“อย่าตาย แก้แค้นสิ เราจะจัดการให้เอง”
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีความรู้สึกแค้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถแก้แค้นได้ แต่จะเป็นอย่างไร หากมี ‘อาชีพรับจ้างแก้แค้น’ ที่พร้อมวางแผน จัดการ และทำสิ่งนี้แทนคุณเอง!
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในซีรีส์เกาหลี ‘Taxi Driver’ ของทางช่อง SBS ที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูน ซึ่งเล่าถึงธุรกิจขนส่ง ‘แท็กซี่สายรุ้ง’ กลุ่มคนที่ภายหน้าเป็นพนักงานบริษัทแท็กซี่ทั่วไป แต่เบื้องหลังนอกจากการขับรถ ส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายแล้ว พวกเขายังมีบริการพิเศษของแท็กซี่วีไอพี ที่รับจ้างแก้แค้นให้กับลูกค้า ที่ส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม หรือเหยื่อที่กฎหมายไม่สามารถปกป้องได้
นอกจากฉากบู๊ การต่อสู้มันๆ ที่เกิดขึ้น และความสะใจที่เราอาจได้รับระหว่างดูแท็กซี่สายรุ้งแก้แค้นกลุ่มคนเลวแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงยังบอกเล่าถึงเหตุการณ์คดีฆาตรกรรม การทำร้ายที่เกิดขึ้นจริงทั้งทางตรง และทางอ้อมผ่านการเล่าเรื่องในซีรีส์ด้วย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*
แท็กซี่วีไอพี จุดเริ่มต้นด้วยความแค้น
คงจะพูดได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ขับเคลื่อนไปด้วยความแค้น และจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่าง ทั้งแท็กซี่วีไอพีเอง ก็มีขึ้นเพราะความแค้นของจาง ซองชอล ผอ.มูลนิธินกสีฟ้า และเจ้าของแท็กซี่สายรุ้ง ที่มีต่อฆาตรกรที่ฆาตรกรรมพ่อแม่ของเขา จนรวบรวมกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเดียวกัน และต้องการลงมือแก้แค้นคนเลว ให้คนที่ตกเป็นเหยื่อเหมือนอย่างพวกเขา รวมไปถึงคิม โดกี ตัวเอกของเรื่อง และตัวหลักในการลงมือแก้แค้นในแต่ละงาน ซึ่งก็มีความแค้นต่อฆาตรกรที่ฆ่าแม่ของเขาเช่นเดียวกัน
แต่ความแค้นอย่างเดียวก็คงขับเคลื่อนไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ความแค้นของพวกเขาไม่ถูกบรรเทาลง คือกฎหมาย การลงโทษ และกระบวนการยุติธรรมที่ในมุมเหยื่ออย่างพวกเขา ไม่ได้รับการ ‘ยุติ’ อย่าง ‘เป็นธรรม’ จนพวกเขาตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย จัดการลงโทษคนเหล่านี้กันด้วยกระบวนการ และวิธีของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าเป็นการ ‘ปฏิรูป’ สังคม
“ความยุติธรรมจากตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา คุณยังศรัทธามันอยู่อีกหรอ คิดว่าพวกเขาจะทวงความยุติธรรมให้คุณได้หรอ ?” – จาง ซองชอล
ไม่เพียงแค่ตัว ผอ.จาง ที่แสดงความเห็นไม่เชื่อถือ หรือศรัทธาต่อระบบตุลาการ ตัวคิม โดกีเอง ก็ยังเป็นอีกคนที่พูดกับอัยการคัง ฮานาว่า เขารู้สึกถ่มถุยกฎหมาย เพราะกระบวนการทำงานที่หลายครั้งปล่อยให้คนร้ายลอยนวล รวมไปถึงกระบวนการลดโทษ ลดหย่อนความผิดของคนผิด ที่มองข้ามความรู้สึกของเหยื่อที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และแม้อัยการจะเถียงเขาว่า สิ่งที่พวกเขาทำ ทำให้สังคมไม่มีขื่อมีแป โดกีเองก็ได้ย้อนว่า มันไม่มีขื่อมีแปอยู่แล้วถึงมีคนอย่างพวกเขา
จากมุมของแก๊งค์แท็กซี่สายรุ้ง คงเป็นภาพเหยื่อที่ไม่พอใจกับผลของกระบวนการยุติธรรม แต่สำหรับลูกค้าคนอื่นๆ ของแท็กซี่วีไอพีนั้น พวกเขาพยายามเข้าหากระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะตำรวจ หรือกรรมการความรุนแรงในโรงเรียน และขั้นตอนต่างๆ แล้ว แต่ถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จนบีบบังคับให้พวกเขาต้องเลือกวิธีของแท็กซี่วีไอพี ซึ่งเป็นเหมือนทางลัดด้วย
การแก้แค้นที่ถูกต้องคืออะไร ? เมื่อการแก้แค้นนำไปสู่การแก้แค้น
ในขณะที่ดู คงมีหลายฉากที่เรารู้สึกอยากเอาใจช่วยคิม โดกี และแท็กซี่สายรุ้งในการจัดการกับคนร้าย แต่จริงๆ แล้วการแก้แค้นของพวกเขาเป็นวิธีที่ถูกต้องจริงๆ หรือไม่ รวมไปถึงว่าพวกเขามีสิทธิอะไรในการแก้แค้นเหล่านี้ ?
ในซีรีส์เรื่องนี้เอง ก็มีการตั้งคำถามของการเป็นศาลเตี้ยของบริการแท็กซี่วีไอพีนี้ แม้ว่า ผอ.จางจะบอกว่าเขาไม่ศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายเป็นเรื่องที่มีกระบวนการขั้นตอนมากมาย อยู่ไกลพวกเขา แต่อำนาจเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้มือมากกว่า แต่ในช่วงตอนท้ายของเรื่อง เราก็เห็นการแก้แค้นที่วนลูป จากการที่พวกเขาถูกเหล่าคนร้ายที่พวกเขาเคยจัดการ ย้อนกลับมาแก้แค้นพวกเขาเอง จนทำให้ ผอ.จางก็ได้บอกกับทีม ก่อนจะเลิกรับงานแก้แค้นว่า “ไม่ว่าแรงจูงใจคืออะไร ความรุนแรงนำไปสู่ความรุนแรง การแก้แค้นนำไปสู่การแก้แค้น ?”
ทั้ง ผอ.จาง และทีมยังพบว่า วิธีการที่พวกเขาเคยคิดว่าถูกตั้ง ในการจับคนร้ายมาขังนั้น ได้กลายเป็นช่องทางการสนับสนุนธุรกิจการค้าอวัยวะเถื่อน กลายเป็นอีกหนึ่งอาชญากรรม ซึ่งผิดไปจากอุดมการณ์ และสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไว้ ซึ่งประธานแบค หนึ่งในผู้ร่วมงาน และเจ้าของธุรกิจค้าอวัยวะนี้ ถึงกับตั้งคำถาม และท้าทาย ผอ.จางว่า พวกเขาจะเลือกแก้แค้น กำจัดปีศาจตัวอื่นต่อไปก็ได้ ถ้ายอมให้ปีศาจเพียงตัวเดียว ซึ่งก็คือตัวเธอ และธุรกิจของเธออยู่ต่อไปหรือไม่
ซึ่งสุดท้าย แม้ว่า ผอ.จางก็อาจจะยังไม่ได้บอกว่าเขากลับมาศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ แต่เราก็เห็นเขา และทีมที่ยินยอมเข้าสู่การสอบสวนของอัยการ และคำตอบของเรื่องก็อาจจะเหมือนกับบทสนทนาที่เขาเคยพูดคุยกับอัยการคังตั้งแต่ช่วงแรกว่า ในตอนนั้น เขามองว่าการที่คนร้ายถูกไล่ล่าก็เป็นเรื่องดีต่อสังคม แต่เธอกลับบอกว่า “สังคมจะดีก็ต่อเมื่อ พวกคนร้ายได้มารับโทษตามกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นอีกคดีอาชญากรรมที่ไม่สิ้นสุด” ซึ่งก็คงเหมือนความแค้นที่เกิดขึ้นไม่สิ้นสุดเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้น และความไม่เชื่อมั่นต่อระบบตุลาการ กระบวนการยุติธรรมของกลุ่มคนในเรื่อง อาจคล้ายคลึงกับสถานการณ์หลายๆ อย่างของประเทศไทยที่เกิดขึ้น จนในช่วงที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมี ‘ความกล้าหาญ’ ในการตัดสินคดี หรือในกระบวนการ ซึ่งก็ทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ของอัยการคัง และคิม โดกี ที่แม้จะมีจุดยืน และมุมมองในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันตลอด และสุดท้ายคิม โดกีก็บอกว่า เขายังไม่เชื่อมั่นในระบบ แต่ตัวเขานั้นก็ยอมไม่ใช้วิธีของตัวเองในการลงโทษ และให้คนร้ายเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เพราะเขาเชื่อมั่น และเห็นความกล้าหาญในตัวอัยการคังด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ในตอนจบของซีรีส์ก็ได้ทำให้เราเห็นว่า แม้กลุ่มแท็กซี่สายรุ้ง จะแยกย้ายกันไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยังดำเนินการบางอย่างอยู่ และมีการมารวมตัวกันในฉากสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งก็มีการประกาศถึงความเป็นไปได้ของภาค 2 ออกมาแล้วนั้น คงทำให้เราต้องรอดูกันต่อไปว่า บทสรุปที่พวกเคยมองว่า การแก้แค้นจะทำให้เกิดการแก้แค้นวนลูปไม่จบ และเกิดอาชญากรรมใหม่นั้น พวกเขาจะใช้วิธีการใหม่ๆ อะไร หรือกลับไปเลือกใช้วิธีการแบบเดิม ที่เคยสร้างปัญหาที่เกือบอันตรายถึงชีวิตพวกเขามาแล้ว
ซีรีส์ที่ไปไกลมากกว่าความบันเทิง แต่ยังขับเคลื่อนสังคม
แม้ว่าจริงๆ สำหรับเราแล้ว ในเรื่องของกฎหมาย หรือจุดยืนของตัวละครในมุมมองของกระบวนการยุติธรรมของซีรีส์เรื่องนี้ จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่มองว่าซีรีส์เรื่องนี้ ได้ขยับเพดานการเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิง คือการใช้เนื้อเรื่อง และประเด็น สื่อสาร และขับเคลื่อนสังคมจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรฟเฟอร์เรนซ์คดีในเรื่อง จากคดีที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีใต้ ทั้งคดีกดขี่แรงงานพิการ คดีฆาตรกรรมต่อเนื่อง คดี CEO บริษัททำร้ายลูกน้อง เป็นต้น ทั้งยังมีการขึ้นเบอร์โทรศัทพ์ของหน่วยงานต่างๆ ให้ติดต่อได้ในตอนจบของเรื่อง เพื่อให้รายงานความรุนแรง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ตัวซีรีส์ยังมีการขายสินค้าอย่างขวดน้ำ และเสื้อที่เป็นโลโก้บริษัทแท็กซี่สายรุ้ง เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเหยื่อคดีต่างๆ ด้วย
นอกจากการเป็นเหยื่อที่มีครอบครัว หรือตนเองถูกทำร้ายโดยตรง และไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังได้เล่าไปถึงคนที่กลายเป็นเหยื่อ จากการเป็นแพะที่ถูกกระบวนการยุติธรรมทำให้กลายเป็นคนร้ายด้วย โดยได้เล่าสะท้อนความไม่เป็นธรรมที่เขาถูกคุมขัง 20 ปีทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด และไม่สามารถเอาผิดคนร้ายตัวจริงได้เพราะคดีหมดอายุความ จนตัวละครนั้นตั้งคำถามกับอัยการที่มาเพียงก้มหัวขอโทษเขาว่า “ใครจะชดเชยสิ่งที่ผมเสียไปตลอดหลายปี ?”
การซ้อมทรมาน บังคับให้รับสารภาพ การไม่สืบคดีอย่างละเอียด และการต้องการทำผลงาน ปิดคดี ไปถึงอายุความของคดี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมากกว่าแค่การเอามาเล่าผ่านตัวละครแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังมีส่วนที่ไปถ่ายทำบุคคลที่กลายเป็นแพะ และได้รับผลกระทบนี้โดยตรง สัมภาษณ์ครอบครัวเหยื่อ ผู้เชี่ยวชาญ และตีแผ่ออกมาให้เราเห็นว่านี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และยังคงเป็นปัญหาจากกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมอยู่ในเกาหลีใต้