต่างประเทศมีงานวิจัยด้วยว่าผู้หญิงที่มีลูก มีแนวโน้มที่จะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก ขณะที่ ผู้ชายที่มีลูกมีแนวโน้มจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้ชายที่ไม่มีลูก แปลกไหม กลายเป็นว่าถ้าผู้ชายรับบทบาทในการดูแลลูกไปด้วย แล้วทำงานไปด้วย กลับได้พรีเมี่ยม เพราะคนมองว่านี่มันสุดยอดคุณพ่อ ทำทั้งสองอย่างได้ เลยได้พรีเมี่ยมเพราะว่าคุณต้องดูแลลูก แต่กับผู้หญิงมันกลายเป็น default ว่าคุณก็ต้องทำอยู่แล้ว ถ้าทำงานแย่เอาลูกมาเป็นข้ออ้างไม่ได้นะ มันกลายเป็นเรื่องของสิ่งที่สังคมคาดหวังโดยที่ผู้หญิงหลายๆ คนไม่ได้ร้องขอ มันเลยกลายเป็นความกดดัน
จะเห็นว่าช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา พอโรงเรียนปิดหรืออยู่บ้าน ผู้หญิงหลายคนตัดสินใจออกจากงานเลยเพราะต้องรับหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ต้องกลายเป็นครูด้วย ไม่ใช่แค่แม่อย่างเดียว ในขณะเดียวกันผู้ชายจะไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะต้องมาดูลูก นั่งซูมไป ทำงานต่อไป
เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงถูกผลักออกจากการทำงานไป?
รายงานจากหลายแห่ง บอกว่า คนที่ออกจากตลาดแรงงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากก็คือผู้หญิง รายได้ที่หายไปส่วนมากก็คือผู้หญิง ต้องมาดูว่าพอปีนี้ผู้หญิงจะกลับเข้ามาในตลาดแรงงานได้อย่างไร เดิมทีผู้หญิงจะอยู่ในกิจกรรมแรงงานนอกระบบเยอะกว่าผู้ชายอยู่แล้ว แล้วกิจกรรมแรงงานนอกระบบ ส่วนมากมักเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพราะว่าเป็นงานในภาคบริการ ก็คือคนติดต่อ สัมผัสกัน จะเป็นร้านอาหาร โรงแรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งพวกนี้มันหายไปเยอะมาก นั่นเท่ากับว่าในการที่จะฟื้นฟูให้ผู้หญิงกลับมามีบทบาทในตลาดแรงงานหลัง COVID-19 คุณจะเอางานประเภทไหนมาให้ผู้หญิงทำ
อย่าลืมบทบาทที่คุณตั้งให้เขาเป็นผู้ดูแลครอบครัว ทำให้เขาต้องหางานที่ ข้อหนึ่ง ต้องมี flexible hour คือเลิกงานทันไปรับลูก รับพ่อแม่ที่สถานเลี้ยงดู หรือถ้าลูกป่วยต้องหยุดทำงานอยู่บ้านได้ ข้อสองคือ ไม่ไกลจนเกินไป เพราะว่าหลายคนไม่มีรถขับหรือไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารแบบหลายๆ ต่อ ราคาแพงได้ เพราะฉะนั้น ต้องอยู่รอบๆ บ้านนี่แหละ นั่งสองแถวแถวบ้านได้
เราอาจจะต้องมาออกแบบเมืองกันใหม่ ให้เมืองเป็น cluster มากขึ้น จากเดิมที่กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างต้องมุ่งไปศูนย์กลางอย่าง สีลม สาทร สุขุมวิท มันอาจจะต้องกระจายมากขึ้น มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือรับเลี้ยงผู้สูงอายุระหว่างวันมากขึ้น และกระจายไปตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงที่คุณคาดหวังว่าเขาต้องดูแลคนอื่น สามารถที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ในเมืองได้
ช่วงที่ผ่านมาเราว่าในต่างประเทศมีผู้แทนผู้หญิงหลายคนที่เอาลูกเข้าไปเลี้ยงในสภา ให้นมกันในสภา คิดภาพสังคมไทยทำแบบนั้นได้ไหม? ด้วยสภาใหม่ของไทยที่เป็นทรงวัด แค่จะเอาลูกเข้าไปยังเอาเข้าไม่ได้เลยมั้ง เขามองว่าที่ทำงานคือที่ทำงาน ไม่ใช่ที่เลี้ยงเด็ก แล้วตัวแทนของผู้หญิงในเวทีการกำหนดนโยบายหลายๆ เวที แทบจะทุกระดับเลย มันแทบไม่มีตัวแทนของผู้หญิงเลย อย่าง กทม.ก็ไม่เคยมีผู้ว่าฯ ผู้หญิงเหมือนกัน
โอเค เราเคยมีนายกที่เป็นผู้หญิงหนึ่งคน เรารู้สึกว่าเขาโดนโจมตีด้วยเรื่องที่ คือถ้าเขาอยู่ตอนนี้แล้วกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาแรงเท่าตอนนี้ พวกที่ฟาดคอมเมนต์เขาเรื่องปล่อยลูกไว้ที่โรงเรียน หรือว่าไปเจอคนโน้นคนนี้ นัดคุยงานที่โรงแรม โดนฟาดกลับแน่นอน แต่กระแสตอนนั้นมันกลายเป็นมุ่งว่า เป็นผู้หญิงแล้วจะไร้ซึ่งความสามารถ มองว่าเขาขึ้นมาด้วยเส้นสายของพี่ชาย ไม่ได้มองว่าเขาทำได้ แต่ขอโทษนะ ตัวอย่างของการใช้เส้นสาย ลูกชายใช้ชื่อพ่อขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคก็มีไหม?
จะเห็นว่าตัวแทนของผู้หญิงในกลไกการกำหนดนโยบายหรือพื้นที่ที่จะแสดงความเห็นมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งก็กลับไปที่ค่านิยมของสังคม คือผู้หญิงต้องดูแลคนในครอบครัว ซึ่งทำงานด้วยเนี่ยนะ กลับมาบ้านดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ หมดวันแล้ว ไม่มีแม้แต่เวลาที่จะไปดูแลตัวเอง พักผ่อน ดู Netflix ยากแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปร่วมรับฟังความเห็น ประชุมนโยบาย ถ้ามันไม่ได้มีกลไกสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถวางภาระด้านใดด้านหนึ่งลงได้ ไม่มีทางที่เขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้แบบจริงจัง
เพราะฉะนั้น ไม่แปลกเลยที่แทบจะไม่เห็นนโยบายที่คำนึงถึงความแตกต่างของคนแต่ละเพศ ของบทบาททางเพศ
กลายเป็นว่าเวลากำหนดนโยบายสาธารณะ ก็จะบอกว่า นี่ไงนโยบายสาธารณะที่ทำเพื่อส่วนรวม แต่ไม่ได้คำนึงว่าเวลาคุณนึกถึง ‘สาธารณะ’ คุณนึกถึงผู้ชายโดยอัตโนมัติ กลายเป็นว่านโยบายที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นนโยบายที่ออกแบบโดยผู้ชายเพื่อผู้ชาย
ใน กทม. มีปัญหาเรื่องความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) เหมือนอย่างที่เมืองใหญ่ในต่างประเทศเจอไหม
มีงานศึกษาจากของ International Labour Organization (ILO) ซึ่งศึกษาค่าจ้างของทั่วโลก พบว่า ในช่วงปีที่มี COVID-19 คือรายงานจากปี ค.ศ. 2020/2021 ผู้หญิงมีค่าจ้างน้อยลง และออกจากงานมากขึ้น แต่ช่วงก่อน COVID-19 คือรายงานเมื่อปี ค.ศ. 2018/2019 จะมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านค่าจ้างเยอะ
ซึ่งถ้าเทียบดูกับประเทศอื่น จะเห็นว่า ค่าเฉลี่ยของ gender wage gap ในไทย แทบไม่มีเลยนะ เป็น 0 เลย แต่ถ้ามาเปรียบเทียบอีกวิธี คือพิจารณาตามปัจจัย 4 อย่าง ได้แก่ การศึกษา อายุ ทำงานเอกชนหรือภาครัฐ และเป็นงานพาร์ทไทม์หรือฟูลไทม์ พอใช้สี่ตัวนี้เข้ามาคิด แล้วให้น้ำหนักแต่ละปัจจัย กลายเป็นว่า gender wage gap ในไทย อยู่ที่ประมาณ 10-11% คือผู้ชายจะมีค่าจ้างโดยเฉลี่ยมากกว่า ผู้หญิง 10% เพราะว่าถ้าคิดค่าเฉลี่ยธรรมดา จริงๆ แล้วต้องบอกว่า การศึกษาแทบไม่มีผลเลยนะ ผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย ทำให้งานที่มันต้องใช้การศึกษาสูงจริงๆ ผู้หญิงก็สามารถเข้าไปได้ ส่วนผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาน้อย ก็จะอยู่บ้านเลย ไม่ได้เข้ามาในตลาดแรงงาน แล้วงานที่ ‘บ้าวุฒิการศึกษา’ ก็เป็นงานภาครัฐ เอกชนเขาดูประสบการณ์และความเชี่ยวชาญก็ไปได้ เชิง technical แต่ภาครัฐต้องมีปริญญา ยิ่งสูงยิ่งดี ต้องใช้เส้นสายด้วย ไปหลายๆ หลักสูตรยิ่งเยอะยิ่งดี
ก็จะเห็นว่าภาครัฐ มีกฎต่างๆ อย่างกฎ ก.พ.ที่ระบุไว้ชัดเจนอยู่ว่า ค่าจ้างอัตรานี้ตำแหน่งนี้ จะได้เท่าไหร่ ซึ่งไม่ได้แยกเพศไว้ แต่พอมาเป็นภาคเอกชนกลไกในการบังคับค่าจ้างเท่าเทียม ยังมีไม่เพียงพอ อย่าว่าแต่ gender wage gap เลย เอาค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้ก่อน ยังทำไม่ได้เลย แล้วมันก็เลยเกิดช่องว่างเรื่องค่าจ้าง แม้ผู้หญิงจะมีแนวโน้มว่าอยู่ในการศึกษานาน จบสูงกว่า เกรดเฉลี่ยดีกว่า ก็ไม่แมทเทอร์ เพราะพอมาทำงานคุณก็ถูกทรีตว่า เดี๋ยวแต่งงานมีลูกก็ต้องออกไปดูลูก รับผิดชอบงานมากขึ้นก็ไม่ได้ ทำโอทีก็ไม่ได้ ก็กลายเป็นว่า อย่างเมื่อกี้ที่เล่าไป ผู้หญิงถ้ามีลูก กลายเป็นค่าจ้างน้อยลง สลับกัน ผู้ชายถ้ามีลูก ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
ในเรื่องการกำหนดนโยบาย ตอนนี้ใกล้เลือกตั้งผู้ว่า กทม.แล้ว มองนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนว่าอย่างไรบ้าง?
ดีนะ จริงๆ ต้องบอกว่า นโยบายของผู้สมัครหลายคนมีการแอดเดรสความต้องการที่เหมาะกับผู้หญิงมากขึ้น แม้ว่าโดยตัวเนื้อหาจะไม่ได้มีคำว่าผู้หญิงกระแทกออกมาจังๆ แต่หลายนโยบายก็สะท้อนความต้องการผู้หญิงมากขึ้น เช่น การพัฒนาศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กมากขึ้น เปิดหลายแห่งมากขึ้น หรือว่าเรื่องทำเมืองให้ปลอดภัย
แต่อาจจะต้องไปดูรายละเอียดเวลานำไปปฏิบัติ เพราะว่าเวลาที่เราพูดถึงเมืองปลอดภัย หลายคนเลยจะบอกว่า ให้ติด CCTV เพิ่มขึ้น ฟังดูเหมือนจะปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันมีงานวิจัยออกมาว่าผู้หญิงไม่ได้ต้องการ CCTV เขาต้องการคนที่จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยหรืออาสาสมัครความปลอดภัย ตำรวจที่คอยลาดตระเวนตรวจตรามากกว่า เพราะ CCTV จะได้ใช้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วไม่มีใครอยากโดนเหตุการณ์แบบนั้น แล้วจับได้หรือเปล่ายังไม่รู้แต่มันเกิดขึ้นแล้ว
ในทางกลับกัน ถ้าเราเห็นคนที่ป้อมตำรวจอยู่ตรงนี้ เราสามารถที่จะวิ่งไปขอความช่วยเหลือได้เลย หรือว่าถ้ามีคนที่จะบังคับใช้กฎหมายได้เลย ณ ตรงนั้น เราก็จะรู้สึกปลอดภัยมากกว่า
อีกอย่างคือ เรื่องการติด CCTV มันเป็นแนวคิดที่ผู้ชายมากเลย คือใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เอามาแทนคน มันล้ำ มันดี แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้เวิร์กสำหรับผู้หญิง ไม่ได้มองว่ามันปลอดภัยเพียงพอ
สิ่งที่เราต้องการจริงๆ มันอาจจะแค่ถนนหนทางที่มีไฟสองสว่างเพียงพอ มีจุดรับแจ้งเหตุเป็นระยะๆ มีทางเดินที่ไม่เปลี่ยว หรือถ้าอยากใช้เทคโนโลยี ก็ใช้ alarm ที่วิ่งไปกดได้เหมือนรถไฟฟ้าเวลาเกิดเหตุการณ์อะไร เขาก็มี alarm ให้ เราติด alarm ตามตรอกซอกซอยดีกว่าไหม ถ้าเกิดว่ามีเหตุการณ์อะไรไม่น่าไว้ใจเขาสามารถวิ่งไปกดเรียกคน หรือว่ามันส่งสายตรงไปถึงตำรวจได้เลย ติดอินเตอร์คอม ติดอินเตอร์คอมไว้ใกล้ๆ เสารับแจ้งเหตุก็ได้ เหมือนเวลาลิฟต์เสีย กดปุ๊บตำรวจพูดออกมาแล้ว เกิดอะไรขึ้นครับ คนที่มันคิดจะทำร้ายหรือวางแผน รู้แล้วว่ามีคนอื่นอยู่ตรงนั้น รับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะดีกว่าติด CCTV ที่สุดท้ายแล้วจะได้ใช้ประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้
เราคิดว่า นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนยังมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่คงต้องไปดูกันอีกทีว่า สุดท้ายแล้วมันเหมาะกับความต้องการของทุกคนจริงๆ หรือเปล่า
ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง อยากฝากอะไรถึงการคิดนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไหม
อยากแนะนำว่า อย่าเหมาว่าทุกคนต้องการอย่างเดียวกันหมด อย่าคิดว่า คุณทำนโยบายแบบตัดเสื้อเหมารวมแล้วทุกคนจะใส่ได้ เพราะว่าทุกคนมีความต้องการ มีบทบาทที่สังคมคาดหวัง แล้วก็มีโอกาสในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เมืองจะให้ได้ไม่เท่ากัน ถ้าคุณตระหนักถึงข้อนี้ได้ว่าทุกคนมีความหลากหลาย ทุกคนแตกต่าง
นั่นแปลว่า เราต้องการนโยบายที่จริงๆ แล้ว คิดถึงคนที่มีข้อจำกัดมากที่สุด เพราะการคิดแบบนี้ จะทำให้ช้อนทุกคนขึ้นมาได้ คือถ้าคุณคิดนโยบายที่กลางสำหรับทุกคน ก็เหมือนคุณคิดนโยบายที่เส้นมีน ตามค่าเฉลี่ยของคน คนที่อยู่ใต้เส้นมีนนี้ จึงเข้าไม่ถึง
ในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดถึงคนที่ข้อจำกัดมากในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้หญิง จะมีความทับซ้อนของข้อจำกัด เช่นพิการ ยากจน หรือเป็นชนเผ่าอะไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายแล้วคนที่ทรมานมากที่สุดก็คือผู้หญิง ถ้าคุณคิดได้ ถ้าคุณกวาดคนที่เส้นล่างสุดได้ ข้างบนทั้งหมดก็จะได้รับไปด้วย
เพราะฉะนั้น หลายครั้งมากเลย เราจะได้ยินผู้กำหนดนโยบายกล่าวว่า อยากทำเรื่องใหญ่ๆ ที่ impact สูงๆ เรื่องผู้หญิงเรื่องสิทธิ์ทางเพศอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าคุณทำเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องใหญ่หรอก มันไม่มีทางสำเร็จ
แล้วถ้ามองว่าเรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องเล็ก ผิดนะ เพราะเราพูดกันไปแล้วว่าผู้หญิง อย่างน้อยก็เป็นครึ่งหนึ่งของคนเมือง แล้วมีแนวโน้มว่ามันจะยิ่งมากกว่าครึ่ง เพราะว่าผู้หญิงอายุยืนกว่า ความเป็นสังคมสูงวัยของเรา แทบจะพนันกันตอนนี้ได้เลยว่า ต่อไปเมืองจะมีแต่ผู้หญิง แล้วถ้าคุณยังไม่สามารถตอบความต้องการของกลุ่มที่กำลังจะเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองได้ ปัญหาในเมืองมันจะยุบยับเยอะแยะไปหมดแน่นอน
การแก้ไขเชิงนโยบายก็ด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยอะไรอีกไหมในการแก้ไขปัญหาเมืองที่ไม่ออกแบบเพื่อทุกคน
เมื่อสาเหตุหลักของการเกิดข้อจำกัดต่างๆ มาจากค่านิยมในสังคมที่คาดหวังว่าผู้หญิง-ผู้ชาย มีบทบาทหน้าที่ และพฤติกรรมแตกต่างกัน ฉะนั้น ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน ก็ต้องเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม
ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่การทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายเหมือนกัน แต่เป็นการทำให้ทุกคนยอมรับว่า บุคคลแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เขาต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงอาจจะต้องการอะไรบางอย่าง ต้องการซัพพอร์ทบางอย่าง เพื่อที่เขาจะเข้าถึงบริการสาธารณะแบบเท่าเทียมกับผู้ชายได้ นั่นไม่ได้หมายความ มันเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่จะไปสนับสนุนผู้หญิง ซึ่งถ้ามันปรับทัศนคติทางสังคมนี้ได้ ก็จะหยั่งยืนกว่ามาก
อย่างนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมาเข้าตลาดแรงงาน เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่หายไป โดยที่ไม่ได้ปรับค่านิยมทางสังคมที่ว่าผู้หญิงก็ต้องดูแลบ้านด้วย อันนี้คือ failure อันนึงที่เห็นชัดที่สุด เพราะกลายเป็นว่า สุดท้ายผู้หญิงก็ก้ำๆ กึ่งๆ เหมือนขาข้างนึงอยู่ในบ้าน ขาอีกข้างอยู่นอกบ้าน จะออกก็ไม่ได้ จะกลับเข้าไปก็ไม่ได้
จริงๆ ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่อง climate change ทุกวันนี้ก็ร้อนมาก มันเป็นผลของการไม่ได้เอาเรื่องเพศเข้าไปกำหนดนโยบายด้วยนะ เพราะว่าที่ผ่านมา คุณไปดูผลศึกษาไหนก็ตาม คนที่ได้รับผลกระทบเยอะสุดคือผู้หญิง ทุกๆ ภัยพิบัติ อย่างสึนามิ คนที่ตายส่วนมากคือผู้หญิง เพราะว่าหนีไม่ทัน จากการที่เขาต้องอยู่กับบ้าน เพื่ออยู่กับลูกหรือพ่อแม่ แล้วเวลาจะหนีก็ต้องหอบเอาทั้งหมดออกมาด้วย ทำให้หนีไม่ทัน นอกจากนี้ พอนโยบายด้าน climate change ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้หญิง ก็เลยทำอะไรไม่สุด ไม่ทะเยอทะยานมากพอ กลายเป็นว่า ทำแค่นี้แหละ ฉันรอดได้ ฉันมีรถขับ ฉันไม่ต้องนั่งรถพัดลม หรือเดินตากแดด เพราะฉันมีรถขับ หรือไม่ต้องอยู่บ้านร้อนๆ เพราะว่ามาที่ทำงาน ที่ทำงานมีแอร์ เพราะงั้น ความรู้สึกต่อความชิบหายเลยเป็นอีกสเต็ปนึง ไม่ได้รู้สึกว่าแย่แล้วๆ ต้องรีบทำ เพราะเขายังรู้สึกว่า มันไปได้ ฉันก็ใช้ชีวิตของตัวเองไปได้ แต่จริงๆ มันจะไม่ทันแล้ว
แล้วจะบอกว่า ถ้าเอาเสียงผู้หญิงเข้าไป คุณก็จะเอาเสียงเด็กและคนแก่ไปด้วย เพราะผู้หญิงก็จะรู้ว่าเด็กและคนแก่ต้องการอะไร ซึ่งเด็กสำคัญมาก เพราะ climate change เป็นเรื่องที่จะส่งผลในระยะยาว เด็กคือคนที่จะต้องรับผลจาก climate change ในอนาคต เท่ากับว่า ยิ่งทำแบบขอไปทีเท่าไหร่ เด็กในวันนี้พอโตขึ้นไปจะยิ่งซัฟเฟอร์มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้สะท้อนนโยบายว่าเขาอยากทำอะไร ซึ่งถ้าไม่ให้ผู้หญิงเข้ามา อาจจะเป็นตัวแทนเด็ก 100% ไม่ได้ แต่ในฐานะที่ต้องเป็นคนดูแลเด็ก ผู้หญิงจะสังเกตุเห็นความต้องการของเด็กมากกว่า
ผู้หญิงต้องเข้าไปมีบทบาทในเวทีสาธารณะมากขึ้น โดยต้องมีการซัพพอร์ทให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยการให้เขาวางภาระด้านใดด้านนึงลง มีสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์รับฝากผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถเอาสมาชิกในครอบครัวไปฝากไว้ เพื่อที่เขาจะไปทำงานด้านนโยบายได้ ถ้าไม่มีตรงนี้ ไม่มีตัวแทน ไม่มีผู้ปกครองที่นึกถึง gender และ universal design ด้วย ก็ไม่มีทางคุณรับมือกับภัยพิบัติหรือชาแลนจ์ของประเทศนี้ไม่ได้หรอก แค่สองอันนี้ก็ปัญหาหนักแล้วนะ climate change กับ aging society คุณยังไม่ได้มี gender lens ในการมองเรื่องพวกนี้เลย
แต่การให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมโดยที่ไม่ให้ซัพพอร์ท ก็ไม่ได้เหมือนกัน เหมือนให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในตลาดแรงงานโดยไม่มีซัพพอร์ทเลย ให้สิทธิลาคลอด 98 วัน อันนี้ เดิมที 90 วัน สู้มาสิบกว่าปีเพื่อให้ได้อีก 8 วัน ในขณะที่ประเทศอื่นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เวียดนาม 180 วัน ทุกคนเขารับรู้หมดว่า ถ้าคุณอยากให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงาน แต่คุณไม่มีซัพพอร์ทในการให้เขาวางภาระด้านอื่น หรือให้เขาทำภาระในการเป็นผู้ดูแลไปด้วยไหม ไม่มีทาง
มีประเด็นอะไรที่อยากฝากเพิ่มเติมกับเรื่องของผู้ว่า กทม.และการออกแบบเมืองอีกไหม?
อยากจะฝากว่า บางคนอาจจะมองว่า เฮ้ย งั้นเราก็แค่เลือกผู้ว่าที่เป็นผู้หญิงเข้ามาก็ได้นี่ จริงๆ แล้วไม่จำเป็น การมองเห็นผู้หญิง ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ผู้หญิงด้วยกันเสมอไป แน่นอนว่า มันอาจจะฉุกคิดอะไรได้มากกว่า แต่ขอแค่คนคนนั้นมี 2 อย่าง จะเป็นผู้หญิงหรือชายก็ได้ หนึ่งคือ ตระหนักรู้ว่าทุกคนมีความต้องการที่ต่างกัน มีบทบาทที่แตกต่างกัน อุปสรรค และข้อจำกัดก็แตกต่างกัน สองคือมีข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอ โดยเฉพาะในเชิงเพศสภาพ และรู้จักเอาข้อมูลมาใช้ด้วยนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ว่าฯ ผู้หญิง-ผู้ชาย ก็สามารถออกแบบนโยบายที่มองเห็นคนทุกคนได้อยู่แล้ว