คนที่ทำงานเก่งขนาดนี้ เป็นของออฟฟิศคุณนะ
ไอเดียยอดเยี่ยมมหัศจรรย์ ปั่นงานทันเหมือนเสกได้ แน่ล่ะ มาพร้อมความสามารถขนาดนี้ งานจะไม่ออกมาดีได้ยังไง ทำงานทุกครั้งก็เลยถือเอาตัวเองเป็นหัวเรือใหญ่เสมอ ทำตามไอเดียเราสิ สร้างสรรค์ที่สุดแล้ว ทำตามวิธีของเราดีกว่า วิธีอื่นมันยุ่งยากกว่าตั้งเยอะ แล้วคนอื่นมองเราแปลกๆ แบบนั้นทำไม เราทำอะไรผิดไปงั้นหรอ?
ออกจะเป็นเรื่องปกติที่ยิ่งทำงานได้ดียิ่งมั่นใจในความเก่งกาจของตัวเอง จนความมั่นใจที่แปรผันตรงไปกับความสามารถ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ความมั่นใจที่เรามี อาจทำให้เสียงในหัวดันให้เสียงเราเองดังกว่าเสียงคนอื่น จนมองว่าไม่มีใครดีเท่าเราอีกต่อไปแล้ว จะหยิบจะจับงานชิ้นไหน ก็มองว่าไอเดีย วิธีการทำงานของเราดีที่สุด แล้วให้คนอื่นทำตามวิธีของเราเท่านั้น ถึงจะยอมให้งานนี้มันลุล่วงไปได้
คนที่มีความมั่นใจก็ย่อมมองเห็นจุดแข็ง ข้อดีของตัวเอง แต่สำหรับคนอื่นแล้ว เขาจะมองแบบนั้นด้วยหรือเปล่า นั่นอาจเป็นเรื่องที่เราลืมนึกถึงไป เมื่อหันหลังให้กัน เพื่อนร่วมงานอาจรีบต่อสายตรงถึงนาซ่า แจ้งว่าเจอศูนย์กลางจักรวาลแห่งใหม่แล้ว
เปล่านะ เราแค่มั่นใจเฉยๆ หรืออาจเผลอเก่งเกินหน้าเกินตากันไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงขนาดนั้นหรอกมั้ง งั้นเราลองมาสำรวจตัวเองในเบื้องต้นกัน ว่าเราเข้าข่ายคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-Centered) แค่ไหนแล้ว
- เป็นใหญ่ในบทสนทนา
เราอาจจะโฟกัสตัวเองมากเกินไป จนไม่ว่าใครจะถามอะไรมา ก็หาทางวนกลับไปที่เรื่องของเรา หรือเรื่องที่เราต้องการจนได้ เรื่องที่เขาพูดมาก็รีบๆ พูดตัดบทให้มันจบไป ให้ข้อมูลอะไรมา เราไม่รับรู้ แต่ที่รู้ คืออีกฝ่ายต้องสนใจสิ่งที่เราบอกเท่านั้น จนอีกฝ่ายรู้สึกเหมือนคุยกับกำแพง
- อยากให้ใครๆ ทำตามความต้องการ
คนอื่นก็ดีนั่นแหละ แต่ของเราดีกว่า แล้วมีเหตุผลอะไรล่ะที่จะไม่เลือกวิธีของเรา เผลอคิดแบบนี้กันบ่อยๆ หรือเปล่า นั่นอาจเพราะเราเผลอมีอคติต่อความคิด ความสามารถของคนอื่น ไม่ว่าจะคุยวนไปมา ชักแม่น้ำทั้งหน้าแค่ไหน เราก็อยากให้คนอื่นทำตามวิธีของเราเท่านั้นอยู่ดี
- ต้องการเป็นจุดสนใจเสมอ
ความสามารถระดับเรา เดบิวต์มาเพื่อเป็นดาวเท่านั้น เตรียมคำตอบพร้อมรับทุกแรงกระแทก ยิ่งโดนถามโดนจี้ยิ่งมีความสุขด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าความเจ๋งของเรากำลังเป็นที่สนใจ จนไม่อยากให้ใครได้ซีนไปเกินหน้าเกินตาเรา
- ไม่อยากเป็นคนผิด
ใครถามถึงความผิดยังไม่ทันหมดคำถาม ก็ตอบได้เลยว่า เปล่านะ ไม่ได้ทำ แน่นอนว่าใครๆ ก็ไม่อยากเป็นคนผิด แต่บางครั้งที่เรามีส่วนในความผิดนั้นจริงๆ เรากลับเผลอปฏิเสธเต็มประตู หรือถ้าจวนตัวแล้วจริงๆ ว่าผิด ก็ต้องผิดแค่นิดเดียว คนอื่นผิดกว่าตั้งเยอะ ไปเอาผิดที่คนอื่นโน่น
มีข้อไหนที่เราเป็นบ้างหรือเปล่า เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่บางครั้งเราก็เผลอทำอะไรไม่น่ารักลงไปโดยไม่ตั้งใจ หมั่นสำรวจตัวเองอยู่บ่อยๆ แล้วค่อยๆ หาทางปรับกันไปก็ไม่สายนะ
เก่งที่สุดได้ แต่อย่า (คิดว่า) เก่งอยู่คนเดียว
หลายคนอาจคิดว่า ความมั่นใจที่เรามีมันผิดตรงไหน ในเมื่อเราเก่งกว่าคนอื่นจริงๆ เราทำได้ดีกว่าจริงๆ เอาไอเดียที่ดีที่สุดก็ถูกแล้วนี่ เลือกวิธีที่ดีที่สุดจะผิดตรงไหน โอเค มันฟังดูเป็นทางที่ดีที่สุดถ้าอยากให้ผลงานออกมาดี แต่ทีนี้หากเรามัวแต่ยึดมั่นแต่ตัวเองเท่านั้น อาจทำให้เราเกิดอคติกับความสามารถของคนอื่น จนไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้โชว์ของในที่ทางของเขา เพราะเราปาดหน้าไปแล้วทุกซีน ซึ่งนั่นฟังดูไม่ใช่ผลดีกับตัวเราเท่าไหร่
การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน (หรืออย่างน้อยก็ไม่ตั้งตัวเป็นอริกับใคร) ถือเป็นอีกทางที่ช่วยให้เรานั่งเก้าอี้ตัวเดิมนี้ได้อย่างสบายอกสบายใจ หากเรารู้ตัวแล้วว่าอาจมีเผลอไผลมั่นใจเกินร้อยสาวน้อยคนเก่งไปบ้าง เราลองมาปรับตัวกันสักหน่อย ให้คงความมั่นใจ ความสามารถเอาไว้ได้ โดยไม่ขัดขาใครเข้า
- รับฟังอย่างตั้งใจ
ลองรับฟังไอเดียของคนอื่นอย่างตั้งใจ ในแบบเดียวกับที่เราอยากให้คนอื่นตั้งใจฟังเรา โดยไม่มีอคติ ไม่ใช่ตั้งใจฟังเพื่อรอให้เขาพูดจบ เราจะได้โชว์ไอเดียตัวเอง เราเก่งได้ แต่ไม่ได้เก่งอยู่คนเดียวบนโลก จนใครๆ ต้องบอกว่า “ไม่มีใครเก่งเท่า…เธอ”
- เปิดรับและใส่ใจในคำติชม
หากที่ผ่านมา เราเถียงสุดใจกับทุกคำติ เพราะมั่นใจว่าที่เราทำมามันดีแล้ว เลิศแล้ว ลองปรับความอยากเอาชนะของเราออกไปก่อน แล้วมองตามจริงว่าควรปรับตามนั้นจริงไหม เพราะในแง่หนึ่ง ยิ่งมีคอมเมนต์มากเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดได้มากเท่านั้น และคอมเมนต์เหล่านั้นจะช่วยให้งานของเราออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่เราตั้งใจ
- เก่งในขอบเขตของเรา
ไม่ก้าวก่ายงานของคนอื่น เรามีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แค่ไหน ก็จัดการงานที่มีไปเท่านั้น หลายคนมักเห็นว่าวิธีของคนอื่นยังมีช่องโหว่ ไอเดียยังไปไม่สุด คิดว่างานนี้ถ้าได้ทำเองจะดีกว่านี้ ก็เลยรวบตึง เอางานทุกอย่างมาไว้ในอ้อมกอดตัวเอง ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบด้วยซ้ำ แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นการก้าวก่ายอย่างชัดเจน เราสามารถบอกกล่าวกันได้ด้วยรูปแบบของคำแนะนำ คำติชม โดยไม่จำเป็นต้องไปแย่งพวงมาลัยในมือของเขามาบังคับเสียเอง
หลายครั้งที่ความมั่นใจของเราอาจทำให้เราเผลอหยิบยื่นความช่วยเหลือที่เขาไม่ได้ขอ หรือมันไม่ได้อยู่ในขอบเขตหน้าที่ของเรา ลองปล่อยให้เขาคนนั้นเรียนรู้หาวิธีทำด้วยตัวเองจะดีกว่า ที่เราคอยมอบความหวังดีที่เขาไม่ได้ร้องขออยู่เรื่อยๆ
อ้างอิงจาก