ขอเล่าย้อนถึงประสบการณ์ส่วนตัวสักเล็กน้อย ผมรู้จัก H3F ครั้งแรกตอนเรียนอยู่ปี 3 เด็กดนตรีจาก ม.รังสิตสามคนมาออดิชั่นและเล่นดนตรีที่ร้านลึกลับตรงข้าม ม.ธรรมศาสตร์ เท่าที่จำความได้พวกเขาเริ่มด้วย Superstition ของ Stevie Wonder ตามด้วย Cyclone จาก Sticky Fingers แล้วเพลงไหนสักเพลงของ John Mayer หลังจากนั้น การไปฟังพวกเขาเล่นดนตรีก็กลายเป็นทูดูลิสต์ประจำวันพฤหัสบดีของผม
พวกเขาเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับผม แต่ยังคงคุณภาพจากภาษาอังกฤษสำเนียงเป๊ะและลีดกีตาร์สำเนียงบลูหาฟังยากของ ก้อง–เทพวิพัฒน์ ประชุมชนเจริญ คุมจังหวะเพลงอยู่หมัดด้วยการประสานระหว่างกลองและเบสของ หม่อม–ธนบัตร สมบูรณ์สิทธิ์ และ แม็ก – ฐากร อัญภานนท์ ก่อนเพิ่มความหนักแน่นและอิ่มอุ่นทางดนตรีด้วยริทึ่มกีตาร์ของ ปิง–อารการ จันทร์ทอน
ตอกย้ำทฤษฎีส่วนตัวที่ว่า ถ้าคุณหลงไปฟัง H3F สักครั้งแล้ว ในเพลลิสต์คุณจะมีเพลงของพวกเขาตลอดไป
และเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (1 ต.ค.) เป็นอีกครั้งที่ผมได้ฟังพวกเขาเล่นสดๆ ในงาน ‘Listening Party’ ณ ร้าน CD COSMOS Store ร้านแผ่นเสียงเล็กๆ แต่คุณภาพซาวด์อุ่นพอดี ไม่แน่นหู ดนตรีครบทุกเม็ด ที่สำคัญเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้ฟังพวกเขาเล่นเพลงจากอัลบั้มที่ผมตั้งชื่อให้เองว่า ‘ไอเข้ดึ๊บ’ หรือ ‘Chalawan Sound’
และในอัลบั้มใหม่ล่าสุด Chalawan Sound เป็นครั้งแรกที่สี่หนุ่ม H3F ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ กันอีกครั้ง และเบื้องล่างนี่คือบทสนทนาระหว่าง The MATTER ถึงการทดลอง 4 อย่างในอัลบั้มนี้ที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นแบบวาบิ-ซาบิ ที่ขอแปลแบบกวนๆ ว่า ‘เป๊ะให้น้อย สนุกให้มาก’
การทดลองที่ 1: H3F x New Echoes
ตลอด 2 อัลบั้ม และ Ep ที่ผ่านมา H3F ทำงานกันเองแบบครบวงจร ตั้งแต่เขียน, อัด, โปรดิวซ์ตลอดจนโปรโมทและหาคนทำเอมวี เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ล้วนมาจากการเล่นดนตรีแบบหามรุ่งหามค่ำทั้งกลางวันและกลางคืน และเจียดเวลาและแรงที่เหลือมาแต่งเพลงตามแพชชั่นของวง
“พวกเราเป็นคนฐานะปานกลาง ทำงานแล้วเอาเงินมาทำเพลง เงินทุกบาทที่เอามาทำเพลงคือการหมุนเงินของวง แต่ถ้าเราจะโตในทางนี้ต่อมันเสี่ยงมาก เสี่ยงเกินไป” ก้องพูดถึงการตัดสินใจทำงานร่วมกับ New Echoes
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ค่าย New Echoes เคยมาจีบพวกเขาแล้วตั้งช่วงทำอัลบั้ม ‘Unemployment’ แต่ตอนนั้นพวกเขาปฏิเสธ จนกระทั่งในอัลบั้มนี้ที่พวกเขาตัดสินใจร่วมงานกับค่ายครั้งแรก และมันก็ทำให้พวกเขาประหลาดใจไม่น้อยเพราะทางค่าย “ไม่ยุ่งกับการทำงานของวงเลย”
“ด้านทำเพลงเขาปล่อยเราทำหมดเลย เหมือนเชื่อใจให้เราเติบโตไปในทิศทางที่ศิลปะจะพาไป แต่เขาสนับสนุนหลักๆ คือเรื่องเงิน ทีมงาน และการโปรโมตให้เราไปเล่นต่างประเทศ ซึ่งมันตรงกับเป้าหมายที่เราอยากไป” ก้องเล่าถึงการทำงานกับค่ายครั้งแรก
“เขาไว้ใจให้เราทำงานของเรา ส่ง Demo ไป 10 เพลง ไม่แก้สักอัน เขาบอก “เอา เอาเลย” เราก็แบบจริงไหมเนี่ย เพราะที่ผ่านมาเวลาคุยกับค่ายเพลงหรือเวลาเราไปทำงานเบื้องหลังกับค่ายอื่นมันต่างมาก ประมาณ 1 เพลง มี 20 หัว ทุกคนมีส่วนในการคอมเมนท์ และพวกเราเองไม่ชอบอยู่แล้ว พอทำงานกับ New Echoes เราเลยสบายเลย” ก้องพูดต่อ
ไม่ก้าวก่ายและสนับสนุนอยู่ห่างๆ เหมือนพี่ชายแสนดี เป็นการเปรียบเปรยที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกันระหว่าง H3F และ New Echoes
การทดลงที่ 2: (กล้า) ปวารณาตนเป็นวงฟังก์
ถึงแม้ในอัลบั้มก่อนหน้านี้ มีหลายเพลงที่มีกลิ่นไอของดนตรีฟังก์ซ่อนอยู่ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ H3F มั่นใจพอจะบอกว่าตัวเอง ‘ทำเพลงฟังก์’ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับพวกเขา?
“ที่ผ่านมาเพลงเราก็ฟังก์แหละ แต่มันเป็นเชิงไม่มั่นใจมากกว่า มันมีวงที่เก่งกว่าเราเยอะ แล้วการที่เราไปเคลมว่าเราเป็นฟังก์เว้ย เราว่ามันตลกไปนิดนึง เรายังไม่มั่นใจที่จะพูดแบบนั้น”
ก้องพูดถึงเหตุผลที่วงไม่มั่นใจต่อ “รุ่นพี่เราบางวงที่ทำเพลงอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีโอกาสดีเหมือนเรา เขาทำดีกว่าเราอีก เราแค่โชคดีที่ทำเพลงแล้วคนชอบ แล้วการที่จะไปพูดว่าเราเป็นฟังก์มันกระดากปาก เหมือนเราไปปิดโอกาสคนอื่นที่ทำได้ดีกว่าเรา”
แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าตัวเองคือวงที่ทำเพลงฟังก์ได้ดีและมีคุณภาพ คำตอบรวบรัดออกมาได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นและการได้มีโอกาสทำงานกับคนอื่น โดยเฉพาะ เบน–เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี ในเพลง ‘Cultivation’
“ตอนทำเพลงกับพี่เบนแล้วเพลง ‘Cultivation’ ปล่อยไป เรารู้สึกว่าแนวนี้เราก็ทำได้นี่หว่า มันไม่ใช่ความมั่นใจแบบนั้น แต่มันเป็นความรู้สึกสนุกและฟังเพลงตัวเองแล้วไม่แหยง อย่างตอนทำอัลบั้มแรกอัลบั้มสองไม่ใช่เราไม่ชอบ แต่มันเหมือนยังคลำอยู่ว่าแนวที่เราอยากทำ ซาวด์ที่เราอยากได้มันเป็นอย่างไร” ก้องพูดต่อ “ซาวด์ที่อยากได้ยินมันเหมือนในหัวมากขึ้น”
“อาจจะเพราะตอนเราทำ เราไม่ได้คิดมากเหมือนก่อน เราคิดน้อยลง มันเหมือนไม่คิดเลย และใช้สัญชาติญาณมากขึ้น แต่มันกลับสนุกกว่าเดิม” ก้องสรุป
“แต่ผมบอกเลยว่าถ้าไม่มีพี่เบนเราคงไม่รู้สึกว่ามันทำได้เว้ย” ก้องทิ้งท้ายในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อมาว่า พวกเขาเรียนรู้อะไรจากการได้ร่วมงานกับ เบนจามิน และ ภูมิ วิภูริศ บ้าง
การทดลงที่ 3: ทำงานร่วมกับคนอื่นและบทเรียน ‘วาบิ-ซาบิ’
‘วาบิ-ซาบิ’ เป็นปรัชญาจากญี่ปุ่นที่อธิบายรวบรัดได้ว่า ‘สมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ (perfection of imperfection)’
ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้พูดคำนี้ออกมาเอง แต่การทบทวนบทเรียนที่ได้จากการทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นครั้งแรกใน Chalawan Sound ทั้งเบนจามิน ใน ‘Cultivation’ และ ภูมิ วิภูริศ ใน ‘Catwalk’ ทุกคนในวงสรุปตรงกันว่าพวกเขาได้เรียนรู้จะ ‘รับฟัง’ สัญชาตญาณทางดนตรีของตัวเอง และ ‘ปล่อยวาง’ ความยึดติดในความสมบูรณ์แบบลง
“การทำงานกับพี่เบนทำให้เราปล่อยวางมากขึ้น กล้าที่จะให้มันเป็นธรรมชาติมากขึ้น ให้มันฟัคอัพนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร” ก้องเล่าถึงการทำงานของวงก่อนหน้านี้ว่า “สมัยก่อนถ้าทำเพลง เราจะคิดว่าเพลงแบบนี้ไลน์กีตาร์ต้องแบบนี้ นู้นนั่นนี่ แต่พอทำกับพี่เบนเราไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น ทุกอย่างที่เล่นคือสิ่งที่เราแกะมาตั้งแต่เด็ก มันเป็นอะไรที่กินเข้าไปนานแล้ว แต่ไม่เคยได้ปล่อยออกมา”
“หรืออย่างเมื่อก่อนอัดกลอง ก็ตั้งไมค์อัดไปก่อน 22 ตัว แล้วพอไปใช้จริง สรุปเละ พอมาอัลบั้มนี้เรารู้ว่าต้องการแค่ไหน ชิ้นมันแค่นี้ เราก็เอาให้จบในห้องเลย ชอบไหม ถ้าชอบก็ลุยเลย” แม็กกล่าว
“พอมันทำงานร่วมกันเลยกล้าที่จะแบบช่างแม่ง เดี๋ยวเขาก็เติมมา และถ้าถามว่าเราถ้าได้อะไรจาก 2 คนนี้ (เบนจามิน และ วิภูริศ) ก้องว่ามันคือการเชื่อใจในความรู้สึกตัวเอง” ก้องสะท้อน
“เผลอๆ การที่ทำงานกับคนอื่นง่ายกว่าทำงาน 4 คนอีก” ปิงเสริม
“อันนี้จริงเพราะอินพุตมันมาจากเขาด้วย และเรามั่นใจในตัวเขา บวกกับเขาน่าจะมั่นใจในตัวเราเช่นกัน งานมันเลยไปต่อได้” ก้องสรุป
แล้วทุกวันนี้ความสมบูรณ์แบบที่พวกเขาตามหาหน้าตาเป็นอย่างไรกัน?
“ผมว่าความสมบูรณ์แบบในแต่ละครั้ง แต่ละเวลาที่เราทำมันมีอยู่ เหมือนอย่างอัลบั้มนี้ (Chalawan Sound) ผมก็คิดว่ามันสมบูรณ์แบบในแบบของมันแล้ว แต่ใครจะรู้พออีก 10 ปีข้างหน้ามองย้อนกลับมา มันอาจจะไม่เพอร์เฟคอีกแล้ว ผมว่ามันเป็นเรื่องของเวลาและรสนิยมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสายงานไหน ทุกคนมีความคิดแบบนี้อยู่ ทุกคนเรียนรู้และเติบโดไปเรื่อยๆ” ปิงเริ่มตอบคำถามนี้ก่อน
“ถ้าคำว่าสมบูรณ์แบบผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเติมเต็มมากกว่า เชี่ย แม้งสะใจวะ อันนี้คือสมบูรณ์แบบแล้วในชั่วขณะนั้นๆ” แม็กเสริมขึ้น
“ถ้าคนรอบตัวเรามีความสุขแฮปปี้ ทำงานสนุก และพวกเราเถียงกับตัวเองกันน้อยลง คือคนทำงานศิลป์มันเถียงกับตัวเองบ่อยอยู่แล้ว แต่พอได้ทำอัลบั้มนี้มันเถียงกับตัวเองน้อยดี” ก้องพูดในมุมตัวเอง
การทดลองที่ 4: ดนตรีและการเมือง
“He bleeds red not blue. He bleeds red just like you.
He bleeds his hopes and dreams and love its all for you.
All of you still remains. We’ll meet again at the break of dawn.”
Red Not Blue แทร็กสุดท้ายในอัลบั้ม Chalawan Sound
ถ้าหากใครเป็นแฟนเพลง H3F คงจำได้ว่าเพลงนี้ออกมาในปี 2021 ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา ซึ่งทางโครงการบันทึก 6 ตุลาได้จัดธีม ‘5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ และชวนศิลปินคนอื่นๆ อาทิ Polycat, เอเลี่ยน จากวง Safeplanet, Beagle Hug, T_047, Greasy Cafe มาโคฟเวอร์หรือแต่งเพลงภายใต้หัวข้อดังกล่าว และ Red Not Blue เป็นหนึ่งในเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อโครงการนั้น
“ผมว่ามันแทบไม่ค่อยต่างเลยนะ รูปแบบของอำนาจที่อยู่เหนือประชาชนยังเหมือนเดิม คนที่ถูกกระทำตอนนั้นก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ มันเหมือนเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน เหมือนที่อื่นๆ ทั่วโลก” ก้องเปรียบเทียบเหตุการณ์นั้นกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
“แต่ถามว่าเปลี่ยนไหมเปลี่ยน เพราะคนมันรู้มากขึ้นแล้ว มีความหวังมากขึ้น แต่นึกย้อนไปตอนนั้นเผลอๆ เขามีความหวังมากกว่าเราอีก เขาทำได้มากกว่าเราอีก เขาผลักมันไปถึงตรงนั้นแล้ว จนมัน (ดีดนิ้ว) มันไม่ได้แล้ว” ก้องกล่าวต่อ “แต่เราว่ามันเป็นคลื่นนะ สักวันหนึ่งมันจะเปลี่ยนแน่ แต่อีกนิดนึง”
นอกจอกพวกเขาจะเคยเข้าร่วมกับโครงการที่มีนัยยะทางการเมืองเช่นโครงการดังกล่าวแล้ว อันที่จริง ในช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 วง H3F เป็นอีกวงหนึ่งที่เข้ายื่นหนังสือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้มีมาตรการช่วยเหลือนักดนตรี
แล้วในปัจจุบันล่ะ ภายใต้รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย พวกเขาคาดหวังให้ภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือวงการดนตรีอย่างไรบ้าง?
ข้อแรก การเพิ่มพื้นที่สำหรับการแสดงดนตรีในที่สาธารณะ H3F ยกตัวอย่างสยามสแควร์ในปัจจุบันที่มีการเปิดพื้นที่ให้วงดนตรีมาแสดงได้ ซึ่งเขามองว่ามันมีสีสันมากเจ๋งมาก และถ้ามีพื้นที่แบบนี้เพิ่มขึ้นจะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก
ข้อสอง ส่งออกดนตรีไทยไปต่างประเทศ พวกเขายกตัวอย่าง ภูมิ วิภูริศ ซึ่งตอนนี้ได้มีโอกาส World Tour ว่าการได้ออกไปเล่นในต่างประเทศ นอกจากเป็นผลดีกับตัวนักดนตรีแล้ว มันยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมและขยายตลาดให้นักดนตรีไทยได้อีกด้วย
“อย่าง ภูมิ วิภูริศ เป็นวงไทยวงแรกที่ World Tour ได้ โดยที่เขาไปต่างประเทศไม่ใช่เล่นให้คนไทยฟัง แต่เล่นให้คนต่างวัฒนธรรมฟัง แม่งโคดเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศเลย มันอาจจะมี ภูมิ วิภูริศ อีก 10 คนหรือมากกว่านั้นถ้ารัฐสนับสนุนดีพอ” ก้องกล่าว
“ถ้าถามว่าบ้านเราเป็นไง เอาเป็นว่าเวลาเราเจอวงไต้หวัน เขาขอเงินสถานทูตเพื่อบินมาเล่นต่างประเทศ แค่นี้ก็ชัดแล้ว” ก้องสรุป
การทดลองที่ 5: อนาคต
อย่างที่เล่ามาทั้งหมดว่า H3F ทดลองอะไรใหม่เยอะมากในอัลบั้มนี้ ว่าแต่ในอนาคตล่ะ พวกเขามีแอบคิดบ้างไหมว่าอยากทดลองอะไรใหม่ๆ อีก?
“จริงๆ อยากปล่อยให้มันเป็นไปแหละ แต่ที่แพลนไว้ คือจะทำ Ep เพลงโฟล์ค และคุยกันในวงแล้วก็เห็นด้วย เป็นอะไรใหม่สำหรับวง เพราะวงไม่เคยทำดนตรีแนวนี้เลย” ปิงกล่าว ก่อนที่กล้องจะเสริมว่าตัวเขาชอบดนตรีโฟล์คมาก และ Jack Johnson เป็น 1 ใน 5 ศิลปินที่เขาชอบที่สุด
“ผมอยากลองเร้กเก้นะ เพราะมันเป็นดนตรีที่ใครฟังก็สนุก ไม่เคยฟังแล้วมาฟังก็ชอบ แต่ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า” หม่อมพูดขึ้นบ้าง ด้านก้องก็เสริมต่อเช่นกันว่าตัวเขาชอบเรกเก้มากเช่นกัน โดยเฉพาะรูทเรกเก้ อย่าง Sister Nancy
เมื่อทุกคนได้พูดกันแล้ว เราจึงหันไปถามแม็กบ้างว่ามีอะไรที่เขาอยากทำอีกไหม?
“จริงๆ ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น ถ้าทำกับเพื่อนแล้วสนุกก็โอเคตลอด” แม็กพูดจบทั้งวงก็แซวแม็กทันทีว่า ‘ทำซึ้งอีกแล้ว’
ดูเหมือนพวกเขายังสนุกกับการทำดนตรีและความเป็นเพื่อนที่มีให้กัน เหมือนครั้งแรกที่ผมรู้จักเขาเมื่อปี 2560
*NewEchoes เป็นค่ายเพลงที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2565 ภายใต้คอนเซปท์ ‘Collect Players, Create Subcultures’ ผลักดันให้ศิลปินในสังกัดสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ โดยนอกจาก H3F ปัจจุบันค่ายยังดูแลวง Numcha และ Rosalyn ด้วย